
รักษาริดสีดวงได้ทุกระยะ เอาออกได้หมดในครั้งเดียว
ใช้อุปกรณ์พิเศษตัดริดสีดวงออกพร้อมเย็บในครั้งเดียว เจ็บน้อย พักฟื้นไม่นาน
รายละเอียด
รู้จักโรคนี้
รู้จักริดสีดวงทวาร สาเหตุ และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
ริดสีดวงทวาร คือ ภาวะที่หลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักหรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลายโป่งบวม ริดสีดวงอาจเกิดเฉพาะภายในรูทวาร หรือยื่นออกไปภายนอกรูทวารก็ได้ ก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บ ปวด คัน พบว่ามีเนื้อยื่นออกจากทวารหนักขณะอุจจาระ หรือมีเลือดออกขณะกำลังอุจจาระหรือหลังอุจจาระ
สาเหตุของการเกิดริดสีดวงไม่แน่ชัด พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากแรงกดหรือความดันในช่องท้องหรือช่องปอด ซึ่งมักมาจากผู้มีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง หรืออาจเกิดจากอุจจาระที่มีลักษณะแข็งครูดผ่านหลอดเลือดดำในช่องทางขับถ่ายบ่อยๆ
ในบางคน เช่น ผู้สูงอายุ อาจเป็นริดสีดวงทวารเนื่องจากเนื้อเยื่อหรือหลอดเลือดดำเสื่อมตามอายุ หรือในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ก็อาจเป็นริดสีดวงขึ้นได้
ริดสีดวงทวารไม่ใช่โรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากอาการรุนแรงแล้วปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น
- โลหิตจาง ความดันต่ำ ซึ่งเป็นผลจากเลือดออกมาก
- ลิ่มเลือดอุดตันในหัวริดสีดวงทวาร ทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง
- หูรูดทวารหนักบวม อักเสบ ติดเชื้อ
ดังนั้นหากท้องผูกบ่อยๆ สังเกตเห็นเนื้อผิดปกติบริเวณทวารหนัก หรือถ่ายแล้วมีเลือดออก ควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา ซึ่งมีหลายทางเลือกที่ช่วยให้อาการดีขึ้นได้ อีกสิ่งที่ควรคำนึงถึงคืออาการเลือดออกจากทวารหนักอาจไม่ใช่ริดสีดวงเสมอไป ดังนั้นจึงควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยแยกโรค ให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นโรคระบบทางเดินอาหารอื่นใดที่ร้ายแรง
อะไรคือริดสีดวงภายใน ภายนอก จะทราบได้อย่างไรว่าเราเป็นริดสีดวงชนิดไหน?
ริดสีดวงแบ่งออกกว้างๆ เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ริดสีดวงภายใน กับ ริดสีดวงภายนอก มีรายละเอียดดังนี้
1. ริดสีดวงภายใน
เป็นริดสีดวงที่มีขั้วอยู่ภายในทวารหนัก สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 ริดสีดวงทั้งหมดยังอยู่ในทวารหนัก ระยะนี้ผู้ป่วยอาจสังเกตพบว่ามีเลือดออกหลังถ่ายอุจจาระ หรือเมื่อใช้กระดาษชำระทำความสะอาดพบว่ามีเลือดติดกระดาษออกมา

ระยะที่ 2 ขั้วริดสีดวงอยู่ในทวารหนัก แต่ขณะขับถ่ายกลับมีหัวริดสีดวงโผล่ยื่นออกไปนอกทวารหนัก หลังถ่ายแล้วแล้วจึงหดกลับเข้ามาเอง

ระยะที่ 3 ขั้วริดสีดวงอยู่ในทวารหนัก แต่ขณะขับถ่ายกลับมีหัวริดสีดวงโผล่ยื่นออกไปนอกทวารหนัก หลังถ่ายแล้วเนื้อเยื่อไม่หดกลับเอง ต้องใช้นิ้วดันกลับถึงจะเข้าได้

