ขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและการดามขดลวด (PCI หรือ PTCA & Stent)
หลอดเลือดตีบแคบ อุดตัน แก้ไขไม่ทัน อันตรายถึงชีวิต
รีบรักษาก่อนจะสาย อาจหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
ขยายหลอดเลือดแล้วลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ
รายละเอียด
HDcare สรุปให้
การขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและดามขดลวด รักษาโรคอะไรได้บ้าง?
- ภาวะแข็งตัวของผนังหลอดเลือดแดง (Arteriosclerosis)
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน
- โรคหัวใจขาดเลือด
ทำนัดปรึกษาทีมแพทย์ของ HDcare วันนี้
5 สัญญาณหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน โรคอันตรายที่คนไทยเสียชีวิตมากถึง 7 หมื่นคน คิดเป็นชั่วโมงละ 8 คน **(ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปี 2565) **
- เจ็บแน่นหน้าอกตรงกลาง หายใจหอบ
- ปวดร้าวที่แขน คอ และไหล่
- เหงื่อออกท่วมตัว กระสับกระส่าย
- คลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น
- มักมีอาการตอนออกกำลังกายหนักหรือทำงานหนัก
วัยทำงานอายุ 25-59 ควรตรวจคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อหาความผิดปกติและรีบรักษา
ให้แอดมินแนะนำโปรตรวจคัดกรองวันนี้
**การรักษาไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องผ่าตัดเปิดแผลใหญ่ แค่เปิดแผลเล็กๆ ที่ขาหนีบหรือข้อมือ (ขึ้นกับตำแหน่งที่หลอดเลือดตีบตัน) **
- ใส่สายสวนเข้าไปแล้วใช้บอลลูนเบียดขยายคราบไขมันและหินปูนี่ผนังหลอดเลือด จากนั้นใส่ขดลวด (Stent) เพื่อให้หลอดเลือดเปิดกว้าง การไหลเวียนเลือดดีขึ้น
- ลดการโอกาสที่หลอดเลือดจะกลับมาตีบซ้ำ เพราะขดลวดเคลือบตัวยาที่ป้องกันเอาไว้
สัญญาณที่ต้องตรวจ
- เจ็บแน่นหน้าอกจนทนไม่ได้ เหมือนมีอะไรหนักๆ กดทับกลางหน้าอก หรือเจ็บจากหน้าอกขึ้นไปถึงคาง หรือเจ็บลงไปถึงแขนซ้าย
- เหนื่อยง่ายตอนออกแรง หายใจหอบ
- เหงื่อแตก ใจสั่น
- หมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้น
ตรวจโรคนี้อย่างไรได้บ้าง
- ตรวจร่างกายและการซักประวัติ เช่น ประวัติครอบครัว สูบบุหรี่ การออกกำลังกาย โรคประจำตัว ช่วยให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
- ตรวจเอกซเรย์ปอดและทรวงอก
- ตรวจระดับเอนไซม์กล้ามเนื้อหัวใจในเลือด
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
- ตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST)
- ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (ECHO)
- ทำ CT Scan
- สวนหัวใจหรือการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ
รักษาโรคนี้ได้วิธีไหนบ้าง
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ และเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น เลิกสูบบุหรี่ คุมอาหาร ออกกำลังกาย
- รักษาด้วยยา เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของลิ่มเลือด ยาขยายหลอดเลือด ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาลดไขมัน ยาควบคุมความดันโลหิต
สำหรับคนที่อายุ 30-40 ปี แพทย์อาจให้รักษาด้วยการกินยาลดไขมันหรือใส่ขดลวดบอลลูน ส่วนคนที่แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดมักจะมีเส้นเลือดตีบและอุดตันแล้วประมาณ 70% ขึ้นไป
การรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการผ่าตัดทำได้ 2 วิธี
1. การขยายด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด
2. การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจหรือบายพาสหัวใจ
สัญญาณที่ต้องผ่าตัด
- มีอาการแน่นหน้าอกบ่อยๆ จนไม่สามารถทำงานได้
- รู้สึกหายใจหอบเหนื่อย เหงื่อท่วม หมดแรง ใจสั่น หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม
- รู้สึกแน่นหน้าอกรุนแรง เหมือนมีของหนักมากดทับ
- มีอาการปวดร้าว หรือชาลงไปที่แขน ไหล่ กราม
- มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
- มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน และเรื้อรัง
- มีการตีบหลายตำแหน่งในหลอดเลือดหัวใจ
- มีการตีบซ้ำภายหลังการขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและการดามขดลวด
- เคยตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจคัดกรองอื่นๆ เช่น ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) หรือตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST)
รู้จักการผ่าตัดนี้
การขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและการดามขดลวด (Percutaneous Transluminal Angioplasty) บางคนอาจใช้คำเรียกในภาษาอังกฤษว่า Percutaneous Coronary Intervention (PCI) หรือ Percutaneous Transluminal Coronary Angioplasty (PTCA) and Stents ส่วนในภาษาไทยบางคนอาจเรียกว่าการสวนหัวใจและขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูน
การขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและการดามขดลวดเป็นวิธีรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยไม่ต้องผ่าตัดที่ช่วยป้องกันการตีบซ้ำของหลอดเลือกหัวใจได้ดี และมีความเสี่ยงต่ำ
ขั้นตอนการขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและการดามขดลวด
- ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณขาหนีบหรือข้อมือที่จะทำการสอดสายสวนหัวใจ
- วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกด้วยยาชาเฉพาะจุด
- แพทย์สอดสายสวนชนิดพิเศษเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ แล้วฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูว่าหลอดเลือดส่วนไหนที่ตีบแคบและรุนแรงแค่ไหน
