ผ่าตัดถุงน้ำในอัณฑะ
หลังผ่าตัด อาการปวดบวมจะหายไป
ไม่ส่งผลต่อการแข็งตัว สมรรถภาพทางเพศ หรือการมีบุตร
รายละเอียด
HDcare สรุปให้
โรคถุงน้ำในอัณฑะ (Hydrocele) ปล่อยทิ้งไว้อาจปวด บวม อักเสบ
- หลังผ่าตัด อาการปวดบวมจะหายไป
- ไม่ส่งผลกระทบต่อการแข็งตัว สมรรถภาพทางเพศ หรือการมีบุตร
รีบปรึกษาแพทย์ของ HDcare โดยไม่มีค่าใช้จ่ายวันนี้
เช็กให้ชัวร์ อัณฑะบวม อาจไม่ใช่แค่ถุงน้ำอัณฑะ แต่เป็นไส้เลื่อนขาหนีบ หรืออาจเป็นมะเร็งอัณฑะ
ทำนัดปรึกษาทีมแพทย์ของ HDcare วันนี้
คำถามที่พบบ่อย
ถุงน้ำที่อัณฑะ มีอาการอย่างไร?
เมื่อเกิดถุงน้ำที่อัณฑะ ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นก้อนถุงน้ำที่โตขึ้นที่ลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อจับจะพบว่าเป็นก้อนนิ่มๆ ในผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกไม่สบายตัวหรืออึดอัดจากก้อนถุงน้ำ แต่ในบางรายที่ก้อนถุงน้ำโตมากและเริ่มมีอาการแทรกซ้อน ก็อาจมีอาการเจ็บที่ลูกอัณฑะได้ด้วย
ถุงน้ำที่อัณฑะ เกิดจากอะไร
ในเด็กแรกเกิดบางรายอาจพบถุงน้ำที่อัณฑะตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งมักจะยุบตัวไปเองใน 1-2 ปีหลังคลอด ส่วนถุงน้ำที่อัณฑะซึ่งพบในผู้ใหญ่สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น อัณฑะได้รับบาดเจ็บ อัณฑะเกิดการติดเชื้อ อัณฑะมีการอักเสบ หรือเข้ารับการผ่าตัดที่อัณฑะจนทำให้ถุงหุ้มลูกอัณฑะปิดไม่สนิท ทำให้มีของเหลวไหลเข้าไปคั่งเป็นปริมาณมากจนเกิดเป็นถุงน้ำ
รู้จักโรคนี้
โรคถุงน้ำในอัณฑะ (Hydrocele) คือ ภาวะที่มีของเหลวสะสมอยู่ภายในถุงหุ้มลูกอัณฑะมากเกินไปและไม่สามารถระบายออกได้ จนเกิดเป็นถุงน้ำที่ลูกอัณฑะ ทำให้ลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งมีก้อนนุ่มที่มีขนาดใหญ่และไม่สามารถยุบหายได้เอง
ถุงน้ำในอัณฑะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด แต่มักทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัดหรือรำคาญในระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังเป็นโรคที่พบได้ตั้งแต่ในเด็กแรกเกิดไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยถุงน้ำที่อัณฑะ สามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่
1. ถุงน้ำที่อัณฑะชนิดมีรูเปิด (Communicated hydrocele) เกิดจากถุงหุ้มลูกอัณฑะมีช่องเปิดอยู่ ทำให้มีของเหลวจากในช่องท้องไหลเข้าไปภายในถุงหุ้มลูกอัณฑะมากเกินไปจนกลายเป็นถุงน้ำ
2. ถุงน้ำที่อัณฑะชนิดมีรูปิด (Non-communicating hydrocele) เกิดจากของเหลวที่คั่งอยู่ภายในถุงหุ้มลูกอัณฑะอยู่แล้ว แต่ไม่มีการดูดซึมออกจากร่างกายและตกค้างอยู่ข้างในจนปริมาณมากขึ้น และกลายเป็นถุงน้ำ
สัญญาณที่ต้องตรวจ
ลูกอัณฑะมีก้อนนิ่มหรือนูนบวมขึ้น พอนอนราบลงแล้วก้อนยุบตัว แต่ลุกขึ้นยืนก้อนจะกลับมาโตเหมือนเดิม
ตรวจโรคนี้อย่างไรได้บ้าง
การตรวจถุงน้ำที่อัณฑะตรวจได้หลายวิธีเพื่อแยกออกจากโรคอื่นๆ ที่มีอาการใกล้เคียงกัน เช่น โรคไส้เลื่อนขาหนีบ โรคมะเร็งอัณฑะ
- ซักประวัติ ตรวจร่างกาย มีทั้งการคลำและใช้ไฟฉายส่องถุงน้ำที่อัณฑะ โดยถุงน้ำจะโปร่งแสง เนื้อนิ่ม ดันกลับเข้าช่องท้องไม่ได้ คลำแล้วต้องแยกจากถุงอัณฑะได้
- แพทย์อาจให้ตรวจเลือดและปัสสาวะเพิ่มเพื่อหาความเสี่ยงการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์ที่อาจทำให้เกิดถุงน้ำที่อัณฑะได้
- ตรวจอัลตราซาวด์ลูกอัณฑะ เพื่อให้แน่ใจว่าภายในถุงน้ำหรือที่ลูกอัณฑะไม่มีก้อนเนื้อซึ่งเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งอัณฑะ
สัญญาณที่ต้องผ่าตัด
- อัณฑะบวมขึ้น
- มีอาการปวดอัณฑะ
รู้จักการผ่าตัดนี้
การผ่าตัดถุงน้ำที่อัณฑะ (Hydrocelectomy) คือ การผ่าตัดระบายของเหลวที่คั่งอยู่ข้างในถุงหุ้มลูกอัณฑะออก เพื่อให้ถุงน้ำที่โตบริเวณอัณฑะยุบตัวลง
การผ่าตัดระบายของเหลวออกจากถุงน้ำเป็นวิธีผ่าตัดมาตรฐานที่ใช้รักษาโรคถุงน้ำที่อัณฑะ แต่ในบางกรณีก็อาจผ่าตัดร่วมกับผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนที่ขาหนีบ (Inguinal Hernia) ในกรณีที่ตรวจพบรอยโรคไส้เลื่อนร่วมด้วย
ขั้นตอนการผ่าตัดถุงน้ำที่อัณฑะ
- ระงับความรู้สึกด้วยการบล็อกหลัง
- แพทย์เปิดแผลที่อัณฑะข้างที่ตรวจพบถุงน้ำเพื่อระบายของเหลวด้านในออก
- ตัดแต่งเนื้อเยื่อที่ถุงหุ้มลูกอัณฑะ จากนั้นกลับด้านเนื้อเยื่อเพื่อเย็บปิดแผล เพื่อไม่ให้มีของเหลวคั่งจนเกิดเป็นถุงน้ำซ้ำอีกในอนาคต
- แพทย์อาจส่งตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจหาความเสี่ยงโรคมะเร็งอัณฑะเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงในผู้เข้ารับบริการแต่ละท่าน
- ปิดแผลด้วยแผ่นหรือผ้าก๊อซปิดแผลชนิดกันน้ำ
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- แจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา รายการยาประจำตัว วิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิดกับแพทย์ล่วงหน้า
- งดยาและวิตามินเสริมบางชนิดล่วงหน้าประมาณ 7 วันหรือตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาละลายลิ่มเลือด
- งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนวันผ่าตัด
- งดน้ำและงดอาหารล่วงหน้า 6-8 ชั่วโมง
- งดใส่คอนแทคเลนส์ งดทาเล็บ งดใส่แว่นตา งดใส่ฟันปลอม
- ถอดอุปกรณ์ที่เจาะตามร่างกาย เช่น จิวจมูก จิวสะดือ จิวที่เจาะบริเวณอวัยวะเพศ รวมถึงถอดของมีค่าเก็บไว้ที่บ้านเสียก่อน
- พาญาติมาด้วยในวันผ่าตัดเพื่อช่วยพากลับบ้าน เนื่องจากหลังผ่าตัด ผู้เข้ารับบริการอาจยังมีอาการมึนเบลอจากฤทธิ์ยาสลบอยู่
- โกนขนบริเวณอวัยวะเพศให้เรียบร้อยเสียก่อน โดยควรโกนอย่างระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผล และงดใช้มีดโกนไฟฟ้าโกนบริเวณถุงอัณฑะ
- อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดก่อนเดินทางมาผ่าตัด
- ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องผ่าตัด
การดูแลหลังผ่าตัด
- ใน 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด ผู้เข้ารับบริการมักยังมีอาการอ่อนเพลียและง่วงนอนอยู่บ้าง ให้พักผ่อนมากๆ แพทย์อาจแนะนำให้หยุดงานประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่เสียก่อน
- หมั่นประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมในช่วง 2 วันแรก โดยหมั่นประคบเรื่อยๆ เป็นเวลาไม่เกิน 15 นาทีต่อครั้ง
- งดขับรถเองและงดคุมเครื่องจักรเองประมาณ 1 วันหรือจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- งดมีเพศสัมพันธ์ งดยกของหนัก งดออกกำลังกายหนักๆ งดการทำกิจกรรมที่อาจทำให้ลูกอัณฑะเสียดสีหรือได้รับแรงกระแทกจนแผลฉีกขาด เช่น การปั่นจักรยาน การขี่ม้า การเตะฟุตบอล เป็นเวลา 1 เดือน
- งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนกว่าแผลจะหายดี
- กินอาหารอ่อนๆ ในช่วงแรกก่อนตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ จากนั้นค่อยปรับมากินอาหารตามปกติ
- หมั่นดื่มน้ำให้มากๆ
- กินยาตามที่แพทย์จ่ายให้อย่างเคร่งครัด
- ห้ามเบ่งหรือกลั้นปัสสาวะ
- สวมกางเกงชั้นในที่ใส่สบายและระบายอากาศได้ดี ไม่ทำให้แผลอับชื้น
- หลังผ่านไป 1 วันหลังผ่าตัดหรือตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ สามารถอาบน้ำได้ แต่ห้ามให้แผลโดนน้ำ และงดถูสบู่รอบๆ แผ่นปิดแผล
- ห้ามถอดและอย่าให้แผ่นปิดแผลหรือผ้าก๊อซหลุดจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- แพทย์อาจมีการนัดให้กลับมาตรวจดูโอกาสเกิดถุงน้ำที่อัณฑะซ้ำเป็นระยะๆ
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
ผลข้างเคียงที่เป็นสัญญาณโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย และควรเดินทางไปพบแพทย์ทันทีเมื่อพบอาการ ได้แก่
- มีไข้สูง
- ปัสสาวะลำบากขึ้น
- แผลติดเชื้อ ซึ่งมักทำให้แผลบวมแดง มีกลิ่นเหม็น หรือมีของเหลวมีกลิ่นเหม็นคล้ายกับน้ำหนองไหลออกมาจากแผล
- มีอาการปวดเจ็บแผล และกินยาบรรเทาอาการจากแพทย์แล้ว แต่ยังไม่หายดี
สาขาศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ
นพ. อัสพล ตันตะราวงศา (หมออัส)
ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินปัสสาวะ รพ. รามาธิบดี
ข้อมูลของแพทย์
- แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒประสานมิตร
- แพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อมูลอื่นของแพทย์
- แพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