ผ่าตัดเส้นเลือดขอดที่อัณฑะ
รายละเอียด
HDcare สรุปให้
เส้นเลือดขอดที่อัณฑะอาจทำให้มีบุตรยากได้!!!
- เจ็บ/ปวดหน่วงที่อัณฑะ
- สังเกตเห็นเส้นเลือดที่ใหญ่และปูดอย่างชัดเจนที่ลูกอัณฑะ
- รู้สึกว่าลูกอัณฑะมีขนาดโตขึ้นผิดปกติ
ไม่แน่ใจว่าที่เป็นอยู่คือเส้นเลือดขอดไหม
ทำนัดปรึกษาทีมแพทย์ของ HDcare วันนี้
ผ่าตัดแบบไหนได้บ้าง
- ผ่าตัดแบบเปิด โดยตำแหน่งที่ผ่าอาจอยู่ที่ลูกอัณฑะ บริเวณขาหนีบ หรือที่ด้านหลังเยื่อบุช่องท้อง มีโอกาสเสียเลือดได้มาก ปัจจุบันเทคนิคนี้จึงไม่นิยมใช้
- ผ่าตัดส่องกล้องที่ขาหนีบ เปิดแผลที่ขาหนีบ ระยะเวลาการผ่าตัดประมาณ 2-3 ชั่วโมง
- ผ่าตัดส่องกล้องที่ช่องท้อง เปิดแผลที่ช่องท้อง ระยะเวลาผ่าตัดประมาณ 30-40 นาที
ผ่าตัดแบบไหน HDcare ก็พร้อมดูแล
รีบปรึกษาแพทย์ของ HDcare โดยไม่มีค่าใช้จ่ายวันนี้
คำถามที่พบบ่อย
เส้นเลือดขอดที่ถุงอัณฑะ หายเองได้ไหม?
ภาวะหลอดเลือดที่ถุงอัณฑะที่ไม่รุนแรงสามารถหายเองได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือการผ่าตัด แต่ก็ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ในการประเมินวิธีรักษาที่เห็นผลลัพธ์ได้ดีและยาวนานที่สุด
เส้นเลือดขอดที่ถุงอัณฑะ มีลูกได้ไหม?
ภาวะหลอดเลือดขอดที่ถุงอัณฑะในระดับที่รุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ แต่หากรักษาจนดีขึ้น ปริมาณและคุณภาพของเชื้ออสุจิก็มักจะกลับมาเป็นปกติในอีกประมาณ 3 เดือนหลังการรักษา
รู้จักโรคนี้
ภาวะหลอดเลือดขอดที่ลูกอัณฑะ (Varicocele) คือ การที่หลอดเลือดดำบริเวณลูกอัณฑะขยายตัวผิดปกติทำให้เกิดอาการผิดปกติบริเวณลูกอัณฑะ เช่น
- รู้สึกปวดหน่วง หรือปวดที่ถุงอัณฑะ แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อนอนราบ
- ลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างมีขนาดบวมใหญ่ขึ้น
- คลำพบก้อนเล็กๆ เหนือลูกอัณฑะ
- มองเห็นเส้นเลือดบนถุงอัณฑะนูนหนาอย่างชัดเจนคล้ายกับตัวหนอน
- มีภาวะมีบุตรยาก โดยไม่สามารถมีบุตรได้ด้วยวิธีธรรมชาติ 1 ปีขึ้นไป
ภาวะหลอดเลือดขอดที่อัณฑะเกิดขึ้นกับอัณฑะข้างใดก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่จะพบที่ข้างซ้าย เพราะเป็นข้างที่หลอดเลือดมีแรงดันมากกว่า ทำให้เกิดโอกาสหลอดเลือดขอดได้มากกว่าอัณฑะข้างขวา
ภาวะหลอดเลือดขอดที่ลูกอัณฑะยังแบ่งได้ 4 ระดับตามความรุนแรง ได้แก่
- ระดับ 0: หลอดเลือดขอดเล็กน้อย มองไม่เห็นจากภายนอก จะรู้ได้จากการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด เช่น การตรวจอัลตราซาวด์
- ระดับ 1: หลอดเลือดดำเริ่มขอดมากขึ้น ตรวจด้วยการยืนแล้วกลั้นหายใจกับเบ่งลมไปที่ท้องเพื่อดูการขยายตัวของหลอดเลือดที่ลูกอัณฑะ
- ระดับ 2: เริ่มมีอาการเจ็บหรือหรือปวดหน่วงที่ลูกอัณฑะ ตรวจด้วยวิธีเดียวกับระดับ 1 ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์
- ระดับ 3: หลอดเลือดปูดบวมที่ลูกอัณฑะ ทำให้อัณฑะบวม คนไข้จะรู้สึกเจ็บหรือหน่วง สามารถมองเห็นความผิดปกติภายนอกได้อย่างชัดเจนจากการตรวจด้วยตาเปล่า
สัญญาณที่ต้องตรวจ
อาการของภาวะหลอดเลือดขอดที่ลูกอัณฑะมีดังนี้
- รู้สึกเจ็บ หรือปวดหน่วงที่อัณฑะ
- สังเกตเห็นเส้นเลือดที่ใหญ่และปูดอย่างชัดเจนที่ลูกอัณฑะ
- รู้สึกว่าลูกอัณฑะมีขนาดโตขึ้นผิดปกติ
หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะภาวะหลอดเลือดขอดที่อัณฑะหากปล่อยเอาไว้อาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้
ตรวจโรคนี้อย่างไรได้บ้าง
