ผ่าตัดท่อนำไข่ออก (แบบส่องกล้อง)
ท่อนำไข่ อาจเรียกว่าปีกมดลูกได้
ผ่าตัดนำท่อรังไข่ออกทั้งหมด ลดความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ได้
รายละเอียด
HDcare สรุปให้
ใครบ้างที่ต้องตัดเอาท่อนำไข่ออก?
- ท้องนอกมดลูก ตั้งครรภ์ผิดปกติ
- ลดความเสี่ยงมะเร็งรังไข่
- ต้องการคุมกำเนิดถาวร
หลังผ่าตัดจะตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติไม่ได้
ทำ ICSI กับ HDcare ปรึกษาก่อนได้ฟรีกับสูติแพทย์ได้เลย
ผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกไม่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนและอาการวัยทอง เพราะท่อนำไข่ไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน
- ผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง แผลเล็ก 0.5-1 ซม. 3-4 จุด
- เจ็บน้อย บอบช้ำต่ออวัยวะข้างเคียงน้อยกว่าแบบเปิด
- ระยะเวลาพักฟื้นไม่นาน กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็ว
รู้จักโรคนี้
ท่อนำไข่ คือท่อเล็กๆ เชื่อมให้ไข่จากรังไข่เดินทางเข้าสู่มดลูก ปัจจุบันพบว่าท่อนำไข่สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดเซลล์มะเร็งรังไข่ ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ที่มีประสิทธิภาพทำให้การผ่าตัดนำท่อรังไข่ออกทั้งหมดเป็นทางเลือกหนึ่งของการลดความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ได้
เทคนิคผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกด้วยกล้องส่องช่องท้อง ให้ประโยชน์คือได้แผลผ่าตัดเล็ก บอบช้ำน้อย เจ็บน้อย เสียเลือดน้อย เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วคนไข้ใช้เวลาพักฟื้นสั้นกว่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
รักษาโรคนี้ได้วิธีไหนบ้าง
การผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออก มักมาจากสาเหตุต่อไปนี้
- การท้องนอกมดลูก เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ คือ แทนที่เมื่อสเปิร์มผสมกับไข่กลายเป็นตัวอ่อนแล้วจะฝังตัวในมดลูก กลับฝังตัวในท่อนำไข่แทน ตัวอ่อนที่ฝังผิดที่ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ และอาจก่อให้เกิดภาวะท่อนำไข่ฉีกขาด ทะลุ มีเลือดออก ติดเชื้อ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
- ลดความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในบรรดามะเร็งนรีเวช ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองอย่างมีประสิทธิภาพ กว่าจะวินิจฉัยพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ก็มักอยู่ในระยะที่โอกาสรักษาหายมีน้อยแล้ว ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่สูงจึงอาจเลือกการผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกเพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคนี้
- ต้องการคุมกำเนิดถาวร กรณีที่ผ่าตัดท่อนำไข่ออกเพื่อคุมกำเนิดจะผ่าตัดท่อนำไข่ออกบางส่วน แต่ทำทั้งสองข้าง ถ้าทำเพื่อรักษาโรค อาจต้องผ่าตัดท่อนำไข่ออกทั้งหมด ขึ้นอยู่กับความรุนแรง การลุกลามของโรคที่เป็น
สำหรับเทคนิคการผ่าตัด แพทย์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักเลือกวิธีการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) เป็นวิธีมาตรฐาน มากกว่าจะใช้การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องแบบดั้งเดิม
รู้จักการผ่าตัดนี้
การผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกด้วยการส่องกล้องช่องท้อง (Total Laparoscopic Salpingectomy) คือ การผ่าเอาท่อนำไข่ออกทั้งหมด มักใช้เพื่อรักษาโรค หรือลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งรังไข่ เพราะมะเร็งรังไข่ยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังพบว่า มะเร็งจะเริ่มเป็นมาจากเนื้องอกเล็กๆ ที่ปลายท่อนำไข่ก่อน แล้วค่อยลามสู่อวัยวะอื่น ไม่ได้เริ่มเป็นจากรังไข่อย่างที่เข้าใจกันในอดีต
คนที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ เช่น ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม ผู้มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งลำไส้ ที่ไม่ต้องการมีบุตรอีก อาจเลือกลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ โดยการผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกไปเลยได้
ข้อดีของการผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกด้วยกล้องส่องช่องท้อง
- บอบช้ำต่ออวัยวะในอุ้งเชิงกรานน้อยกว่าผ่าตัดแบบเปิด
- ฟื้นตัวดีกว่า อาการปวดแผลหลังผ่าตัดก็น้อยกว่า
- แผลเล็ก 0.5-1 ซม. ประมาณ 3-4 จุดเท่านั้น
ขั้นตอนการผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกด้วยการส่องกล้องช่องท้อง
- วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ
- เปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 0.5-1 ซม. ประมาณ 3-4 จุด เพื่อใส่กล้องและอุปกรณ์เข้าไปในช่องท้อง
- แพทย์ผ่าตัดท่อนำไข่แล้วนำออกจากแผลขนาดเล็ก
- ปิดแผลด้วยวิธีเย็บด้วยไหมหรือติดกาวทางการแพทย์
การดูแลหลังผ่าตัด
หลังจากผ่าตัด คนไข้และผู้ดูแลควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยา การปฏิบัติตัว โดยมากแพทย์จะแนะนำให้เลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องออกแรงบริเวณหน้าท้อง และห้ามยกของหนักในระยะ 6 สัปดาห์แรก แต่ให้เคลื่อนไหวร่างกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ
การผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกอาจส่งผลต่อความสามารถในการตั้งครรภ์ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นถ้าจะกลับไปมีเพศสัมพันธ์จึงยังต้องป้องกันตัวเองตามปกติ
ถ้ามีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์ทันที เนื่องจากอาจบ่งชี้ว่าการผ่าตัดเกิดภาวะซับซ้อนบางอย่างขึ้น
- บริเวณแผลผ่าตัดเกิดอาการบวม แดง หรือมีของเหลวไหลออกมา
- รู้สึกเจ็บบริเวณอุ้งเชิงกราน
- มีอาการปวด บวม ที่ขา (เป็นสัญญาติของภาวะเลือดคั่ง)
- มีไข้ หนาวสั่น
- เจ็บ ปวด เวลาปัสสาวะ
การผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกด้วยกล้องส่องช่องท้อง เป็นการผ่าตัดมาตรฐานที่ถือว่าค่อนข้างปลอดภัย และช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเกี่ยวข้องอื่นๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะความต้องการมีบุตรในอนาคต ก่อนการผ่าตัดจึงควรปรึกษาแพทย์ถึงผลลัพธ์ในการรักษาและทางเลือกต่างๆ ให้ครบถ้วน
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
การผ่าตัดส่องกล้องเอาท่อนำไข่ออกด้วยกล้องส่องช่องท้อง โดยทั่วไปถือเป็นวิธีที่ปลอดภัย มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงน้อย อย่างไรก็ตาม เป็นปกติของการผ่าตัดที่อาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น
- มีเลือดออกบริเวณแผลผ่าตัดภายนอกหรือภายในช่องท้อง
- เกิดภาวะแพ้ยาสลบ
- เลือดคั่ง
- เกิดภาวะไส้เลื่อน
- อุปกรณ์ผ่าตัดกระทบกระเทือนต่ออวัยวะอื่นในช่องท้อง
- เกิดการติดเชื้อ
- เกิดพังผืดที่เนื้อเยื่อ
- เจ็บปวดเรื้อรังหลังผ่าตัด
- มีภาวะซับซ้อนบางอย่างเกิดขึ้นระหว่างผ่าตัด ทำให้ต้องใช้เวลาผ่าตัดนานขึ้นหรือเปลี่ยนไปผ่าตัดแบบเปิดแทน
สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา