วัคซีนโควิดแอสตราเซเนกา (AstraZeneca)


HDmall สรุปให้!

ขยาย

ปิด

  • วัคซีนแอสตราเซเนก้า (AstraZeneca) เป็นวัคซีนป้องกันโควิดชนิดไวรัลเวคเตอร์ (Viral Vector) ได้รับการพัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนก้า ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University)
  • กระบวนการทำงานหลักๆ คือการนำไวรัสชนิดอื่นมาดัดแปลงและฉีดเข้าร่างกาย เมื่อไวรัสเข้าสู่เซลล์ก็จะสร้างโปรตีนหนามที่คล้ายกับโคโรนาไวรัสขึ้นมา ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถตอบสนองเชื้อได้โดยไม่ป่วยเป็นโควิด
  • จากการศึกษาพบว่าวัคซีนแอสตราเซเนก้า มีประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยสูงถึง 70% และมีประสิทธิภาพ 67% ต่อโควิดสายพันธุ์เดลต้าเมื่อฉีดครบ 2 เข็ม แต่ยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
  • จองวัคซีนทางเลือก Moderna หรือ Sinopharm หรือแอดไลน์สอบถามแอดมินได้ที่ @hdcoth

ปัจจุบันประเทศไทยได้มีแผนการนำเข้าวัคซีนหลายชนิดเข้ามาเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 โดยหนึ่งในวัคซีนที่ประเทศไทยมีแผนนำมาใช้เป็นจำนวนมาก็คือ วัคซีนโควิดยี่ห้อแอสตราเซเนก้า (AstraZeneca)

ไม่ว่าจะได้รับวัคซีนแบบฉีดไขว้ควบคู่ไปกับวัคซีนชนิดอื่น หรือฉีดแอสตราเซเนก้าทั้ง 2 เข็ม การทราบข้อมูลของวัคซีนแต่ละชนิด ก็เป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่จะประกอบการตัดสินใจของผู้ที่จะรับวัคซีน

ในบทความนี้ HDmall.co.th รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัคซีนแอสตราเซเนก้าแบบเข้าใจง่าย พร้อมสรุปเป็นข้อๆ มาให้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้อ่านในการประกอบการตัดสินใจต่อไป


เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

  • วัคซีนโควิด AstraZeneca คืออะไร?
  • วัคซีน AstraZeneca ทำงานอย่างไร?
  • วัคซีนโควิด AstraZeneca ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร?
  • วัคซีนโควิด AstraZeneca ป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้ไหม?
  • วัคซีน AstraZeneca ฉีดอย่างไร?
  • วัคซีนโควิด AstraZeneca เหมาะกับใคร?
  • วัคซีนโควิด AstraZeneca ไม่เหมาะกับใคร?
  • ผลข้างเคียงของวัคซีน AstraZeneca เป็นอย่างไร?
  • อาการแพ้วัคซีน AstraZeneca เป็นอย่างไร?

  • วัคซีนโควิด AstraZeneca คืออะไร?

    วัคซีนโควิดแอสตราเซเนก้า (AstraZeneca COVID Vaccine) เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยี่ห้อแอสตราเซเนก้า (AstraZeneca) ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์ (Viral Vector) เช่นเดียวกับวัคซีนยี่ห้อจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson)

    วัคซีนแอสตราเซเนก้าได้รับการพัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนก้า ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) โดยการใช้อดิโน่ไวรัส (Adenovirus) ที่ทำให้เกิดโรคหวัดในลิงชิมแปนซีมาพัฒนา เมื่อฉีดเข้าร่างกายมนุษย์ จะสามารถกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิดได้

    การใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบไวรัลเวคเตอร์นี้ มีข้อดีคือสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากในราคาไม่สูง รวมถึงสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นธรรมดาได้ ทำให้ข้อจำกัดในการจัดเก็บน้อยกว่าวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์ (Pfizer) และโมเดอร์นา (Moderna)

    วัคซีนแอสตราเซเนก้า ได้รับการแนะนำว่าปลอดภัยจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) และองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency: EMA)

    ตรวจโควิด RT-PCR ราคาถูก

    วัคซีน AstraZeneca ทำงานอย่างไร?

