ตัดชิ้นเนื้อตรวจปากมดลูก
เป็นการผ่าตัดเล็ก ทำในห้องตรวจ หลังทำเสร็จกลับบ้านได้เลย
สามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจและรักษาไปพร้อมๆ กันได้
รายละเอียด
รู้จักโรคนี้
มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cencer) คือ โรคมะเร็งที่เกิดบริเวณปากมดลูก ซึ่งเป็นปากทางเข้าสู่มดลูกและท่อนำไข่ เป็นหนึ่งในโรคที่เจอได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก
มะเร็งปากมดลูกในระยะแรกมักไม่แสดงอาการผิดปกติ จนเซลล์มะเร็งแพร่กระจายมากขึ้นจนทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น
- อ่อนเพลียง่ายขึ้น เบื่ออาหาร
- มีเลือดออกทางช่องคลอด แต่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน
- มีตกขาวมากขึ้น และมีกลิ่นเหม็น
- มีตกขาวปนเลือด
- ปวดท้องน้อยหรือปวดอุ้งเชิงกราน
- รู้สึกเจ็บช่องคลอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
- ประจำเดือนมามากหรือมานานผิดปกติ
ระยะของโรคมะเร็งปากมดลูก
- ระยะที่ 1: เซลล์มะเร็งยังอยู่ในปากมดลูกเท่านั้น
- ระยะที่ 2: เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังตัวมดลูกด้านบน หรือเนื้อเยื่อข้างปากมดลูก
- ระยะที่ 3: เซลล์มะเร็งกระจายไปยังพื้นที่เนื้อเยื่อข้างเคียงในบริเวณกว้างขึ้น เช่น ช่องคลอด ต่อมน้ำเหลือง เนื้อเยื่อภายในเชิงกราน และอาจไปกดทับท่อปัสสาวะด้วย
- ระยะที่ 4: เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น ปอด ตับ กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้
สาเหตุที่ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูก
- อายุที่มากขึ้น โรคมะเร็งปากมดลูกมักพบได้บ่อยในผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป
- การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) เชื้อไวรัส HIV (Human Immunodeficiency Virus) ซึ่งก็มักพบได้บ่อยในผู้ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
- มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะในผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
- การมีบุตรหลายคน
- พฤติกรรมสูบบุหรี่จัด
- ภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง
สัญญาณที่ต้องตรวจ
- ไม่จำเป็นต้องรอให้พบสัญญาณของโรคก่อน แต่ผู้หญิงทุกคนควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่เมื่ออายุเข้าเกณฑ์ ซึ่งจำแนกได้ดังต่อไปนี้
- ตรวจภายใน โดยตรวจได้ตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป และควรตรวจทุกปี
- ตรวจแปปสเมียร์ (Conventional Pap Smear) เพื่อหาเชื้อไวรัส HPV ตรวจได้ตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป หรือ 3 ปีหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลาใดมาถึงก่อน แต่เมื่ออายุได้ 30 ปี ควรตรวจทุกปี หลังจากนั้นหากผลตรวจเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปี สามารถเว้นระยะเป็นตรวจทุก 3 ปีได้
- หากพบสัญญาณผิดปกติเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ ให้รีบมาพบแพทย์โดยทันที เช่น
- มีตกขาวมากผิดปกติและมีกลิ่นเหม็น
- ปวดท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานมาก
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- มีเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน
ตรวจโรคนี้อย่างไรได้บ้าง
- ตรวจภายใน เป็นการตรวจหารอยโรคทางนรีเวชด้วยตาเปล่าและด้วยมือแพทย์ โดยแพทย์จะสอดคีมปากเป็ดเพื่อเปิดพื้นที่ปากช่องคลอด ทำให้มองเห็นช่องคลอดและปากมดลูกได้อย่างชัดเจน
- ตรวจแปปสเมียร์ (Conventional Pap Smear) เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV รวมถึงเพื่อตรวจหารอยโรคในระยะก่อนเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก และภาวะอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรีย โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือป้ายเก็บเซลล์เนื้อเยื่อจากปากมดลูก แล้วส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยทั่วไปจะตรวจพร้อมกับตรวจภายใน
- ตรวจตินเพร็พ (ThinPrep Pap Test) เป็นการตรวจที่พัฒนามาจากการตรวจแปปสเมียร์ แต่มีความแม่นยำกว่า โดยแพทย์จะใช้แปรงขนาดเล็กป้ายเก็บเซลล์เยื่อบุผิวจากปากมดลูก แล้วนำหัวแปรงไปแช่ในน้ำยารักษาสภาพเซลล์ ก่อนนำไปเข้าเครื่องปั่นแยกสิ่งปนเปื้อน และตรวจความผิดปกติของเซลล์ต่อไป
- ตรวจ HPV DNA เป็นการตรวจหาเชื้อ HPV เช่นกัน แต่ตรวจในระดับลึกถึงโมเลกุลของเซลล์ตัวอย่างเนื้อเยื่อ ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการหาสายพันธุ์เชื้อไวรัส HPV ได้ โดยสามารถเลือกตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์หรือตินเพร็พก็ได้
- การตรวจส่องกล้องปากมดลูก (Colposcopy) เป็นการป้ายสารละลายสำหรับตรวจหาความผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อที่ปากมดลูกร่วมกับใช้กล้องกำลังขยายสูง เพื่อส่องหาความผิดปกติของเซลล์ที่ทำปฏิกิริยากับสารละลาย
- การตัดชิ้นเนื้อตรวจปากมดลูก (Cervical Viopsy) เป็นการตัดเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อชิ้นเล็กๆ ที่ปากมดลูกและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหารอยโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มเติม โดยส่วนมากมักทำพร้อมกับการส่องกล้องปากมดลูก
- การตรวจสแกนร่างกายเพิ่มเติม เช่น การตรวจ X-Ray การทำ CT Scan หรือการทำ MRI ส่วนมากนิยมใช้ตรวจเพื่อยืนยันระยะของโรคมะเร็งปากมดลูก และตรวจดูการลุกลามของเชื้อมะเร็งที่อาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น
รักษาโรคนี้ได้วิธีไหนบ้าง
การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกจะขึ้นอยู่กับระยะการแพร่กระจายของโรค เช่น
- การฉายรังสีรักษา (Radiation therapy) หรือที่นิยมเรียกว่า “การฉายแสง” เป็นการใช้พลังงานรังสีสูงเข้าทำลายสารพันธุกรรมภายในเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งตายและหยุดการเจริญเติบโต นิยมใช้รักษาโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะที่ 3-4 โดยมักมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อควบคุมไม่ให้เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใกล้เคียงมากไปกว่านี้
- การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการใช้ยาสำหรับรักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะเข้าไปทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง นิยมใช้รักษาร่วมกับการฉายรังสีในผู้ป่วยระยะที่ 3-4
