
ผ่าตัดแบบเปิด รักษาความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ได้ทุกกรณี
ลดความเสี่ยงที่ต่อมไทรอยด์จะเป็นมะเร็งได้ 7-15%
รายละเอียด
รู้จักโรคนี้
ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland)

คือต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณกลางลำคอส่วนหน้า ใต้ลูกกระเดือก มีลักษณะคล้ายกับปีกผีเสื้อ มีความสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกาย เพราะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่ควบคุมระบบการเผาผลาญหรือระบบเมตาบอลิซึมของร่างกาย ดังนั้นหากเกิดความผิดปกติขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายในหลายระบบ โดยความผิดปกติของต่อมไทรอยด์มี 3 ประการหลักๆ ดังนี้
-
โรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroid)
คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป จนทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูง ส่งผลให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ อาการที่ส่งผลต่อร่างกาย เช่น น้ำหนักลดลงผิดปกติ กระสับกระส่าย ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก เหนื่อยง่าย ผมร่วง หัวใจเต้นเร็ว ท้องเสีย มือสั่น ตาโปน ต่อมไทรอยด์โต ประจำเดือนผิดปกติเป็นต้น -
โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroid
คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ อาการจึงมักตรงข้ามกับภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เช่น น้ำหนักขึ้น อ่อนเพลีย ทำอะไรเชื่องช้า ขี้หนาว ท้องผูก เบื่ออาหาร หน้าบวม หนังตาบวม ผิวแห้ง เป็นตะคริวบ่อย ความจำเสื่อม ชีพจรเต้นช้า ประจำเดือนผิดปกติ เป็นต้น -
ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Nodule)
เป็นภาวะต่อมไทรอยด์โตขึ้นผิดปกติ เมื่อคลำที่ลำคอจะพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์ โดยจะสังเกตเห็นได้ค่อนข้างง่าย เนื่องจากเมื่อกลืนน้ำลาย ก้อนที่ต่อมไทรอยด์จะขยับขึ้นลง โดยก้อนที่ต่อมไทรอยด์นี้ มีทั้งก้อนเดี่ยวและหลายก้อน ทั้งยังแบ่งได้เป็น 2 ประเภทย่อยๆ ได้แก่ ก้อนเนื้อที่ไม่ใช่มะเร็ง และก้อนเนื้อที่เป็นมะเร็ง -
ก้อนเนื้อที่ไม่ใช่มะเร็ง ก้อนเนื้อประเภทนี้ แบ่งได้อีกหลายชนิด ได้แก่
-
ก้อนซีสต์หรือถุงน้ำ ภายในก้อนจะมีของเหลวอยู่
-
เนื้องอกชนิดธรรมดา เกิดขึ้นในต่อมไทรอยด์
-
ก้อนเนื้อที่เป็นมะเร็ง หรือเรียกว่ามะเร็งไทรอยด์ ก้อนเนื้อประเภทนี้พบได้ประมาณร้อยละ 7-15 ของผู้ป่วยที่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ทั้งหมด ในระยะเริ่มต้นส่วนใหญ่ก้อนจะมีขนาดเล็ก จากนั้นจะเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ หากปล่อยทิ้งไว้เซลล์มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ปอด และ กระดูก เป็นต้น
รักษาโรคนี้ได้วิธีไหนบ้าง
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์มี 2 รูปแบบหลักๆ คือ การผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิดบริเวณลำคอ และการผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้อง ซึ่งแต่ละรูปแบบก็มีข้อดี และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล
สัญญาณที่ต้องผ่าตัด
เนื่องจากความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์มีหลากหลายรูปแบบ และมีทางเลือกในการรักษาหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของโรคและการประเมินของแพทย์ ทั้งการรับประทานยา การกลืนแร่ การผ่าตัด
โดยทั่วไปแพทย์จะพิจารณาให้ผ่าตัด เมื่อรักษาวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือไม่สามารถใช้วิธีอื่นรักษาได้ ทั้งนี้ความผิดปกติที่แพทย์มักพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด มีดังนี้
- โรคไทรอยด์เป็นพิษ ที่ไม่ตอบสนองต่อการรับประทานยา หรือการกลืนแร่
- ต่อมไทรอยด์หรือก้อนต่อมไทรอยด์ที่มีขนาดใหญ่ กดเบียดการหายใจและการกลืน ทำให้มีอาการหายใจลำบาก กลืนลำบาก
- ก้อนต่อมไทรอยด์ยื่นลงไปในช่องอก
- ก้อนเนื้อที่ไม่ใช่มะเร็ง แต่รักษาด้วยยาแล้วไม่ตอบสนอง หรือผู้ป่วยมีความประสงค์นำก้อนออก เช่น มีความกังวลเรื่องความสวยงาม
- ก้อนที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง
- โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
รู้จักการผ่าตัดนี้
การผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิดบริเวณลำคอ (Open Thyroid Surgery)
เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานที่ใช้มาอย่างยาวนาน แพทย์จะกรีดเปิดแผลบริเวณลำคอของผู้ป่วย แล้วนำเครื่องมือเข้าไปรักษา หรือตัดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ออกมา เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ก้อนไทรอยด์มีขนาดใหญ่ ไม่สามารถผ่าตัดได้ด้วยวิธีอื่น

ข้อดีของการผ่าตัดต่อมไทรอยด์แบบเปิด
-
ผ่าตัดรักษาความผิดปกติได้ทุกกรณี
ระยะเวลาผ่าตัดสั้นกว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้อง เนื่องจากขั้นตอนน้อยกว่า และเครื่องมือไม่ซับซ้อน
ราคาถูกกว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้อง
ข้อจำกัดของการผ่าตัดต่อมไทรอยด์แบบเปิด
-
มีแผลเป็นขนาดใหญ่ วางเป็นแนวขวางอยู่บริเวณลำคอ ความยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นใจหรือคุณภาพชีวิต
-
แผลหายช้า ระยะเวลาพักฟื้นนานกว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน และพักฟื้นที่บ้านประมาณ 5-7 วัน
-
ต้องระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ จนกว่าจะหายสนิท
ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดต่อมไทรอยด์แบบเปิด
ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดต่อมไทรอยด์แบบเปิดของโรงพยาบาลรัฐ โดยส่วนใหญ่ ไม่เกิน 100,000 บาท ขณะที่โรงพยาบาลเอกชน ราคาอยู่ที่ 100,000 บาทขึ้นไป
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
-
แจ้งประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว ยาที่รับประทานเป็นประจำ รวมถึงวิตามิน อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิด เพราะอาจต้องมีการงดรับประทานล่วงหน้าก่อนผ่าตัด
-
ตรวจสุขภาพเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้ระบุรายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นให้แก่ผู้ป่วยเอง เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจโควิด เป็นต้น
-
ในกรณีที่ตรวจร่างกายไม่ผ่าน จำเป็นต้องรักษาโรคให้ดีขึ้นก่อน เพื่อให้การดมยาสลบและการผ่าตัดเป็นไปได้อย่างปลอดภัยและได้มาตรฐาน
-
งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
-
พาญาติมาด้วยในวันผ่าตัด เนื่องจากการผ่าตัดจะต้องมีการดมยาสลบ เมื่อผู้ป่วยฟื้นขึ้นมาอาจมีอาการมึนเบลอ หรือเวียนศีรษะจากยาสลบได้
-
สำหรับผู้ที่ต่อเล็บ ทาเล็บเจล ต้องถอดเล็บเจลออกก่อน เพราะระหว่างผ่าตัดต้องสวมเครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้วเพื่อความปลอดภัย
-
ถอดฟันปลอม คอนแทคเลนส์ ของมีค่าทุกชนิดก่อนเข้าห้องผ่าตัด เพื่อป้องกันการสูญหายควรฝากญาติเอาไว้
การดูแลหลังผ่าตัด
- แพทย์อาจใส่ท่อระบายจากบริเวณแผลเพื่อลดโอกาสเลือดคั่งบริเวณแผลผ่าตัด แต่หลังจากประเมินว่า ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาและอาหารได้มากขึ้น มีสารเหลวไหลออกมาจากแผลน้อยลง แพทย์จะนำท่อระบายออก
- งดกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกายหนักๆ ยกของหนักในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด
- รับประทานยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวด ยาละลายเสมหะที่แพทย์สั่งจ่ายให้หมด
- พบแพทย์ตามนัดหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อตรวจแผล ติดตามผลการตรวจชิ้นเนื้อ หรือผลลัพธ์จากการผ่าตัดเพิ่มเติม
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
-
อาจมีอาการเสียงแหบ หรือเสียงแหบถาวรได้
-
ภาวะเลือดออกที่คอหลังการผ่าตัด โอกาสเกิดน้อยกว่าร้อยละ 1 อาจเกิดจากการไอ จาม หรือเบ่งที่รุนแรง ทำให้ไหมที่ผูกเส้นเลือดไว้หลุด
-
ภาวะหลอดลมอ่อนตัว โอกาสเกิดประมาณร้อยละ 1 ส่วนมากเกิดในผู้ป่วยที่มีก้อนไทรอยด์ขนาดใหญ่ มีการกดเบียดหลอดลม หรือผู้ป่วยสูงอายุที่หลอดลมไม่แข็งแรง หากมีอาการนี้ อาจจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจคาไว้ก่อนประมาณ 1-2 วันหลังผ่าตัด เพื่อรอให้หลอดลมแข็งตัว และตรวจหลอดลมอีกครั้งก่อนถอดท่อช่วยหายใจ
-
แผลติดเชื้อ โอกาสเกิดน้อยกว่าร้อยละ 1 สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะร่วมกับการผ่าตัดระบายหนอง
-
ต่อมพาราไทรอยด์บาดเจ็บ จนเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ มีอาการชาตามร่างกาย เกิดในกรณีต้องผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งสองข้าง และเกิดภาวะต่อมพาราไทรอยด์ช้ำ หรือต้องผ่าตัดออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดต่อมไทรอยด์เพียงข้างเดียว โอกาสเกิดภาวะแคลเซียมต่ำจนมีอาการนั้น พบได้น้อย
-
ภาวะเส้นเสียงไม่ทำงานทั้งสองข้าง เป็นภาวะที่พบได้น้อยกว่าร้อยละ 0.5
-
ภาวะเสียงเปลี่ยนหรือขึ้นเสียงสูงไม่ได้ โอกาสเกิดประมาณร้อยละ 0.4-3 เกิดจากการที่เส้นประสาทเสียง Superior Laryngea Nerve ได้รับบาดเจ็บ
อาการแทรกซ้อน และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
ปัจจุบันการผ่าตัดต่อมไทรอยด์มีการนำเครื่องมือและเทคโนโลยีการผ่าตัดใหม่ๆ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้การผ่าตัดแม่นยำมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงจัดว่าเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัย ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดนี้ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่โอกาสค่อนข้างต่ำ เช่น
-
แผลผ่าตัดติดเชื้อ
-
มีอาการเสียงแหบแห้ง หรือเสียงหาย เนื่องจากการการผ่าตัดอาจกระทบกระเทือนต่อเส้นประสาทเสียงได้
-
อาจมีอาการไอ สำลักง่าย โดยส่วนใหญ่จะหายเองภายใน 6 เดือน
-
บางรายอาจมีอาการชา ต้องรับประทานแคลเซียมเพิ่มเติม