    วัคซีนแอสตราเซเนก้าเป็นชนิดไวรัลเวคเตอร์ นั่นก็คือการนำไวรัสชนิดอื่นมาดัดแปลง และฉีดเข้าร่างกายมนุษย์เพื่อให้เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน โดยหลักการทำงานคร่าวๆ หลังจากฉีดเข้าร่างกายแล้ว อาจมีดังนี้

    1. เวคเตอร์ (Vector) หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นไวรัสตัวปลอมที่ไม่ใช่ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด และไม่เป็นอันตราย จะเข้าสู่เซลล์ในร่างกาย จากนั้นเซลล์จะสร้างชิ้นส่วนที่เป็นหนามของโคโรนาไวรัส ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคโควิด-19
    2. จากนั้นเซลล์จะนำโปรตีนที่เป็นหนามนี้แสดงออกมาบริเวณพื้นผิวเช่นเดียวกับโคโรนาไวรัส (คล้ายกับการปลอมตัว) เมื่อระบบภูมิคุ้มกันเห็นเซลล์ที่มีหนามหนามคล้ายโคโรนาไวรัส จึงกระตุ้นให้เกิดการสร้างแอนติบอดี้ และเตือนเซลล์ภูมิคุ้มกันอื่นๆ ให้มาต่อสู้กับเซลล์ดังกล่าว
    3. หลังจากเกิดกระบวนการตามที่กล่าวมา ร่างกายจะเรียนรู้วิธีป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้ในที่สุด

    ดังนั้นหากสรุปง่ายๆ วัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์ (Viral Vector) เปรียบเสมือนการนำข้อมูลที่จำเป็นในการสร้างภูมิคุ้มกันตอบสนองไปส่งให้กับร่างกาย เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต่อเชื้อ SARS-CoV-2 ต้นเหตุของโรคโควิด-19 (COVID-19)

    วัคซีนโควิด AstraZeneca ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร?

    จากรายงานของแอสตราเซเนก้า และออกฟอร์ด (Oxford) วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยสูงถึง 70% แต่ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยถูกคำนวณจากผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มซึ่งมีประสิทธิภาพ 62% เทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มเดียว ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงถึง 90%

    กรณีดังกล่าวจึงทำให้ผู้พัฒนายังคงศึกษาเพิ่มเติมต่อไปว่าเหตุใดการรับวัคซีนครบโดสจึงมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการให้เพียงเข็มเดียว

    วัคซีนโควิด AstraZeneca ป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้ไหม?

    แม้การศึกษาจะยังคงมีอยู่จำกัด แต่ผลลัพธ์ก็บ่งชี้ว่าวัคซีนแอสตราเซเนก้าอาจสามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลต้า (B.1.617.2) ได้เช่นกัน

    การศึกษาที่เผยแพร่ใน The New England Journal of Medicine พบว่าวัคซีนแอสตราเซเนก้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลด้าได้ 30% เมื่อฉีดไป 1 เข็ม และจะมีประสิทธิภาพสูงถึง 67% เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม

    อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดของวัคซีนแอสตราเซเนก้า ยังคงต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

    วัคซีน AstraZeneca ฉีดอย่างไร?

    ปัจจุบันวัคซีนโควิดแอสตราเซเนก้า ได้รับคำแนะนำให้ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม (เข็มละ 0.5 มิลลิลิตร) เข้าบริเวณกล้ามเนื้อต้นแขน โดยเว้นระยะห่างเข็มที่ 2 จากเข็มแรกประมาณ 8-12 สัปดาห์ หรือ 2-3 เดือน

    อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนก้าเพียงเข็มเดียวยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม ในระหว่างนี้หากลืมกำหนดนัดหมายเข็มที่ 2 หรือเกิดเหตุใดๆ ที่ทำให้พลาดการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลถึงแนวทางการปฎิบัติ

    วัคซีนโควิด AstraZeneca เหมาะกับใคร?

