ตัดชิ้นเนื้อตรวจช่องคลอด

รายละเอียด
รู้จักโรคนี้
โรคมะเร็งปากช่องคลอด (Vulva Cancer) คือ โรคมะเร็งที่เกิดในตำแหน่งผิวหนังปากช่องคลอด จัดเป็นโรคทางนรีเวชที่พบได้ยาก และมักไม่แสดงอาการผิดปกติในระยะแรก กระทั่งเมื่อเชื้อมะเร็งเริ่มลุกลามรุนแรงขึ้น ก็จะพบความผิดปกติและอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่าง เช่น
- พบก้อนเนื้อที่ปากช่องคลอด
- มีของเหลวอื่นหรือเลือดออกจากช่องคลอด แต่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน
- มีตกขาวมากและมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
- มีอาการคันระคายเคืองที่ปากช่องคลอดมากขึ้น
- เจ็บช่องคลอดผิดปกติระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น และอาจมีเลือดปนในปัสสาวะ
ระยะของโรคมะเร็งปากช่องคลอด
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่เชื้อมะเร็งเริ่มเติบโตแต่ยังจำกัดอยู่ที่ปากช่องคลอด
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่เชื้อมะเร็งเริ่มแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง เช่น ผนังช่องคลอด ท่อปัสสาวะ ทวารหนัก
- ระยะที่ 3 เชื้อมะเร็งลุกลามเข้าไปในอุ้งเชิงกรานและต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง
- ระยะที่ 4 เชื้อมะเร็งลุกลามไปยังด้านบนท่อปัสสาวะ ลำไส้ กระดูกเชิงกราน หรืออาจลุกลามไปถึงอวัยวะส่วนบน เช่น ปอด ตับ
สาเหตุที่ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคมะเร็งปากช่องคลอด
- การลุกลามของเชื้อมะเร็งจากตำแหน่งอื่นของอวัยวะสืบพันธุ์หญิง เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งที่มดลูก มะเร็งรังไข่ จัดเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากช่องคลอดที่พบได้บ่อยที่สุด
- การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น
- เชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus)
- เชื้อไวรัสเริม (Herpes Simplex Virus)
- เชื้อไวรัส HIV (Human Immunodeficiency Virus)
- อายุเข้าสู่ช่วงสูงวัย โดยหากอายุ 50-60 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปากช่องคลอดได้มากกว่า
- พฤติกรรมสูบบุหรี่
- ภาวะอักเสบหรือความผิดปกติที่ผิวช่องคลอด
- โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma)
สัญญาณที่ต้องตรวจ
- สีของปากช่องคลอดเปลี่ยนไป เช่น สีเข้ม มีรอยด่าง ผิวหนาหรือหยาบขึ้นผิดปกติ
- มีตกขาวมากหรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
- คันระคายเคืองหรือมีอาการแสบร้อนที่ผิวช่องคลอด
- มีเลือดที่ไม่ใช่ประจำเดือนไหลออกจากช่องคลอด
- มีอาการเจ็บผิดปกติระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- พบติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้อที่ปากช่องคลอด
หากพบความผิดปกติแม้เพียงอาการเดียว ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยทันที
ตรวจโรคนี้อย่างไรได้บ้าง
- ตรวจภายใน (Pelvic Exam) มีขั้นตอนหลักๆ คือ แพทย์จะสอดอุปกรณ์คล้ายกับปากเป็ดเพื่อเปิดพื้นที่ตั้งแต่ปากช่องคลอด ทำให้มองเห็นภาพของอวัยวะสืบพันธุ์ได้ชัดเจนขึ้น จากนั้นเริ่มตรวจหาร่องรอยที่เป็นสัญญาณโรคทางนรีเวช
- ส่องกล้องเยื่อบุผิวที่ปากช่องคลอด (Colposcopy) แพทย์จะทาสารละลายสำหรับตรวจหาความผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อลงไปที่ปากช่องคลอด แล้วรอประมาณ 1 นาที จากนั้นจะตรวจดูการเปลี่ยนของเนื้อเยื่อที่ปากช่องคลอดผ่านกล้องกำลังขยายสูง
