กินอย่างไรให้เหมาะสม? ในช่วงรักษาโควิด-19 แบบ Home Isolation


อาหารผู้ป่วยโควิด-home isolation-ข้อปฏิบัติผู้ป่วยโควิด

HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • ระหว่างทำ Home Isolation ผู้ป่วยโควิด-19 ควรรับประทานอาหารแบคทีเรียต่ำ (low-bacterial diet) หมายถึง อาหารที่ปรุง สุก สด ใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย และช่วยลดอาการติดเชื้อไวรัสในผู้ป่วยลงได้
  • ผู้ป่วยควรได้รับสารอาหารครบถ้วนและหลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสม ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันดี วิตามินต่างๆ และเกลือแร่ เพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟูเซลล์เนื้อเยื่อส่วนที่สึกหรอ รวมทั้งช่วยส่งเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาว 
  • พักผ่อนให้มากๆ อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน หากนอนหลับได้ดี ร่างกายจะสามารถสร้างสาร “ไซโตไคน์ (Cytokines)” ที่ช่วยรักษาการอักเสบ การติดเชื้อ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้มาก
  • มีอาการเบื่ออาหาร รับประทานอาหารไม่ได้ แนะนำให้ดื่มน้ำเกลือแร่ซึ่งอาจเป็นผงน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส (ORS) หรือเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย หากไม่สามารถหาซื้อผงน้ำตาลเกลือแร่ได้ อาจใช้ น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่น 1 ช้อนชา ผสมในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 750 มิลลิลิตร ใช้ดื่มเพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ได้
  • เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือแอดไลน์ @hdcoth

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง จนระบบสาธารณสุขในประเทศไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย กรมการแพทย์จึงออกมาตรการให้ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่มากสามารถแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้

ระหว่างรักษาตัวที่บ้านนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ควรรับประทานอาหารอย่างไรให้เหมาะสม? เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ และร่างกายมีความสมบูรณ์ที่สุดในการต่อสู่กับโควิด-19 รวมทั้งการฟื้นฟูส่วนของเซลล์ที่สึกหรอ

ระหว่างทำ Home Isolation ผู้ป่วยโควิด-19 ควรกินอย่างไรให้เหมาะสม? ควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดใดบ้าง? และควรปฏิบัติตัวอย่างไร HDmall.co.th มีคำแนะนำดีๆ จะเล่าให้ฟัง

ผู้ป่วยโควิด-19 ควรกินอย่างไรให้เหมาะสม?

ในระหว่างทำ Home Isolation ผู้ป่วยโควิด-19 ควรรับประทานอาหารแบคทีเรียต่ำ (low-bacterial diet) หมายถึง อาหารที่ปรุง สุก สด ใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ช่วยลดอาการติดเชื้อไวรัสในผู้ป่วยลงได้

ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ผู้ป่วยควรได้รับสารอาหารครบถ้วนและหลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสม ได้แก่

  • โปรตีน เพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟูเซลล์เนื้อเยื่อส่วนที่สึกหรอ บำรุงร่างกาย เซลล์ประสาท และสมอง
  • คาร์โบไฮเดรเดรต เพื่อให้พลังงานแก่ร่างกาย
  • ไขมันดี โอเมก้า 3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาว
  • วิตามินซีและวิตามินเอ ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วงส่งเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยกระบวนการทำลายเชื้อโรค
  • วิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม และดีต่อระบบภูมิต้านทานโรค สามารถต้านโรคโควิด-19 ไม่ให้ลุกลาม ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
  • แร่ธาตุ เช่น เหล็ก สังกะสี เพื่อกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวหลายชนิด
  • ใยอาหาร เช่น ข้าว ธัญพืชต่าง ถั่ว ผัก ผลไม้ เพื่อเพิ่มเส้นใยอาหารช่วยในการขับถ่าย ทำให้ท้องไม่ผูก
  • เครื่องเทศและสมุนไพร ควรนำมาใช้ในการปรุงอาหาร เพราะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น กระเทียม หอมแดง พริกไทย กระชาย ขมิ้น ขิง ข่า ตะไคร้

ตัวอย่างประเภทอาหารที่แนะนำ

  • ไข่สุก วันละ 1 ฟอง เพราะไข่อุดมไปด้วยโปรตีน ไขมันดี วิตามิน และแร่ธาตุ เหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส โฟเลต เลซิธิน ลูทีน ซีแซนทีน
  • เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปรุงสุกจนเนื้อข้างในเป็นสีขาว เช่น เนื้อไก่ หมู ปลาทะเล ปลาน้ำจืด เพราะเนื้อสัตว์อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ
  • ผักสด ผลไม้สด หลากหลายชนิด เช่น คะน้า ผักบุ้ง ตำลึง แครอท ฟักทอง ส้ม ฝรั่ง มะละกอ กล้วย เงาะ แก้วมังกร เพราะอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และเส้นใยอาหาร
  • ข้าว ถั่ว และธัญพืช เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวไม่ขัดสี ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วลันเตา ถั่วเปลือกแข็ง งา เพราะอุดมไปด้วยโปรตีน ไขมันดี และเส้นใยอาหาร
  • นมสดที่ผ่านการพลาสเจอไรซ์ เพราะมีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ หลายชนิด ควรดื่มให้หมดกล่อง หรือดื่มให้หมดขวดในครั้งเดียว
  • อาหารกระป๋อง เช่น ซุปกระป๋อง ปลากระป๋อง ผักกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง เพราะผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อแบคทีเรียแล้ว

หากสามารถรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายจะดีมาก เพื่อให้ร่างกายใช้พลังงานในการย่อยให้น้อย

ส่วนการดื่มน้ำขิงที่แนะนำกันว่า ช่วยต้านโควิด-19 ได้ ก็ควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากดื่มมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน หรือท้องร่วงได้

ผู้ป่วยโควิด-19 ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารชนิดใดบ้าง?

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่งคือ อาหารที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนแบคทีเรียและเชื้อโรค ได้แก่ อาหารที่ไม่ผ่านความร้อน อาหารสุกๆ ดิบๆ หรือไม่สุก เพราะอาจทำให้มีอาการท้องเสียรุนแรง อาจมีการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารเพิ่ม เหล่านี้อาจทำให้อาการโควิด-19 รุนแรงขึ้นได้

นอกจากนี้ยีงต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมัน อาหารทอด อาหารรสจัด เช่น เค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด อีกด้วย

ตัวอย่างประเภทอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

  • ไข่ไม่สุก เช่น ไข่ดาว ไข่ลวก ไข่ยางมะตูม นอกจากจะย่อยยาก ร่างกายดูดซึมโปรตีนได้น้อยแล้วไข่ดิบยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อซาโมเนลลา (Salmonella) หรือ อี.โคไล ที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารได้ รวมทั้งเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากไก่ที่มีโรค
  • เนื้อสัตว์ไม่สุก เช่น ปลาดิบ ลาบดิบ เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย พยาธิ
  • ข้าวหมูแดง ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ก๋วยเตี๋ยวหลอด ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน ปอเปี๊ยะสด ลาบ น้ำตก แม้เนื้อสัตว์และส่วนประกอบในอาหารเหล่านี้จะผ่านการปรุงสุกมาแล้ว แต่อาจปนเปื้อนได้ระหว่างผู้ขายหยิบขึ้นมาหั่นบนเขียง ทั้งนี้ความสะอาดของเขียง มีด และมือผู้ขายเป็นสิ่งสำคัญ
  • ส้มตำ สลัดผักสด เพราะเป็นอาหารที่ไม่ได้ผ่านความร้อน อีกทั้งผักและส่วนประกอบในอาหารยังอาจปนเปื้อนแบคทีเรียและเชื้อโรคได้
  • อาหารหมักดอง เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม กิมจิ เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อน
  • ผลไม้ที่ปอกเปลือกจากร้าน เช่น ทุเรียน เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียทั้งจากมีดปอก ถุงมือที่หยิบจับทุเรียน วัสดุที่ใส่ทุเรียน
  • ผลไม้เปลือกบาง เช่น องุ่น แอปเปิล สาลี่ เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อโรค หรือเชื้อแบคทีเรียได้
  • อาหารและขนมที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน ชานมไข่มุก เบเกอรี่
  • น้ำผักผลไม้คั้นสด น้ำผักผลไม้ปั่น น้ำผักผลไม้สกัด ที่ซื้อมา เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนในกระบวนการทำ
  • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 
  • น้ำแข็ง เนื่องจากเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย อี.โคไล
  • โยเกิร์ต แม้จะอุดมไปด้วยจุลินทรีย์สุขภาพ (โพรไบโอติกส์) ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่ในช่วงที่ป่วยโควิด-19 หากร่างกายได้รับจุลินทรีย์มากเกินไป อาจเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี

นอกจากการเลือกซื้ออาหารจากร้านที่ปรุงสุก สะอาด สด ใหม่ และถูกหลักอนามัยแล้ว หากมีคนดูแลที่สามารถประกอบอาหาร ทำเครื่องดื่มต่างๆ ให้ผู้ป่วยโควิดรับประทานได้จะดีที่สุด เพื่อให้สามารถควบคุมความสุกของอาหาร และดูแลความสะอาดได้

ผู้ป่วยโควิด-19 ควรปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วง Home Isolation?

