ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทั้งข้อ
รายละเอียด
HDcare สรุปให้
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ผ่าตัดเพื่อเอาข้อสะโพกที่เสื่อมออก แล้วใส่ข้อใหม่ด้วยข้อสะโพกเทียม ผู้ป่วยจะกลับมาเคลื่อนไหวใกล้เคียงเดิมมากที่สุด
- กระดูกข้อสะโพกรับน้ำหนักส่วนบนของร่างกาย และรองรับการยืด งอ หรือเหยียดระหว่างที่เราทำอิริยาบถต่างๆ เช่น นั่ง ยืน เดิน ถ้ามีปัญหาจะทำให้เจ็บปวดจนเดินไม่ได้
ถ้าไม่ผ่าตัด อาจจะต้องทนกับอาการเหล่านี้
- เจ็บปวดข้อสะโพกจนเดินไม่ได้ ยกขาไม่ได้
- เจ็บปวดสะโพกเกิดขึ้นตลอดเวลาแม้ไม่ได้เดิน ทั้งกลางวันและกลางคืน
- ปวดตึงข้อสะโพก
รีบตัดสินใจผ่าตัด ก่อนที่กระดูกสะโพกหักจนใช้โลหะดามกระดูกไม่ได้
ทำนัดปรึกษาทีมแพทย์ของ HDcare วันนี้
สัญญาณที่ต้องตรวจ
- เมื่อคนไข้ประสบอุบัติเหตุจนทำให้กระดูกสะโพกบาดเจ็บ เช่น ล้ม ตกบันได รถชน รถล้ม หรือหากไม่แน่ใจ ให้เดินทางมาตรวจร่างกายโดยเร็ว
- มีอาการปวดข้อสะโพกระหว่างเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ยืน เดินลงน้ำหนัก
- ขยับสะโพกได้ลดลง ทำให้เปลี่ยนอิริยาบถได้จำกัดขึ้น เช่น นั่งพับเพียบไม่ได้ นั่งขัดสมาธิไม่ได้ เดินลงน้ำหนักมากไม่ได้
ตรวจโรคนี้อย่างไรได้บ้าง
- ตรวจร่างกายและซักประวัติสุขภาพกับแพทย์
- ตรวจเอกซเรย์ร่างกายเพื่อหาตำแหน่งของกระดูกสะโพกที่ผิดปกติหรือได้รับบาดเจ็บ
- การตรวจ CT Scan
- การตรวจ MRI (Magnetic Resonance Imaging)
- แพทย์อาจมีการตรวจเลือดเพิ่มเติม หากสาเหตุที่กระดูกเกิดความผิดปกติเกิดมาจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
รักษาโรคนี้ได้วิธีไหนบ้าง
แนวทางการรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูกข้อสะโพกจะขึ้นอยู่กับอาการผิดปกติและระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เช่น
- การดึงข้อสะโพกให้เข้าที่
- การใส่เฝือกหรือเครื่องช่วยพยุง
- การกินยาหรือฉีดยา
- การทำกายภาพบำบัด
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก
สัญญาณที่ต้องผ่าตัด
- กระดูกสะโพกมีการบาดเจ็บหรือหักเคลื่อนที่รุนแรง
- คนไข้มีอาการปวดสะโพกมาก
- คนไข้ใช้วิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัด เช่น ใช้ยา ทำกายภาพบำบัด แต่อาการปวดยังไม่ดีขึ้น และทำให้คนไข้ใช้ชีวิตประจำวันได้ยากลำบาก
รู้จักการผ่าตัดนี้
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทั้งข้อ (Total Hip Arthroplasty) คือ การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนหัวกระถูกสะโพกและกระดูกเบ้าสะโพกเพื่อซ่อมแซมความเสื่อมหรืออาการบาดเจ็บของข้อสะโพกเดิม
ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทั้งข้อ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทั้งข้อช่วยแก้ความผิดปกติของหัวกระดูกสะโพกและกระดูกเบ้าสะโพกได้ทั้งหมด จึงสามารถผ่าตัดได้ในกลุ่มผู้ที่ยังต้องใช้กระดูกสะโพกทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ค่อนข้างหนัก
นอกจากนี้การเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทั้งข้อสามารถช่วยป้องกันการเสียดสีระหว่างหัวกระดูกสะโพกเทียมกับเบ้ากระดูกสะโพกเดิมที่เหลืออยู่ของคนไข้ได้ เนื่องจากมีการใส่เบ้าสะโพกเทียมซึ่งเป็นเหมือนฝาครอบหัวกระดูกสะโพกเทียมไว้ ช่วยรับแรงเสียดสีระหว่างหัวกระดูกสะโพกเทียมกับเบ้ากระดูกสะโพก
ใครเหมาะกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทั้งข้อ
- ผู้ที่ต้องใช้กระดูกสะโพกค่อนข้างมาก
- คนไข้ที่มีอาการเสื่อม อาการบาดเจ็บ หรือการแตกหักทั้งที่หัวกระดูกสะโพกและกระดูกเบ้าสะโพก
ขั้นตอนผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทั้งข้อ
- วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ หรืออาจเป็นการฉีดยาเข้าไขสันหลัง
- แพทย์เปิดแผลบริเวณด้านหน้าหรือด้านข้างของสะโพกหรือต้นขา ผ่านชั้นผิวหนัง ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ชั้นกล้ามเนื้อสะโพก จนเห็นชั้นกระดูกสะโพก
- แพทย์ผ่าตัดเยื่อหุ้มข้อสะโพก จากนั้นหมุนข้อสะโพกคนไข้เพื่อให้หัวกระดูกสะโพกเดิมหลุดออกจากกระดูกเบ้าสะโพก แล้วผ่าตัดส่วนคอของกระดูกต้นขาเพื่อนำหัวกระดูกสะโพกส่วนที่ผิดปกติออก จากนั้นคว้านเบ้าสะโพกให้กลมเพื่อรองรับการใส่กระดูกเบ้าสะโพกเทียม
- ถ้าคนไข้เป็นผู้ที่มีกระดูกสะโพกแข็งแรงอยู่แล้ว หรือไม่ได้เป็นโรคกระดูกพรุน แพทย์จะใส่สกรูยึดกระดูกเบ้าสะโพกเทียมให้แน่น แต่ถ้าคนไข้เป็นผู้สูงอายุ เป็นโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกสะโพกไม่แข็งแรง แพทย์จะเจาะรูที่กระดูกเบ้าสะโพก และใส่ซีเมนต์ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแรงให้กระดูกสะโพกเทียมด้วย
- แพทย์ทำความสะอาดกระดูกสะโพก และใส่เบ้ากระดูกสะโพกเทียมในตำแหน่งที่เหมาะสม
- แพทย์เจาะโพรงกระดูก และทดลองใส่หัวกระดูกสะโพกเทียมชนิดทดสอบลงไปก่อน เพื่อทดสอบการทำงาน ความยาว และความมั่นคงของข้อกระดูก
- หากผลการทดสอบเป็นที่พอใจ แพทย์จะใส่หัวกระดูกสะโพกเทียมเข้ากับกระดูกเบ้าสะโพกเทียม
- เย็บปิดแผล แพทย์จะใส่ท่อระบายเลือดไว้ก่อนหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันเลือดคั่งจนเสี่ยงการติดเชื้อ
เปรียบเทียบการผ่าตัดวิธีต่างๆ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมครึ่งข้อ (Hemiarthroplasty)
- ผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะส่วนหัวกระดูกสะโพก
- มีโอกาสระยะเวลาผ่าตัดสั้นกว่าและเสียเลือดน้อยกว่า
- เหมาะกับคนไข้ที่บาดเจ็บเฉพาะข้อสะโพกเทียม และคนไข้ที่ใช้กระดูกสะโพกไม่บ่อย
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทั้งข้อ (Total Hip Arthroplasty)
- ผ่าตัดเปลี่ยนทั้งหัวกระดูกสะโพกและกระดูกเบ้าสะโพก
- แก้อาการผิดปกติได้ทั้ง 2 ส่วน ได้แก่ หัวกระดูกสะโพกและกระดูกเบ้าสะโพก
- ระยะเวลาผ่าตัดนานกว่าและมีโอกาสเสียเลือดมากกว่า
- เหมาะกับคนไข้ที่ใช้งานกระดูกสะโพกมาก
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- ตรวจสุขภาพล่วงหน้าก่อนผ่าตัด เช่น ตรวจเลือด ตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจปัสสาวะ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ รวมถึงตรวจ MRI เพื่อให้แพทย์เห็นตำแหน่งของกระดูกสะโพกส่วนที่ผิดปกติอย่างชัดเจนเสียก่อน ผู้เข้ารับบริการบางรายอาจต้องตรวจ CT Scan หรือตรวจรายการอื่นๆ เพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์
- แจ้งประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว ยาที่รับประทานเป็นประจำ รวมถึงวิตามิน อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิด เพราะอาจต้องมีการงดรับประทานล่วงหน้าก่อนผ่าตัด
