ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
รายละเอียด
HDcare สรุปให้
ผ่าตัดข้อเข่าเทียมทำให้เข่ากลับมาแข็งแรง สามารถเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง
- รักษากระดูกอ่อนผิวข้อและเส้นเอ็นข้อเข่า และขาผิดรูปได้ในครั้งเดียว
- เห็นผลลัพธ์ในระยะยาวอย่างน้อย 10-15 ปีขึ้นไป
- เหมาะกับโรคข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง มีความเสื่อมหลายจุดหรือขาผิดรูป
ถ้าไม่ผ่าตัด อาจจะต้องทนกับอาการเหล่านี้
- ปวดเข่า ปวดแปล๊บ จนใช้ชีวิตได้ลำบาก
- ข้อเข่าอักเสบ เข่าบวมแดง
- ข้อเข่าผิดรูป เช่น ขาลีบ ขาโก่งงอ เข่าแอ่น เข่าเหยียด
- ข้อเข่าติด ตึง หรือฝืด โดยเฉพาะช่วงที่ตื่นนอนหรือ
อย่าทนปวดแล้วใช้ชีวิตแบบไม่มีความสุข
ทำนัดปรึกษาทีมแพทย์ของ HDcare วันนี้
สัญญาณที่ต้องตรวจ
- ในกรณีปวดเข่าแบบเป็นๆ หายๆ ยังสามารถรอสังเกตอาการไปก่อนได้ แต่หากปวดเข่าต่อเนื่องขึ้น และยิ่งปวดมากขึ้นเมื่อใช้งานหัวเข่าทำกิจกรรมต่างๆ ควรรีบมาพบแพทย์
- รู้สึกว่าเข่าทำให้เดินได้ไม่มั่นคง เดินตัวตรงไม่ได้
- รู้สึกเข่าฝืดติด ความยืดหยุ่นน้อยลง
- เข่าบวมแดง บางรายสามารถรู้สึกว่าเข่าอุ่นหรือร้อนขึ้นด้วย
- รู้สึกลักษณะเข่าผิดรูป ขาโก่งหรือแอ่น
หากมีอาการเหล่านี้แม้เพียงอาการเดียว คนไข้ควรเดินทางไปปรึกษาและตรวจหาสาเหตุกับแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ
ตรวจโรคนี้อย่างไรได้บ้าง
- ตรวจร่างกายกับแพทย์ แพทย์จะตรวจดูการเคลื่อนไหวของข้อเข่าคนไข้ รวมถึงฟังเสียงภายในข้อเข่า
- ตรวจทางรังสีวิทยา เพื่อให้เห็นภาพภายในข้อเข่าอย่างชัดเจนขึ้น เช่น ตรวจเอกซเรย์ ตรวจ CT Scan ตรวจ MRI
รักษาโรคนี้ได้วิธีไหนบ้าง
- รักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด เช่น การงดใช้ข้อเข่า การกินยา การฉีดยาสเตียรอยด์ การลดน้ำหนัก การยิงคลื่นอัลตราซาวด์ การใช้ไม้เท้า ผ้ารัดเข่า หรือเฝือกอ่อน การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงของข้อเข่า
- รักษาโดยวิธีผ่าตัด เพื่อนำข้อเข่าส่วนที่เสื่อมสภาพหรือผุกร่อนออก และแทนที่ด้วยข้อเข่าเทียม เพื่อให้คนไข้กลับมาใช้งานเข่าได้อย่างมั่นคง และคุณภาพชีวิตดีขึ้น
สัญญาณที่ต้องผ่าตัด
- คนไข้รักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือไม่สามารถใช้วิธีรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัดได้ เช่น คนไข้โรคไตที่กินยารักษาบางชนิดไม่ได้
- ข้อเข่าหรือขาของคนไข้ผิดรูป
- คนไข้งอเข่าได้น้อยกว่า 90 องศา
- อาการเสื่อมของข้อเข่าลุกลามจนกระดูกอ่อน เนื้อเยื่อ และเส้นเอ็นภายในข้อเข่าถูกทำลายไปมาก
- อาการของโรคทำให้คนไข้ใช้ชีวิตประจำวันได้ยากลำบากขึ้น เช่น การลุกนั่ง การขึ้นลงบันได การเดินทำกิจกรรมต่างๆ หรือมีอาการปวดแม้ระหว่างพักหรืออยู่นิ่งๆ ต้องมีคนคอยช่วยพยุงอยู่ตลอด
รู้จักการผ่าตัดนี้
การผ่าตัดข้อเข่าเทียม (Total Knee Arthroplasty) คือ การผ่าตัดเพื่อนำผิวกระดูกข้อเข่าส่วนที่เสื่อมสภาพออก และแทนที่ด้วยข้อเข่าเทียมซึ่งเป็นวัสดุผิวโลหะมันวาว กั้นระหว่างชิ้นโลหะด้วยแผ่นโพลีเอทิลีนชนิดพิเศษ ทำให้ข้อเข่าของคนไข้ที่ไม่มั่นคงกลับมาแข็งแรง สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่วอีกครั้ง
ข้อดีของการผ่าตัดข้อเข่าเทียม