- ตัดชิ้นเนื้อปากช่องคลอด (Vulva Biopsy) เป็นการตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อที่ปากช่องคลอดและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันการเกิดโรคมะเร็งปากช่องคลอดหรือโรคมะเร็งช่องคลอด มักทำร่วมกับการส่องกล้องดูเยื่อบุผิวที่ปากช่องคลอดในครั้งเดียวกัน
- ตรวจสแกนร่างกายเพิ่มเติม เช่น การตรวจ X-Ray การทำ CT Scan หรือการทำ MRI มักใช้ในกรณีที่แพทย์ตรวจพบรอยโรคมะเร็งปากช่องคลอดแล้ว แต่อยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจว่าเชื้อมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังบริเวณใกล้เคียงแล้วหรือยัง
รักษาโรคนี้ได้วิธีไหนบ้าง
การรักษาโรคมะเร็งปากช่องคลอดจะขึ้นอยู่กับระยะการแพร่กระจายของโรค
- การฉายรังสีรักษา (Radiation therapy) หรือที่นิยมเรียกว่า “การฉายแสง” เป็นการใช้พลังงานรังสีสูงเข้าทำลายสารพันธุกรรมภายในเซลล์มะเร็ง ให้เซลล์มะเร็งตายและหยุดการเจริญเติบโต
- การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการใช้ยาสำหรับรักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะเข้าไปทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
- การผ่าตัด (Surgery) เพื่อกำจัดก้อนมะเร็งออกจากปากช่องคลอด อาจเป็นการตัดออกบางส่วน ตัดออกทั้งหมดร่วมกับตัดต่อมน้ำเหลือง หรือหากเชื้อมะเร็งลุกลามไปทั่วอวัยวะสืบพันธุ์ ก็อาจเป็นการตัดก้อนมะเร็งออกทั้งหมดร่วมกับตัดมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ หรืออวัยวะส่วนที่มะเร็งลุกลามออกไปทั้งหมดด้วย
สัญญาณที่ต้องผ่าตัด
หากแพทย์ตรวจภายในหรือตรวจส่องกล้องและพบความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่ปากช่องคลอด หรือสอบถามอาการผิดปกติแล้วคนไข้มีอาการบ่งชี้ของโรคมะเร็งปากช่องคลอดหลายอย่าง แพทย์มักจะแนะนำให้คนไข้ตัดชิ้นเนื้อเยื่อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
รู้จักการผ่าตัดนี้
การตัดชิ้นเนื้อตรวจช่องคลอด (Vulva Biopsy) คือ การตัดเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณปากช่องคลอด เพื่อวินิจฉัยสัญญาณเกิดโรคมะเร็งปากช่องคลอด หรือความผิดปกติทางนรีเวชอื่นๆ มีขั้นตอนหลักๆ ดังต่อไปนี้
- คนไข้จะนอนหงายบนเตียงขาหยั่งเหมือนการตรวจภายใน
- แพทย์ทำความสะอาดผิวปากช่องคลอด
- ในกรณีที่มีการส่องกล้องดูเยื่อบุผิวที่ปากช่องคลอดด้วย แพทย์จะป้ายสารละลายหาความผิดปกติของเซลล์ก่อน จากนั้นใช้กล้องกำลังขยายสูงส่องดูการเปลี่ยนแปลงของผิวปากช่องคลอด
- แพทย์ฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความรู้สึก
- แพทย์ตัดเก็บเนื้อเยื่อชิ้นเล็กๆ ขนาดประมาณ 3-4 มม. จากปากช่องคลอดเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- แพทย์เย็บแผล โดยส่วนมากอยู่ที่ประมาณ 1-2 เข็มเพื่อหยุดเลือด ส่วนมากมักใช้ไหมละลาย
- ระยะเวลารอผลตรวจชิ้นเนื้อมักอยู่ที่ 7-10 วัน
การตัดชิ้นเนื้อตรวจช่องคลอด ใช้เวลากี่นาที
ประมาณ 50 นาที หลังจากนั้นคนไข้สามารถเดินทางกลับบ้านได้เลย
เปรียบเทียบการผ่าตัดวิธีต่างๆ
- ตัดชิ้นเนื้อตรวจช่องคลอด (Vulva Biopsy) เป็นการตัดชิ้นเนื้อเยื่อขนาดเล็กๆ จากปากช่องคลอด มีแผลขนาดเล็ก และนิยมใช้เพียงการฉีดยาชาเฉพาะที่ก่อนผ่าตัดเท่านั้น
- ตัดชิ้นเนื้อทั้งก้อน (Excisional Biopsy) เป็นการตัดเก็บเนื้อเยื่อที่ปากช่องคลอดทั้งหมด อาจรวมถึงก้อนเนื้อที่ตรวจพบทั้งก้อนด้วย เป็นการตรวจที่นิยมใช้ในกรณีที่รอยโรคที่ปากช่องคลอดมีขนาดเล็กมาก ยากต่อการตรวจวินิจฉัย แพทย์จึงจำเป็นต้องตัดเนื้อเยื่อทั้งหมดส่งตรวจเพื่อความแม่นยำในการหารอยโรค ในการตรวจรูปแบบนี้อาจใช้การวางยาสลบแทนการฉีดยาชา ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงภาวะสุขภาพทั้งหมด รวมถึงยาหรืออาหารเสริมที่กินเป็นประจําเพราะอาจมีผลต่อการห้ามเลือด แพทย์อาจให้หยุดยาหรืออาหารเสริมบางอย่างล่วงหน้าประมาณ 3-7 วัน