ระยะที่ 4 ขั้วริดสีดวงอยู่ในทวารหนัก แต่มีหัวริดสีดวงโผล่ออกออกนอกทวารหนักตลอดเวลา และไม่สามารถดันกลับเข้าในทวารหนักอีกต่อไป

2. ริดสีดวงภายนอก
เป็นริดสีดวงที่เกิดขึ้นบริเวณรอยย่นของทวารหนัก โดยหลอดเลือดที่โป่งพองจะถูกคลุมด้วยผิวหนัง มองเห็นด้วยตาเปล่าและคลำพบได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการคัน เจ็บโดยเฉพาะเวลานั่ง หรือมีเลือดออกจากบริเวณดังกล่าว
นอกจากนี้ ในคนไข้คนหนึ่งยังสามารถเป็นริดสีดวงภายในและภายนอกภายในเวลาเดียวกันได้ด้วย
ตรวจโรคนี้อย่างไรได้บ้าง
ตามปกติแพทย์จะซักประวัติ สอบถามอาการ รวมถึงตรวจบริเวณทวารหนัก ซึ่งถ้าเป็นริดสีดวงภายนอกจะสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ถ้าไม่เห็นรอยโรค และมีข้อสันนิษฐานว่าจะเป็นริดสีดวงภายใน แพทย์อาจใช้วิธีเครื่องมือพิเศษเพื่อตรวจหาสิ่งผิดปกติภายในช่องทวารหนัก
นอกจากนี้หากพบสัญญาณของโรคทางเดินอาหารอื่นๆ แพทย์อาจใช้อุปกรณ์ส่องกล้องตรวจลำไส้เพิ่มเติม
รักษาโรคนี้ได้วิธีไหนบ้าง
ริดสีดวงรักษาหายได้ด้วยหลายวิธี จะใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับบริเวณที่เป็น ความรุนแรงของโรค ภาวะสุขภาพที่อาจมีผลต่อการเลือกใช้ยาระงับความรู้สึก วิธีที่นิยมกัน ได้แก่
1. ผ่าตัดริดสีดวง Hemorrhoidectomy
เป็นการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อริดสีดวงออกทั้งหมด ใช้รักษาได้ทั้งริดสีดวงทวารภายในและภายนอก ทุกระดับความรุนแรง ถือเป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดในขณะนี้
2. ใช้ยางรัดริดสีดวง
ใช้รักษาริดสีดวงภายใน ด้วยการใช้ยางขนาดเล็กรัดที่ขั้วริดสีดวงเพื่อตัดการไหลเวียนของเลือด ผลคือริดสีดวงค่อยๆ ฝ่อแล้วหลุดออกภายใน 1-2 สัปดาห์
วิธีนี้มีข้อดีคือราคาย่อมเยากว่าการผ่าตัด และสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้ยาระงับความรู้สึก เจ็บน้อยกว่าผ่าตัด หลังรักษาแล้วฟื้นตัวได้เร็ว แต่มีข้อจำกัดคือใช้รักษาได้เฉพาะริดสีดวงที่มีขนาดพอเหมาะกับยางเท่านั้น ไม่เหมาะกับการรักษาผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ปกติ และอาจต้องทำซ้ำมากกว่า 1 ครั้งริดสีดวงจึงหลุดออก
ผลข้างเคียงคือมักก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัว และอาจมีเลือดออกจากทวารหนักในช่วง 2-4 วันแรก
3. เลเซอร์ริดสีดวง
ใช้รักษาริดสีดวงภายใน ขั้นตอนเริ่มจากวิสัญญีแพทย์ให้ยาระงับความรู้สึกแก่ผู้ป่วย จากนั้นศัลยแพทย์จะเจาะเปิดแผลขนาดประมาณ 2 มม. แล้วสอดใยแก้วเหนี่ยวนำเลเซอร์เข้าไปยังขั้วเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงริดสีดวง โดยไม่ผ่านหูรูดทวารหนัก
หลักการทำงานคือใช้เลเซอร์จะทำให้เลือดในหัวริดสีดวงแข็งตัว ริดสีดวงจึงค่อยๆ ฝ่อแล้วหลุดออก หลังเลเซอร์รักษาริดสีดวงไม่ต้องเย็บแผล
วิธีนี้มีข้อดีคือหลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ไม่ต้องพักฟื้นนาน แต่มีข้อจำกัดคือใช้ได้กับริดสีดวงที่ไม่รุนแรง ประสิทธิภาพการรักษาไม่ดีเท่าการผ่าตัดด้วยเครื่องมือจี้ไฟฟ้า ต้องใช้เวลารอให้ริดสีดวงหลุดออก ไม่ได้หายทันที และริดสีดวงอาจออกไม่หมด
4. ฉีดยารักษาริดสีดวง
ใช้รักษาได้ทั้งริดสีดวงภายในและภายนอก โดยแพทย์จะฉีดยาเข้าไปใต้ชั้นผิวหนังที่มีขั้วริดสีดวง เพื่อให้หัวริดสีดวงยุบและฝ่อไปในที่สุด
ข้อดีคือไม่เจ็บปวด หรือเจ็บเพียงแค่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับวิธีรัดยาง แต่ส่วนใหญ่ต้องฉีดยาซ้ำทุก 2-4 สัปดาห์ ริดสีดวงจึงค่อยๆ ดีขึ้น ไม่ได้เห็นผลในทันที
รู้จักการผ่าตัดนี้
ผ่าตัดริดสีดวง Hemorrhoidectomy
เป็นการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อริดสีดวงออกทั้งหมด ใช้รักษาได้ทั้งริดสีดวงทวารภายในและภายนอก ทุกระดับความรุนแรง ถือเป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดในขณะนี้ ระยะเวลาผ่าตัดประมาณ 30 นาที-1 ชั่วโมง
การผ่าตัดแบ่งย่อยออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ แบบใช้เครื่องมือจี้ไฟฟ้า กับแบบใช้อุปกรณ์ Harmonic Scalpel ซึ่งความพิเศษคือจะทั้งตัดริดสีดวงออกพร้อมเย็บเลยในทีเดียว ช่วยให้เสียเลือดน้อยกว่า ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดจะน้อยกว่าการผ่าตัดแบบธรรมดา





ขั้นตอนการผ่าตัดเริ่มจาก วิสัญญีแพทย์ฉีดยาชาเข้าไขสันหลังผู้ป่วยเพื่อระงับความรู้สึก จากนั้นศัลยแพทย์จึงใช้เครื่องมือแหวกถ่างทวารหนักผู้ป่วย เพื่อให้เห็นริดสีดวงชัดเจน แล้วใช้เครื่องมือจี้ไฟฟ้าผ่าตัดริดสีดวงและเนื้อเยื่อโดยรอบออก ก่อนจะปิดแผลโดยการเย็บหรือปิดด้วยพลาสเตอร์
"อัญมีปัญหาโรคริดสีดวงทวารมาปีกว่าแล้ว จนต้องใส่ผ้าอนามัยไว้ตลอดเพราะที่ทวารหนักมีเลือดซึมออกมาบ่อยมาก จะเดินจะนั่ง หรือแค่ยืนเฉยๆ ก็เจ็บระบมมากๆ ค่ะ
ได้ใช้บริการจาก HDCare เลยได้คิวผ่าตัดเร็วมากเลยค่ะ คุยกับคุณหมอแมคก่อนปีใหม่นิดเดียว ได้คิวผ่าวันที่ 8 มกราคมเลย
จากการตรวจคัดกรองกับคุณหมอ อัญมีก้อนริดสีดวงที่ต้องผ่าออก 2 ก้อนค่ะ คุณหมอแนะนำผ่าตัดแบบจี้ไฟฟ้า ข้อดีคือไม่เจ็บมาก พักฟื้นไม่นาน มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย
บริการจาก HDcare เราได้พยาบาลที่ปรึกษามาช่วยประสานงาน ทุกอย่างก็รวดเร็วขึ้นต่างจากเวลาเรามาโรงพยาบาลคนเดียวมากเลย"
- คุณอัญ ผู้ใช้บริการผ่าตัดริดสีดวงกับ HDcare -
เปรียบเทียบการผ่าตัดวิธีต่างๆ
การผ่าตัดริดสีดวงแบบ RFA
- แพทย์ฉีดยานอนหลับให้ และใช้อุปกรณ์เปิดให้เห็นริดสีดวงชัดเจน แล้วใช้เข็มขนาดเล็กจิ้มไปที่หัวริดสีดวงเพื่อปล่อยคลื่นความถี่สูงเข้าไปทำลายเส้นเลือดที่มาเลี้ยงริดสีดวง ทำให้หัวริดสีดวงยุบตัวลงและฝ่อตัวไปในที่สุด
- เหมาะกับผู้ที่เป็นริดสีดวงระยะ 2 และ 3 (มีก้อนหรือติ่งเนื้อออกมาตอนถ่าย กลับเข้าไปเองหรือดันกลับเข้าไปได้)
- ข้อดีคือไม่มีแผลผ่าตัด จึงมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย เช่น ติดเชื้อ ภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ เป็นต้น
- เจ็บน้อยกว่า ฟื้นตัวไวกว่า และกลับไปทำงานได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบปกติ
การผ่าตัดริดสีดวงแบบจี้ไฟฟ้า
