ผ่าตัดเย็บหมอนรองกระดูกเข่าโดยการส่องกล้อง
รีบรักษาก่อนอาการลุกลามเป็นข้อเข่าเสื่อม
ผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก 0.5-1 ซม. พักฟื้นไม่นาน
รายละเอียด
HDcare สรุปให้
หมอนรองกระดูกเข่ามีเลือดมาเลี้ยงน้อย ถ้าฉีกขาดจะฟื้นตัวช้า และรองรับแรงกระแทกได้ไม่ดีเหมือนเดิม ข้อเข่าไม่มั่นคง เสี่ยงข้อเข่าเสื่อม
- ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน จะเย็บซ่อมไม่ได้ ต้องผ่าตัดแต่งหมอนรองกระดูกอย่างเดียว
- ผ่าตัดเย็บหมอนรองกระดูกเข่าด้วยการส่องกล้องไม่เอาชิ้นหมอนรองกระดูกออก ลดโอกาสเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม รวมถึงโรคข้ออักเสบในอนาคต
- ผ่าตัดส่องกล้อง แผลเล็ก 0.5-1 ซม. ต่างกับการผ่าตัดแบบเปิดที่จะมีขนาดแผลประมาณ 8-10 ซม. และมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้
ปวดเข่า เข่าบวม เหยียดหรืองอเข่าไม่ได้
รีบปรึกษาของ HDcare โดยไม่มีค่าใช้จ่ายวันนี้
สัญญาณที่ต้องตรวจ
- ปวดเข่า
- เข่าบวม
- เคลื่อนไหวและใช้งานเข่าได้ลำบากขึ้น
ถ้าพบหนึ่งในสามอาการเหล่านี้ให้รีบมาพบแพทย์ทันที เพราะการรักษาภาวะหมอนรองกระดูกฉีกช้าเกินไปอาจทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้
ตรวจโรคนี้อย่างไรได้บ้าง
- แพทย์ตรวจร่างกายและซักประวัติอาการเกี่ยวกับข้อเข่า
- ตรวจ X-Ray เพื่อช่วยแยกอาการผิดปกติอื่นๆ เกี่ยวกับกระดูกข้อเข่า
- ตรวจ MRI (Magnetic Resonance Imaging) เพื่อให้เห็นความผิดปกติภายในกระดูกเข่าได้อย่างละเอียด
รักษาโรคนี้ได้วิธีไหนบ้าง
รักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการ เหมาะกับรอยฉีกขาดที่หมอนรองกระดูกขนาดเล็กและอยู่ในโซนสีแดง และไม่มีอาการเข่าล็อคหรืออาการปวดเข่าที่รุนแรง เช่น
- งดใช้งานเข่าชั่วคราว รวมถึงเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด
- หมั่นประคบเย็นบ่อยๆ
- หมั่นยกขาสูงเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
- การกินยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ หรือยาคลายกล้ามเนื้อ
- ทำกายภาพบำบัดและออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงให้กระดูกข้อเข่า
รักษาโดยวิธีผ่าตัด เป็นการรักษาเพื่อสมานรอยฉีกขาดของหมอนรองกระดูกโดยตรง ปัจจุบันนิยมใช้อยู่ 3 เทคนิคคือ
- ผ่าตัดเย็บหมอนรองกระดูกข้อเข่าโดยการส่องกล้อง (Arthroscopic Meniscus Repair)
- ผ่าตัดเย็บหมอนรองกระดูกข้อเข่าโดยการผ่าตัดเปิดหัวเข่า (Open Meniscus Repair)
- ผ่าตัดนำชิ้นหมอนรองกระดูกข้อเข่าออกบางส่วน (Partial Meniscectomy)
- ผ่าตัดนำชิ้นหมอนรองกระดูกข้อเข่าออกทั้งหมด (Total Meniscectomy)
