รักษาเส้นเลือดฟอกไตตีบ ด้วยการทำบอลลูน
รายละเอียด
HDcare สรุปให้
ผู้ที่เป็นไตวายเรื้อรังและต้องฟอกเลือดล้างไตตลอดชีวิตจะต้องทำเส้นฟอกไต ซึ่งจะช่วยนำเลือดออกจากร่างกายไปฟอกที่เครื่องไตเทียม เพื่อล้างของเสียแทนไตเดิม
การทำเส้นฟอกไตจะช่วยให้ฟอกไตได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องมีสายคาอยู่ที่คอหรือขาเวลาล้างไต ลดอาการเจ็บแผล ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และลดความเสี่ยงเส้นเลือดดำที่คอและช่องอกตีบตันอีกด้วย
ทำเส้นฟอกไตกับคุณหมอศัลยกรรมหลอดเลือดของ HDcare
คุณหมอจะเลือกทำเส้นฟอกไตแบบใช้เส้นเลือดจริง (AVF, Arteriovenous Fistula) ก่อน เพราะเป็นวิธีที่นอกจากจะใช้งานได้นานที่สุดประมาณ 4-5 ปีแล้ว ยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและติดเชื้อน้อยที่สุดอีกด้วย
ถ้าเส้นเลือดของคุณทำเส้นฟอกไตแบบใช้เส้นเลือดจริงไม่ได้ แพทย์จึงจะทำเส้นฟอกไตแบบใช้เส้นเลือดเทียม (AVG, Arteriovenous Graft) ที่มีอายุการใช้งานสั้นกว่าเฉลี่ยประมาณ 2 ปีและมีราคาสูงกว่า
คุณเหมาะกับแบบไหน? ปรึกษาคุณหมอ HDcare วันนี้ ไม่มีค่าใช้จ่าย
ผ่าตัดเล็ก แป๊บเดียวก็เสร็จ
คุณหมอจะผ่าตัดทำเส้นฟอกไตบริเวณข้อมือหรือข้อพับข้างที่ไม่ถนัด โดยจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง คุณจะได้ยาชาลดอาการปวดและสามารถกลับบ้านได้เลยหลังผ่าตัด ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
คำถามที่พบบ่อย
เส้นเลือดฟอกไตตีบ เกิดจากอะไร?
ส้นฟอกไตตีบ เกิดจากเส้นเลือดฟอกไตเสื่อมสภาพ โดยอาจเสื่อมเองจากอายุการใช้งาน หรือเสื่อมจากการติดเชื้อ แม้ผู้ป่วยโรคไตจะรักษาเส้นฟอกไตเป็นอย่างดี แต่เส้นฟอกไตก็ยังอาจตีบตันได้
เวลาเส้นเลือดตีบ มันตีบตรงไหน?