- จากนั้นสอดสายสวนหัวใจที่มีบอลลูนติดปลายเข้าไปตรงจุดที่ตีบแคบ
- บอลลูนจะถูกทำให้ขยายตัวออกเพื่อเบียดคราบไขมันและหินปูนที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด
- แพทย์ใส่ขดลวด (Stent) เคลือบตัวยาที่ช่วยป้องกันการตีบซ้ำของหลอดเลือดหัวใจไว้ ซึ่งตัวยาจะค่อยๆ ถูกปล่อยออกมา และช่วยป้องกันการตีบซ้ำของหลอดเลือดหัวใจ
- บอลลูนจะถูกทำให้แฟบลง และเอาออกจากหลอดเลือด โดยที่ขดลวดจะยังคงอยู่ ช่วยให้หลอดเลือดเปิดกว้าง การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
- ค้างสายสวนเอาไว้ประมาณ 4 ชม. แล้วย้ายคนไข้มาสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด พอครบกำหนดก็ถอดสายสวนออกแล้วปิดแผลด้วยพลาสเตอร์เหนียว ถ้าใส่สายสวนทางข้อมือแพทย์จะใช้อุปกรณ์พิเศษรัดข้อมือเพื่อห้ามลวด
เปรียบเทียบการผ่าตัดวิธีต่างๆ
ขยายด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด
- ใส่สายสวนเข้าไปแล้วใช้บอลลูนเบียดขยายคราบไขมันและหินปูนี่ผนังหลอดเลือด จากนั้นใส่ขดลวด (Stent) เคลือบตัวยาที่ป้องกันการตีบซ้ำของหลอดเลือดหัวใจเอาไว้
ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจหรือบายพาสหัวใจ มี 2 วิธีคือ
- ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ แบบต้องใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (On Pump CABG) เพื่อหยุดการทำงานของหัวใจทั้งหมด
- ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ โดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Off – Pump CABG) หรือแบบไม่ต้องหยุดหัวใจ ใช้ปริมาณเลือดน้อยกว่า ระยะเวลาสั้นกว่าการผ่าตัดแบบหยุดหัวใจ
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษา และทำให้การรักษาเป็นไปอย่างปลอดภัยมากขึ้น โดยแพทย์จะแนะนำให้เตรียมตัวดังนี้
- เข้ารับการตรวจประเมินความเสี่ยงก่อนการผ่าตัดให้เรียบร้อย
- ควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดีขึ้น และลดโอกาสในการติดเชื้อหลังผ่าตัด
- งดการสูบบุหรี่อย่างน้อย 3-6 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เพราะนิโคตินในบุหรี่จะส่งผลกระทบต่อการหายของบาดแผล
- งดรับประทานอาหารและดื่มน้ำก่อนผ่าตัด อย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักน้ำย่อย หรือเศษอาหารจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ปอดในระหว่างที่ได้รับยาระงับความรู้สึก
- แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน หรือ โคลพิโดเกรล 5-7 วันก่อนเข้ารับการรักษา
- หากมียารับประทานเป็นประจำ จะต้องนำติดตัวมาให้แพทย์ดูด้วย
- หากมีประวัติแพ้ยา แพ้อาหารทะเล หรือมีภาวะเลือดออกง่าย หรือเลือดหยุดยาก จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า
- หากมีประวัติตรวจอื่นๆ เช่น ฟิล์มเอกซเรย์ปอดและหัวใจ ผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ผลตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) หรือผลตรวจคลื่นสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) ควรนำมาให้แพทย์ดูในขั้นตอนการซักประวัติสุขภาพด้วย
- หลังจากรักษาเสร็จแล้ว จะต้องนอนพักฟื้นต่อที่โรงพยาบาล 1-2 วัน จึงควรเตรียมเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นไปให้เรียบร้อย
การดูแลหลังผ่าตัด
หลังจากที่แพทย์อนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้แล้ว คนไข้จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูได้เร็วขึ้น และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย ดังนี้
- หลังจากที่แพทย์อนุญาตให้กลับมาพักฟื้นต่อที่บ้านแล้ว คนไข้สามารถใช้ชีวิตประจำวันและอาบน้ำได้ตามปกติ
- หลีกเลี่ยงการนั่งงอข้อสะโพกประมาณ 1 สัปดาห์
- งดออกกำลังกายหนัก ใช้แรงมาก หรือยกของหนัก 1 เดือนหลังทำการรักษา
- รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด (Clopidogrel) ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ และยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- จะต้องพกยาอมใต้ลิ้นติดตัวตลอดเวลา เมื่อเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกให้หยิบมาอมทันที โดยสามารถอมได้ทุกๆ 5 นาที แต่ถ้าอมติดต่อกัน 2 เม็ดแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์ทันที
- งดรับประทานอาหารเค็ม อาหารที่มีไขมันสูง ชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ควรเลิกสูบบุหรี่อย่างถาวร
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพยายามไม่เครียดจนเกินไป
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
การขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและการดามขดลวด อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ดังนี้
- ความเสี่ยงทั่วไปที่พบได้จากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ แพ้ยาชา แพ้ยาสลบ อาการชา บวมช้ำ เลือดออก หรือเลือดคลั่ง
- มีอาการปวดบริเวณที่ใช้สายสวนหัวใจ
- อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน (พบได้น้อยมาก) เช่น อาการแพ้สารทึบรังสี หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหลอดเลือดหัวใจหรือกล้ามเนื้อหัวใจทะลุระหว่างทำการสอดสายสวนหัวใจ หรือภาวะลิ่มเลือดไปอุดตันที่สมอง
สาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจ
พญ. กิตติมา กังวิวรรธน์ (หมอกิ๊ก)
ข้อมูลของแพทย์
-สาขาที่เชี่ยวชาญ: อายุรศาสตร์โรคหัวใจ