- ตรวจเบื้องต้นด้วยตัวเองโดยการคลำดูขนาดลูกอัณฑะที่ใหญ่ขึ้น หรือหาหลอดเลือดที่ปูดใหญ่ขึ้นบริเวณลูกอัณฑะ
- ตรวจดูลูกอัณฑะกับแพทย์อย่างละเอียด ด้วยการยืน กลั้นหายใจ และลองออกแรงเบ่งลมไปที่ท้องเพื่อให้เห็นการขยายตัวของหลอดเลือดดำที่ลูกอัณฑะอย่างชัดเจน
- ตรวจอัลตราซาวด์ลูกอัณฑะ มักเป็นการตรวจที่ทำร่วมกับการตรวจร่างกาย
- ตรวจเลือด เพื่อเช็กระดับฮอร์โมนเพศชายเพื่อเช็กความผิดปกติ
- ตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ (Semen Analysis) เพราะภาวะหลอดเลือดขอดอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพในการมีบุตร และทำให้ปริมาณกับคุณภาพของอสุจิลดลง
รักษาโรคนี้ได้วิธีไหนบ้าง
การรักษาภาวะหลอดเลือดขอดที่อัณฑะแบ่งออกได้ 2 วิธี ได้แก่
- การใช้ยา โดยมักจ่ายเป็นยาแก้ปวด จากนั้นจะนัดตรวจดูอาการเป็นระยะ แพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนกางเกงชั้นในที่รัดรูปขึ้น หรือใส่กางเกงที่พอดีตัวขณะออกกำลังกาย ซึ่งเป็นวิธีรักษาในผู้ป่วยที่ระดับอาการไม่รุนแรง และไม่กระทบต่อสุขภาพระบบสืบพันธุ์
- การผ่าตัด เพื่อตัดแต่ง ใส่อุปกรณ์เสริมเพื่อขยายหลอดเลือด นำหลอดเลือดที่ขอดออก หรือสร้างทางเบี่ยงหลอดเลือดดำใหม่เพื่อให้ระบบไหลเวียนเลือดที่ลูกอัณฑะกลับมาทำงานได้เป็นปกติและทำให้หลอดเลือดดำที่ขอดยุบตัวลง
สัญญาณที่ต้องผ่าตัด
แพทย์มักแนะนำให้เลือกใช้วิธีผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บที่ลูกอัณฑะ หรือลูกอัณฑะมีขนาดบวมโตจนส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน รวมถึงในผู้ป่วยที่เกิดภาวะมีบุตรยากจากภาวะหลอดเลือดขอดที่อัณฑะ
รู้จักการผ่าตัดนี้
การผ่าตัดหลอดเลือดขอดที่ถุงอัณฑะ (Varicocelectomy) คือ การผ่าตัดเพื่อแก้ไขหลอดเลือดดำที่ถุงอัณฑะซึ่งมีปัญหาขอดหรือขยายตัวผิดปกติให้กลับมาทำงานปกติอีกครั้ง
ปัจจุบันนิยมใช้เป็นการผ่าตัดส่องกล้องที่ช่องท้อง (Laparoscopic Varicocelectomy) ซึ่งมีจุดเด่นด้านแผลผ่าตัดที่เล็ก ทำให้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็ว ลดโอกาสเจ็บแผลได้น้อย และใช้ระยะเวลาผ่าตัดเพียงประมาณ 30-40 นาที โดยมีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้
- วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ
- แพทย์เปิดแผลขนาดเล็กที่ช่องท้องส่วนล่าง แล้วสอดกล้องผ่าตัด Laparoscope เข้าไปด้านในภาพภายในลูกอัณฑะจะฉายขึ้นจอภาพภายในห้องผ่าตัด
- เติมแก๊สเข้าไปในช่องท้องส่วนล่างเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้สะดวกต่อการผ่าตัดมากขึ้น
- สอดอุปกรณ์เข้าไปผ่านกล้องผ่าตัด เพื่อแยกและตัดหลอดเลือดที่ขยายตัวผิดปกติออกจากลูกอัณฑะ
- ปิดปลายหลอดเลือดที่ผ่านการตัดแต่งแล้วด้วยที่หนีบขนาดเล็กที่สามารถปล่อยคลื่นความร้อนได้
- นำอุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องผ่าตัดออกจากแผล และเย็บปิดแผล
- สังเกตอาการที่ห้องพักฟื้น หากไม่มีสัญญาณอาการข้างเคียงหรืออาการแทรกซ้อน ประมาณ 1-2 ชั่วโมงหลังผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้
เปรียบเทียบการผ่าตัดวิธีต่างๆ
ผ่าตัดเส้นเลือดขอดที่ถุงอัณฑะแบบเปิด
- แพทย์จะเปิดแผลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าแผลผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อให้เห็นความผิดปกติของหลอดเลือดได้ชัดเจน โดยตำแหน่งที่ผ่าอาจอยู่ที่ลูกอัณฑะ บริเวณขาหนีบ หรือที่ด้านหลังเยื่อบุช่องท้อง
