รู้จักกับลองโควิด (Long COVID) ผลข้างเคียงระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นหลังหายป่วยจากโรคโควิด-19


ลองโควิด (Long COVID)

จนถึงตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ก็ยังดำเนินไปอย่างหนักทั่วโลก และดูเหมือนการติดเชื้อไวรัสตัวนี้อาจจะไม่ได้จบเพียงแค่การรักษาเพื่อเปลี่ยนผลตรวจจาก 2 ขีดเป็นขีดเดียวเท่านั้น

เพราะอาการของการติดเชื้อยังอาจอยู่กับเราต่อไปได้อีกในระยะยาว หรือที่เรียกว่า Long COVID


เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


ลองโควิด (Long COVID) คืออะไร?

ลองโควิด (Long COVID) คือ ภาวะทางร่างกายหลังจากผู้ป่วยหายดีจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 แล้ว แต่ยังคงมีอาการเจ็บป่วยบางอย่างหลงเหลืออยู่ โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจกินเวลาต่อไปอีกหลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือน

เช็กราคาตรวจลองโควิด

Long COVID เกิดจากอะไร?

Long COVID มีสาเหตุหลักมาจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกายที่มีต่อเชื้อไวรัส COVID-19 จนผลิตสารโปรตีนในระบบภูมิคุ้มกันออกมา จากนั้นสารดังกล่าวได้ไปทำลายเนื้อเยื่อหรือระบบการทำงานต่างๆ ของอวัยวะบางส่วนจนเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น

Long COVID ยังเกิดได้จากความกระทบกระเทือนทางจิตใจของผู้ป่วยในระหว่างที่เข้ารักษาตัวหลังจากติดเชื้อไวรัส เช่น ถูกรังเกียจจากสังคม ถูกต่อว่าเมื่อพบว่าตนเองติดเชื้อ การนอนติดเตียงอยู่ในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน ความกังวลเรื่องเกี่ยวกับงานหรือค่าใช้จ่ายในการรักษา และทำให้เกิดอาการทางจิตใจตามมา

อย่างไรก็ตาม อาการ Long COVID ที่เกิดขึ้นไม่ใช่อาการที่ติดต่อหากันได้เหมือนช่วงที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพียงแต่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการไม่สบายหลายอย่าง จนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่

Long COVID อาการเป็นอย่างไร?

อาการจากภาวะ Long COVID เป็นอาการจำเพาะที่จะเกิดขึ้นไม่เหมือนกันในผู้ป่วยแต่ละคน โดยอาการที่พบได้บ่อยๆ จะได้แก่

  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • หายใจได้ไม่สุด หรือหายใจเหนื่อย
  • การรับรู้กลิ่นและรสชาติเปลี่ยนไป

นอกจาก 3 อาการที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่เผชิญอาการ Long COVID ยังมีอาการอื่นๆ เพิ่มเติมที่อาจพบได้อีก เช่น

  • นอนหลับได้ยาก
  • ไม่มีสมาธิ สมาธิสั้น
  • ความจำสั้นลง
  • มึนงง ไม่สดชื่น ไม่กะปรี้กะเปร่ากับการทำกิจกรรมต่างๆ
  • ใจสั่น
  • มีภาวะวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า
  • ผมร่วง
  • ไอเรื้อรัง
  • แน่นหน้าอก
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ปวดเมื่อยตามไขข้อ
  • ยังมีไข้อยู่
  • ท้องร่วง ท้องเสีย
  • อาหารไม่ย่อย

ใครเสี่ยงเป็น Long COVID

อาการ Long COVID อาจไม่ได้พบในผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทุกคนเสมอไป อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ที่เสี่ยงเกิดอาการ Long COVID ได้มากกว่ากลุ่มคนอื่นๆ จะได้แก่

  • ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 แล้วเกิดภาวะปอดอักเสบตามมา
  • ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคหอบหืด โรคเบาหวาน ภาวะอ้วน โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ
  • มีแนวโน้มที่เพศหญิงจะเกิดอาการ Long COVID ได้มากกว่าเพศชาย

Long COVID อันตรายไหม?

อาการ Long COVID เป็นอาการที่อาจดูไม่รุนแรง แต่มีความเรื้อรังและมักกินเวลายาวนาน จนเมื่อระยะเวลาผ่านไป อาการ Long COVID ก็อาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพมากขึ้นอีกได้

หลายสถานพยาบาลจึงได้เริ่มมีการทำแพ็กเกจฟื้นฟูหรือรักษาภาวะ Long COVID เพื่อให้ผู้ป่วยที่เผชิญกับภาวะนี้

ได้รับการดูแลบำรุงสุขภาพใหม่ เพื่อขจัดอาการจากภาวะเหล่านี้ให้หมดไป และกลับมามีความสดชื่นแข็งแรง พร้อมทำงานและทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง

Long COVID รักษาอย่างไร?