- คนไข้ต้องรักษาสุขอนามัยของร่างกายให้เรียบร้อยก่อน เช่น รักษาฟันผุ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- งดโกนขนขาทั้ง 2 ข้างอย่างน้อย 5 วันก่อนผ่าตัด
- งดยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เช่น ยาที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการอักเสบของข้อ
- งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ล่วงหน้าอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์
- งดใส่คอนแทคเลนส์ งดทาเล็บ งดใส่แว่นตา งดใส่ฟันปลอม และควรถอดอุปกรณ์ที่เจาะตามร่างกาย เช่น จิวจมูกหรือสะดือ
- ถอดเครื่องประดับ ของมีค่าเก็บไว้ที่บ้านเพื่อป้องกันการสูญหาย
- รับคำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการฟื้นตัวร่างกายหลังผ่าตัด เช่น การทำกายภาพบำบัด การฝึกกล้ามเนื้อ การใช้ไม้เท้าหรือเครื่องช่วงพยุง
- ในคนไข้ที่น้ำหนักตัวเกิน แพทย์อาจให้ลดน้ำหนักตัวก่อนผ่าตัด
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- คนไข้เดินทางมานอนโรงพยาบาลล่วงหน้าก่อนผ่าตัด 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์
- จัดเตรียมสถานที่พักฟื้นที่บ้านให้เหมาะสม ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ทำให้ภายในบ้านสว่าง ย้ายเฟอร์นิเจอร์ไม่ให้กีดขวางทางเดิน ย้ายมานอนพักฟื้นที่บ้านชั้นล่าง งดใช้พรมเช็ดเท้าที่ทำให้ลื่นได้ง่าย ติดตั้งที่จับในห้องน้ำ จัดวางสิ่งของให้อยู่ในระดับเอว เพื่อให้ง่ายต่อการหยิบใช้งาน
การดูแลหลังผ่าตัด
- ดูแลทำความสะอาดแผลตามคำแนะนำของแพทย์
- แพทย์จะให้คนไข้เริ่มออกกำลังกายให้เร็วที่สุดตั้งแต่หลังผ่าตัดวันแรก เพื่อป้องกันภาวะปอดอักเสบหรือปอดแฟบ โดยจะให้ฝึกหายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ
- คนไข้ต้องบริหารร่างกายหรือทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ในช่วง 2 สัปดาห์แรก คนไข้ต้องใช้เครื่องช่วยเดินในระหว่างเคลื่อนไหวร่างกาย หลังจากนั้นจะค่อย ๆ เดินได้เองมากขึ้น
- งดขับรถเองและงดนั่งรถติดต่อกันมากกว่า 1 ชั่วโมง ประมาณ 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด
- หากงานประจำที่ทำเป็นงานเบา ๆ ไม่ได้ใช้แรงหรือเคลื่อนไหวร่างกายมาก สามารถเริ่มกลับไปทำงานได้ภายใน 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด ส่วนคนไข้ที่ทำงานหนัก แพทย์มักแนะนำให้กลับไปทำงานได้หลังผ่าตัดไปแล้ว 3 เดือนขึ้นไป
- งดมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 6-8 สัปดาห์หลังผ่าตัด และรับคำแนะนำเกี่ยวกับท่าระหว่างมีเพศสัมพันธ์กับแพทย์ เช่น ให้กางสะโพกออกระหว่างร่วมเพศ งดใช้ท่าที่นอนตะแคงหรือต้องงอสะโพกมาก
- งดยกของหนักเกินกว่า 5 กิโลกรัมอย่างน้อย 1-2 เดือนหรือยกได้หลังจากสามารถเดินโดยไม่ใช้ไม้ค้ำได้แล้ว แต่ก็ไม่ควรเกินกว่า 10 กิโลกรัมขึ้นไป
- งดทำกิจกรรมที่ต้องงอสะโพกมากกว่า 90 องศาประมาณ 3 เดือนหรือจนกว่าแพทย์จะอนุญาต เช่น นั่งไขว่ห้าง การไขว้ขาหรือบิดขาเข้าด้านใน ขี่จักรยานอานเตี้ย การก้มใส่รองเท้าหรือตัดเล็บเอง การนั่งยอง ๆ การนั่งเก้าอี้เตี้ย ๆ การใช้โถส้วมแบบซึม การก้มลงหยิบของเอง
- งดการขึ้นลงบันไดที่มากเกินไป หรือหากจำเป็น ให้ใช้ขาข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดขึ้นก่อน และเมื่อลงบันได ให้ใช้ขาข้างที่ผ่าตัดลงก่อน