- สามารถรักษาคนไข้ที่กระดูกอ่อนผิวข้อและเส้นเอ็นข้อเข่าถูกทำลายไปมากแล้ว รวมถึงคนไข้ที่ขาผิดรูปได้ในคราวเดียว
- ช่วยลดอาการปวดหรืออักเสบจากโรคข้อเข่าเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นผลลัพธ์ในระยะยาวอย่างต่ำ 10-15 ปีขึ้นไป
ใครเหมาะกับการผ่าตัดข้อเข่าเทียม
- คนไข้ที่มีอาการปวดข้อเข่ามากจนคุณภาพชีวิตลดลง
- คนไข้ที่ใช้วิธีรักษาโดยไม่ผ่าตัด แต่อาการยังไม่ดีขึ้น
- คนไข้ที่มีอาการข้อเข่าติด เหยียดเข่าได้ไม่สุด งอเข่าได้น้อยกว่า 90 องศา
- คนไข้ที่ขาผิดรูป
- คนไข้ที่อยู่ในวัยสูงอายุซึ่งเป็นช่วงวัยที่มักใช้ข้อเข่าไม่มากนัก เพราะข้อเข่าเทียมเป็นวัสดุที่แข็งแรงและมีอายุการใช้งานได้นานก็จริง แต่ก็มีโอกาสสึกหรอตามกาลเวลา ถ้าคนไข้อายุน้อยและยังต้องใช้ข้อเข่าทำกิจวัตรต่างๆ มีโอกาสที่จะต้องกลับมาผ่าตัดซ้ำอีก
ขั้นตอนการผ่าตัดข้อเข่าเทียม
- วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ หรืออาจเป็นการฉีดยาเข้าไขสันหลัง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- แพทย์ผ่าเปิดแผลและนำผิวกระดูกข้อเข่าส่วนที่เสื่อมตัวออก ทั้งผิวส่วนปลายของกระดูกต้นขา และส่วนบนของกระดูกหน้าแข้งทั้งฝั่งด้านในและด้านนอก
- แพทย์ใส่กระดูกข้อเข่าเทียมเพื่อแทนที่ผิวกระดูกส่วนที่นำออกไป
- เย็บปิดแผล
เปรียบเทียบการผ่าตัดวิธีต่างๆ
ผ่าตัดข้อเข่าเทียมแบบทั้งหมด (Total Knee Arthroplasty)
- เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าทุกส่วนเป็นวัสดุเทียมทั้งหมด
- เป็นการผ่าตัดมาตรฐานที่ช่วยแก้ทุกความผิดปกติบริเวณข้อเข่าได้
- ขนาดข้อเข่าเทียมจะเท่ากับขนาดข้อเข่าเดิมของคนไข้
- เหมาะกับคนไข้ที่โรคข้อเข่าเสื่อมระยะค่อนข้างรุนแรง มีความเสื่อมหลายตำแหน่ง หรือมีขาที่ผิดรูปอย่างชัดเจน
ผ่าตัดข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วน (Partial Knee Replacement)
- เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมเพียงบางส่วนของข้อเข่าที่เกิดความเสื่อม
- ขนาดข้อเข่าเทียมจะมีขนาดตามขนาดของตำแหน่งข้อเข่าที่เสื่อม
- เหมาะกับคนไข้ที่ข้อเข่าเสื่อมด้านเดียวหรือระยะโรคยังไม่รุนแรง รวมถึงคนไข้ที่ขาผิดรูปไม่มาก
- หากผ่าตัดไปแล้ว ในอนาคตหากข้อเข่าส่วนอื่นมีความเสื่อม ก็อาจต้องกลับมาผ่าตัดข้อเข่าเทียมแบบทั้งหมดอีกครั้ง
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- แจ้งประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว ยาที่รับประทานเป็นประจำ รวมถึงวิตามิน อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิด เพราะอาจต้องมีการงดรับประทานล่วงหน้าก่อนผ่าตัด
- คนไข้ต้องตรวจร่างกายตามรายที่แพทย์แนะนำก่อนผ่าตัด เช่น ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจปัสสาวะ การตรวจเอกซเรย์ การตรวจ MRI
- แพทย์อาจแนะนำให้คนไข้เตรียมเลือดหรือบริจาคเลือดไว้ก่อนผ่าตัด เนื่องจากการผ่าตัดข้อเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดใหญ่ จึงมีโอกาสเสียเลือดได้มาก
- ตรวจฟันและรักษาโรคทางทันตกรรมก่อนผ่าตัด รวมถึงโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากการติดเชื้อในช่องปากหรือระบบปัสสาวะอาจลุกลามไปตามกระแสเลือดและทำให้เกิดการติดเชื้อที่ข้อเทียมได้