    วัคซีนแอสตราเซเนก้าอาจเหมาะกับผู้ที่มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

    • ผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป
    • บุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ที่จำเป็นต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ มีความเสี่ยงสูง
    • ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป อาจเป็นกลุ่มที่ได้รับการจัดสรรเป็นอันดับแรก เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาการจะรุนแรง
    • ผู้ที่มีโรคประจำตัว และอาจมีอาการรุนแรงหากติดโควิด-19 ได้แก่ โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมอง
    • ผู้ติดเชื้อ HIV หรือโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการรับวัคซีน
    • ผู้ที่เคยติดโควิด-19 มาก่อน และหายจากโรคแล้วอย่างน้อย 6 เดือน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการรับวัคซีน
    • ผู้หญิงที่อยู่ในระหว่างให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการรับวัคซีน
    • ผู้หญิงที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเหมาะสมในฉีดวัคซีน

    สำหรับกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังคงอยู่ระหว่างการทดสอบโดยผู้พัฒนา ดังนั้นในระหว่างนี้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำปัจจุบันไปก่อน

    วัคซีนโควิด AstraZeneca ไม่เหมาะกับใคร?

    ผู้ที่มีเงื่อนไขใดตรงกับข้อต่อไปนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนแอสตราเซเนก้า เว้นแต่แพทย์จะเป็นผู้แนะนำให้รับวัคซีน

    • ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนผสมในวัคซีนโควิดแอสตราเซเนก้า
    • ผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนชนิดอื่นใดมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเหมาะสมก่อนรับวัคซีน
    • ผู้ที่มีอาการป่วยจากโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น มีไข้สูง 38 องศา
    • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคเลือด
    • ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อาจรอผลการศึกษาให้ชัดเจนก่อน

    อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีอาการไข้ต่ำๆ เป็นหวัดเล็กน้อย แพทย์อาจพิจารณาให้ฉีดวัคซีนโควิดแอสตราเซเนก้าได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับวัคซีน

    ผลข้างเคียงของวัคซีน AstraZeneca เป็นอย่างไร?

    ผลข้างเคียงของวัคซีนแอสตราเซเนก้า อาจแบ่งได้เป็น 4 ระดับตามความถี่ที่พบ ดังนี้

    1. ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยมาก

    ผลข้างเคียงวัคซีนแอสตราเซเนก้าที่อาจพบได้บ่อยมาก (อัตราส่วนมากกว่า 1 ใน 10) และถือเป็นอาการปกติ มีดังนี้

    • ปวด คัน หรือช้ำบริเวณที่รับวัคซีน
    • รู้สึกเหมือนไม่สบาย
    • รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อย
    • หนาวสั่น มีไข้
    • ปวดศีรษะ
    • อาจรู้สึกคลื่นไส้
    • ปวดกล้ามเนื้อ

    หากมีอาการปวดศีรษะ กล้ามเนื้อ หรือมีไข้ สามารถรับประทานยาชนิดพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาอาการได้

    2. ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย

    ผลข้างเคียงจากวัคซีนแอสตราเซเนก้าที่พบได้บ่อย (อัตราส่วนประมาณ 1 ใน 10) และยังคงถือว่าเป็นอาการปกติ มีดังนี้

    • รอยแดง หรือบวม บริเวณที่ฉีดวัคซีน
    • มีไข้สูงกว่า 38 องศา
    • อาจรู้สึกป่วย คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
    • ปวดกล้ามเนื้อขา และแขน
    • มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ

    โดยปกติอาจเริ่มแสดงอาการในวันที่รับวัคซีน และจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 1-2 วัน แต่หากรับวัคซีนแล้วมีไข้นานเกินกว่า 3 วัน หรือมีอาการเรื้อรังอื่นๆ ตามมา อาจไม่ใช่อาการที่เกิดจากผลข้างเคียงของวัคซีน และควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่เหมาะสม