- กินอาหารได้ตามปกติ ไม่มีข้อห้าม
- อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายและช่องคลอดให้สะอาดก่อน
- แพทย์อาจแนะนำให้กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน ประมาณ 30-60 นาทีก่อนการตรวจ เพื่อลดอาการระคายเคืองระหว่างการตรวจ
- โกนขนหรือตัดขนบริเวณปากช่องคลอดตามคำแนะนำของแพทย์
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ถอดเปลี่ยนได้ง่าย
- งดใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือครีมบำรุงผิวบริเวณปากช่องคลอดอย่างน้อย 3 วันก่อนการตรวจ
การดูแลหลังผ่าตัด
- สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องพักฟื้นอยู่บ้าน
- สามารถอาบน้ำและทำความสะอาดช่องคลอดได้ทันที
- หมั่นรักษาช่องคลอดให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ
- งดถูหรือขัดช่องคลอดแรงๆ
- ล้างแผลด้วยน้ำอุ่นเพื่อให้แผลสมานเร็วขึ้นและลดโอกาสติดเชื้อ
- 2-3 วันแรกให้งดทำกิจกรรมที่ทำให้ปากช่องคลอดได้รับแรงเสียดสีหรือกระทบกระเทือน เช่น การยกของหนัก การออกกำลังกาย การขี่จักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์ หรือขี่ม้า การมีเพศสัมพันธ์
- เดินทางมาฟังผลตรวจกับแพทย์ตามนัดหมาย
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- มีเลือดไหลออกจากปากช่องคลอดไม่หยุด
- มีไข้สูง มีอาการหนาวสั่น
- ปากช่องคลอดบวมแดงมากขึ้น
- ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็นหรือมีของเหลวมีกลิ่นเหม็นไหลออกมา
- ปวดเจ็บปากช่องคลอดมาก กินยาแก้ปวดแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น
ถ้าเจออาการเหล่านี้ ให้รีบกลับมาพบแพทย์โดยทันที
สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
พ.ต.ต.หญิง พญ. อุษาพรรณ รุ่งพิสุทธิพงษ์ (หมอป้อ)
HDcare
ข้อมูลของแพทย์
-2553 แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-2558 วุฒิบัตร สูติ-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
-2560 แพทย์ประจำบ้านต่อยอด สาขามะเร็งวิทยานรีเวช คณะแพทยศาสตร์
รามาธิบดี
ข้อมูลอื่นของแพทย์
-ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช ( มะเร็งนรีเวชวิทยา )

สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
นพ. ศรุฒก์ กิจอันเจริญ (หมอพร้อม)
สูตินรีแพทย์ ต่อยอด ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช
ข้อมูลของแพทย์
- ประกาศนียบัตรการผ่าตัดทางนรีเวชที่มีการบุกรุกน้อยขั้นสูง Pius Hospital, University of Oldenburg, Germany
-ประกาศนียบัตรจากวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย King Chulalongkorn Memorial Hospital
-ประกาศนียบัตรการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง Kurashiki Medical Center, Japan
-สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา, King Chulalongkorn Memorial Hospital

พญ. จุฑาภรณ์ อุทัยแสน (หมอโบ)
สูตินรีแพทย์ เฉพาะทาง มะเร็งวิทยานรีเวช ต่อยอด ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช
ข้อมูลของแพทย์
- แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- วุฒิบัตรสาขาสูตินรีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- วุฒิบัตรสาขามะเร็งนรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- อนุสาขามะเร็งวิทยานรีเวช โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
- ประกาศนียบัตรการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

สาขาหรือแผนกที่ให้บริการ
