รวมเรื่องต้องรู้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)


Home Isolation หรือ การแยกกักตัวที่บ้านสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 คืออะไร? มีขั้นตอนอย่างไร? หลักเกณฑ์การทำ Home Isolation มีอะไรบ้าง? มีข้อปฏิบัติตัว แนวทางการดูแลตนเอง อย่างไร? ลักษณะอาการของผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว สีเหลือง สีแดง แตกต่างกันอย่างไร?​

HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • Home Isolation คือการแยกกักตัวที่บ้านในผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งแพทย์ประเมินแล้วว่า สามารถทำได้
  • การเข้าสู่ระบบ Home Isolation ประชาชนจะต้องตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยวิธี Antigen Test Kit หรือ RT-PCR ได้ผลเป็นบวก (Positive) แล้วติดต่อกับสถานพยาบาลที่เข้าร่วมกับสปสช. ที่เบอร์โทรศัพท์ 1330 หรือลงทะเบียนที่เว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th หรือแอดไลน์ @nhso หลังจากนั้นโรงพยาบาลจะตรวจอาการเพื่อจำแนกผู้ป่วยที่ทำ Home Isolation ได้ และผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาที่โรงพยาบาล
  • ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สามารถทำ Home Isolation ได้ คือ ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หมายถึง ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการแสดง หรือมีอาการเล็กน้อย นอกจากนี้ยังต้องเป็นผู้ที่อายุต่ำกว่า 60 ปี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีภาวะอ้วน ไม่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่อาจส่งผลต่อระดับความรุนแรงของโรค และมีสถานที่พักที่เหมาะสม
  • ผู้ที่ทำ Home Isolation จะได้รับเครื่องมือวัดอุณหภูมิร่างกาย เครื่องมือวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้ว ยารักษาโรคตามอาการ และมีทีมแพทย์และพยาบาลคอยติดตามอาการผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เช่น โทรศัพท์ หรือวิดีโอคอล วันละ 2 ครั้ง
  • เปรียบเทียบแพ็กเกจและราคาตรวจโควิด-19 หรือแอดไลน์ @hdmall.support

จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดกรุงเทพมหานคร และเขตปริมณฑล ทำให้สถานพยาบาลไม่สามารถรองรับกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้

กรมการแพทย์จึงได้ออกมาตรการให้มีการแยกกันตัวที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย (จัดอยู่ในระดับสีเขียว) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว

Home Isolation หรือการแยกกักตัวที่บ้าน คืออะไร มีขั้นตอนการเข้าระบบอย่างไร มีข้อปฏิบัติตัวอย่างไร ใครที่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ แล้วจะได้รับการรักษาอย่างไร HDmall.co.th ได้รวบรวมคำตอบมาให้แล้ว

Home Isolation หรือการแยกกักตัวที่บ้านในผู้ป่วยโควิด-19 คืออะไร?

กรมการแพทย์ ได้จำแนกคำนิยามของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องทำ Home Isolation ออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  1. ผู้ป่วยโควิด-19 ที่วินิจฉัยใหม่ตามเกณฑ์ อยู่ในระหว่างรอแอดมิท (Admit) ที่โรงพยาบาล และแพทย์เห็นว่าสามารถดูแลรักษาที่บ้านระหว่างรอเตียงได้
  2. ผู้ป่วยโควิด-19 ที่พ้นวิกฤต (Step down) หรือควบคุมอาการได้แล้ว หลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือสถานที่ที่ภาครัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วัน โดยจะจ่ายยาให้กลับไปรักษาต่อเนื่องที่บ้าน

โดยแพทย์จะแจกเครื่องมือวัดไข้ เครื่องมือวัดค่าออกซิเจนในเลือด และกล่องรอดตาย* (กล่องบรรจุยาและเวชภัณฑ์)​ เพื่อให้ผู้ป่วยดูแลตนเองได้ ในขณะที่ทำ Home Isolation หรือรอเตียง 

ซึ่งในระหว่างนั้น จะมีทีมแพทย์คอยติดตามอาการผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เช่น โทรศัพท์ หรือวิดีโอคอล วันละ 2 ครั้ง และหากพบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการแย่ลง (เปลี่ยนจากระดับสีเขียว เป็นสีเหลือง หรือสีแดง) ก็จะส่งต่อให้กับโรงพยาบาลที่รักษาอยู่

นอกจาก Home Isolation แล้ว ยังมีการการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) อีกด้วย ซึ่งมีหลักการคล้ายกับการแยกกักตัวที่บ้าน แต่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกจะกักตัวที่บ้านจากข้อจำกัดต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เช่น หอประชุมโรงเรียน หรือศาลาวัด

*กล่องรอดตาย ประกอบด้วย ปรอทวัดไข้ 1 แท่ง เครื่องตรวจวัดออกซิเจนปลายนิ้ว 1 เครื่อง ยาพาราเซทตามอล 500 มก. 50 เม็ด ยาฟ้าทะลายโจร ชนิดแคปซูล 90 แคปซูล เจลแอลกอฮอล์ ปริมาณไม่เกิน 100 มล. และหน้ากากอนามัย 15 ชิ้น

ขั้นตอนการเข้าระบบ Home Isolation มีอะไรบ้าง ต้องลงทะเบียนที่ไหน?

1.ประชาชนต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง ด้วยชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit หรือตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ที่สถานพยาบาล

2.ผู้ที่ผลเป็นลบ (Negative) หมายความว่า "ไม่ติดเชื้อ" ให้ปฏิบัติตัวดังนี้

  • ผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงชัดเจน ให้สังเกตอาการ และทำมาตรการ DMHTT
  • ผู้ที่มีความเสี่ยง หรือเคยสัมผัสกับผู้ใกล้ชิด ให้ตรวจ Antigen Test Kit ซ้ำในอีก 3-5 วัน หรือเมื่อมีอาการ ในระหว่างนั้นให้กักตัวอย่างน้อย 14 วัน และทำมาตรการ DMHTT

3.ผู้ที่ผลเป็นบวก (Positive) หมายความว่า "ติดเชื้อ" ให้ปฏิบัติตัวดังนี้

  • ในกรณีที่ตรวจแบบ RT-PCR ส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่จะติดต่อประสานกับส่วนกลาง หรือโรงพยาบาลที่เป็นพาร์ทเนอร์กับสถานที่ตรวจนั้นๆ ให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
  • ในกรณีที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง ให้โทรแจ้งโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนกับสปสช. เพื่อเข้าระบบ Home Isolation ที่เบอร์โทรศัพท์ 1330, 1323, 1422, 1442, 1646, 1668, 1669 และ1506 หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th หรือแอดไลน์ @nhso หรือเพจเฟซบุ๊ก เราต้องรอด
  • ผู้ที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ให้ตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง 
  • แพทย์จะตรวจอาการ เอกซเรย์ปอด (หากทำได้) และจำแนกผู้ป่วยออกเป็น 3 ระดับ คือ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง
  • ผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในระดับสีเขียว หมายถึง ผู้ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย สามารถทำ Home Isolation ได้
  • ผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในระดับสีเหลือง หรือสีแดง หมายถึง ผู้ที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

อ่านเพิ่มเติม:

ลักษณะอาการของผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว สีเหลือง และสีแดง แตกต่างกันอย่างไร?

1.ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว

  • เป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ตาแดง ผื่นขึ้น
  • ไม่มีอาการทางเดินหายใจส่วนล่าง

2.ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง

  • มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว แต่ไม่รุนแรง
  • มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรง หรือโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น
    • อายุมากกว่า 60 ปี
    • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ
    • โรคไตเรื้อรัง
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจแต่กำเนิด หรือโรคหลอดเลือดสมอง
    • โรคเบาหวานที่คุมไม่ได้
    • มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม
    • ตับแข็ง
    • ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1000

3.ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีแดง

  • มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก
  • เอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง
  • มีภาวะปอดบวม
  • ความอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า 96%
  • มีค่าออกซิเจนลดลงมากกว่า 3% หลังออกแรง ของค่าที่วัดได้ในครั้งแรกที่ออกแรง

หลักเกณฑ์ผู้ป่วยโควิด-19 ที่สามารถทำ Home Isolation ได้ มีอะไรบ้าง?

ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการทำ Home Isolation จะต้องผ่านหลักเกณฑ์ 7 ข้อ ดังนี้

  1. เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย
  2. มีอายุน้อยกว่า 60 ปี
  3. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
  4. ที่บ้านพักอาศัยอยู่คนเดียว หรือมีผู้ร่วมอาศัยไม่เกิน 1 คน
  5. ไม่มีภาวะโรคอ้วน* หรือน้ำหนักน้อยกว่า 90 กิโลกรัม
  6. ไม่ได้เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
  7. ผู้ป่วยโควิด-19 ยินยอมแยกกักตัวในที่พักของตนเอง

อย่างไรก็ตาม หากไม่ผ่านเกณฑ์ แต่แพทย์อนุญาต ก็สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้เช่นกัน

*ภาวะโรคอ้วน หมายถึง ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 30 วิธีการคำนวนค่าดัชนีมวลกาย คือ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)2

สถานที่พักที่เหมาะสำหรับการทำ Home Isolation เป็นอย่างไร?

สถานที่พักที่เหมาะกับการทำ Home Isolation ควรมีลักษณะดังนี้

  • มีห้องนอนส่วนตัว
  • หากไม่มีห้องนอนส่วนตัว ควรมีพื้นที่กว้างพอที่จะนอนห่างจากผู้อื่น อย่างน้อย 2 เมตร
  • มีอากาศถ่ายเทสะดวก ควรเปิดประตู และหน้าต่างให้ระบายอากาศได้ดีอยู่เสมอ
  • มีผู้จัดหาอาหาร และของใช้จำเป็นให้
  • ผู้ที่อยู่อาศัยร่วมบ้าน สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องสุขอนามัย และการแยกจากผู้ป่วยได้
  • สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้สะดวก และควรโดยสารด้วยยานพาหนะส่วนตัว

หากสถานที่พักไม่เหมาะสำหรับการทำ Home Isolation ควรหาสถานที่อื่นในการกักตัว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้ใกล้ชิด

ขณะทำ Home Isolation ควรดูแลตนเองอย่างไร?

นอกจากการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง รับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ และพักผ่อนให้เพียงพอแล้ว ผู้ป่วยโควิด-19 ควรหมั่นสังเกตอาการตนเองทุกวัน ดังนี้

  • วัดอุณหภูมิร่างกายเช้า-เย็น โดยตำแหน่งที่วัดอุณหภูมิร่างกาย มี 4 ตำแหน่งหลัก ได้แก่
    • ปาก อุณหภูมิเมื่อเป็นไข้ จะอยู่ที่ 37.8 องศาเซลเซียสขึ้นไป
    • หูและทวารหนัก อุณหภูมิเมื่อเป็นไข้ จะอยู่ที่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
    • รักแร้ อุณหภูมิเมื่อเป็นไข้ จะอยู่ที่ 37.2 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • วัดระดับออกซิเจนปลายนิ้วเช้า-เย็น
    • ค่าปกติ คือ 95-100%
    • หากค่าต่ำกว่า 95% หรือน้อยกว่าค่าปกติที่เคยวัดได้ 3-4% จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
    • ข้อควรรู้ การวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้ว เป็นการดูการทำงานของปอดและหัวใจว่า สามารถส่งออกซิเจนไปเลี้ยงได้เพียงพอหรือไม่ ไม่สามารถใช้วัดความรุนแรงของโรคโควิด-19  หรือวัดการติดเชื้อโควิด-19 ได้
  • หากมีอาการแย่ลง หรือมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ หอบ เหนื่อย ไข้สูง หรือไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ ให้ติดต่อกับโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ทันที

ข้อควรระวัง เมื่อต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ให้ใช้ยานพาหนะส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัยเสมอ และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก หรือให้รถที่โรงพยาบาลมารับ

ข้อปฏิบัติเมื่อผู้ป่วยโควิด-19 ทำ Home Isolation มีอะไรบ้าง?

  • งดออกจากบ้าน และไม่ให้ผู้อื่นมาเยี่ยมบ้าน
  • ควรอยู่ในห้องนอนของตนเองตลอดเวลา และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้อื่น อย่างน้อย 2 เมตร โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็ก
  • ควรสวมใส่​หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยเฉพาะหากมีอาการไอ แม้จะอยู่ในห้องนอนก็ตาม (ไม่แนะนำให้ใช้หน้ากากผ้า)
  • หากมีอาการไอขณะที่ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ต้องเอามือปิดปาก และไม่ต้องถอดหน้ากากออก แต่ถ้าไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปากและจมูก
  • หมั่นถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือหลังปัสสาวะ หรือขับถ่าย หรือก่อนที่จะสัมผัสจุดเสี่ยงอื่นที่มีผู้อื่นในบ้านใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได หรือมือจับตู้เย็น
  • กรณีที่เป็นมารดา สามารถให้นมบุตรได้ เนื่องจากยังไม่มีรายงานพบเชื้อโควิด-19 ในน้ำนม แต่มารดาจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนให้นมบุตร
  • ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย และปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดน้ำ
  • แยกสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวออกจากผู้อื่น
  • ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น
  • สามารถซักเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง หรือผ้าขนหนู ด้วยผงซักฟอกได้ตามปกติ
  • การทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว และขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง ให้ใส่ถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้งขยะที่ฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำและสบู่ทันที