    3. ผลข้างเคียงที่พบได้ค่อนข้างน้อย

    ผลข้างเคียงที่พบได้ค่อนข้างน้อยของวัคซีนแอสตราเซเนก้า (อัตราส่วนประมาณ 1 ใน 100) อาจมีดังนี้

    • ง่วงนอน หรือเวียนหัว
    • รู้สึกเบื่ออาหาร
    • ปวดท้อง
    • ต่อมน้ำเหลืองโต (Enlarged lymph nodes)
    • เหงื่อออกมากผิดปกติ
    • คันตามผิวหนัง หรือมีผื่นขึ้น

    4. ผลข้างเคียงที่พบได้ยากมาก

    ผลข้างเคียงจากวัคซีนแอสตราเซเนก้าที่พบได้ยากมาก (อัตราส่วนอาจอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 10,000) อาจมีดังนี้

    • อาจเกิดลิ่มเลือด และระดับเกล็ดเลือดต่ำ

    อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่เป็นลิ่มเลือดนี้พบได้น้อยมาก หากเกิดความกังวลควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีน

    อาการแพ้วัคซีน AstraZeneca เป็นอย่างไร?

    อาการแพ้วัคซีนไม่เหมือนกับผลข้างเคียงของวัคซีน เพราะอาการแพ้วัคซีนถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องพบแพทย์ทันที โดยอาการแพ้วัคซีนอาจมีดังต่อไปนี้

    • หน้ามืด
    • หัวใจเต้นผิดปกติ หรือผิดจังหวะ
    • หายใจหอบถี่ หรือหายใจมีเสียงดัง
    • ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลำคอบวม
    • มีลมพิษ หรือผื่นขึ้น
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ปวดท้อง

    โดยสรุปแล้ว วัคซีนแอสตราเซเนก้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดอยู่ในเกณฑ์ดีหลังจากรับครบ 2 เข็มแล้ว แต่อาจมีผลข้างเคียงตามมาได้ 1-3 วัน นอกจากนี้แม้จะได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว แต่อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ 100% ดังนั้น ควรใส่ใจกับการสวมหน้ากาก ล้างมือ และลดการสัมผัสตามมาตรการที่ภาครัฐแนะนำ หากไปพื้นที่เสี่ยงมาควรเข้ารับการตรวจโควิด-19 ดูแพ็กเกจได้ที่ HDmall.co.th หรือสอบถามแอดมินได้ที่ไลน์ @hdcoth

    ตรวจโควิด PCR ราคาถูก

    บทความที่เกี่ยวข้อง


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • Cameron White, M.D., MPH, What You Should Know About the AstraZeneca COVID-19 Vaccine, (https://www.healthline.com/health/adult-vaccines/astrazeneca-vaccine), 3 June 2021.
    • Rachael Zimlich, BSN, RN, An Overview of the AstraZeneca-Oxford COVID-19 Vaccine, (https://www.verywellhealth.com/astrazeneca-oxford-covid-19-vaccine-5093148), 15 August 2021.
    • Centers for Disease Control and Prevention, Understanding Viral Vector COVID-19 Vaccines, (https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/different-vaccines/viralvector.html), 13 April 2021.
    • World Health Organization, The Oxford/AstraZeneca COVID-19 vaccine: what you need to know, (https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-oxford-astrazeneca-covid-19-vaccine-what-you-need-to-know?gclid=CjwKCAjw1JeJBhB9EiwAV612y-LlHuxYPtNwqfjX8NDSsUJKw9sezsIOxd0kdD2xdmNPNJq-t_vaHxoCaTUQAvD_BwE), 11 February 2021.
    • Medicines & Healthcare Products Regulatory Agency, Information for UK recipients on COVID-19 Vaccine AstraZeneca (Regulation 174), (https://www.gov.uk/government/publications/regulatory-approval-of-covid-19-vaccine-astrazeneca/information-for-uk-recipients-on-covid-19-vaccine-astrazeneca), 20 August 2021.
    @‌hdcoth line chat