ผ่าตัดซ่อมแซมกรวยไต รักษาภาวะกรวยไตตีบหรืออุดตัน (แบบส่องกล้อง)
ท่อไตอุดตัน รีบรักษาก่อนไตวาย อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
ผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็กประมาณ 1-1.5 ซม. ประมาณ 3 แผล
รายละเอียด
HDcare สรุปให้
ระบบทางเดินปัสสาวะสำคัญมาก เพราะช่วยขับของเสียที่เป็นของเหลวออกจากร่างกาย ถ้าอุดตันจะขับปัสสาวะออกไม่ได้ อาจทำให้ไตวายเฉียบพลัน
- ปวดที่สีข้างหรือหลัง
- คลื่นไส้อาเจียน
- มีไข้ หนาวสั่น
- ความดันโลหิตสูง
- ปัสสาวะได้น้อยลด ติดขัด หรือมีเลือดออก
- ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะบ่อย
ถ้ามีอาการผิดปกติอย่าปล่อยไว้ อาจรุนแรงถึงขั้นไตวาย
รีบปรึกษาแพทย์ของ HDcare โดยไม่มีค่าใช้จ่ายวันนี้
รู้จักโรคนี้
รู้จัก ไต อวัยวะสำคัญในระบบทางเดินปัสสาวะ
ไต เป็นอวัยวะรูปร่างคล้ายถั่วขนาดประมาณกำปั้น มีเป็นอยู่ ตำแหน่งอยู่ประมาณใต้ชายโครงเยื้องไปทางด้านหลัง มีส่วนประกอบสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่ ชั้นไขมันที่หุ้มภายนอก (Fatty layer) กรวยไต (Renal pelvis) และท่อไต
เมื่อเซลล์ไตกรองของเสียจากเลือดแล้ว ก็จะเก็บของเหลวไว้ในกรวยไตซึ่งมีลักษณะเป็นโพรงว่าง จากนั้นของเหลวจะเดินทางต่อไปทางท่อไตแล้วไปสะสมอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อกระเพาะปัสสาวะเต็ม ร่างกายจึงขับถ่ายของเหลวดังกล่าวออกทางท่อปัสสาวะ
การขับปัสสาวะออก เป็นการรักษาสมดุลของน้ำ เกลือ และแร่ธาตุต่างๆ ในเลือด ซึ่งสมดุลของสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ประสาท กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อในร่างกายทำงานอย่างปกติ
รอยต่อระหว่างกรวยไตกับท่อไตอุดตันได้อย่างไร?
กรวยไตกับท่อไตมีลักษณะกลวง เป็นทางไหลของของเสียในรูปแบบของเหลวที่ผ่านการกรองมาจากเซลล์ไต แต่บางคนอาจมีภาวะผิดปกติบางอย่างตั้งแต่กำเนิด เช่น มีท่อไตเกิน ซึ่งทำให้รอยต่อดังกล่าวอุดตัน
สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะรอยต่อระหว่างกรวยไตกับท่อไตอุดตัน ได้แก่
- เกิดรอยแผลเป็นในทางเดินปัสสาวะเนื่องจากโรคนิ่วในไต
- เป็นผลข้างเคียงมาจากการผ่าตัดทางเดินปัสสาวะครั้งก่อน
- เป็นผลข้างเคียงจากโรคมะเร็ง
- เป็นผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด
รอยต่อระหว่างกรวยไตกับท่อไตอุดตันแล้วไม่ผ่าตัด จะส่งผลอย่างไร?
การอุดตันที่รอยต่อระหว่างกรวยไตกับท่อไตส่งผลให้ของเสียจากไตระบายออกได้ไม่ดี หากไม่ได้รับการรักษา สามารถเกิดภาวะและอาการอื่นๆ ตามมาได้ เช่น
- อาการเจ็บที่สีข้างหรือในช่องท้อง
- เป็นกรวยไตอักเสบ
- เป็นนิ่วในไต
- ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- ความดันสูง
- ไตทำงานผิดปกติ
- ไตเสื่อม ไตวาย
สัญญาณที่ต้องตรวจ
การอุดตันของรอยต่อระหว่างกรวยไตกับท่อไตอาจทำให้เกิดอาการปวดบั้นเอว คลื่นไส้ อาเจียน หรือถ้าเป็นไม่มากอาจยังไม่พบความผิดปกติ
ตรวจโรคนี้อย่างไรได้บ้าง
- ซักประวัติ
- ตรวจอัลตร้าซาวด์
- เอกซเรย์ร่วมกับฉีดสารทึบรังสี
- ทำ CT Scan
- ตรวจ MRI
- ตรวจส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ
รู้จักการผ่าตัดนี้
การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อแก้ไขการอุดตันของรอยต่อระหว่างกรวยไตกับท่อไต
- การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อแก้ไขการอุดตันของรอยต่อระหว่างกรวยไตกับท่อไต โดยทั่วไปแล้วจะใช้วิธีระงับความรู้สึกด้วยการวางยาสลบ
- จากนั้นแพทย์จะเปิดแผลขนาด 1-1.5 เซนติเมตร จำนวน 3 แผล ที่ผิวหนังหน้าท้องคนไข้ แล้วใส่เครื่องมือผ่าตัดรวมทั้งกล้องกำลังขยายสูงขนาดเล็ก เข้าไปทางรอยเปิดเพื่อผ่าตัดแก้ไขการอุดตันของรอยต่อระหว่างกรวยไตกับท่อไต
- โดยแพทย์อาจทำการขยายหรือตัดส่วนที่อุดตันออก แล้วค่อยเย็บติดไตกับกรวยไตส่วนที่ดีเข้าด้วยกัน
- ขั้นตอนสุดท้ายของการผ่าตัด แพทย์จะใส่สายพลาสติกระบายปัสสาวะในท่อใต (Ureteral Stent) แล้วคาสายนี้ไว้ประมาณ 4 สัปดาห์เพื่อระบายของเหลวออกทางสีข้างของคนไข้
- ถ้าผลการตรวจติดตามหลังผ่าตัดพบว่าไม่มีอาการแทรกซ้อน แผลหายดี การอุดตันของรอยต่อระหว่างกรวยไตกับท่อไตฟื้นตัวได้ดี ไม่มีปัญหา แพทย์ก็จะนำสายระบายปัสสาวะออก