- การผ่าตัด (Surgery) เพื่อนำก้อนมะเร็ง รวมถึงเนื้อเยื่อปากมดลูก มดลูก รังไข่ หรืออวัยวะบริเวณใกล้เคียงที่ตรวจพบเซลล์มะเร็งออกทั้งหมด นิยมใช้รักษาในโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะที่ 1-2
สัญญาณที่ต้องผ่าตัด
การตัดชิ้นเนื้อตรวจปากมดลูกไม่นิยมใช้เป็นการตรวจคัดกรองแรกเพื่อหาสัญญาณโรคมะเร็งปากมดลูก แต่มักตรวจเมื่อแพทย์เห็นความผิดปกติจากการตรวจคัดกรองอื่นๆ แล้ว เช่น
- มีอาการผิดปกติที่เป็นอาการบ่งชี้ของโรคมะเร็งปากมดลูกอย่างชัดเจน เช่น ปวดท้องน้อยมาก มีเลือดออกจากช่องคลอดซึ่งไม่ใช่เลือดประจำเดือน มีตกขาวมากและมีกลิ่นเหม็น
- ตรวจภายใน และแพทย์พบรอยโรคที่เป็นสัญญาณของโรคมะเร็งปากมดลูก
- ตรวจแปปสเมียร์หรือตรวจตินเพร็พ และมีผลตรวจพบเชื้อ HPV
- ตรวจส่องกล้องดูปากมดลูก และพบการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อที่ปากมดลูก
รู้จักการผ่าตัดนี้
การตัดชิ้นเนื้อตรวจปากมดลูก (Cervical Biopsy) คือ การตัดเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก เพื่อวินิจฉัยสัญญาณเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก หรือความผิดปกติทางนรีเวชอื่นๆ เช่น หูดหรือติ่งเนื้อที่อวัยวะเพศ
ขั้นตอนการตัดชิ้นเนื้อตรวจปากมดลูก
- คนไข้นอนหงายบนเตียงขาหยั่งเหมือนการตรวจภายใน
- แพทย์ทำความสะอาดผิวปากช่องคลอด และสอดคีมปากเป็ดเข้าไปในปากช่องคลอด เพื่อให้เห็นปากมดลูกชัดเจน
- ถ้ามีการส่องกล้องดูเยื่อบุผิวที่ปากมดลูกด้วย แพทย์จะป้ายสารละลายหาความผิดปกติของเซลล์ก่อน จากนั้นใช้กล้องกำลังขยายสูงส่องดูการเปลี่ยนแปลงของผิวปากมดลูก
- แพทย์ฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความรู้สึก หรือในบางรายอาจใช้ยาสลบ
- แพทย์ตัดเก็บเนื้อเยื่อชิ้นเล็กๆ จากผิวปากมดลูก
- แพทย์เย็บปิดแผลด้วยไหมละลายหรืออาจเป็นการจี้ไฟฟ้าเพื่อห้ามเลือด
- ระยะเวลารอผลตรวจชิ้นเนื้อมักอยู่ที่ 1-2 สัปดาห์
การตัดชิ้นเนื้อตรวจปากมดลูก ใช้เวลากี่นาที
ประมาณ 30 นาที ขึ้นอยู่กับรูปแบบการตัดชิ้นเนื้อและกระบวนการตรวจอื่นๆ ที่แพทย์อาจเพิ่มเข้ามา หลังจากนั้นคนไข้สามารถเดินทางกลับบ้านได้เลย
เปรียบเทียบการผ่าตัดวิธีต่างๆ
การตัดชิ้นเนื้อตรวจปากมดลูกแบ่งออกได้ 3 รูปแบบ การเลือกรูปแบบในการตรวจคนไข้แต่ละราย จะขึ้นอยู่กับทั้งรูปร่าง ขนาด และตำแหน่งของรอยโรคที่ต้องการตรวจ
- ตัดชิ้นเนื้อแบบแผลเล็กด้วยอุปกรณ์เฉพาะ (Punch Biopsy) เป็นการใช้ใบมีด คีม หรือเครื่องเจาะผิวตัดเก็บเนื้อเยื่อที่ปากมดลูก
- ตัดชิ้นเนื้อแบบรูปกรวย (Cone Biopsy) เป็นการตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อรูปทรงกรวยเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังนิยมใช้เพื่อรักษาคนไข้ในระยะที่มีรอยโรคก่อนเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก เครื่องมือที่ใช้มักเป็นมีดผ่าตัด หัวยิงเลเซอร์ หรือห่วงไฟฟ้า (Loop Electrosurgical Excision Procedure: LEEP) และมักใช้การวางยาสลบมากกว่าฉีดยาชาเฉพาะที่
