ป่วยโควิด-19 ทำไมเชื้อมักลงปอด?


ป่วยโควิด-19-เชื้อลงปอด-ปอดอักเสบ

HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • หากเชื้อมีปริมาณมาก เชื้อจะลงไปอยู่ในถุงลมปอดทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ (COVID-19 pneumonia) จากนั้นเชื้อไวรัสบริเวณถุงลมจะอุดกั้นการแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ของปอด ทำให้ประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนของปอดลดลง ร่างกายจึงไม่ได้รับออกซิเจนอย่างที่ควรจะเป็น
  • ทั้งนี้โดยปกติแล้วคนทั่วไปจะมีค่าออกซิเจนในเลือด (SpO2) อยู่ที่ 98-100% แต่ไม่ต่ำกว่า 95% แต่หากมีค่าออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 90% หมายถึงมีภาวะ ออกซิเจนในเลือดต่ำควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • อาการปอดอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่ ไอแล้วเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หายใจไม่ทัน หายใจเร็ว หอบเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน 
  • กลุ่มเสี่ยงที่หากได้รับเชื้อโควิด-19 แล้วจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อได้มากกว่าคนทั่วไปและมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีโรคเกี่ยวปอดเรื้อรังและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ผู้มีโรคอ้วน ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
  • เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือแอดไลน์ @hdmall.support

เชื้อโควิดลงปอด ปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบ เป็นพิษภัยที่น่ากลัวจากโรคโควิด-19 เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญของอาการป่วยรุนแรงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือใส่ท่อช่วยหายใจ และเป็นสาเหตุสำคัญในการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนไม่น้อย

เพราะอะไรเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ปอดจึงมีโอกาสเกิดการอักเสบ ติดเชื้อ? อาการปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อจากการป่วยโควิด-19 เป็นอย่างไร? ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง? หากมีอาการปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อแล้ว ควรทำอย่างไร? HDmall.co.th จะบอกเล่าให้ฟังแบบเข้าใจได้ง่ายดังนี้

ป่วยโควิด-19 ทำไมเชื้อต้องลงปอด ปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อ?

เมื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเดินทางอย่างรวดเร็วไปยังอวัยวะต่างๆ เริ่มตั้งแต่จมูก ลำคอ และแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ต่างๆ เมื่อเชื้อไวรัสเจริญเติบโตถึงระดับหนึ่ง พวกมันจะทำลายเซลล์นั้นลงแล้วแทรกซึมไปยังเซลล์ข้างเคียงต่อ

หากได้รับเชื้อปริมาณน้อย ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ แต่หากดูแลตนเองดีก็ยังสามารถหายเองได้ แต่บางรายก็อาจพบการอักเสบในปอดได้

แต่หากเชื้อมีปริมาณมาก เชื้อจะลงไปอยู่ในถุงลมของปอดทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ (COVID-19 pneumonia) ตามมา เนื่องจากเชื้อไวรัสที่อยู่บริเวณถุงลมจะอุดกั้นการแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งการลำเลียงออกซิเจนของปอด

นั่นทำให้ประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนของปอดลดลง เช่นเดียวกับการลำเลียงออกซิเจนของปอดก็ลดลงตามไปด้วย ร่างกายจึงไม่ได้รับออกซิเจนอย่างที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้โดยปกติแล้วคนทั่วไปจะมีค่าออกซิเจนในเลือด (SpO2) อยู่ที่ 98-100% แต่ไม่ต่ำกว่า 95% หากมีค่าออกซิเจนในเลือดอยู่ที่ 90-94% หมายถึง ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ จนเกิดภาวะพร่องออกซิเจนให้ระวังอาการผิดปกติ

แต่หากมีค่าออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 90% หมายถึง มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้อาการปอดอักเสบยังมีสาเหตุจากการที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อต้านเชื้อไวรัสและต่อต้านปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่ผิดปกติในร่างกาย กระบวนการนี้ส่งผลให้เนื้อปอดถูกทำลายซ้ำอีกและมีการอักเสบมากยิ่งขึ้น

อาการปอดอักเสบจะเกิดในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังติดเชื้อ และยังสามารถเกิดขึ้นได้มากกว่า 1 ตำแหน่ง โดยทั่วไปมักจะเกิดประมาณ 3-4 ตำแหน่ง รวมทั้งมักจะเกิดการอักเสบได้กับปอดทั้งสองข้าง

อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ ก็อาจพบอาการปอดอักเสบได้เช่นกัน

อาการปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อ จากการป่วยโควิด-19 เป็นอย่างไร?