- มีโอกาสเสียเลือดได้มาก ปัจจุบันเทคนิคนี้จึงไม่นิยมใช้
ผ่าตัดเส้นเลือดขอดที่ถุงอัณฑะแบบส่องกล้องที่ขาหนีบ (Microsurgical Varicocelectomy)
- เป็นวิธีผ่าตัดส่องกล้องที่คล้ายกับการผ่าตัดส่องกล้องที่ช่องท้อง แต่จะเปลี่ยนตำแหน่งที่ผ่าเปิดแผลเป็นขาหนีบแทน
- ใช้กล้อง Microscope ช่วยให้แพทย์เห็นภาพความผิดปกติของหลอดเลือด
- ระยะเวลาการผ่าตัดนานกว่าแบบผ่าตัดส่องกล้องที่ช่องท้อง โดยจะอยู่ที่ 2-3 ชั่วโมง
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- แจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา รวมถึงรายการยาประจำตัว วิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิดกับแพทย์ล่วงหน้า
- ตรวจสุขภาพตามรายการที่แพทย์แนะนำ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเอกซเรย์ปอด
- งดยาและวิตามินเสริมบางชนิดล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันหรือตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาละลายลิ่มเลือด
- งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ล่วงหน้าอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ก่อนวันผ่าตัด
- งดน้ำและงดอาหารล่วงหน้า 8-12 ชั่วโมง
- งดใส่คอนแทคเลนส์ งดทาเล็บ งดใส่แว่นตา และถอดฟันปลอมออกก่อนเข้าห้องผ่าตัด
- พาญาติมาด้วยในวันผ่าตัด
การดูแลหลังผ่าตัด
- 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด ให้หมั่นประคบเย็นประมาณ 10 นาทีบ่อยๆ เพื่อลดอาการบวม
- กินยาตามที่แพทย์สั่งให้อย่างเคร่งครัด
- สามารถเริ่มกลับมาทำกิจกรรมเบาๆ ได้หลังผ่าตัดประมาณ 2 วัน
- งดมีเพศสัมพันธ์ งดออกกำลังกายหนักๆ งดยกของหนัก งดทำกิจกรรมหนักๆ รวมถึงการทำกิจกรรมที่ทำให้ลูกอัณฑะได้รับแรงเสียดสีหรือแรงกระแทก เช่น ปั่นจักรยาน เตะฟุตบอล ขี่ม้า เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
- งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนกว่าแผลจะสมานตัวดี
- งดให้แผลโดนน้ำจนกว่าแผลจะสมานตัวหรือแพทย์อนุญาต หลังจากผ่านไป 2 วันสามารถอาบน้ำได้ แต่ยังห้ามให้แผลโดนน้ำหรืออับชื้นเด็ดขาด รวมถึงงดถูสบู่แรงๆ รอบๆ แผลด้วย
- งดขับรถและงดใช้เครื่องจักรจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- งดการเบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระแรงๆ รวมถึงระมัดระวังอย่าให้ท้องผูก
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
โดยทั่วไปการผ่าตัดแบบส่องกล้องจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายหลังผ่าตัดได้ต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น
- อาการข้างเคียงจากยาสลบ เช่น คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย
- โอกาสเกิดหลอดเลือดขอดซ้ำ
- มีไข้สูง
- ปัสสาวะลำบากขึ้น
- แผลติดเชื้อ ซึ่งจะมีอาการแสดงเป็นแผลที่บวมแดง มีกลิ่นเหม็น หรือมีของเหลวมีกลิ่นเหม็นไหลออกมา
- แผลบวมช้ำ
- หลอดเลือดหรือเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียงกับตำแหน่งที่ผ่าตัดได้รับความเสียหาย
สาขาศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ
นพ. อัสพล ตันตะราวงศา (หมออัส)
HDcare
ข้อมูลของแพทย์
- แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒประสานมิตร
- แพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อมูลอื่นของแพทย์
- แพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