- แพทย์จะฉีดยาชาเข้าไขสันหลังเพื่อระงับความรู้สึก และใช้อุปกรณเปิดให้เห็นริดสีดวง จากนั้นใช้อุปกรณ์ที่สามารถตัดริดสีดวงออกพร้อมเย็บได้เลยในครั้งเดียว ก่อนจะปิดแผลโดยการเย็บหรือปิดด้วยพลาสเตอร์
- สามารถรักษาริดสีดวงได้ทุกระยะ
- ข้อดีคือเสียเลือดและเจ็บหลังผ่าตัด และโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าการผ่าตัดแบบธรรมดา
- อาจมีเลือดออกจากแผลตั้งแต่หลังผ่าตัดจนถึงประมาณวันที่ 10 หรือหากมีน้ำเหลืองซึมรอบทวารในกรณีที่ไม่ได้เย็บแผล
- ปัสสาวะและอุจจาระลำบาก ช่วงแรกๆ อาจต้องสวนปัสสาวะและอุจจาระ
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
โดยทั่วไป ผู้ป่วยเตรียมผ่าตัดริดสีดวง Hemorrhoidectomy ต้องเตรียมตัวดังนี้
-
งดน้ำ งดอาหาร 6-8 ชั่วโมง งดยาละลายลิ่มเลือด 5-7 วัน หรือตามดุลยพินิจของแพทย์
-
ไม่จำเป็นต้องงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรืองดสูบบุหรี่
การดูแลหลังผ่าตัด
หลังจากผ่าตัดริดสีดวงด้วยวิธีนี้ โดยทั่วไปแล้วหลังจากนอนพักสังเกตอาการที่โรงพยาบาลประมาณ 1 คืน หลังฟื้นจากฤทธิ์ยาระงับความรู้สึกเรียบร้อยดี ไม่มีอาการแทรกซ้อน แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ ผู้ป่วยก็มักกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง เดิน นอน ว่ายน้ำ ออกกำลังกาย เพียงแต่ให้ระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารที่จะมีผลต่อการขับถ่าย เช่น ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำมากๆ และควรปรับพฤติกรรมโดยไม่นั่งห้องน้ำนานเกินจำเป็น พยายามไม่เบ่งอุจจาระแรงๆ
หากต้องการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ควรเว้นระยะไปก่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์ ให้แผลหายสนิทเสียก่อน
นอกจากนี้ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาให้ครบ ซึ่งโดยมากแพทย์มักจ่ายยาระบายหรือยาที่มีฤทธิ์ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม เพื่อให้ไม่มีปัญหาการขับถ่ายในช่วงหลังผ่าตัดใหม่ๆ
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว การผ่าตัดริดสีดวงด้วยเครื่องมือจี้ไฟฟ้ามักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่เป็นธรรมดาของการผ่าตัดและมีการใช้ยาระงับความเจ็บปวด จึงอาจมีผลข้างเคียงบ้าง เช่น
- ปวดก้น ปวดแผลผ่าตัด
- ปวดศีรษะ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดยาระงับความเจ็บปวดเข้าไขสันหลัง
- มีเลือดออกจากแผลผ่าตัด
- อาจมีน้ำเหลืองซึมที่ขอบทวาร (กรณีไม่ได้เย็บแผล)
- ปัสสาวะลำบาก ทำให้อาจต้องสวนปัสสาวะ
- ถ่ายอุจจาระไม่ออกในช่วงแรก ทำให้อาจต้องสวนทวาร
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรสังเกตตัวเองหลังผ่าตัด หากมีอาการเหล่านี้ควรกลับมาพบแพทย์ทันที เพราะอาจแสดงถึงอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย
- มีเลือดออกมาก
- แผลมีอาการบวม แดงมาก
- เจ็บแผลมากและอาการไม่ดีขึ้น
- มีหนองหรือน้ำเหลืองไหลออกจากแผลมากผิดปกติ
- มีไข้สูง