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ (เมษายน 2565) ก็ยังไม่มีวิธีรักษาภาวะ Long COVID โดยเฉพาะออกมาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ผู้ที่เผชิญกับภาวะ Long COVID ในตอนนี้มักจะได้รับบริการไปในเชิงฟื้นฟูสุขภาพหรือรักษาไปตามอาการที่เกิดขึ้นเสียมากกว่า เช่น

  • การเติมสารวิตามินหรือแร่ธาตุเสริมความสดชื่น
  • การให้ยารักษาไปตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาละลายลิ่มเลือด ยาลดไข้
  • การออกกำลังกาย
  • การนวดผ่อนคลาย
  • การให้ยานอนหลับ หรืองดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนเข้านอน
  • การพูดคุยกับจิตแพทย์ หากมีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
  • การส่งตรวจเพิมเติมเพื่อหาต้นตอของอาการ Long COVID เพื่อให้แพทย์นำไปวิเคราะห์วิธีรักษาต่อไป เช่น การทำ MRI การทำ CT Scan การตรวจการนอนหลับ

การดูแลตัวเองเมื่อเป็น Long COVID

หากคุณรู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับภาวะ Long COVID สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ อย่าเพิ่งตื่นตระหนก

หากคุณไม่ได้มีอาการหนักจากภาวะนี้ คุณก็ยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันควบคู่ไปในกับภาวะ Long COVID ได้อยู่ แต่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนกิจวัตรบางอย่าง เพื่อไม่ให้ร่างกายทำงานหนักจนเกินไปในขณะที่ยังมีอาการเจ็บป่วย เช่น

  • งดทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงหรือทำให้เหนื่อยจัด
  • พักผ่อนให้เพียงพอทุกคืน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และอาจปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมกี่ยวกับการรับวิตามินหรือแร่ธาตุเสริม
  • ออกกำลังกายอยู่เสมอ แต่ในระดับพอดี อย่าหักโหม และอย่าพยายามออกชดเชยให้กับช่วงเวลาที่กักตัวหรือในระหว่างที่รักษาอาการติดเชื้อไวรัส COVID-10 ก่อนหน้านี้
  • หางานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ชอบทำ เพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับจิตใจ
  • หากรู้สึกว่า ภาวะ Long COVID เริ่มกระทบการใช้ชีวิตประจำวันจนกลายเป็นอุปสรรคมากเกินไป ให้ลองเดินทางไปปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม
เช็กราคาตรวจ LONG COVID

การป้องกัน Long COVID

ภาวะ Long COVID เป็นภาวะที่ไม่สามารถทำนายได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดกับใครและร้ายแรงได้ขนาดไหน

ทางเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้ คือ การป้องกันไม่ให้ตนเองติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตั้งแต่แรก ผ่านการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน สวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ หมั่นล้างมือหรือทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และยังคงเว้นระยะห่างระหว่างกันกับผู้ที่อยู่รอบตัวอยู่ตลอดเวลา

เช็กราคาแพ็กเกจฟื้นฟูสุขภาพจากภาวะ Long COVID หรือหากคุณไม่แน่ใจว่า ตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัส COVID-19 หรือไม่ และอยากจะรับบริการตรวจโควิดเพิ่มเติม ทาง HDmall.co.th มีบริการแพ็กเกจตรวจโควิดให้กับคุณทั้งแพ็กเกจตรวจแบบ RT-PCR และแพ็กเกจตรวจแบบ ATK


บทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • British Heart Foundation, Long Covid: the symptoms and tips for recovery (https://www.bhf.org.uk/informationsupport/heart-matters-magazine/news/coronavirus-and-your-health/long-covid#Heading15), 12 April 2022.
  • RAMA Channel,ภาวะ Long COVID (ลองโควิด) เมื่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้อยู่กับคุณแค่สั้น ๆ (https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ภาวะ-long-covid-ลองโควิด-เมื่อโรค/), 12 April 2565.
  • โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล หนองแขม, รู้จักลองโควิด “Long COVID” อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 (https://vichaivej-nongkhaem.com/health-info/รู้จักลองโควิด/), 12 April 2565.
  • โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ, LONG COVID เจ็บ…แต่ไม่จบ – ภาวะลองโควิด อาการเรื้อรังที่ตามมาของคนเคยติดเชื้อโควิด-19 (https://www.sikarin.com/health/covid19/long-covid), 12 April 2565.

@‌hdcoth line chat