สัญญาณที่ต้องผ่าตัด
- รอยฉีกขาดที่หมอนรองกระดูกเข่าอยู่ในโซนสีแดงและมีขนาดใหญ่จนใช้วิธีรักษาแบบประคองอาการไม่ได้
- รอยฉีกขาดที่หมอนรองกระดูกข้อเข่าอยู่ในโซนสีขาว
- รักษาแบบประคองอาการแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือรุนแรงกว่าเดิม
- คนไข้มีอาการปวดหรือเจ็บเข่าอย่างรุนแรง
- ข้อเข่าติดล็อคมาก ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายลำบากขึ้น
- คนไข้เป็นนักกีฬาหรือมีกิจวัตรที่ต้องใช้งานกระดูกข้อเข่าเป็นประจำ จึงจำเป็นต้องฟื้นตัวอาการบาดเจ็บที่ข้อเข่าโดยเร็วที่สุด
รู้จักการผ่าตัดนี้
การผ่าตัดเย็บหมอนรองกระดูกเข่าด้วยการส่องกล้อง (Arthroscopic Meniscus Repair) คือ การผ่าตัดเพื่อเย็บรอยฉีกขาดที่หมอนรองกระดูกเข่าเข้าหากัน ผ่านเทคนิคการใช้กล้องผ่าตัดขนาดเล็ก (Arthroscope) เป็นตัวช่วยแพทย์ในการมองเห็นรอยฉีกขาดและเย็บรอยฉีกขาดดังกล่าว
ข้อดีของการผ่าตัดเย็บหมอนรองกระดูกเข่าโดยการส่องกล้อง
- แผลเล็กประมาณ 1 ซม. ไม่ต้องผ่าเปิดแผลขนาดใหญ่ที่เข่า
- ใช้เวลาพักฟื้นน้อย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหรือนอนพักที่โรงพยาบาลเพียง 1 คืนก็กลับบ้านได้
- โอกาสเจ็บแผลน้อยกว่า
- โอกาสติดเชื้อและเกิดผลข้างเคียงหลังผ่าตัดต่ำ
- ช่วยรักษาชิ้นหมอนรองกระดูกข้อเข่าส่วนที่ดีไว้ได้ ทำให้ยังคงมีเนื้อเยื่อไว้รองรับแรงกระแทกในระหว่างใช้งานข้อเข่า
ขั้นตอนการผ่าตัดเย็บหมอนรองกระดูกเข่าด้วยการส่องกล้อง
- ระงับความรู้สึกคนไข้ด้วยการบล็อกหลัง
- แพทย์เจาะรูเปิดแผลขนาดเล็กที่หัวเข่า 2 รู
- เติมสารของเหลวสำหรับฆ่าเชื้อเข้าไปในบริเวณข้อเข่า และล้างเลือดกับสิ่งสกปรกทำให้แพทย์มองเห็นภาพภายในข้อเข่าได้ชัดขึ้น
- สอดกล้องและอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าเกลาผิวหมอนรองกระดูกข้อเข่าส่วนที่มีรอยฉีกให้เรียบ ตามด้วยเย็บรอยฉีกขาดให้ติดเข้าหากัน
- ล้างข้อต่อให้เศษเนื้อเยื่อหลุดออกด้วยน้ำเกลือ
- เย็บปิดรูแผล
- ผ่าตัดเย็บหมอนรองกระดูกเข่าด้วยการส่องกล้องใช้เวลาประมาณ 1 ชม.
เปรียบเทียบการผ่าตัดวิธีต่างๆ
ผ่าตัดเย็บหมอนรองกระดูกเข่าโดยการส่องกล้อง
- เป็นการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง เพื่อเย็บรอยฉีกขาดที่หมอนรองกระดูกข้อเข่าเข้าหากัน
- ไม่เอาชิ้นหมอนรองกระดูกออก ลดโอกาสเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม รวมถึงโรคข้ออักเสบในอนาคต
- ส่วนใหญ่ผ่าตัดในคนที่มีรอยฉีกขาดที่หมอนรองกระดูกเข่าโซนสีแดง
ผ่าตัดเย็บหมอนรองกระดูกข้อเข่าโดยการผ่าตัดเปิดหัวเข่า
- เป็นการผ่าตัดเปิดแผลใหญ่ โดยจะมีขนาดแผลประมาณ 8-10 ซม.
- มีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นขนาดใหญ่หลังผ่าตัด
- ปัจจุบันไม่นิยมใช้ในการรักษามากนัก เนื่องจากทั้งแม่นยำน้อยและทำให้คนไข้เจ็บแผลได้มาก
ผ่าตัดนำชิ้นหมอนรองกระดูกข้อเข่าออกบางส่วน
- เป็นการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง เพื่อตัดนำหมอนรองกระดูกข้อเข่าส่วนที่ฉีกขาดออก
- ส่วนใหญ่ผ่าตัดในผู้ที่มีรอยฉีกขาดที่หมอนรองกระดูกข้อเข่าโซนสีขาว และมีขนาดไม่ใหญ่มาก
- ช่วยรักษาหมอนรองกระดูกข้อเข่าส่วนที่แข็งแรงไว้ได้ ช่วยลดโอกาสเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม รวมถึงโรคข้ออักเสบในอนาคต
ผ่าตัดนำชิ้นหมอนรองกระดูกข้อเข่าออกทั้งหมด
- เป็นการผ่าตัดเทคนิคส่องกล้อง เพื่อตัดนำหมอนรองกระดูกข้อเข่าออกทั้งหมด
- ส่วนใหญ่ผ่าตัดในคนที่มีรอยฉีกขาดที่หมอนรองกระดูกข้อเข่าโซนสีขาว และมีขนาดใหญ่
- แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัดปลูกถ่ายหมอนรองกระดูกข้อเข่า (Meniscus Transplant) โดยใช้เนื้อเยื่อส่วนอื่นจากร่างกายคนไข้ในการปลูกแทนที่หมอนรองกระดูกข้อเข่าที่นำออกไป
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงภาวะสุขภาพทั้งหมด รวมถึงยาหรืออาหารเสริมที่กินเป็นประจําเพราะอาจมีผลต่อการผ่าตัด แพทย์อาจให้หยุดยาหรืออาหารเสริมบางอย่าง
- งดอาหารและดื่มน้ำก่อนผ่าตัด อย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักน้ำย่อย หรือเศษอาหารจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ปอดในระหว่างดมยาสลบ
- งดการใช้ยา วิตามิน และสมุนไพรที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าอย่างน้อย 7 วันก่อนการผ่าตัด
- งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- งดโกนขนบริเวณหัวเข่า หรือโกนตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดรอยแผลที่เข่าซึ่งเสี่ยงทำให้เกิดอาการติดเชื้อหลังผ่าตัดได้
- หากมีตารางต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ควรเลื่อนไฟลท์บินออกไปอย่างน้อย 5 วันหลังผ่าตัด เพื่อลดโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากความดันในห้องโดยสาร
การดูแลหลังผ่าตัด
- หลังผ่าตัดสามารถลุกเดินได้เลย แต่ต้องใช้ไม้ค้ำช่วยในการเดินประมาณ 1-2 วันหรือตามการประเมินจากแพทย์
- หมั่นประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม
- หลังผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ แพทย์จะเริ่มการทำกายภาพบำบัด และออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งคนไข้จะต้องให้ความร่วมมือในการทำกายภาพบำบัดและออกกำลังกายที่บ้านด้วย
- งดขับรถเองประมาณ 2-3 สัปดาห์
- งดการทิ้งน้ำหนักลงที่ขาข้างที่ผ่าตัด งดออกกำลังกาย งดยกของหนัก และใช้ไม้เท้าช่วยในการเดินเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์
- ใส่ที่พยุงเข่าอย่างน้อย 6 สัปดาห์ แต่สามารถถอดเมื่อต้องการบริหารกล้ามเนื้อขาได้
- หากครบ 3 เดือน ไม่พบอาการผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อน คนไข้สามารถเริ่มกลับมาออกกำลังกายเบาๆ ได้ เช่น เดินจ็อกกิ้ง ว่ายน้ำ
- ระยะเวลาที่สมรรถภาพข้อเข่ากลับมาสมบูรณ์เต็มที่มักอยู่ที่ 4-6 เดือนขึ้นไป
- กลับมาตรวจแผลกับแพทย์ และเช็กสมรรถภาพกับนักกายภาพบำบัดตามนัดหมาย
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- ความเสี่ยงทั่วไปที่พบได้จากการผ่าตัด เช่น อาการเจ็บแผลใน 2-3 วันแรก การติดเชื้อ แพ้ยาชา แพ้ยาสลบ อาการชา บวมช้ำ เลือดออกที่แผล หรือแผลมีเลือดคลั่ง
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- ภาวะบาดเจ็บที่เส้นประสาทหรือหลอดเลือด
- ชิ้นส่วนเย็บหมอนรองกระดูกแบบละลายเอง (Sature anchor) หลุดและไหลไปบริเวณอื่นของข้อเข่า ในกรณีนี้อาจต้องผ่าตัดอีกครั้งเพื่อนำชิ้นส่วนดังกล่าวกลับไปไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม หรือนำออกจากกระดูกข้อเข่า
สาขาออร์โธปิดิกส์
นพ. ชานนท์ กนกวลีวงศ์ (หมอนนท์)
ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (หมอกระดูกและข้อ) เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์กีฬา
ข้อมูลของแพทย์
- 2555 แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- วุฒิบัตร ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์
- วุฒิบัตร ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ สาขาเวชศาสตร์การกีฬา
ข้อมูลอื่นของแพทย์
-ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์กีฬา