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่อาศัยร่วมกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ทำ Home Isolation มีอะไรบ้าง?

  • ทุกคนในบ้าน ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย
  • ควรล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • เฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของผู้ที่อาศัยในบ้าน ภายในระยะเวลา 14 วัน หลังสัมผัสผู้ป่วย
  • ควรแยกห้องนอนกับผู้ป่วย หรืออยู่ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร
  • ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน และแยกของใช้ส่วนตัว

เมื่อมีผู้ป่วยโควิด-19 ทำ Home Isolation ควรทำความสะอาดพื้นผิว หรือห้องน้ำอย่างไร?

เมื่อต้องทำความสะอาดพื้นผิว หรือห้องน้ำ ควรสวมใส่หน้ากากและถุงมือทุกครั้ง และหลังจากทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ และนำไปตากแสงแดดจัดทุกครั้ง โดยสารทำความสะอาดที่แนะนำ มีดังนี้

  • กรณีที่เป็นสิ่งของ อุปกรณ์ หรือข้าวของเครื่องใช้ ให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 5% ในการเช็ดทำความสะอาด
  • กรณีที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น พื้นห้อง ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (น้ำยาซักผ้าขาว) 0.1% หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5% ผสมกับน้ำ ในอัตราส่วนที่ผลิตภัณฑ์นั้นๆ กำหนดในฉลากสินค้า

แม้ว่า การทำ Home Isolation จะมีข้อปฏิบัติหลายข้อ ซึ่งอาจสร้างความยุ่งยากให้กับคนในครอบครัว หรือตัวผู้ป่วยเอง แต่ก็ควรปฏิบัติตามข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และทำให้กระบวนการรักษาจบลงเร็วที่สุด

สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงเป็นที่น่ากังวลใจ ในระหว่างนั้น เราควรป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด โดยการหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ชุมชน สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน หมั่นล้างมือเป็นประจำ และฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อมีโอกาส

HDmall.co.th ขอเป็นหนึ่งในกำลังใจให้กับคนไทยทุกคน เราจะผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกจะจบลงโดยเร็วที่สุด

สำหรับใครที่ต้องการตรวจคัดกรองโควิด-19 สามารถ เปรียบเทียบแพ็กเกจและราคาตรวจโควิด-19 ล่าสุด ได้ที่นี่ หรือแอดไลน์ @hdmall.support เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ มีจิ๊บใจดีคอยให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง แอดได้เลยไม่ต้องรอ!

รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • กรมการแพทย์, แนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 (https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Covid_Health/Attach/25640702093509AM_home%20isolation_n_01072021_V2_ปรับ.pdf), 16 กรกฎาคม 2564.
  • กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข, คำแนะนำสำหรับประชาชนในการทำความสะอาด ทำลาย และฆ่าเชื้อโรค ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2019 (COVID-19) (https://www.chiangmaihealth.go.th/cmpho_web/document/200330158553673577.pdf), 16 กรกฎาคม 2564.
  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, คำแนะนำการปฏิบัติการแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 (COVID-19) (https://www.gj.mahidol.ac.th/main/covid19/homeisolation/), 16 กรกฎาคม 2564.
  • ศูนย์ข้อมูล COVID-19, รวมสไลด์แถลงสถานการณ์โควิด-19 จาก ศบค. วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 2564 (https://www.facebook.com/informationcovid19/photos/pcb.366011445017186/366006195017711/), 16 กรกฎาคม 2564.
  • งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, อุณหภูมิร่างกาย แค่ไหนเรียก “ปกติ” (https://www2.si.mahidol.ac.th/km/cop/support/healthbenefit/14476/), 16 กรกฎาคม 2564.
@‌hdcoth line chat