HDmall สรุปให้
ปิด
ปิด
- หลังหายป่วยโควิด-19 เนื้อปอดบางส่วนอาจถูกทำลายไปอย่างถาวร เกิดแผลเป็น หรือพังผืดตามมา เนื้อปอดที่เหลืออยู่จึงขาดความยืดหยุ่น ทำให้การทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและการลำเลียงออกซิเจนของปอดมีประสิทธิภาพลดลงกว่าช่วงก่อนป่วยโควิด
- หากตรวจวัดสมรรถภาพปอดหลังป่วยโควิด-19 จะพบว่า สมรรถภาพของปอดต่ำกว่าปกติ ผู้ป่วยจึงรู้สึกหายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หอบ ไอมีเสมหะ อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น หากต้องออกกำลังกาย หรือทำอะไรกิจกรรมที่หนักๆ จะรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติมาก
- วิธีฟื้นฟูสมรรถภาพของปอดหลังหายป่วยโควิด-19 เน้นที่ “การฝึกหายใจให้มีประสิทธิภาพ” เพื่อเพิ่มการระบายอากาศและการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจน ช่วยป้องกันภาวะปอดแฟบ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจ ทำใช้พลังงานในการหายใจน้อยลง
- ผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการดีขึ้น หรือรักษาหายแล้ว สามารถเริ่มฟื้นฟูสมรรถภาพปอดได้ โดยต้องไม่มีอาการเหนื่อย ไม่มีไข้ หากวัดออกซิเจนบริเวณปลายนิ้วมือ ต้องเกิน 95% ขึ้นไป ค่าความดันโลหิตต้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนฝึก
- เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือแอดไลน์ @hdcoth
หลังหายป่วยโควิด-19 เจ้าเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ร้ายอาจทิ้งรอยโรคไว้กับปอดของหลายๆ คน เนื่องจากระหว่างที่ป่วยนั้นปอดเกิดการติดเชื้อ ปอดอักเสบ เนื่องจากเซลล์เนื้อเยื่อปอดบางส่วนถูกทำลายไปนั่นเอง
รอยโรคเหล่านี้จะทำให้ระบบการหายใจและสมรรถภาพปอดลดประสิทธิภาพลงไปจากเดิมได้ ตามระดับความหนัก-เบา ที่เนื้อปอดถูกทำลายไป
เหล่านี้จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูแตกต่างกันไป แต่หากรู้จักวิธีฟื้นฟูสมรรถภาพปอดอย่างถูกต้อง แล้ว ปอดก็มีโอกาสกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงเดิมอีกครั้ง HDmall.co.th จะบอกเล่าให้ฟังแบบเข้าใจได้ง่ายดังนี้
หลังหายป่วยโควิด-19 สภาพปอดเป็นอย่างไร?
หลังปอดถูกเชื้อโควิด-19 ทำลาย และเกิดการอักเสบอย่างที่เรียกกันว่า “ปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อ” หากเอกซเรย์จะสามารถมองเห็น “ฝ้าขาวกระจายทั่วปอด” ได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า
แต่สิ่งที่ตาเปล่ามองไม่เห็นคือ ภายในปอดที่เนื้อปอดบางส่วนอาจถูกทำลายไปอย่างถาวร และเกิดแผลเป็น หรือพังผืดตามมา
ส่วนเนื้อปอดที่เหลืออยู่มักขาดความยืดหยุ่น ทำให้การทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและการลำเลียงออกซิเจนของปอดมีประสิทธิภาพลดลงกว่าช่วงก่อนป่วยโควิด จึงทำให้หากตรวจวัดสมรรถภาพปอดหลังปายป่วยโควิด-19 จะพบว่า "สมรรถภาพของปอดต่ำกว่าปกติ"
ผู้ป่วยจึงมักรู้สึกหายใจไม่เต็มปอด บางรายอาจหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หอบ ไอมีเสมหะ อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น และหากต้องออกกำลังกาย หรือทำอะไรกิจกรรมที่หนักๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติมาก
ส่วนแผลเป็น หรือพังผืดในเนื้อปอดจะมีมากน้อยแค่ไหน หรือร่างกายสามารถฟื้นตัวหลังจากหายป่วยโควิด-19 ได้มากเท่าไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้
- ปริมาณของเชื้อที่ได้รับ หรือระหว่างป่วยโควิด-19 มีการติดเชื้อชนิดอื่นซ้ำซ้อนหรือไม่
- สุขภาพ สภาพร่างกาย หรือระบบการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อของผู้ป่วยเป็นอย่างไร
- ความเร็วในการได้รับการรักษา
- การตอบสนองของร่างกายในการรักษา
วิธีฟื้นฟูปอดหลังหายป่วยโควิด-19 คืออะไร?
