
รักษาไว ลดโอกาสลุกลามเป็นมะเร็ง
รายละเอียด
รู้จักโรคนี้
ทำความรู้จักกับรังไข่และท่อนำไข่

รังไข่ (Ovary) เป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณด้านข้างของปีกมดลูกทั้ง 2 ข้าง ทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเทอโรน (Progesterone) และสะสมไข่ซึ่งเป็นเซลสืบพันธุ์เพศหญิงภายในเพื่อใช้ในการมีบุตร
ท่อนำไข่ (Fallopian Tube) เป็นท่อ 2 ท่อที่อยู่บริเวณซ้ายและขวาของมดลูก เชื่อมต่อระหว่างรังไข่ทั้งสองข้างกับมดลูก เป็นตำแหน่งที่ไข่และอสุจิมาผสมกัน และนำไข่ที่ผสมแล้วกลับไปสู่โพรงมดลูกเพื่อให้ฝังตัวอยู่ในเยื่อบุโพรงมดลูก
ทำไมต้องผ่าตัดรังไข่และ/หรือท่อนำไข่?
รังไข่เป็นหนึ่งในอวัยวะสืบพันธุ์ภายในของเพศหญิงที่สำคัญมาก ทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนเพศหญิงและสร้างเซลล์สืบพันธุ์ ส่วนท่อนำไข่จะเป็นอวัยวะที่ลำเลียงไข่ไปปฏิสนธิกับอสุจิ
เมื่อเกิดความผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดรังไข่และ/หรือท่อนำไข่เพื่อรักษาอาการผิดปกตินั้นๆ และสามารถผ่าตัดเพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งท่อนำไข่ในอนาคตในคนไข้ที่มีความเสี่ยง
ตัวอย่างโรคที่นำไปสู่การผ่าตัดรังไข่
-
ถุงน้ำรังไข่ชนิด functional cyst เกิดจากการที่รังไข่ทำงานเพื่อสร้างเซลล์สืบพันธ์ุฝ่ายหญิง สามารถยุบเองได้ แต่อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง และถ้าแตกอาจมีการตกเลือดภายในช่องท้อง โดยเฉพาะ Cyst ที่มีขนาดใหญ่
เนื้องอกรังไข่: เป็นรังไข่ที่มีเซลล์เจริญเติบโตและแบ่งตัวผิดปกติจนเกิดเป็นเนื้องอก มีทั้งแบบเนื้องอกตันและเนื้องอกที่มีของเหลวอยู่ข้าง เนื้องอกรังไข่ที่พบได้บ่อยคือ ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst), โรคถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) เป็นต้น เนื้องอกรังไข่มักจะไม่ยุบเองและสามารถเกิดการแตกและบิดขั้วทำให้เกิดอันตรายได้
-
มะเร็งรังไข่: เป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดที่เป็นเนื้อร้าย เซลล์จะมีการแบ่งตัวที่ผิดปกติ มีลักษณะเซลล์ผิดปกติ และสามารถลุกลามแพร่กระจายไปที่อวัยวะข้างเคียงได้
ผู้ที่เป็นพาหะของยีน BRCA มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งท่อนำไข่มากกว่าผู้หญิงที่ไม่เป็นพาหะของยีน BRCA มากกว่า 10 เท่า
ผู้ที่เป็นพาหะของยีน BRCA: มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งท่อนำไข่มากกว่าผู้หญิงที่ไม่เป็นพาหะของยีน BRCA มากกว่า 10 เท่า
สัญญาณที่ต้องผ่าตัด
ผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี เนื่องจากโรคทางนรีเวชที่อาจเป็นอันตรายได้ เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ เนื้องอกรังไข่ หรือเนื้องอกในมดลูก จะมีทั้งแบบไม่แสดงอาการ และแสดงอาการ
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคุณมีอาการที่อยู่ในกลุ่มโรคถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกรังไข่ หรือมะเร็งรังไข่ เช่น
- ปวดท้องน้อย ท้องอืด แน่นท้อง ปวดหน่วงท้องน้อย ซึ่งอาจสัมพันธ์กับประจำเดือนหรือไม่ก็ได้
- ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือไม่มาเลย
- มีอาการปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ
- ปัสสาวะบ่อย
- ปวดท้องน้อยฉับพลันรุนแรง ปวดบิด
- คลื่นไส้ อาเจียน
- คลำพบก้อนที่ท้องน้อย หรือท้องขยายขึ้น
- รับประทานอาหารได้น้อยลง และรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น
- สิวขึ้นเยอะ
แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้เป็นอันตรายได้ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินวิธีเข้ารับการรักษา ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค
รู้จักการผ่าตัดนี้
การผ่าตัดรังไข่ส่วนมากจะทำในกรณีที่ตรวจเจอความผิดปกติของรังไข่ อาจสามารถทำโดยการเลาะ Cyst รังไข่ออกหรือตัดรังไข่ออก ซึ่งจะตัดรังไข่ข้างเดียวหรือทั้งสองข้างจะต้องดูความเหมาะสมเป็นรายบุคคล ขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่ตรวจพบ อายุและความต้องการของคนไข้
ภาวะผิดปกติของท่อนำไข่ที่มักต้องการการผ่าตัด คือ Hydrosalpinx ซึ่งจะเป็นการตรวจพบท่อนำไข่บวมและมีของเหลวข้างในมักเกิดจากการติดเชื้อ มีผลกระทบต่อความสามารถการมีบุตร
ในกรณีอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดรังไข่หรือมดลูกออกหากแพทย์พิจารณาแล้วว่ามีความผิดปกติของท่อนำไข่หรือไม่ต้องการมีบุตรแล้วก็สามารถพิจารณาตัดท่อนำไข่ออกได้ในการผ่าตัดนั้นๆ
การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างออก จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งท่อนำไข่ ในผู้หญิงที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกรังไข่ หรือผู้หญิงที่เป็นพาหะของยีน BRCA ได้ในอนาคต
การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่สามารถทำได้ 2 วิธีคือ การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดแบบส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง
ข้อจำกัดในการเข้ารับการผ่าตัด
ในกรณีที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่มากกว่า 15 เซนติเมตร อาจไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดรังไข่และท่อนำรังไข่ออกด้วยวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องได้ แพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องแทน
ขั้นตอนการผ่าตัดรังไข่และ/หรือท่อนำไข่

ก่อนเข้ารับการผ่าตัดรังไข่และ/หรือท่อนำไข่ ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพร่างกายอย่างละเอียดก่อน
หลังจากที่แพทย์ประเมินแล้วว่าสามารถผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกได้ แพทย์จึงจะนัดวันเข้ารับการผ่าตัด โดยมีขั้นตอนการผ่าตัดดังนี้
- วิสัญญีแพทย์จะทำการระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ
- แพทย์จะลงแผลผ่าตัด โดยจะมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และผ่าตัดแบบส่องกล้องทางหน้าท้อง
- หลังจากที่ผ่าตัดเสร็จแล้ว แพทย์จะทำการเย็บแผลให้เรียบร้อย และให้ไปนอนสังเกตอาการที่ห้องพักฟื้นต่อประมาณ 1-2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็จะส่งกลับไปพักต่อที่หอผู้ป่วย
- ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องใส่สายสวนปัสสาวะอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด โดยระยะเวลาขึ้นกับชนิดของการผ่าตัด และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างผ่าตัด
การผ่าตัดรังไข่และ/หรือท่อนำไข่ใช้ระยะเวลาเท่าใด?
การผ่าตัดผ่าตัดรังไข่และ/หรือท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างออกใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง
การผ่าตัดรังไข่และ/หรือท่อนำไข่ต้องพักฟื้นนานเท่าไหร่?
ในกรณีที่ผ่าตัดรังไข่และ/หรือท่อนำไข่ออกด้วยวิธีการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง จะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 3 วัน และพักฟื้นตัวที่บ้านอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์
ส่วนการผ่าตัดแบบส่องกล้องผ่านหน้าท้อง จะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1-3 วัน และพักฟื้นต่อที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์
เปรียบเทียบการผ่าตัดวิธีต่างๆ
การผ่าตัดรังไข่มีกี่วิธี?