นอกจากการรับประทานอาหารให้เหมาะสมแล้ว การปฏิบัติตัวให้เหมาะสมก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพื่อให้ผลการรักษาดีที่สุด

  • พักผ่อนให้มากๆ อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน หากนอนหลับได้ดี ร่างกายจะสามารถสร้างสาร “ไซโตไคน์ (Cytokines)” ที่ช่วยรักษาการอักเสบ การติดเชื้อ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้มาก
  • เพื่อให้หายใจได้เต็มปอด แนะนำให้นอนคว่ำ เพราะ 2 ใน 3 ของปอดอยู่ด้นหลังของร่างกายนั่นเอง
  • ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ 
  • พยายามรับประทานอาหารให้ได้ครบ 3 มื้อหลัก หากแต่ละมื้อรับประทานได้น้อย อาจเพิ่มเป็น 5 มื้อ
  • หากมีอาการเบื่ออาหาร รับประทานอาหารไม่ได้ แนะนำให้ดื่มน้ำเกลือแร่ซึ่งอาจเป็นผงน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส (ORS) หรือเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย หากไม่สามารถหาซื้อผงน้ำตาลเกลือแร่ได้ อาจใช้ น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่น 1 ช้อนชา ผสมในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 750 มิลลิลิตร ใช้ดื่มเพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ได้
  • พยายามออกกำลังกายน้อยๆ แต่บ่อยๆ เพื่อเพิ่มการหมุนเวียนของเลือดทำให้เซลล์ในร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น ส่งเสริมการสร้างเม็ดเลือดขาวบางชนิด ที่ช่วยต่อต้านเชื้อไวรัสและสิ่งแปลกปลอมได้
  • มีกิจกรรมลดความเครียด เช่น นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ ฟังเพลง เล่นเกม
  • เปิดหน้าต่างและหากมีแสงแดดส่องผ่าน ให้พยายามไปรับแสงแดดยามเช้าช่วงก่อน 09.00 ครั้งละ 15-20 นาที เพื่อให้ร่างกายสร้างวิตามินดี

หากผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างทำ Home Isolation สามารถดูแลตนเองได้ดีทั้งเรื่องอาหารการกิน การปฏิบัติตัวต่างๆ ร่วมกับการรับประทานยาบรรเทาอาการตามที่หน่วยงานสาธารณสุขแนะนำ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน การรักษาก็จะให้ผลดี และมีโอกาสหายจากโรคโควิด-19 ได้ด้วยตนเอง

หากสนใจเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สามารถ เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ที่นี่เลย หรือติดตามข่าวสารวัคซีนโควิดในไทยที่ไลน์ @hdcoth มีแอดมินใจดีคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง! แอดเลยไม่ต้องรอ

รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด

ที่มาของข้อมูล

ผศ. นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล, ข้อสงสัยที่อาจเข้าใจผิด 3 ยาและอาหารเสริม ในช่วงโควิด-19 จริงหรือไม่? (https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/ข้อสงสัยที่อาจเข้าใจผิ/), 5 สิงหาคม 2564.

TIMESOFINDIA.COM, COVID-19: Foods you should eat if you have coronavirus infection (https://timesofindia.indiatimes.com/life-style/food-news/covid-19-foods-you-should-eat-if-you-have-coronavirus-infection/photostory/83566488.cms), 5 August 2021.

WHO, Nutrition advice for adults during the COVID-19 outbreak (http://www.emro.who.int/nutrition/news/nutrition-advice-for-adults-during-the-covid-19-outbreak.html), 5 August 2021.

WHO,Tips for Food Safety during COVID-19 (https://www.who.int/campaigns/connecting-the-world-to-combat-coronavirus/healthyathome/healthyathome---healthy-diet?gclid=CjwKCAjwmK6IBhBqEiwAocMc8vKk14b-ltzijcMHTbwVf-0h9mpAksYe2H-lkzn4FEoKxRjDrk4VdRoCUjwQAvD_BwE), 5 August 2021.

@‌hdcoth line chat