📍 การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อแก้ไขการอุดตันของรอยต่อระหว่างกรวยไตกับต่อไตใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง แพทย์มักแนะนำให้คนไข้พักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน แล้วจึงไปพักต่อที่บ้าน
📍 เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบดั้งเดิม หรือการผ่าตัดแบบเปิด การผ่าตัดแบบส่องกล้องช่วยลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัดลงได้มาก ระยะเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลก็สั้นกว่า คนไข้สามารถกลับเข้าทำงานหรือปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้รวดเร็วกว่าผ่าตัดแบบเปิด และทิ้งรอยแผลผ่าตัดขนาดเล็กกว่าด้วย
📍 12 สัปดาห์หลังผ่าตัดจะมีการตรวจทางไอโซโทปรังสี (Radio-isotope scan) เพื่อดูว่าไตคนไข้ฟื้นตัวดีแล้วหรือยัง คนไข้บางรายอาจต้องผ่าตัดซ้ำ ถ้ารอยต่อระหว่างกรวยไตกับท่อไตกลับมาตีบตันอีก
การดูแลหลังผ่าตัด
หลังผ่าตัดคนไข้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รับประทานยาให้ครบถ้วน เข้ารับการตรวจติดตามตามนัดหมาย
ควรค่อยๆ เคลื่อนไหวร่างกายเพื่อให้เลือดไหลเวียนและป้องกันข้อต่อติดแข็ง หลีกเลี่ยงการออกแรงหนักๆ ในช่วงผ่าตัดใหม่ๆ เพื่อไม่ให้กระเทือนบาดแผล
ส่วนใหญ่แล้วการพักฟื้นที่บ้านจะใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน ก่อนจะกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
อีกสิ่งที่ควรเฝ้าสังเกตคืออาการผิดปกติที่อาจบ่งบอกว่ามีการติดเชื้อหรือผลการผ่าตัดไม่เป็นไปตามแผน เช่น
- มีไข้ หนาวสั่น ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณแผลผ่าตัด
- มีเลือดหรือของเหลวไหลออกจากบาดแผลปริมาณมาก
- คลื่นไส้และอาเจียนไม่หยุด
- มีอาการปวดรุนแรง รับประทานยาแก้ปวดแล้วก็ไม่ดีขึ้น
- ปวดแสบขัดเวลาถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะลำบาก
- พบเลือดในปัสสาวะ
ถ้าพบอาการเหล่านี้ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อรวมกัน ควรติดต่อแพทย์ทันทีเพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง
กรวยไต ท่อไต เป็นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะอุดตันของรอยต่อกรวยไตกับท่อไตจึงอาจกระทบกระเทือนระบบการขับถ่ายของเสียและรักษาสมดุลแร่ธาตุในร่างกายได้
หากพบอาการผิดปกติที่บ่งชี้ว่าอาจมีภาวะดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ยิ่งตรวจพบเร็วตั้งแต่โรคยังไม่รุนแรง การรักษาก็ยิ่งมีประสิทธิภาพ และควรสอบถามแพทย์ถึงทางเลือกในการรักษา ข้อดี-ข้อเสีย ผลข้างเคียง ความเสี่ยง อัตราความสำเร็จ ค่าใช้จ่าย ของแต่ละวิธีให้ครบถ้วน เพื่อประกอบการตัดสินใจ
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อแก้ไขการอุดตันของรอยต่อระหว่างกรวยไตกับท่อไต
แม้การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อแก้ไขการอุดตันของรอยต่อระหว่างกรวยไตกับท่อไตจะค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็ยังอาจพบความยุ่งยากซับซ้อนระหว่างผ่าตัด หรือมีความเสี่ยงที่จะมีผลข้างเคียงขึ้นได้เป็นธรรมดาของการผ่าตัด
โดยอัตราเสี่ยงนั้นไม่ต่างจากการผ่าตัดแบบเปิด สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
- เลือดออกมากระหว่างผ่าตัด ตามปกติการผ่าตัดแบบส่องกล้องมักทำให้คนไข้เสียเลือดประมาณ 100 ซีซี และมักไม่ต้องมีการให้เลือด แต่ก็มีความเสี่ยงที่การผ่าตัดจะไปกระทบกระเทือนอวัยวะข้างเคียง หรือไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ ทำให้เสียดเลือดมากกว่าที่ควร
- ติดเชื้อ ตามปกติก่อนผ่าตัดจะมีกระบวนการปลอดเชื้อไว้แล้ว แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อได้ สาเหตุจากความผิดพลาดระหว่างผ่าตัด หรือการดูแลทำความสะอาดแผลหรือสายระบายท่อปัสสาวะไม่ดีพอ หรือความไม่เคร่งครัดในการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- เกิดความยุ่งยากซับซ้อนระหว่างผ่าตัด อาจส่งผลให้ต้องเปลี่ยนไปผ่าตัดแบบเปิดแทน