HDmall สรุปให้
ปิด
ปิด
- หญิงตั้งครรภ์อาจไม่ได้มีความเสี่ยงติดโควิด-19 สูงกว่าคนทั่วไป อย่างที่เราๆ เข้าใจกัน หากมีการป้องกันตนเองอย่างถูกต้องตามที่หน่วยงานสาธารณสุข แนะนำ แต่หากคนท้องติดเชื้อโควิด-19 จะมีการดำเนินโรคเร็วและมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป
- ยิ่งหากคนท้องมีปัจจัยต่อไปนี้ ได้แก่ ติดเชื้อในช่วงไตรมาสที่ 3 อายุมาก มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความด้นโลหิตสูง มีโรคอ้วน มีภาวะครรภ์เป็นพิษ อาการดังกล่าวจะยิ่งมีความรุนแรงมากที่สุด
- หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ยังมีความเสี่ยงต่อครรภ์หลายอย่าง เช่น ครรภ์เป็นพิษ เลือดแข็งตัวผิดปกติ คลอดก่อนกำหนด
- หากคุณแม่ติดเชื้อในช่วงที่อายุครรภ์ยังน้อย โอกาสที่ทารกในครรภ์จะได้รับเชื้อนั้นน้อยมาก แตกต่างจากคุณแม่ใกล้คลอดที่หากติดเชื้อโควิด ทารกในครรภ์จะมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่าอีกทั้งจะทำให้อาการของแม่อยู่ในระดับรุนแรงได้
- เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือแอดไลน์ @hdcoth
ในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างรุนแรง ไม่ว่าที่ไหนก็อาจไม่ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อนี้แม้แต่ในบ้านของคุณเอง
นอกจากผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังซึ่งจัดเป็นกลุ่มเปราะบางที่เฝ้าระวังแล้ว ล่าสุดหน่วยงานสาธารณสุขยังได้จัดให้ “คนท้อง” หรือ “หญิงตั้งครรภ์” เป็นอีกกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน
เนื่องจากหากคนท้องติดโควิด-19 ขึ้นมา อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นมักมีความรุนแรงกว่าคนทั่วไป และหากไม่สามารถยับยั้งอาการเจ็บป่วยได้ทัน อาจนำมาซึ่งการเสียชีวิตของแม่ หรือลูกได้
ทำไมคนท้องจึงเสี่ยงป่วยโควิด-19 รุนแรงกว่าคนทั่วไป? มีวิธีดูแลตนเองอย่างไรในสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ HDmall.co.th จะเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่าย
คนท้องเสี่ยงป่วยโควิด-19 รุนแรงกว่าคนทั่วไป จริงหรือ?
หลายคนอาจเข้าใจกันว่า คนท้องจะมีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด หรือป่วยโควิด-19 ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ในอังกฤษ เผยว่า ผู้หญิงไม่ได้ติดเชื้อง่ายขึ้นขณะที่ตั้งครรภ์อยู่ เช่นเดียวกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยว่า
“หญิงตั้งครรภ์อาจไม่ได้มีความเสี่ยงติดโควิด-19 สูงกว่าคนทั่วไป อย่างที่เราๆ เข้าใจกัน หากมีการป้องกันตนเองอย่างถูกต้องตามที่หน่วยงานสาธารณสุขแนะนำ”
แต่สิ่งที่จะตามมาหากคนท้องติดเชื้อโควิด-19 คือ จะมีการดำเนินโรครวดเร็วและมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป ได้แก่ เสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยวิกฤตต้องรักษาในห้อง ICU เสี่ยงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ท่อหายใจ และเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ในกรณีนี้จะส่งผลเสียต่อลูกในครรภ์ด้วย
ยิ่งหากติดเชื้อในช่วงไตรมาสที่ 3 อาการดังกล่าวจะยิ่งมีความรุนแรงมากที่สุด
ทั้งนี้การดำเนินโรคเร็วและมีอาการรุนแรงจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน
ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ประเทศไทยมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อแล้วกว่า 581 ราย เสียชีวิต 9 ราย ทารกติดเชื้อ 40 รายและเสียชีวิตแล้ว 4 ราย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาหนทางยับยั้งไม่ให้ตัวเลขเหล่านี้มีแนวโน้มสูงขึ้นอีก (ข้อมูลเมื่อ 28 กรกฎาคม 2564)
คนท้องกลุ่มไหนเสี่ยงมีอาการโควิด-19 รุนแรงมาก?
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ในอังกฤษ พบว่า ราว 2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อโควิดระหว่างตั้งครรภ์มักไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น คัดจมูก มีไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ
แต่หากหญิงตั้งครรภ์ที่มีปัจจัยต่อไปนี้ จะเสี่ยงมีอาการโควิด-19 รุนแรง ได้มากยิ่งขึ้น
- มีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงตั้งครรภ์ที่เป็น “คุณแม่อายุมาก” หมายถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
- มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรืออ้วน
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
- มีภาวะครรภ์เป็นพิษ
- ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3
ความเสี่ยงต่อครรภ์ หากติดเชื้อโควิด-19 มีอะไรบ้าง?
หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ยังมีความเสี่ยงต่อครรภ์หลายอย่าง ได้แก่
- ครรภ์เป็นพิษ หากรุนแรงมากอาจทำให้เกิดการยุติการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ หรือแท้งได้
- เลือดแข็งตัวผิดปกติ หากรุนแรงมากอาจทำให้เกิดการยุติการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ หรือแท้งได้
- คลอดก่อนกำหนด (อายุครรภ์ก่อน 37 สัปดาห์) ข้อนี้ถือว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่อายุเท่ากัน อายุครรภ์เท่ากันที่สุขภาพแข็งแรง ไม่ติดเชื้อโควิด-19
เหตุที่มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้นั้น เนื่องมาจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 เสี่ยงมีอาการปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อสูงได้ง่าย
เมื่อเกิดอาการดังกล่าวจะทำให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และเกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำตามมา ทำให้แม่และทารกในครรภ์ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เสี่ยงการต่อคลอดก่อนกำหนดได้มากถึง 20%
ส่วนทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อโควิด นอกจากจะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดทำให้น้ำหนักตัวน้อยแล้ว อวัยวะบางส่วนยังอาจยังทำงานได้ไม่เต็มที่ เช่น ระบบหายใจ ทำให้ทารกเกิดภาวะตัวเหลืองต้องอยู่ในตู้อบหลังคลอด
หากแม่ติดโควิด ทารกในครรภ์จะติดเชื้อด้วยไหม?
แม้ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ยังไม่ทราบข้อสรุปที่แน่ชัด และยังไม่เคยพบว่า มีไวรัส (active virus) จากการตรวจตัวอย่างน้ำคร่ำภายในครรภ์แม่และตัวอย่างน้ำนมแม่
แต่จากการสำรวจทั่วโลกพบเชื้อโควิดในทารกแรกเกิดหลังคลอดเพียง 2%-5% จากทารกแรกเกิดทั่วโลก โดยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า “ทารกได้รับเชื้อช่วงระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด หรือหลังคลอดแล้ว”
อย่างไรก็ตามพบว่า หากคุณแม่ติดเชื้อในช่วงที่อายุครรภ์ยังน้อย โอกาสที่ทารกในครรภ์จะได้รับเชื้อนั้นน้อยมาก แตกต่างจากคุณแม่ใกล้คลอดที่หากติดเชื้อโควิด ทารกในครรภ์จะมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่าอีกทั้งจะทำให้อาการของแม่อยู่มีความรุนแรงได้
สิ่งสำคัญที่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรทำคือ เมื่อทราบว่า ตนเองติดโควิด-19 แล้ว อย่าตื่นเต้น ตกใจ เสียใจ วิตกกังวลไปต่างๆ นานาถึงเรื่องอาการของโรค ความเสี่ยงของลูกน้อยในครรภ์
แต่แนะนำให้รีบตั้งสติ แจ้งสามี ญาติ หรือบุคคลใกล้ชิด และติดต่อควรเข้ารับการรักษาในระบบสาธารณสุขโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ปัจจุบันมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดให้บริการข้อมูลข่าวสารทางไลน์ @thaibf โดยมีแพทย์และพยาบาลอาสาร่วมกันทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และหลังคลอด
หากสนใจเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สามารถ เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ที่นี่เลย หรือติดตามข่าวสารวัคซีนโควิดในไทยที่ไลน์ @hdcoth มีแอดมินใจดีคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง! แอดเลยไม่ต้องรอ
รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด
- วิธีการลงทะเบียนรับวัคซีนโควิดแอสตราเซเนกาผ่านหมอพร้อม โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน
- รวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิดหมอพร้อม
- วัคซีนโควิด 19 ซิโนแวค (Sinovac)
- วัคซีนโควิด 19 ไฟเซอร์ (Pfizer)
- วัคซีนโควิด 19 แอสตราเซเนก้า (Astrazeneca)
- วัคซีนโควิด 19 โมเดอร์นา (Moderna)
- วัคซีนโควิด 19 สปุตนิก วี (Sputnik-v)
- วัคซีนโควิด 19 โนวาแวกซ์ (Novavax)
- วัคซีนโควิด 19 จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson&Johnson)
ที่มาของข้อมูล
CDC, Pregnant People, At increased risk for severe illness from COVID-19 (https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/need-extra-precautions/pregnant-people.html), 27 July 2021.
WHO, Coronavirus disease (COVID-19): Pregnancy and childbirth (https://www.who.int/news-room/q-a-detail/coronavirus-disease-covid-19-pregnancy-and-childbirth#), 27 July 2021.
อ.นพ.ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์, โควิด-19 ทำลายปอดแม้ไม่มีอาการ (https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/โควิด-19-ทำลายปอดแม้ไม่มี/), 27 กรกฎาคม 2564.