การตีบตันของเส้นเลือดฟอกไตอาจเกิดตรงที่เชื่อมกันระหว่างเส้นเลือดแดงกับเส้นเลือดดำ หรือบริเวณใดของเส้นเลือดดำก็ได้
รู้จักโรคนี้
เส้นเลือดฟอกไตตีบเกิดในคนไข้ไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยเครื่องไตเทียมจะช่วยกรองของเสียจากเลือดของคนไข้ และส่งเลือดที่กรองแล้วกลับเข้าสู่ร่างกาย
การใช้เครื่องไตเทียมหรือที่เรียกกันว่าเครื่องฟอกไต จะต้องทำทางให้เลือดเข้าและออกจากร่างกายคนไข้ไปยังเครื่องฟอกไต โดยส่วนใหญ่จะทำที่แขน
ทางให้เลือดเข้าออกดังกล่าวเรียกว่า เส้นเลือดฟอกไตหรือเส้นฟอกไต ทำได้ 2 เทคนิค ได้แก่
1. AVF (Arteriovenous Fistula)
เป็นการผ่าตัดเส้นเลือดของคนไข้แล้วเชื่อมเส้นเสือดแดงเข้ากับหลอดเลือดดำ จะทำให้ได้หลอดเลือดที่แข็งแรง หนา และใหญ่ สำหรับเปิดเชื่อมกับเครื่องฟอกไต
ตามปกติแล้วการทำเส้นเลือดฟอกไตแบบ AVF จะมีภาวะแทรกซ้อนต่ำ โอกาสติดเชื้อน้อย มีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี ซึ่งถือว่ายาวนานกว่าเส้นเลือดฟอกไตแบบอื่น
2. AVBG (Arteriovenous Bridge Graft)
เป็นการเชื่อมเส้นเลือดแดงกับเส้นเลือดดำด้วยเส้นเลือดเทียม ข้อดีคือตัวเส้นเลือดเทียมนี้จะเป็นส่วนที่เชื่อมกับเครื่องฟอกไต คนไข้ไม่ต้องเชื่อมกับเส้นเลือดจริง
แต่การทำเส้นเลือดฟอกไตด้วยเส้นเลือดเทียมมีราคาสูง มีโอกาสติดเชื้อสูง และมีอายุการใช้งานสั้นกว่าเส้นฟอกไตแบบใช้เส้นเลือดจริง คืออยู่ที่ประมาณ 2 ปี
คนไข้ไตวายเรื้อรังมักต้องฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมสม่ำเสมอ สัปดาห์ละประมาณ 3 ครั้ง การที่ต้องใช้เข็มเปิดเส้นเลือดอยู่เรื่อยๆ เส้นเลือดจะพยายามสมานแผลตัวเอง พอทำซ้ำๆ จะเกิดการตีบตันที่เส้นเลือด ทำให้เลือดไหลออกเข้าสู่เครื่องไตเทียมได้น้อยลง การกำจัดของเสียออกจากเลือดก็มีประสิทธิภาพน้อยลง
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดเส้นเลือดฟอกไตตีบ เช่น ติดเชื้อ เส้นเลือดเสื่อมสภาพ
สัญญาณที่ต้องตรวจ
เส้นเลือดฟอกไต อาจเกิดการอุดตันได้เช็กง่ายๆ ด้วยตัวเอง
- ยกแขนข้างที่ทำเส้นฟอกไตให้สูงกว่าระดับหัวใจแล้วสังเกตเส้นเลือด ถ้าวางแขนต่ำกว่าหัวใจเส้นเลือดจะโป่งขึ้นเล็กน้อย แต่พอชูแขนระดับสูงกว่าหัวใจ เส้นเลือดควรจะยุบแฟบลงตามหลักการไหลเวียนเลือด แต่ถ้าเส้นเลือดโป่งค้างอยู่ ไม่ยุบตัว อาจมีการตีบตันเกิดขึ้น
- สังเกตการสั่นสะเทือน ลองใช้ฝ่ามือวางบนเส้นฟอกไต ตามปกติถ้าเลือดไหลเวียนได้ดี ไม่มีการอุดตัน จะรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนมากระทบ แต่ถ้าเส้นเลือดมีอาการตีบ แรงสั่นสะเทือนจะน้อยลง หรืออาจไม่พบแรงสั่นสะเทือนเลย
สัญญาณอื่นๆ ที่อาจเกิดจากเส้นเลือดฟอกไตตีบ
- ถ้าเคยฟังเสียงจากเส้นฟอกไตมาก่อน แล้วสังเกตว่าเสียงเบาลงจากที่เคยได้ยิน หรือมีความถี่ไม่ปกติ เช่น ฟังแล้วขาดหายเป็นช่วงๆ