วิธีฟื้นฟูปอด หรือสมรรถภาพของปอดหลังหายป่วยโควิด-19 คือ การฟื้นฟูสมรรถภาพของปอดให้กลับมามีความยืดหยุ่นใกล้เคียงเดิม โดยเน้นไปที่ “การฝึกหายใจให้มีประสิทธิภาพ” ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของอาการสมรรถภาพปอดลดต่ำลง
การฝึกหายใจให้มีประสิทธิภาพนั้นมีประโยชน์ดังนี้
- เพิ่มการระบายอากาศ และแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจน
- ช่วยป้องกันภาวะปอดแฟบ
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจ
- ทำให้ใช้พลังงานในการหายใจน้อยลง
- ช่วยให้ผ่อนคลาย
ใครสามารถฝึกฟื้นฟูปอดหลังหายป่วยโควิด-19 ได้บ้าง?
ผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการดีขึ้น หรือรักษาหายแล้ว สามารถเริ่มฝึกฟื้นฟูสมรรถภาพปอดได้ โดยมีข้อบ่งชี้ทางสุขภาพดังนี้
- ไม่มีอาการเหนื่อย หรือเคยเหนื่อย แต่อาการหายไปเกิน 3 วันแล้ว
- ไม่ได้อยู่ในช่วง 7 วันแรก ของการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด-19
- ไม่มีไข้ในขณะที่ออกกำลังกาย อุณหภูมิต่ำกว่า 38 องศาเซลเซียส
- หากวัดออกซิเจนบริเวณปลายนิ้วมือ ต้องเกิน 95% ขึ้นไป
- ค่าความดันโลหิตต้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยตัวบนอยู่ในช่วง 90-140 มม.ปรอท ตัวล่างอยู่ในช่วง 60-90 มม.ปรอท หากสูง หรือต่ำกว่าเกณฑ์ดังกล่าว ไม่ควรออกกำลังกาย
- ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดดำอุดตันที่พึ่งเป็นไม่นานมานี้ โรคลิ้นหัวใจตีบ โรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 รวมทั้งเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฝึก
วิธีฝึกหายใจเพื่อฟื้นฟูปอด หลังหายป่วยโควิด-19 ทำอย่างไร?
การฝึกหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพหลังหายป่วยโควิด-19 หรือเมื่ออาการป่วยดีขึ้นแล้ว มีดังนี้
ท่าที่ 1 ฝีกหายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ (Deep slow breathing)
- เริ่มด้วยการอยู่ในท่าสบาย เช่น นั่งบนเตียง ปรับเอนประมาณ 45 องศา รองหมอนที่ศีรษะและบริเวณใต้เข่า หรือจะนั่งบนเก้าอี้แทนก็ได้
- หายใจเข้าทางจมูกช้าๆ พร้อมยกแขนทั้งสองข้าง ขึ้นด้านหน้า หรือด้านข้างพร้อมๆ กัน หายใจออกเป่าปากยาว ๆ พร้อมผ่อนแขนทั้งสองข้างลงพร้อมๆ กัน นับเป็น 1 ครั้ง
- ทำชุดละ 5-10 ครั้ง ระหว่างรอบอาจจะมีการพักประมาณ 30 วินาที
ท่าที่ 2 หายใจอย่างมีประสิทธิภาพ (Active cycle of breathing technique)
ท่าที่ 2 A
- เริ่มด้วยการอยู่ในท่าสบาย
- วางมือข้างหนึ่งที่หน้าอก อีกข้างใต้ลิ้นปี่ ผ่อนช่วงคอ บ่า ให้สบายไม่เกร็ง
- หายใจเข้าทางจมูกช้าๆ ให้ท้องป่อง หายใจออกทางปาก ท้องยุบ นับเป็น 1 ครั้ง
- ทำชุดละ 5-10 รอบ ระหว่างรอบอาจจะมีการพักประมาณ 30 วินาที
ท่าที่ 2 B
- เริ่มด้วยการอยู่ในท่าสบาย
- วางมือทั้งสองข้างที่ทรวงอกส่วนล่างบริเวณชายโครง หายใจเข้าช้าๆ ให้ทรวงอกส่วนล่างขยาย หายใจออก ทรวงอกส่วนล่างหุบเข้า นับเป็น 1 ครั้ง
- ทำชุดละ 5-10 รอบ ระหว่างรอบอาจจะมีการพักประมาณ 30 วินาที
- กลับไปทำ ท่าที่ 2A ชุดละ 5-10 รอบ
ท่าที่ 3 การหายใจออกอย่างแรง
- เริ่มด้วยการอยู่ในท่าสบาย
- โน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย หายใจเข้าลึกมากที่สุด กลั้นหายใจค้างไว้ประมาณ 1-3 วินาทีเปิดช่องปากและคอโดยห่อปาก
- หายใจออกอย่างแรง นั่งโน้มตัวไปด้านหน้า หายใจเข้าค้างไว้ 1-3 วินาที หายใจออกอย่างแรงทางปาก 1-3 ครั้งติดกันโดยไม่หายใจเข้า ร่วมกับการเกร็งหน้าท้องเพื่อช่วยขับเสมหะ ทำซ้ำ 1 - 2 รอบ
ทั้งนี้การฝึกหายใจดังกล่าวควรทำซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมง หากสามารถทำได้
ข้อควรระวังระหว่างการฝึกหายใจเพื่อฟื้นฟูปอด มีอะไรบ้าง?
ระหว่างฝึกการหายใจควรทำซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมง และควรสังเกตตนเองตลอดเวลา หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ แนะนำให้ควรหยุดฝึกหายใจทันที หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 10-20 นาที ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- หอบเหนื่อย
- หายใจเร็ว
- เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
- คลื่นไส้อาเจียน
- ใจสั่น
- ตาพร่ามัว
- เหงื่อออกมาก
- มีอาการซีดเขียว
หลังหายป่วยโควิด-19 ในระยะแรกๆ สภาพร่างกายอาจต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัวโดยเฉพาะปอดและระบบทางเดินหายใจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้นหากไม่มีข้อบ่งชี้สุขภาพในการฝึกดังที่ได้กล่าวมา
แนะนำว่า ควรทดลองเริ่มฝึกหายใจตามวิธีเหล่านี้ดูเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ปอดฟื้นตัวกลับมาเร็วขึ้น และสามารถหายใจได้เต็มปอดอีกครั้ง
หากสนใจเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สามารถ เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ที่นี่เลย หรือติดตามข่าวสารวัคซีนโควิดในไทยที่ไลน์ @hdcoth มีแอดมินใจดีคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง! แอดเลยไม่ต้องรอ
บทความแนะนำ
รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด
- วิธีการลงทะเบียนรับวัคซีนโควิดแอสตราเซเนกาผ่านหมอพร้อม โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน
- รวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิดหมอพร้อม
- วัคซีนโควิด 19 ซิโนแวค (Sinovac)
- วัคซีนโควิด 19 ไฟเซอร์ (Pfizer)
- วัคซีนโควิด 19 แอสตราเซเนก้า (Astrazeneca)
- วัคซีนโควิด 19 โมเดอร์นา (Moderna)
- วัคซีนโควิด 19 สปุตนิก วี (Sputnik-v)
- วัคซีนโควิด 19 โนวาแวกซ์ (Novavax)
- วัคซีนโควิด 19 จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson&Johnson)
ที่มาของข้อมูล
ปิด
ปิด
- รศ.นพ. นิธิพัฒน์ เจียรกุล สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ศิริราช, การทดสอบภาวะออกซิเจนต่ำในเลือดขณะออกกำลังด้วยการลุกนั่งในผู้ป่วยโควิด-19 (https://www.thoracicsocietythai.org/2021/04/24/sit-to-stand-test-for-patients-with-covid/), 23 July 2021.
- Panagis Galiatsatos, M.D., COVID-19 Lung Damage (https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/coronavirus/what-coronavirus-does-to-the-lungs), 23 July 2021.
- Jill Seladi-Schulman, PhD, What to Know About COVID-19 and Pneumonia (https://www.healthline.com/health/coronavirus-pneumonia), 23 July 2021.
- WebMD, Coronavirus and Pneumonia (https://www.webmd.com/lung/cov... July 2021.
- อ.นพ.เตชิต จิระวิชิตชัย ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, สู้โควิด ฝึกหายใจ ฟื้นฟูปอด (https://med.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/healthclip/01292021-1157), 23 กรกฎาคม 2564.