รู้จักกับโควิดสายพันธุ์มิว (Mu)


โควิดสายพันธุ์มิว (Mu) คืออะไร?​ อันตรายไหม? อาการเป็นอย่างไร? แพร่ระบาดอย่างไร? แพร่ระบาดภูมิภาคใดบ้าง? มีการกลายพันธุ์อย่างไร? ติดต่อง่ายไหม? อ่านได้ที่นี่

HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ประกาศให้เชื้อไวรัสโควิดกลายพันธ์ุ สายพันธ์ุ B.1.621 มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “Mu” และจัดให้อยู่ในกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Variant of Interest: VOI)
  • โควิดสายพันธุ์มิว (Mu) ถูกพบครั้งแรกที่โคลัมเบีย ในช่วงเดือนมกราคม 2564 และในปัจจุบัน โควิดสายพันธ์ุได้ระบาดไปแล้ว 39 ประเทศทั่วโลก
  • จากการวิจัยในหลอดทดลอง พบว่า โควิดสายพันธ์ุมิวอาจสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ คล้ายกับสายพันธุ์เบต้า (Beta) ที่ระบาดในแอฟริกาใต้ และอาจติดต่อได้ง่ายเหมือนกับสายพันธุ์เดลต้า (Delta) ซึ่งเป็นโควิดสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวยังไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป
  • แนวทางการรับมือกับโควิดสายพันธุ์มิวเหมือนกับโควิดสายพันธุ์อื่นๆ คือการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกัน แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ก็สามารถช่วยลดความรุนแรงเมื่อเกิดโรคได้
  • เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือแอดไลน์ @hdmall.support 

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ประกาศให้เชื้อไวรัสโควิดกลายพันธ์ุ สายพันธ์ุ B.1.621 มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “Mu” และจัดให้อยู่ในกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Variant of Interest: VOI)

สำหรับใครที่สงสัยว่า โควิดสายพันธุ์มิว (Mu) คืออะไร? น่ากังวลแค่ไหน? แตกต่างอย่างไรจากโควิดสายพันธุ์อื่นอย่างไร? HDmall.co.th มีคำตอบมาฝาก

โควิดสายพันธุ์มิว คืออะไร?

โควิดสายพันธุ์มิว (Mu) ถูกพบครั้งแรกที่โคลัมเบีย ในช่วงเดือนมกราคม 2564 และในปัจจุบัน โควิดสายพันธ์ุได้ระบาดไปแล้ว 39 ประเทศทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 3 กันยายน 2564)

โดยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้จัดให้เชื้อไวรัสโควิดกลายพันธ์ุ สายพันธ์ุ B.1.621 หรือโควิดสายพันธุ์มิว อยู่ในกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ (VOI) ซึ่งหมายถึง เชื้อที่มีโอกาสกลายพันธุ์ได้อีก หรือมีโอกาสแพร่ระบาดได้มากขึ้น หรือมีโอกาสก่อให้เกิดอาการรุนแรงได้

เนื่องจากโควิดสายพันธ์ุมิวอาจสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ คล้ายกับสายพันธุ์เบต้า (Beta) ที่ระบาดในแอฟริกาใต้ และอาจติดต่อได้ง่ายเหมือนกับสายพันธุ์เดลต้า (Delta) ซึ่งเป็นโควิดสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในทั่วโลก ณ ขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากการทดลองในหลอดทดลองในห้องปฏิบัติการณ์ และจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

โควิดสายพันธุ์มิว ติดต่อง่ายหรือไม่?

โควิดสายพันธุ์มิว มีการกลายพันธุ์ที่ P681H เป็นการกลายพันธุ์ตำแหน่งเดียวกันกับที่พบในโควิดสายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha) ซึ่งอาจทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายได้รวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้การศึกษายังอยู่ในรูปแบบฉบับร่าง (Preprint) ยังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นทางการจากนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ

และยังมีการกลายพันธุ์ที่ E484K และ K417N เป็นการกลายพันธุ์ตำแหน่งเดียวกันกับที่พบในโควิดสายพันธุ์เบต้า ซึ่งอาจทำให้โควิดสายพันธุ์มิวสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและลดประสิทธิภาพของวัคซีนได้เหมือนกับโควิดสายพันธุ์เบต้า

นอกจากนี้โควิดสายพันธุ์มิวยังมีการกลายพันธุ์อื่นๆ เช่น R346K และ Y144T แต่ยังไม่ทราบผลกระทบที่ตามมา และยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย

จากข้อมูลดังกล่าว จึงสรุปได้ว่า โควิดสายพันธุ์มิวมีแนวโน้มว่าจะติดต่อได้ง่าย แต่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้โควิดสายพันธุ์มิวถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ (VOI) แทนที่จะเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) นั่นเอง

ความชุกของโควิดสายพันธุ์มิวทั่วโลก เป็นอย่างไร?

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก เผยว่า ในปัจจุบัน ความชุกของโควิดสายพันธุ์มิวลดลง และมีระดับต่ำกว่า 0.1% ทั่วโลก แต่ก็มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในโคลัมเบีย คิดเป็น 39% ของจำนวนผู้ติดเชื้อ และเอกวาดอร์ คิดเป็น 13% ของจำนวนผู้ติดเชื้อ

โควิดสายพันธุ์มิว อาการเป็นอย่างไร?

ในปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยแน่ชัดว่า โควิดสายพันธุ์มิวทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยแตกต่างจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นอย่างไร ทำให้การสังเกตอาการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์มิว ยังคงยึดตามอาการแสดงของโควิด-19 ที่พบได้ทั่วไป ดังนี้

  • อาการโควิดที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ มีไข้ ไอแห้ง อ่อนเพลีย จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รับรส คัดจมูก ตาแดง เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ท้องเสีย หนาวสั่น และเวียนหัว
  • อาการโควิดรุนแรง ได้แก่ หายใจหอบถี่ หายใจลำบาก ไม่อยากอาหาร เวียนหัว สับสน มึนงง เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก มีไข้ 38 องศาขึ้นไป เสียความสามารถในการเคลื่อนไหว และใบหน้า หรือริมฝีปากเปลี่ยนสี

นอกจากกลุ่มผู้ที่มีอาการแสดงแล้ว ยังมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในกลุ่มที่ไม่แสดงอาการอีกด้วย โดยในกลุ่มนี้จะไม่มีอาการแสดงใดๆ เลย ตั้งแต่ได้รับเชื้อมาจนกระทั่งเป็นปกติ

แนวทางการรับมือกับโควิดสายพันธุ์มิว

แนวทางการรับมือกับโควิดสายพันธุ์มิวเหมือนกับโควิดสายพันธุ์อื่นๆ นั่นก็คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกัน แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ก็สามารถช่วยลดความรุนแรงเมื่อเกิดโรคได้

และหลังจากที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว ก็ควรที่จะป้องกันตนเองอย่างต่อเนื่อง เช่น สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ปิด หรือแออัด จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะดีขึ้น

ในปัจจุบัน เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงมีการกลายพันธุ์ และเกิดสายพันธุ์ใหม่อยู่เสมอ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างเฝ้าระวังและจับตามองอย่างใกล้ชิด รวมถึงพัฒนาประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในการป้องกันโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวยังต้องอาศัยระยะเวลาในการศึกษา ในระหว่างนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในการป้องกันตนเองเบื้องต้นก่อน เช่น การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด และรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อมีโอกาส

HDmall.co.th หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกจะดีขึ้นในเร็ววัน เพื่อให้ทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงกันถ้วนหน้า

เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจตรวจหาเชื้อโควิด-19 พร้อมอัปเดตข้อมูลจองวัคซันป้องกันโควิดจากโรงพยาบาลเอกชนก่อนใครได้ที่ไลน์ @hdmall.support มีน้องจิ๊บใจดีคอยให้บริการข้อมูล จองแพ็กเกจสุขภาพ ทำคิวนัดหมายกับทางโรงพยาบาล เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลาเก้าโมงเช้าถึงตีหนึ่ง แอดได้เลยไม่ต้องรอ!

รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด

ที่มาของข้อมูล

CNBC, WHO says it is monitoring a new Covid variant called ‘mu’ (https://www.cnbc.com/2021/09/01/who-says-it-is-monitoring-a-new-covid-variant-called-mu.html), 17 September 2021.

Medical News Today, Mu, the new SARS-CoV-2 variant: What do we know so far? (https://www.medicalnewstoday.com/articles/mu-the-new-sars-cov-2-variant-what-do-we-know-so-far), 17 September 2021.

Parade, 'Mu' Is the Latest COVID Variant—Here Are the Symptoms to Look Out For (https://parade.com/1262470/kaitlin-vogel/mu-variant-symptoms/), 17 September 2021.

Times Colonist, The Mu variant of COVID-19 is in B.C. Here's what you need to know (https://www.timescolonist.com/news/local/the-mu-variant-of-covid-19-is-in-b-c-here-s-what-you-need-to-know-1.24357892), 17 September 2021.

The Conversation, Mu: everything you need to know about the new coronavirus variant of interest (https://theconversation.com/mu-everything-you-need-to-know-about-the-new-coronavirus-variant-of-interest-167154), 17 September 2021.

WHO, Tracking SARS-CoV-2 variants (https://www.who.int/en/activities/tracking-SARS-CoV-2-variants/), 17 September 2021.

World Economic Forum, Everything you need to know about the Mu COVID-19 variant (https://www.weforum.org/agenda/2021/09/what-do-we-know-so-far-about-the-new-mu-covid-19-variant-and-how-can-we-prevent-further-mutations/), 17 September 2021.

@‌hdcoth line chat