เช็คด่วน เชื้อโควิด-19 ลงปอดหรือยัง?


โควิด-19-ปอดอักเสบ-ปอดติดเชื้อ

HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • หลังติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากเชื้อจะแทรกซึมไปยังเซลล์ต่างๆ ของร่างกายเพื่อฟักตัวและทำลายเซลล์นั้นๆ แล้ว เชื้อไวรัสจะแทรกซึมและทำลายปอด ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ หรือปอดติดเชื้อตามมาในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังติดเชื้อ
  • โดยปกติแล้วคนทั่วไปจะมีค่าออกซิเจนในเลือด (SpO2) อยู่ที่ 98-100% แต่ไม่ต่ำกว่า 95% แต่หากมีค่าออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 90% หมายถึงมีภาวะ ออกซิเจนในเลือดต่ำควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • นอกจากจะใช้อุปกรณ์เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (pulse oximeter) ตรวจเช็คอาการปอดอักเสบเบื้องต้นได้แล้ว ยังมีวิธีทดสอบง่ายๆ ด้วยการทดลองทำกิจกรรมเดิมที่เคยทำตามปกติไม่รู้สึกเหนื่อย แต่เมื่อมาทำใหม่กลับเหนื่อย  เช่น การเดินไปมาในห้อง การลุกจากเก้าอี้เพื่อยืน หรือนั่งอยู่กับพื้นแล้วลุกขึ้น ให้สงสัยไว้ก่อนว่า อาจมีอาการปอดอักเสบ
  • หากสงสัยว่า มีอาการปอดอักเสบ แต่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษาควรดูแลตนเองด้วยการนอนคว่ำเพื่อให้ปอดไม่มีการกดทับจากน้ำหนักตัวและหัวใจ ปอดจะสามารถทำงานได้ดีขึ้น ปริมาณออกซิเจนที่ร่างกายจะได้รับจะมากขึ้น ดื่มน้ำมากๆ 
  • เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือแอดไลน์ @hdcoth

แม้ว่า เชื้อโควิดลงปอด ปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบ จะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่า ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยทุกคนจึงควรได้รับการรักษาโดยเร็วเพื่อชะลอการดำเนินโรคและยับยั้งความรุนแรงของโรค

แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศที่กำลังรุนแรงและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นๆ ทำให้ระบบสาธารณสุขเริ่มไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยรายใหม่

ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยจึงต้อง “รอเตียง” หรือรอรับความช่วยเหลืออยู่ที่ที่พักไปก่อน ระหว่างนี้จะมีวิธีอะไรบ้างเพื่อตรวจเช็คตนเองและคนใกล้ชิดว่า “เชื้อโควิดลงปอด ปอดติดเชื้อหรือยัง” เพราะนั่นเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกว่า อาการโควิดเริ่มรุนแรง

แม้กระทั่งผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในกลุ่ม Home Isolation การแยกกักตัวที่บ้าน และ Community Isolation การแยกกักตัวในชุมชน ก็สามารถตรวจเช็คสุขภาพปอดของตนเองได้ด้วยเช่นกัน

HDmall.co.th จะบอกเล่าวิธีเช็คสุขภาพปอดของตนเองในวันที่เป็นเป็นโควิด 19 แบบเข้าใจได้ง่ายดังนี้

ป่วยโควิด-19 ปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบ อันตรายอย่างไร?

หลังติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากเชื้อจะแทรกซึมไปยังเซลล์ต่างๆ ของร่างกายเพื่อฟักตัวและทำลายเซลล์นั้นๆ แล้ว ในบรรดาอวัยวะของร่างกาย “ปอด” จัดเป็นอวัยวะสำคัญยิ่งที่เชื้อไวรัสจะแทรกซึมและทำลาย ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ หรือปอดติดเชื้อตามมาในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังติดเชื้อ

ยิ่งปอดถูกทำลายมากเท่าไหร่ ประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนและการลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกายก็จะลดลงมากเท่านั้น และหากระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลงมากๆ ก็จะเป็นสาเหตุสำคัญนำไปสู่อาการโคม่าและการเสียชีวิตในที่สุด

ทั้งนี้โดยปกติแล้วคนทั่วไปจะมีค่าออกซิเจนในเลือด (SpO2) อยู่ที่ 98-100% แต่ไม่ต่ำกว่า 95% หากมีค่าออกซิเจนในเลือดอยู่ที่ 90-94% หมายถึง ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติจนเกิดภาวะพร่องออกซิเจน ให้ระวังอาการผิดปกติ

แต่หากมีค่าออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 90% หมายถึง มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำควรรีบไปพบแพทย์ทันที

อาการปอดอักเสบ หรือปอดติดเชื้อที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ไอแล้วเหนื่อย
  • หายใจไม่สะดวก
  • หายใจไม่ทัน
  • หอบเหนื่อยง่าย

หากอาการปอดอักเสบรุนแรงยิ่งขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการปอดบวมแน่นหน้าอก หายใจแล้วเจ็บหน้าอก พูดติดๆ ขัดๆ หรือไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้ เริ่มมีอาการซึม ไม่รู้สึกตัว หรือตอบสนองช้าลง

เช็กราคา PCR ตรวจโควิด

วิธีเช็คตนเองว่า เชื้อโควิดลงปอดหรือยัง? แบบใช้อุปกรณ์

นอกจากอาการปอดอักเสบที่เราสามารถใช้ตรวจเช็คอาการของตนเองเบื้องต้นได้แล้วนั้น ยังมีวิธีตรวจเช็คอีกหลายวิธีด้วยกัน 

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยถึงการทดสอบภาวะออกซิเจนต่ำในเลือดขณะออกกำลังกายดัวยการลุกนั่ง (sit-to-stand test; STST) ในผู้ป่วยโควิด-19

นอกจากข้อบ่งชี้ของวิธีนี้จะสามารถใช้คัดกรองผู้ป่วยปอดอักเสบโควิดในโรงพยาบาลหลักที่ยังไม่มี resting hypoxemia (SpO2 < 96%) เพื่อให้การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ (SpO2 คือ ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด)

วิธีนี้ยังสามารถใช้คัดกรองผู้ป่วยในโรงพยาบาลเฉพาะกิจ (hospitel) หรือโรงพยาบาลสนาม ที่ไม่พบปอดอักเสบโควิดในตอนแรก แต่อาจเกิดขึ้นใหม่ในระหว่างการติดตามการดำเนินโรคจนครบ 14 วัน เพื่อทำการประเมินใหม่โดยแพทย์พร้อมการเอกซเรย์ปอดได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม วิธีทดสอบนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีสัญญาชีพไม่คงที่ และผู้ที่ทรงตัวได้ไม่ดีขณะลุกนั่ง

อุปกรณ์

  • เก้าอี้แข็งแรงชนิดมีพนักพิงหลัง แต่ไม่มีที่เท้าแขน ความสูงจากที่นั่งถึงพื้น 40-50 ซม.
  • เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (pulse oximeter) ควรมีจอแสดงผลให้เห็นค่า SpO2 (ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด) และค่า HR (อัตราการเต้นของหัวใจ) ได้ชัดเจน โดยบุคลากร หรือผู้ที่อยู่ด้านนอกโซนผู้ป่วย ทั้งการดูโดยตรง หรือผ่านกล้องถ่ายทอด

วิธีการ

  • ให้ผู้ป่วยถอดหน้ากากอนามัยออก ยืนเท้าเอวและวางมือสองข้างไว้ที่สะโพก โดยสวมเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วตลอดการทดสอบ
  • เมื่อผู้ทดสอบพูดว่า “เริ่ม” ให้ผู้ป่วยนั่งเต็มก้นลงบนเก้าอี้ แล้วลุกขึ้นยืนตรงทันทีโดยไม่ใช้มือดันเก้าอี้ และกลับไปนั่งเต็มก้นอีกครั้ง ทำซ้ำให้เร็วที่สุดเท่าที่ได้ใน 1 นาที (ควรได้ 20-30 ครั้งใน 1 นาที) โดยผู้ป่วยกำหนดความเร็วที่ปลอดภัยและไม่หักโหมด้วยตนเอง ผู้ทดสอบตรวจสอบให้ผู้ป่วยนั่งให้เต็มก้นโดยข้อเข่าทำมุม 90 องศาและลุกขึ้นยืนตรงจนสุดตลอดการทดสอบ
  • ให้สิ้นสุดการทดสอบก่อนครบ 1 นาที ถ้าผู้ป่วยเหนื่อย หรือ HR > 120 (HR คือ อัตราการเต้นของหัวใจ) หรือ SpO2 ลดลงจากเดิม 3% ขึ้นไป (desaturation: ภาวะความอิ่มตัวของออกซิเจนต่ำ) โดยที่ค่านั้นต่ำจริงเมื่อเครื่องวัดและแสดงผลติดกัน 2-3 ครั้ง (เครื่องจะวัดและแสดงผลราวทุก 3 วินาที)
  • เมื่อสิ้นสุดการทดสอบหลังครบ 1 นาที ให้วัด SpO2 ต่อไปอีก 1 นาที ถ้ายังไม่พบภาวะความอิ่มตัวของออกซิเจนต่ำให้ถือว่า การทดสอบเสร็จสมบูรณ์

วิธีเช็คตนเองว่า เชื้อโควิดลงปอดหรือยัง? แบบไม่ใช้อุปกรณ์

นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เชี่ยวชาญโรคปอด การปลูกถ่ายปอด และวิกฤติบำบัด ได้แชร์วิธีทดสอบว่า ตนเองอาการหนักแค่ไหน โควิดลงปอดหรือไม่ด้วยตนเอง ผ่านคลิปวิดีโอ Doctor Tany ดังนี้

หากรู้สึกว่าเหนื่อยหอบ ให้สงสัยไว้ก่อนว่า อาจมีอาการปอดอักเสบ แต่หากไม่แน่ใจว่า เหนื่อยหรือไม่ แนะนำให้ประเมินได้ดังนี้

  • หากทำกิจกรรมเดิมที่เคยทำตามปกติไม่รู้สึกเหนื่อย แต่เมื่อมาทำใหม่กลับเหนื่อย เช่น การเดินไปมาในห้อง การลุกจากเก้าอี้เพื่อยืน หรือนั่งอยู่กับพื้นแล้วลุกขึ้น หากทำสัก 2-3 ครั้งแล้วเหนื่อย ให้สงสัยไว้ก่อนว่า อาจมีอาการปอดอักเสบ หรือกลั้นหายใจสัก 10-15 วินาที ถ้าทำแล้วเหนื่อย ก็สงสัยไว้ก่อนว่า อาจมีอาการปอดอักเสบ

จากการทดสอบทั้งการใช้อุปกรณ์และไม่ใช้อุปกรณ์ หากพบว่า เข้าข่ายปอดอักเสบ แนะนำให้ผู้ป่วยแจ้งญาติ หรือผู้ใกล้ชิดถึงอาการที่เป็น พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องให้เร็วที่สุดพร้อมแจ้งอาการ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เร็วที่สุด

ดูแลตนเองเบื้องต้นอย่างไร? เมื่อสงสัยว่า ปอดอักเสบจากโควิด?

ในคลิปวิดีโอ Doctor Tany นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน แนะนำวิธีปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโควิดที่อาจมีอาการปอดอักเสบจากโควิด แต่ยังอยู่ในช่วง “รอเตียง” ดังนี้

  • แนะนำให้นอนคว่ำเพื่อให้ปอดไม่มีการกดทับจากน้ำหนักตัวและหัวใจ เนื่องจากปอด 2 ใน 3 จะอยู่ด้านหลัง วิธีนี้จะช่วยให้ปอดสามารถทำงานได้ดีขึ้น ปริมาณออกซิเจนที่ร่างกายจะได้รับจะมากขึ้น วิธีนอนคว่ำให้สบาย แนะนำให้กอดหมอนอย่างน้อย 1 ใบไว้กับหน้าอก แล้วนอนคว่ำ หันหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง บางรายอาจใช้หมอนมากกว่า 1 ใบก็ได้ เพื่อให้นอนสบายขึ้น
  • หากนอนคว่ำไม่ได้ เพราะรู้สึกหายใจไม่ออก ปวดหลัง มีหน้าท้องใหญ่ แนะนำให้นอนกึ่งตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่หากจะให้ดีแนะนำให้นอนกึ่งตะแคงกึ่งคว่ำราว 45 องศาจะได้ประโยชน์มากกว่าการนอนตะแคงตรงๆ
  • กรณีอยู่ระหว่างตั้งครรภ์ ยิ่งอายุครรภ์มากแนะนำให้นอนตะแคงด้านซ้าย เพื่อไม่ให้น้ำหนักของมดลูกกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกยิ่งขึ้น ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หากสามารถนอนตะแคงด้านซ้ายกึ่งคว่ำได้เล็กน้อยจะดีมาก เพื่อให้ปอดทำงานได้ดียิ่งขึ้น
  • ระหว่างนอนคว่ำ แนะนำให้เคลื่อนไหว หรือขยับขาบ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด หัวใจล้มเหลวได้ เช่น งอเข่าเข้า-ออก ยืดเหยียดปลายเท้าเข้า-ออก ทำซ้ำๆ บ่อยๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนดี

นอกจากท่านอนแล้ว การรับประทานอาหาร การดื่มน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูแลให้ถูกวิธี โดยนายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน ให้คำแนะนำดังนี้

  • หากยังสามารถรับประทานอาหารได้ ให้พยายามรับประทานให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำมากๆ ประมาณ 2 - 2.5 ลิตรต่อวัน เพื่อให้เลือดไม่ข้นหนืด ลดอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด แต่ดื่มมากเกินไปก็ไม่ดี
  • ในกรณีที่รับประทานอาหารไม่ได้เลย ควรดื่มน้ำที่มีเกลือแร่และพลังงาน เช่น น้ำเกลือแร่ที่ดื่มเวลาเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย น้ำเกลือแร่ที่ดื่มเวลาท้องเสีย
  • ถ้าเหนื่อยมาก เมื่อปวดปัสสาวะ หรืออุจจาระ อย่าลุกไปเข้าห้องน้ำคนเดียว อย่าล็อคประตูห้องน้ำเพราะการนั่งเบ่งถ่ายในขณะที่ร่างกายมีออกซิเจนต่ำจะทำให้หน้ามืด หมดสติ และหัวใจหยุดเต้นได้ แนะนำให้เตรียมอุปกรณ์สำหรับขับถ่ายไว้ข้างเตียงเพื่อความสะดวก เช่น กระโถน กระบอกปัสสาวะ กระดาษ หรือผ้ารองของเสีย
  • หากท้องผูกให้รับประทานยาระบายอ่อนๆ ดื่มน้ำมากๆ
เช็กราคา PCR ตรวจโควิด

ปัจจุบันการหาเตียงโควิดนั้นสามารถติดต่อหน่วยงานรัฐได้ผ่านช่องทางต่อไปนี้

  • สายด่วนกรมการแพทย์ โทร.1668
  • สายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร.1669
  • สายด่วนสปสช. โทร.1330
  • สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1442
  • สายด่วนประกันสังคม โทร.1506

ส่วนช่องทางไลน์ @1668.reg นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาสา ภาคเอกชนให้ความร่วมมือในการหาเตียงอีกเป็นจำนวนมาก กรณีมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (อสม.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือศูนย์ประสานงานเฉพาะของแต่ละพื้นที่

ล่าสุดภาคเอกชนร่วมมือกับองค์กรอาสาจัดทำโครงการ “Backhome” ช่วยแก้วิกฤตรอเตียงในกรุงเทพ นำผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว หรือเหลืองอ่อน กลับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลบ้านเกิด หลังได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นจากแพทย์ก่อนเคลื่อนย้าย

รายละเอียดเพิ่มเติม Line ID : @backhome หรือโทร 094-1971764 พร้อมส่งหลักฐานผลการติดเชื้อโควิด-19 และหลักฐานที่บ่งบอกถึงภูมิลำเนา

หากสนใจเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สามารถ เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ที่นี่เลย หรือติดตามข่าวสารวัคซีนโควิดในไทยที่ไลน์ @hdcoth มีแอดมินใจดีคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง! แอดเลยไม่ต้องรอ

รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • อ.นพ.ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์, โควิด-19 ทำลายปอดแม้ไม่มีอาการ (https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/โควิด-19-ทำลายปอดแม้ไม่มี/), 21 กรกฎาคม 2564.
  • Panagis Galiatsatos, M.D., COVID-19 Lung Damage (https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/coronavirus/what-coronavirus-does-to-the-lungs), 21 July 2021.
  • Jill Seladi-Schulman, PhD, What to Know About COVID-19 and Pneumonia (https://www.healthline.com/health/coronavirus-pneumonia), 21 July 2021.
  • WebMD, Coronavirus and Pneumonia (https://www.webmd.com/lung/cov... July 2021.
  • รศ.นพ. นิธิพัฒน์ เจียรกุล สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ศิริราช, การทดสอบภาวะออกซิเจนต่ำในเลือดขณะออกกำลังด้วยการลุกนั่งในผู้ป่วยโควิด-19 (https://www.thoracicsocietythai.org/2021/04/24/sit-to-stand-test-for-patients-with-covid/), 21 July 2021.
@‌hdcoth line chat