อาการปอดอักเสบส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจน ทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วยลดต่ำลงไปด้วย มีอาการดังต่อไปนี้

  • ไอแล้วเหนื่อย
  • แน่นหน้าอก
  • หายใจไม่สะดวกขณะทำกิจกรรม
  • หายใจไม่ทัน
  • หายใจเร็ว
  • หอบเหนื่อยง่าย หากมีอาการปอดอักเสบมากอาจพูดได้เป็นคำๆ ไม่เป็นประโยค
  • อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ
  • ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ร่วมกับอาการหน้ามืดวิงเวียน

ผู้ที่มีอาการปอดอักเสบเหล่านี้จัดอยู่ใน “กลุ่มอาการสีเหลือง” แต่หากอาการปอดอักเสบเริ่มรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการต่อไปนี้

  • ปอดบวมแน่นหน้าอก
  • หายใจแล้วเจ็บหน้าอก
  • พูดติดขัด
  • ซึม เรียกไม่รุู้สึกตัว หรือตอบสนองช้า

อาการดังกล่าวจัดอยู่ “กลุ่มอาการสีแดง” ที่มีอาการหนัก ต้องได้รับการรักษาโดยด่วนที่สุด

เมื่อเนื้อปอดถูกทำลายจะทำให้เกิดแผลเป็นและเกิดพังผืดตามมา แต่หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมเร็วเท่าไหร่ ยิ่งทำให้อาการอักเสบลดลงได้มากเท่านั้น รวมทั้งปอดยังมีโอกาสฟื้นตัวได้มากยิ่งขึ้น

โดยทั่วไปจะมีผู้ป่วยโควิดราว 10%ที่มีโอกาสเป็นปอดอักเสบรุนแรง และอีก 1% ที่มีโอกาสเป็นปอดอักเสบรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ใครที่เสี่ยง โควิด-19 ลงปอด ปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อ?

พบว่า มีกลุ่มเสี่ยงที่หากได้รับเชื้อโควิด-19 แล้วจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อได้มากกว่าคนทั่วไปและมีอาการรุนแรง ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเริ่มมีความเสื่อมตามวัย รวมทั้งระดับภูมิต้านทานโรคที่ลดต่ำลง
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ชนิดที่ 1 ชนิดที่ 2 รวมทั้งโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 ขึ้นไป หรือผู้ที่รักษาด้วยการฟอกเลือด ผู้ป่วยที่เปลี่ยนถ่ายไต โรคมะเร็ง โรคตับ
  • ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับปอดเรื้อรังและโรคเกี่ยวกับระบบางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอักเสบเรื้อรัง โรคหลอดเลือดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็งปอด
  • ผู้มีโรคอ้วนชนิดรุนแรงซึ่งมีค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป ผู้ที่มีไขมันสะสมใต้ผิวหนัง หรือใต้ช่องท้องมาก
  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเอดส์
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยที่ผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ

กลุ่มเสี่ยงนี้หากมีอาการปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อ เชื้อไวรัสอาจทำลายปอดได้มากถึง 10-20% จนปอดอาจไม่ฟื้นตัวคืนกลับมา

หากมีอาการปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อจากโควิด-19 ควรทำอย่างไร?

หากสงสัยว่า ตนเอง หรือคนใกล้ชิดมีอาการใกล้เคียง หรือเข้าข่ายอาการปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจีะดับออกซิเจนในเลือด ร่วมกับตรวจวินิจฉัยอาการอื่นๆ และเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็ว ก่อนที่ปอดจะเสียหายมากขึ้น

โดยทั่วไปการรักษาอาการปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อจากโควิด-19 แพทย์จะให้ยาต้านไวรัส เพื่อหยุดยั้งไวรัสไม่ให้เจริญเติบโตเพิ่มและหยุดยั้งการทำลายเซลล์ปอดเพิ่มขึ้น รวมทั้งให้ยาต้านการอักเสบเพื่อลดการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย

ในผู้ป่วยที่เนื้อปอดถูกทำลายไปมากจนทำงานได้น้อยลงกว่าปกติ แพทย์อาจพิจารณาใช้เครื่องช่วยหายใจและใส่ท่อช่วยหายใจ เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในปอดและเลือดโดยไว

แต่หากเนื้อปอดถูกทำลายอย่างรุนแรงมากจนการใช้เครื่องช่วยหายใจและใส่ท่อช่วยหายใจไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาใช้เครื่อง ECMO (Extracorporeal Membrane Oxygenation) เพื่อช่วยนำเลือดจากร่างกายผู้ป่วยมาฟอกแล้วเติมออกซิเจนเข้าไป 

แล้วจึงนำเลือดที่มีออกซิเจนคืนกลับเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยอีกครั้ง เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยให้เร็วที่สุด

หากสนใจเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สามารถ เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ที่นี่เลย หรือติดตามข่าวสารวัคซีนโควิดในไทยที่ไลน์ @hdmall.support มีแอดมินใจดีคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง! แอดเลยไม่ต้องรอ

รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Panagis Galiatsatos, M.D., COVID-19 Lung Damage (https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/coronavirus/what-coronavirus-does-to-the-lungs), 21 July 2021.
  • อ.นพ.ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์, โควิด-19 ทำลายปอดแม้ไม่มีอาการ (https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/โควิด-19-ทำลายปอดแม้ไม่มี/), 21 กรกฎาคม 2564.
  • Jill Seladi-Schulman, PhD, What to Know About COVID-19 and Pneumonia (https://www.healthline.com/health/coronavirus-pneumonia), 21 July 2021.
  • WebMD, Coronavirus and Pneumonia (https://www.webmd.com/lung/covid-and-pneumonia#2), 21 July 2021.
@‌hdcoth line chat