- ระหว่างฟอกไตมีปริมาณเลือดไหลเข้าเครื่องไตเทียมน้อยลงกว่าที่เคย
- ความดันของเส้นเลือดขณะฟอกไตมีค่าสูงกว่าปกติ
- หลังฟอกไต เลือดที่ไหลออกจากเส้นฟอกไตหยุดยาก อาจต้องกดค้างไว้ 20-30 นาที เลือดจึงจะหยุด
ตรวจโรคนี้อย่างไรได้บ้าง
ถ้าสงสัยว่าอาจเส้นฟอกไตตีบ ควรรีบปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น คลำตรวจเส้นฟอกไต และอาจสั่งตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียดด้วยวิธีต่อไปนี้
- ตรวจอัลตราซาวด์ ช่วยให้ทราบว่าเลือดไหลออกจากเส้นฟอกไตปริมาณเท่าไหร่ มีเลือดไหลย้อนหรือไม่ และดูได้ว่ามีการตีบ-อุดตันของเส้นเลือดบริเวณไหน
- ฉีดสีร่วมกับทำ CT Scan ใช้ในกรณีที่ตรวจอัลตราซาวด์แล้วมองไม่เห็นการตีบ-อุดตันของเส้นเลือด เพราะอาจอยู่ลึกเกินไป
รักษาโรคนี้ได้วิธีไหนบ้าง
ถ้าเส้นเลือดฟอกไตตีบ วิธีรักษาที่ได้ผลคือขยายเส้นเลือดส่วนที่ตีบให้เลือดกลับมาไหลเวียนได้เหมือนเดิม
เมื่อก่อน การผ่าตัดรักษาเส้นเลือดฟอกไตตีบมีวิธีเดียวคือการผ่าตัดเปิดเส้นเลือด แล้วเข้าไปทำความสะอาด แก้ไข เส้นเลือดที่ตีบ
ปัจจุบันมีทางเลือกเพิ่มคือ รักษาเส้นเลือดฟอกไตตีบด้วยการทำบอลลูนขยายเส้นเลือดได้ เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก เจ็บน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด
สัญญาณที่ต้องผ่าตัด
ถ้าการตีบของเส้นเลือดมีผลต่อการฟอกไต การกรองของเสียออกจากเลือดได้ปริมาณน้อยกว่าที่วางแผนการรักษาไว้ คนไข้จำเป็นต้องผ่าตัดขยายเส้นเลือดฟอกไตตีบ
โดยแพทย์จะพิจารณารูปแบบของการผ่าตัดรักษาเส้นเลือดฟอกไตตีบจากตำแหน่ง ภาวะสุขภาพของคนไข้ และระยะของโรคไตวายเรื้อรังในแต่ละคน
รู้จักการผ่าตัดนี้
การรักษาเส้นเลือดฟอกไตตีบ ด้วยการทำบอลลูน (Percutaneous Balloon Venoplasty of AVF or AVG) เป็นการรักษาเส้นเลือดที่ตีบแคบด้วยการใช้แรงดันอากาศอัดเข้าไปในบอลลูน ทำให้เส้นเลือดบริเวณที่ตีบขยายตัวออก
ข้อดีของการผ่าตัดขยายหลอดเลือดฟอกไตตีบด้วยบอลลูน คือ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย เสียเลือดน้อย ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อต่ำ และฟื้นตัวเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบดั้งเดิมหรือผ่าตัดแบบเปิด และทำซ้ำได้ถ้าเกิดกรณีหลอดเลือดฟอกไตตีบซ้ำ
การผ่าตัดขยายหลอดเลือดฟอกไตตีบด้วยเทคนิคบอลลูนมีข้อจำกัดอยู่ คือ ถ้าหลอดเลือดตีบรุนแรง การรักษาอาจได้ผลไม่ 100% ทำให้ต้องคอยตรวจติดตามผลการรักษาเป็นระยะ และอาจต้องผ่าตัดแก้ไขเป็นครั้งๆ ไป
ขั้นตอนการทำบอลลูนที่เส้นเลือด
- ระงับความรู้สึกเฉพาะจุด
- แพทย์เปิดเส้นเลือดฟอกไตเป็นรูเล็กๆ แล้วใส่อุปกรณ์ลักษณะเป็นท่อเรียวเล็กขนาด 2 มม. มีบอลลูนขนาดเล็กติดอยู่เข้าไปทางเส้นเลือด
- จากนั้นแพทย์จะเอกซเรย์และฉีดสีเพื่อดูตำแหน่งเส้นเลือดฟอกไตตีบ
- แพทย์จะควบคุมให้บอลลูนพองออกที่ตำแหน่งเส้นเลือดตีบ บอลลูนจะดันเส้นเลือดที่ตีบให้ขยายออก
- หลังเอาบอลลูนออก ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อนสามารถกลับบ้านได้เลย
เปรียบเทียบการผ่าตัดวิธีต่างๆ
รักษาเส้นเลือดฟอกไตตีบ ด้วยการทำบอลลูน
- เป็นการเจาะเส้นเลือดเป็นรูเล็กๆ ไม่มีแผลผ่าตัดยาว
- โอกาสที่แผลติดเชื้อน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
- รักษาเส้นเลือดตีบได้หลายจุดจากการเจาะรูเปิดที่เดียว
รักษาเส้นเลือดฟอกไตตีบ ด้วยการเปิดเส้นเลือด
- เปิดแผลยาวเพื่อเข้าไปขยายเส้นเลือดส่วนที่ตีบ
- หากเกิดการตีบหลายจุด ต้องเปิดเส้นเลือดหลายจุด
- ใช้ระยะเวลานานในการผ่าตัด
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงภาวะสุขภาพทั้งหมด รวมถึงยาหรืออาหารเสริมที่กินเป็นประจําเพราะอาจมีผลต่อการผ่าตัด แพทย์อาจให้หยุดยาหรืออาหารเสริมบางอย่าง
- แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะมาใช้ก่อนผ่าตัด เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ
การดูแลหลังผ่าตัด
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงการใช้ยาหรืออาหารเสริมที่กินเป็นประจํา แพทย์อาจให้หยุดยาหรืออาหารเสริมบางอย่าง
- งดออกกำลังกายหรือยกของหนักประมาณ 1 สัปดาห์
- งดกิจกรรมที่ส่งผลต่อแรงดันเลือด เช่น แช่น้ำร้อน
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
การรักษาเส้นเลือดฟอกไตตีบ ด้วยการทำบอลลูนอาจเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นได้ แต่มีโอกาสค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตามการทำบอลลูนจะมีการฉีดสารทึบรังสี หรือที่มักเรียกกันว่า ฉีดสี เพื่อดูตำแหน่งหลอดเลือดที่ตีบ จึงอาจเกิดผลข้างเคียงจากสารทึบรังสีได้ เช่น
- รู้สึกคันยุบยิบเล็กน้อย
- การหายใจผิดปกติ
- ความดันเลือดผิดปกติ
แพทย์และพยาบาลจะคอยสังเกตอาการคนไข้ตลอดการผ่าตัดเพื่อให้ปลอดภัย แต่ถ้าคนไข้เคยมีประวัติแพ้สารทึบรังสีมาก่อน จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบตั้งแต่ก่อนผ่าตัด
อาการที่แสดงถึงปัญหาจากการผ่าตัด ได้แก่
- มีเลือดไหลออกจากบริเวณผ่าตัดมาก
- สังเกตว่าบริเวณผ่าตัดบวม เกิดรอยช้ำ
- รู้สึกชาที่แขนหรือขา
หากพบอาการผิดปกติ ให้รีบมาพบแพทย์ทันที
สาขาศัลยศาสตร์
นพ. วัชระ อัครชลานนท์ (หมอตี๋)
HDcare
ข้อมูลของแพทย์
- แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ศัลยศาสตร์ทั่วไป คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข้อมูลอื่นของแพทย์
- แพทย์เฉพาะทางด้านสาขาศัลยศาสตร์หลอดเลือด