ในปัจจุบันการผ่าตัดรังไข่มีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง มีรายละเอียดดังนี้
การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องเป็นการเปิดแผลที่ทางหน้าท้อง โดยอาจเป็นแนวตั้ง หรือแนวนอนก็ได้ ขนาดของแผลจะมีความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว ขึ้นอยู่กับโรคที่ผ่าตัด ขนาดของมดลูก และความชำนาญของแพทย์ที่ทำการผ่าตัด
การผ่าตัดด้วยวิธีเปิดหน้าท้องจะใช้ระยะเวลาพักฟื้นนานกว่า โดยจะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 3 วัน และพักฟื้นตัวหลังผ่าตัดประมาณ 1-2 สัปดาห์
การผ่าตัดแบบส่องกล้องทางหน้าท้อง
การผ่าตัดแบบส่องกล้องทางหน้าท้อง แพทย์จะเจาะรูขนาดเล็กประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร จำนวน 2-4 รู บริเวณหน้าท้อง เพื่อสอดเครื่องมือเข้าไปผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างออก
เครื่องมือในการผ่าตัดจะมีไฟและกล้องขนาดเล็กอยู่ที่ปลายท่อ ทำให้แพทย์สามารถเห็นภาพบริเวณที่ผ่าตัดได้ชัดเจน ช่วยให้ผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ และไม่ส่งผลกระทบกับอวัยวะข้างเคียงเหมือนกับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
การผ่าตัดแบบส่องกล้องทางหน้าท้องทำให้แผลมีขนาดแผลเล็กมาก เจ็บน้อยกว่า และพักฟื้นได้ไวกว่า โดยส่วนใหญ่จะนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1-3 วัน และพักฟื้นตัวหลังผ่าตัดประมาณ 1สัปดาห์
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างปลอดภัยมากขึ้น โดยแพทย์จะแนะนำให้เตรียมตัวดังนี้
- ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะตรวจประเมินความเสี่ยงก่อนการผ่าตัดให้เรียบร้อย
- ควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดีขึ้น และลดโอกาสในการติดเชื้อหลังผ่าตัด
- งดการสูบบุหรี่อย่างน้อย 3-6 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เพราะนิโคตินในบุหรี่จะส่งผลกระทบต่อการหายของบาดแผล
- งดการใช้ยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าอย่างน้อย 7 วันก่อนการผ่าตัด เพื่อลดการเสียเลือดระหว่างผ่าตัด เช่น ยาแอสไพริน ยาวาร์ฟาริน หรือยาในกลุ่มระงับอาการปวด
- งดการใช้ยาสมุนไพร อาหารเสริม หรือวิตามินบางประเภท ที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น น้ำมันปลา โอเมก้า 3 น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส หรือโคเอนไซม์คิวเทน เป็นต้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
- งดรับประทานอาหารและดื่มน้ำก่อนผ่าตัด อย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักน้ำย่อย หรือเศษอาหารจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ปอดในระหว่างที่ได้รับยาระงับความรู้สึก
- หลังจากผ่าตัดแล้ว จะต้องนอนพักฟื้นต่อที่โรงพยาบาล ควรเตรียมเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นไปให้เรียบร้อย
การดูแลหลังผ่าตัด
หลังจากที่แพทย์อนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้แล้ว ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูได้เร็วขึ้น และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย ดังนี้
- ทำความสะอาดแผลตามที่แพทย์แนะนำ
- หากวัสดุที่ปิดแผลเป็นแบบกันน้ำ สามารถอาบน้ำได้ แต่หลีกเลี่ยงการนอนแช่อ่าง หรือแม่น้ำลำคลอง แต่ถ้าไม่ได้ปิดพลาสเตอร์กันน้ำ ห้ามให้แผลโดนน้ำโดยเด็ดขาด
- กินยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ และยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่ง
- งดการว่ายน้ำ แช่อ่างอาบน้ำ ออกกำลังกายหนัก ยกสิ่งของหนัก และขับรถ อย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังผ่าตัด หรือจนกว่าที่แพทย์สั่ง
- งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลจะหายดี ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ หรือตามที่แพทย์สั่ง
- หลังผ่าตัดแล้วจะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดอาการท้องผูก หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่าย ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และเน้นกินอาหารที่มีเส้นใยสูง
- หลังผ่าตัดแล้ว อาจจะยังมีเลือดออกจางๆ ได้ในช่วงเดือนแรก ถ้ามีเลือดออกมากเหมือนประจำเดือน หรือมีตกขาวที่มีกลิ่นเหม็น จะต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
- หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถช้าๆ และลุกเดินบ่อยๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดพังผืดในช่องท้องจากแผลผ่าตัด
- ในบางรายอาจมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ หงุดหงิด หรือใจสั่นได้ ซึ่งเกิดจากร่างกายขาดฮอร์โมนเพศหญิง หากมีอาการเหล่านี้สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาฮอร์โมนเพศหญิงทดแทนได้
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
การผ่าตัดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ดังนี้
- ความเสี่ยงทั่วไปที่พบได้จากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ แพ้ยาชา แพ้ยาสลบ อาการชา บวมช้ำ เลือดออก หรือเลือดคลั่ง
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาระงับความรู้สึก เช่น อาการคันตามตัว คันตามใบหน้า คลื่นไส้อาเจียน หรือท้องอืด โดยอาการจะเป็นมากในวันแรก หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นจนกลับเป็นปกติ
- หากมีอาการแผลอักเสบ บวมแดง ไข้สูง มีเลือดออกจำนวนมาก หรือหนองออกจากช่องคลอด ให้รีบมาพบแพทย์ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันนัดหมาย
- ในกรณีที่คนไข้อายุน้อยและมีความจำเป็นต้องผ่าตัดนำรังไข่ทั้งสองข้างออก คนไข้จะเข้าสู่ภาวะวัยทองก่อนกำหนด ทำให้ไม่มีประจำเดือน และอาจเกิดผลข้างเคียงจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง เช่น ร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน ผิวแห้ง ช่องคลอดแห้ง หรือมีภาวะกระดูกบางก่อนวัย จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