- จัดเตรียมสถานที่พักฟื้นที่บ้านให้เรียบร้อยก่อน โดยต้องเป็นสถานที่ที่คนไข้ไม่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจนแผลที่ข้อเข่าได้รับบาดเจ็บ เช่น ทำให้บริเวณบ้านสว่าง เปลี่ยนมานอนพักที่ห้องชั้นล่าง งดใช้พรมเช็ดเท้าและเก็บสิ่งกีดขวางที่อาจให้ลื่นล้ม ติดตั้งราวจับในห้องน้ำ จัดวางเฟอร์นิเจอร์ไม่ให้เกะกะหรือง่ายต่อการล้ม
- งดน้ำและงดอาหาร 8-12 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
- ฝึกหายใจขณะนอนหงาย โดยหายใจเข้าทางจมูกช้า ๆ และหายใจเข้าออกทางปากเบา ๆ ซ้ำ ๆ ประมาณ 5-10 นาที
- อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดก่อนผ่าตัด แพทย์อาจให้ทำความสะอาดผิวส่วนที่ผ่าตัดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อในเช้าวันผ่าตัดด้วย
- รับคำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการฟื้นตัวร่างกายหลังผ่าตัด เช่น การทำกายภาพบำบัด การฝึกกล้ามเนื้อ การใช้ไม้เท้าหรือเครื่องช่วงพยุง
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ลางานล่วงหน้าเผื่อเวลาพักฟื้นอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ขึ้นไป หรือตามคำแนะนำของแพทย์
การดูแลหลังผ่าตัด
ผ่าตัดข้อเข่าเทียม พักฟื้นกี่วัน?
ส่วนมากคนไข้จะนอนโรงพยาบาลประมาณ 3-5 คืน หรือหากคนไข้งอเข่าได้อย่างน้อย 90 องศาและเหยียดเข่าได้เกือบสุด แพทย์จะอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน
- 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด คนไข้ต้องนอนขาตรงหรือใช้หมอนรองส้นเท้า และห้ามงอเข่า
- โดยทั่วไปคนไข้สามารถลุกเดินได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด แต่แพทย์จะแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ช่วยเดินในช่วง 4 สัปดาห์แรก
- แพทย์จะคาสายสวนปัสสาวะไว้ 1-2 วันหลังผ่าตัด หากคนไข้ลุกเดินได้ดี สามารถเดินเข้าห้องน้ำเองได้ ก็จะนำสายสวนออก
- หากแพทย์ไม่เห็นสัญญาณภาวะแทรกซ้อน จะเริ่มให้คนไข้กินอาหารได้
- ตั้งแต่ 1 วันแรกหลังผ่าตัด แพทย์จะแนะนำให้คนไข้ออกกำลังที่ข้อเท้าและเกร็งกล้ามเนื้อขาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดที่ขาและเท้า ป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันและอาการบวม
- ในช่วง 2-3 วันหลังผ่าตัด แผลจะยังคงอุ่นอยู่ ให้ประคบเย็นครั้งละ 15 นาที
- หลังรู้สึกตัว แพทย์จะให้คนไข้ลองขยับขาและข้อเท้า โดยการกระดกปลายเท้าขึ้นเกร็งไว้
- ฝึกหายใจเข้าออกตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อป้องกันภาวะปอดชื้น
- งดให้แผลโดนน้ำ 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด แต่หากปิดแผลด้วยพลาสเตอร์หรือกาวกันน้ำ สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ
- หมั่นทำกายบริหาร ทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัด
- กินยาตามรายการที่แพทย์สั่งจ่ายให้อย่างเคร่งครัด
- งดเอื้อมหยิบสิ่งของในระดับที่สูงเกินไป หรือต้องก้มต่ำเกินไปจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- งดแช่น้ำและงดว่ายน้ำ 1 เดือนหลังผ่าตัด
- แพทย์มักแนะนำให้กลับไปขับรถเกียร์อัตโนมัติได้หลังผ่าตัดประมาณ 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่คนไข้มักจะเริ่มงอเข่าได้ 120-140 องศา และเริ่มออกกำลังกายที่ไม่ใช้แรงกระแทกต่อข้อเข่าได้แล้ว เช่น ว่ายน้ำ เดินเร็ว ขี่จักรยาน
- เดินทางมาติดตามอาการหลังผ่าตัดกับแพทย์ทุกครั้ง
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาสลบ เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย
- คนไข้ต้องหมั่นสังเกตภาวะติดเชื้อในข้อเข่าเทียมที่ยังอาจเกิดขึ้นภายใน 1 ปีหลังการผ่าตัด ซึ่งจะทำให้มีอาการแผลบวมแดง แผลร้อน มีไข้สูง หรือปวดเข่าข้างที่ผ่าตัดอย่างรุนแรง
- เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ ทำให้มีอาการปวดน่อง ข้อเท้า หรือเท้า รวมถึงเข่าหรือใต้เข่าบวมแดง และลิ่มเลือดอาจไหลไปติดที่กล้ามเนื้อหัวใจหรือปอด ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว เพื่อป้องกันอาการนี้ แพทย์จึงจะให้คนไข้รีบขยับขาทั้ง 2 ข้างให้เร็วที่สุดหลังผ่าตัด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และมีการให้ยาป้องกันการอุดตันของลิ่มเลือดด้วย
- หลอดเลือดหรือเส้นประสาทได้รับบาดเจ็บ อาจทำให้เกิดอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถยกขาขึ้นสูงได้ รู้สึกเสียวแปล๊บที่ข้อเข่า
- ภาวะเสียเลือดและจำเป็นต้องให้เลือดในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย
- ภาวะข้อเข่าติดแข็ง ทำให้งอหรือเหยียดเข่าได้ไม่เต็มที่
- ข้อเข่าเทียมแตกหักหรือเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม
สาขาออร์โธปิดิกส์
นพ. ชยุตม์ ไชยเพิ่ม (หมอป้อง)
HDcare
ข้อมูลของแพทย์
-2557 แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เกียรตินิยมอันดับ 2)
-2563 วุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาออร์โธปิดิกส์
-2563 แพทย์ประจำบ้าน สาขาออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลขอนแก่น
-2564 ประกาศนียบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม อนุสาขาศัลยกรรมข้อเข่าและข้อสะโพก
-2564 แพทย์ประจำบ้านต่อยอด อนุสาขาศัลยกรรมข้อเข่าและข้อสะโพก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ข้อมูลอื่นของแพทย์
-ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เชี่ยวชาญทางข้อสะโพกและข้อเข่าเทียม (Hip and Knee Reconstruction)
สาขาออร์โธปิดิกส์
นพ. วัชระ มณีรัตน์โรจน์ (หมอแจ๊ค)
HDcare
ข้อมูลของแพทย์
-2005: แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
-2012: ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
-2017: ศัลยศาสตร์บูรณสภาพในข้อสะโพกและข้อเข่า, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
-ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่าเทียม โดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดหรือคอมพิวเตอร์นำวิถี
-ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมโดยใช้เทคนิคเข้าทางด้านหน้า ไม่ตัดกล้ามเนื้อ
ข้อมูลอื่นของแพทย์
-การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมและข้อเข่าเทียมโดยใช้เทคนิคแผลเล็กบาดเจ็บน้อย
-การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วนโดยใช้เทคนิคและข้อเทียมชนิดอ๊อกซฟอร์ด
-การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อข้อสะโพกและข้อเข่าเทียมโดยใช้แขนกลหุ่นยนต์ และคอมพิวเตอร์ช่วยผ่าตัด
-การผ่าตัดรักษาอาการบาดเจ็บและกระดูกหัก