- งดเล่นกีฬาหนัก ๆ หรือกีฬาที่มีการปะทะกัน ประมาณ 6-12 เดือน หรือตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนกีฬาเบา ๆ เช่น ตีกอล์ฟ สามารถเล่นได้หลังผ่าตัดประมาณ 3 เดือน
- นั่งเก้าอี้ที่มีเบาะแข็งและเป็นเก้าอี้ทรงสูง เวลาลุกขึ้นให้เลื่อนตัวมาที่ขอบเก้าอี้ก่อนแล้วค่อยลุกขึ้นยืน
- ระมัดระวังอย่าให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มหรือสะโพกกระแทก
- ทำกิจวัตรประจำวันและเปลี่ยนอิริยาบถอย่างช้า ๆ อย่ารีบร้อน เช่น การเอียงตัว การหมุนตัว
- รักษาน้ำหนักตัวอย่างให้เกินเกณฑ์
- กินอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- กระดูกสะโพกหรือเบ้ากระดูกสะโพกแตกระหว่างผ่าตัด
- การบาดเจ็บของหลอดเลือดและเส้นประสาท มักทำให้คนไข้กระดกเท้าไม่ได้หลังผ่าตัด
- ข้อสะโพกเทียมหลุด
- การติดเชื้อที่ข้อสะโพกเทียม แต่มีโอกาสเกิดได้ค่อนข้างค่ำ หรือพบอาการได้หลังผ่าตัดไปเป็นเดือนหรือปีแล้ว
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขา อาจพบได้ทั้งที่ขาข้างที่ผ่าตัด และขาข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด
- ข้อสะโพกเทียมหลวมหรือสึกหรอ อาจเกิดจากข้อสะโพกเทียมหมดอายุการใช้งานแล้ว หรือคนไข้ใช้สะโพกหนักเกินไป
- ข้อสะโพกเทียมหัก มักเกิดได้จากอุบัติเหตุ
สาขาออร์โธปิดิกส์
นพ. ชยุตม์ ไชยเพิ่ม (หมอป้อง)
HDcare
ข้อมูลของแพทย์
-2557 แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เกียรตินิยมอันดับ 2)
-2563 วุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาออร์โธปิดิกส์
-2563 แพทย์ประจำบ้าน สาขาออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลขอนแก่น
-2564 ประกาศนียบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม อนุสาขาศัลยกรรมข้อเข่าและข้อสะโพก
-2564 แพทย์ประจำบ้านต่อยอด อนุสาขาศัลยกรรมข้อเข่าและข้อสะโพก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ข้อมูลอื่นของแพทย์
-ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เชี่ยวชาญทางข้อสะโพกและข้อเข่าเทียม (Hip and Knee Reconstruction)
สาขาออร์โธปิดิกส์
นพ. วัชระ มณีรัตน์โรจน์ (หมอแจ๊ค)
HDcare
ข้อมูลของแพทย์
-2005: แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
-2012: ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
-2017: ศัลยศาสตร์บูรณสภาพในข้อสะโพกและข้อเข่า, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
-ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่าเทียม โดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดหรือคอมพิวเตอร์นำวิถี
-ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมโดยใช้เทคนิคเข้าทางด้านหน้า ไม่ตัดกล้ามเนื้อ
ข้อมูลอื่นของแพทย์
-การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมและข้อเข่าเทียมโดยใช้เทคนิคแผลเล็กบาดเจ็บน้อย
-การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วนโดยใช้เทคนิคและข้อเทียมชนิดอ๊อกซฟอร์ด
-การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อข้อสะโพกและข้อเข่าเทียมโดยใช้แขนกลหุ่นยนต์ และคอมพิวเตอร์ช่วยผ่าตัด
-การผ่าตัดรักษาอาการบาดเจ็บและกระดูกหัก