- ขูดเนื้อเยื่อปากมดลูก (Endocervical Curettage: ECC) เป็นอีกแนวทางเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อด้วยการใช้อุปกรณ์คล้ายกับช้อน (Curette) ขูดเก็บเนื้อเยื่อ แต่ส่วนมากจะเป็นเนื้อเยื่อที่คอมดลูก (Endocervical Canal) ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปอีก นิยมใช้ในการกรณีที่ตรวจโรคด้วยวิธีส่องกล้องดูเยื่อบุผิวแล้วรอยโรคยังอยู่ลึกเกินไป ทำให้ยังตรวจวินิจฉัยได้ไม่ชัดเจน
การตัดชิ้นเนื้อตรวจปากมดลูก Cervical Biopsy ทั้ง 3 รูปแบบ เป็นแนวทางการตัดเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคที่แพทย์นิยมใช้มากที่สุด ณ ปัจจุบัน เพียงแต่อาจมีวัตถุประสงค์ในการทำตรวจแตกต่างกันไป
ในคนไข้บางรายอาจเป็นตัดเก็บชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวินิจฉัยเท่านั้น แต่ในบางรายที่ตรวจเจอรอยโรคแล้ว ก็อาจเป็นการตัดเก็บชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยและรักษาไปพร้อมๆ กัน
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงภาวะสุขภาพทั้งหมด รวมถึงยาหรืออาหารเสริมที่กินเป็นประจําเพราะอาจมีผลต่อการผ่าตัด แพทย์อาจให้หยุดยาหรืออาหารเสริมบางอย่าง
- นัดหมายในช่วงหลังมีประจำเดือนประมาณ 1 สัปดาห์ เพราะเป็นช่วงที่แพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างที่ปากมดลูกได้อย่างชัดเจน
- งดมีเพศสัมพันธ์ 24 ชั่วโมงก่อนการตัดเก็บชิ้นเนื้อ
- งดสวนล้างช่องคลอด ผ้าอนามัยแบบสอด ครีมหรือยาที่ใช้บริเวณช่องคลอดล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนการตัดเก็บชิ้นเนื้อ
- แพทย์อาจแนะนำให้กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน ประมาณ 30 นาทีก่อนการตรวจ เพื่อลดอาการระคายเคืองระหว่างการตรวจ
- หากมีโอกาสตั้งครรภ์ หรือร่างกายมีสัญญาณคล้ายกับการตั้งครรภ์ แพทย์อาจให้ตรวจการตั้งครรภ์ก่อนเริ่มตัดเก็บชิ้นเนื้อ
- เตรียมผ้าอนามัยแบบแผ่นมาด้วย เนื่องจากหลังตัดเก็บชิ้นเนื้อ คนไข้จะมีเลือดไหลจากช่องคลอดได้
การดูแลหลังผ่าตัด
- หลังตัดชิ้นเนื้อเสร็จ แพทย์จะให้คนไข้นอนสังเกตอาการข้างเคียงและรอให้เลือดหยุดไหลในห้องพักฟื้นก่อน จากนั้นหากไม่มีสัญญาณภาวะแทรกซ้อน ก็สามารถกลับบ้านได้
- กินยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้ ส่วนมากจะประกอบไปด้วยยาแก้ปวด และยาห้ามเลือด
- ใส่ผ้าอนามัยในช่วง 1 สัปดาห์แรก เนื่องจากอาจยังมีเลือดไหลจากช่องคลอดได้บ้าง
- งดยกของหนัก งดออกกำลังกายหนักๆ 1-2 สัปดาห์
- งดมีเพศสัมพันธ์ งดใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ลดสวนล้างช่องคลอด 1-2 สัปดาห์
- ในกรณีที่ตัดชิ้นเนื้อแบบรูปกรวย ต้องงดยกของหนัก งดทำกิจกรรมและกิจวัตรทุกชนิดที่ต้องมีสิ่งสอดเข้าไปในช่องคลอดและปากมดลูกจนกว่าแผลจะหายดี 2-3 สัปดาห์
- ภาพรวมระยะเวลาพักฟื้นทั้งหมด ทั้งอาการเลือดไหล อาการปวดเกร็งช่องคลอดหลังตัดชิ้นเนื้อจะหายดีขึ้นภายใน 4-6 สัปดาห์
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- อาการเลือดไหลจากช่องคลอด สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังตัดเก็บชิ้นเนื้อ ให้ใส่ผ้าอนามัยและกินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายให้
- หลังเลือดหยุดไหล อาจมีของเหลวสีเข้มหรือสะเก็ดเลือดไหลจากช่องคลอดได้อยู่บ้าง แต่จะพบได้เพียง 2-3 วันเท่านั้น
