รายละเอียด
ถอนห่วงคุมกำเนิด Remove Intrauterine Device
ห่วงคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดด้วยการใส่อุปกรณ์ป้องกันการตั้งครรภ์เอาไว้ในโพรงมดลูก เป็นวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวที่ให้ผลลัพธ์ยาวนาน สะดวกสบาย และราคาไม่แพง อย่างไรก็ตาม เมื่อห่วงคุมกำเนิดหมดอายุการใช้งาน ผู้ใส่ก็ควรรนำห่วงคุมกำเนิดออก ก่อนส่งผลกระทบต่ออวัยวะสืบพันธุ์

ไม่แน่ใจ ต้องผ่าตัดมั้ย? ถ้าผ่าตัด มีขั้นตอนยังไง ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่? ปรึกษาอาการหรือขอความเห็นที่สองทางออนไลน์กับแพทย์ได้เต็มที่ ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่จำกัดเวลา กดเพื่อดูรายละเอียดการเข้ารับบริการ

สารบัญเนื้อหา
ห่วงคุมกำเนิดคืออะไร?
ควรถอนห่วงคุมกำเนิดเมื่อไร?
ถอนห่วงคุมกำเนิดช้า อันตรายหรือไม่?
ถอนห่วงคุมกำเนิดเองได้ไหม?
ถอนห่วงคุมกำเนิด แล้วใส่ชิ้นใหม่ได้ทันทีหรือไม่?
ถอนห่วงคุมกำเนิดแล้ว จะกลับมาตั้งครรภ์ได้อีกเมื่อไร?
ถอนห่วงคุมกำเนิด ใช้เวลานานไหม?
ถอนห่วงคุมกำเนิดแล้ว เจ็บไหม?
ขั้นตอนการถอนห่วงคุมกำเนิด
การเตรียมตัวก่อนถอนห่วงคุมกำเนิด
การดูแลตนเองหลังถอนห่วงคุมกำเนิด
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้หลังถอนห่วงคุมกำเนิด
ขั้นตอนการรับบริการ
-
1
สอบถามหรือทำนัด
แอดมินของ HDcare พร้อมตอบทุกข้อสงสัยและทำนัดให้คุณได้ปรึกษาคุณหมอ
-
2
ปรึกษาและประเมิน
เลือกพบคุณหมอได้ทั้งแบบออนไลน์หรือที่โรงพยาบาล ไม่จำกัดจำนวนครั้งจนคุณมั่นใจ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนั้น
-
3
ผ่าตัด
อุ่นใจมีพยาบาลที่ปรึกษาดูแลตลอดจนการผ่าตัดเรียบร้อย ตั้งแต่อำนวยความสะดวกที่โรงพยาบาล ประสานงานกับบริษัทประกัน ไปจนถึงให้คำแนะนำก่อนและหลังผ่าตัด
ห่วงคุมกำเนิดคืออะไร?

ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine Device: IUD) คือ อุปกรณ์คุมกำเนิดที่มีรูปร่างเป็นก้านขนาดเล็ก บางรุ่นมีรูปร่างคล้ายตัว T ตัว Y หรือตัว U แบบคว่ำ สามารถคุมกำเนิดได้นาน 3-12 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของห่วงที่เลือกใช้ โดยแพทย์จะใส่ห่วงคุมกำเนิดไว้ที่โพรงมดลูก ส่วนปลายของแกนห่วงจะมีเส้นไหมไนลอนผูกเอาไว้ เพื่อให้ผู้ใส่สามารถคลำเพื่อตรวจเช็กตำแหน่ของห่วงได้ในภายหลัง
ห่วงคุมกำเนิดจะมีการเคลือบสารทองแดง หรือสารฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ทำให้เยื่อบุมดลูกอักเสบ และไม่อยู่ในสภาพพร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน นอกจากนี้ยังทำให้มูกเหลวที่ปากมดลูกขนเหนียวกว่าเดิม ทำให้เชื้ออสุจิไม่สามารถลอดผ่านเข้าไปผสมกับไข่ได้
ควรถอนห่วงคุมกำเนิดเมื่อไร?
เมื่อห่วงคุมกำเนิดหมดอายุการใช้งาน
เมื่อต้องการหยุดคุมกำเนิด หรือต้องการมีบุตร
ห่วงคุมกำเนิดเคลื่อนหรือขยับไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ในกรณีนี้แพทย์จะขยับห่วงคุมกำเนิดให้ หรืออาจพิจารณาถอดออก ขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้น
ห่วงคุมกำเนิดแตก หรือหัก
ห่วงคุมกำเนิดทำให้เกิดอาการข้างเคียง หรือภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เลือดออกในช่องคลอดอย่างต่อเนื่อง ภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน น้ำหนักตัวขึ้นมาก เป็นสิว ปวดท้องประจำเดือนมากขึ้น ประจำเดือนมาผิดปกติหลังใส่ห่วงมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป
รบกวนกิจกรรมทางเพศ ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวขณะสอดใส่ แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อย
เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ในระหว่างที่ใส่ห่วงคุมกำเนิด
เมื่อพบการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว หากไม่มีประจำเดือนครบ 1 ปี ก็สามารถนำห่วงคุมกำเนิดออกได้
ถอนห่วงคุมกำเนิดช้า อันตรายหรือไม่?
ห่วงคุมกำเนิดที่หมดอายุแล้วและยังไม่ได้นำออกจากโพรงมดลูก อาจส่งผลทำให้เกิดอาการเลือดออกในช่องคลอดได้ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้อีก
ถอนห่วงคุมกำเนิดเองได้ไหม?
การถอนห่วงคุมกำเนิดต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น ห้ามถอนห่วงคุมกำเนิดออกเองเด็ดขาด เนื่องจากอาจไปสร้างความเสียหายหรืออาการบาดเจ็บต่อโพรงมดลูกได้
ถอนห่วงคุมกำเนิด แล้วใส่ชิ้นใหม่ได้ทันทีหรือไม่?
หลังถอดห่วงคุมกำเนิดชิ้นเก่าแล้ว สามารถใส่ห่วงคุมกำเนิดชิ้นใหม่ได้ทันที
ถอนห่วงคุมกำเนิดแล้ว จะกลับมาตั้งครรภ์ได้อีกเมื่อไร?
หลังถอนห่วงคุมกำเนิด ระบบสืบพันธุ์จะกลับมามีโอกาสตั้งครรภ์ได้ทันทีหลังถอด
ถอนห่วงคุมกำเนิด ใช้เวลานานไหม?
กระบวนการถอนห่วงคุมกำเนิดจะใช้เวลาประมาณ 20 นาทีเท่านั้น หลังจากนั้นผู้เข้ารับบริการก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้ทันที
ถอนห่วงคุมกำเนิดแล้ว เจ็บไหม?
ผู้เข้ารับบริการอาจรู้สึกไม่สบายตัวในระหว่างที่แพทย์ดึงห่วงยาคุมกำเนิดออกจากปากช่องคลอดได้บ้าง แต่มักอยู่ในระดับอาการเพียงเล็กน้อย โดยทั่วไประดับอาการจะคล้ายกับความรู้สึกเวลาตรวจภายใน
ขั้นตอนการถอนห่วงคุมกำเนิด

กระบวนการถอนห่วงคุมกำเนิดมีลำดับขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และใช้เวลาไม่นาน
- 1ผู้เข้ารับบริการขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่ง แพทย์จะทำความสะอาดผิวปากช่องคลอด
- 2แพทย์สอดอุปกรณ์ถ่างช่องคลอด (Speculum) เพื่อให้เห็นตำแหน่งของห่วงคุมกำเนิดได้ชัดเจนขึ้น ในผู้เข้ารับบริการที่แพทย์มองไม่เห็นห่วงคุมกำเนิด อาจมีการส่งตัวไปเอกซเรย์หรืออัลตราซาวด์เพิ่มเติมเพื่อหาตำแหน่งของห่วงคุมกำเนิดอีกครั้ง
- 3แพทย์ค่อยๆ ดึงเส้นไหมไนลอนที่ปลายห่วงคุมกำเนิดออกอย่างนุ่มนวล หลังจากนั้นตรวจเช็กว่าได้นำห่วงคุมกำเนิดออกมาครบทุกชิ้นแล้วหรือไม่
- 4แพทย์ถอดอุปกรณ์ถ่างช่องคลอดออก ซับเลือด และทำความสะอาดผิวปากช่องคลอดให้อีกครั้ง
การเตรียมตัวก่อนถอนห่วงคุมกำเนิด
ก่อนถอนห่วงคุมกำเนิด ผู้เข้ารับบริการไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใดๆ เป็นพิเศษ แต่ในผู้เข้ารับบริการบางท่านที่ต้องการคุมกำเนิดต่อทันทีหลังถอนห่วงคุมกำเนิด แพทย์อาจแนะนำให้งดมีเพศสัมพันธ์ 7 วันก่อนเดินทางมาถอนห่วงคุมกำเนิด เพื่อลดโอกาสตั้งครรภ์ทันทีหลังถอนห่วงออก
การดูแลตนเองหลังถอนห่วงคุมกำเนิด
สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติทันที ไม่ต้องพักฟื้น
ใส่ผ้าอนามัยไว้ประมาณ 2-3 วันแรกหลังถอนห่วงออก เพราะอาจมีเลือดไหลกะปริดกะปรอยออกจากช่องคลอดได้บ้าง
หากมีอาการปวดหน่วงท้อง สามารถกินยาแก้ปวดที่แพทย์สั่งจ่ายให้บรรเทาอาการได้
หากต้องการคุมกำเนิดต่อ แต่ไม่ใช้วิธีใส่ห่วงคุมกำเนิด ให้ใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นๆ ต่อทันทีหลังถอนห่วง เช่น สวมถุงยางอนามัย กินยาคุมกำเนิด ฉีดยาคุมกำเนิด
หากต้องมีบุตร สามารถเริ่มมีเพศสัมพันธ์หรือพยายามมีบุตรต่อได้ทันที
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้หลังถอนห่วงคุมกำเนิด
อาการข้างเคียงที่พบได้หลังถอนห่วงคุมกำเนิดจะได้แก่ ปวดหน่วงท้อง มีเลือดออกจากช่องคลอด แต่โดยทั่วไปมักจะอยู่ในระดับเพียงเล็กน้อย และเป็นอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ผ่านไปไม่กี่วันอาการก็จะหายไป
อย่างไรก็ตาม หากถอนห่วงยาคุมกำเนิดไปแล้วมีอาการต่อไปนี้ ให้ผู้เข้ารับบริการรีบกลับมาพบแพทย์โดยทันที
ปวดท้องอย่างรุนแรง
เป็นตะคริวที่ท้องอย่างรุนแรง
มีไข้ หรือหนาวสั่น
มีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณมาก
มีตกขาวมากผิดปกติและหาสาเหตุไม่ได้