- ปวดตึงและเจ็บระบมที่ช่องคลอด จัดเป็นอาการที่พบได้ปกติเช่นกัน
- การตัดชิ้นเนื้อแบบรูปกรวย อาจทำให้ประจำเดือนรอบถัดไปมามากกว่าปกติได้
- อาการแผลติดเชื้อ มีโอกาสเกิดต่ำ ส่วนมากพบได้บ่อยในการตัดชิ้นเนื้อแบบรูปกรวย
- ภาวะแท้งบุตร แต่มีโอกาสเกิดค่อนข้างต่ำเช่นกัน มักพบในกรณีตัดชิ้นเนื้อแบบรูปกรวย
- สัญญาณอาการแทรกซ้อนที่ต้องกลับมาพบแพทย์ทันทีได้แก่ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง เลือดไหลมากผิดปกติ ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น หรือมีตกขาวมากผิดปกติ
สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
ผศ.นพ. เกรียงศักดิ์ ศิริศักดิ์พาณิชย์ (หมอเล็ก)
HDcare
ข้อมูลของแพทย์
- 2534 แพทยศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
- 2540 สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลค่ายจิระประวัติ นครสวรรค์
- 2541 สูติศาสตร์ นรีเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
- 2556 Certificate of Urogynecology Department of Obstetrics and Gynecology, Chang Gung Memorial Hospital (Taiwan)
- 2557 Certificate of International Fellowship Program in the Department of Urogynecology, Kameda Medical Center (Japan)
ข้อมูลอื่นของแพทย์
- สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดส่องกล้อง
- โรคและหัตถการที่ชำนาญ สูตินรีเวชทั่วไป, โรคนรีเวชทางเดินปัสสาวะ, กระบังลมหย่อน (มดลูกหย่อน), การควบคุมปัสสาวะผิดปกติ, ปัสสาวะเล็ด, ผ่าตัดโรคกระบังลมหย่อน, ผ่านทางหน้าท้องด้วยวิธีส่องกล้อง, ผ่าตัดรักษาโรคกระบังลมหย่อนทางช่องคลอดโดยการใช้ตาข่ายช่วยยึด, ผ่าตัดโรคปัสสาวะเล็ดโดยการใช้ตาข่ายยกท่อปัสสาวะ
สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
ผศ.พญ. พัทยา เฮงรัศมี (หมอไต๊)
HDcare
ข้อมูลของแพทย์
- 2542 แพทย์ศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล
- 2543 แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- 2548 วุฒิบัตร สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล
- 2548 แพทย์ประจำบ้าน สาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- 2552 Fellowship Training in Gynecology Endoscopy and Urogynecology, Monash Medical Centre (Australia)
- 2558 Fellowship Training in Advanced Laparoscopic Surgery, Centre for Advanced Reproductive Endosurgery, (Australia)
ข้อมูลอื่นของแพทย์
-แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน สูติ/นรีเวช และ นรีเวชทางเดินปัสสาวะ
-หัตถการที่ชำนาญ: ผ่าตัดรักษาปัสสาวะเล็ดด้วยการใส่เทปพยุงใต้ท่อปัสสาวะ, ผ่าตัดแก้ไขภาวะหย่อนของส่วนยอดช่องคลอดโดยการส่องกล้องทางหน้าท้อง, ผ่าตัดแก้ไขผนังช่องคลอด, ผ่าตัดแก้ไขภาวะหย่อนของส่วนยอดช่องคลอดผ่านทางช่องคลอด, ผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้องเพื่อเลาะตัดรอยโรคช็อกโกแลตซีสต์ชนิดกินลึก
-สมาชิกแพทยสภา
-ราชวิทยาลัยสูติ/นรีแพทย์แห่งประเทศไทย
-ชมรมนรีแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องแห่งประเทศไทย
-ชมรมนรีแพทย์ทางเดินปัสสาวะแห่งประเทศไทย
สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา