ผ่าตัดเสริมเต้านม (แบบเปิด)
รายละเอียด
รู้จักการผ่าตัดนี้
การผ่าตัดเสริมหน้าอกแบบเปิด คืออะไร?
การผ่าตัดเสริมหน้าอกแบบเปิด (Open Breast Augmentation) คือ การผ่าตัดเพื่อปรับขนาดและรูปทรงของหน้าอก โดยใช้เทคนิคการเปิดแผลที่หน้าอก แล้วใส่ถุงซิลิโคนซึ่งเป็นวัสดุเสริมหน้าอกที่มีลักษณะเป็นก้อนกลมรีเนื้อนุ่ม และมีสีใสเข้าไปที่ใต้หน้าอก ทำให้หน้าอกมีทรวดทรงและขนาดที่สวยงามขึ้น
ชนิดของถุงซิลิโคนเสริมหน้าอก จำแนกได้อย่างไรบ้าง?
ถุงซิลิโคนที่ใช้เสริมหน้าอกในปัจจุบันสามารถจำแนกชนิดออกได้หลายรูปแบบ และหลายหลักเกณฑ์
ถุงซิลิโคนจำแนกตามสารภายในถุง แบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ
- ถุงซิลิโคนน้ำเกลือ เป็นถุงซิลิโคนที่บรรจุน้ำเกลือเอาไว้ด้านใน คล้ายกับลูกโป่งบรรจุน้ำจนมีขนาดที่สามารถนำไปเสริมขนาดของหน้าออกได้
- ถุงซิลิโคนเจล เป็นถุงซิลิโคนสำเร็จรูปที่ผลิตเป็นก้อนนิ่มพร้อมใช้งาน ไม่มีการบรรจุสารน้ำเอาไว้ด้านใน
ถุงซิลิโคนจำแนกตามเนื้อถุงซิลิโคน แบ่งออกได้ 3 ชนิด คือ
- ถุงซิลิโคนผิวเรียบ (Smooth Surface) เป็นถุงซิลิโคนที่เนื้อเรียบและลื่น มีผิวใสจนมองทะลุได้ง่ายที่สุด เป็นถุงซิลิโคนที่ง่ายต่อการผ่าตัดเสริมหน้าออก ใช้ระยะเวลาผ่าตัดสั้น และเสี่ยงเกิดอาการบวมได้น้อย แต่ก็มีจุดด้อยตรงที่เสี่ยงทำให้เกิดปัญหาเนื้อเยื่อพังผืดเกาะรอบถุงซิลิโคนได้มากกว่า
- ถุงซิลิโคนผิวหยาบหรือผิวทราย (Textured Surface) เป็นถุงซิลิโคนที่เนื้อค่อนข้างสากคล้ายกับเม็ดทราย แต่มีความหนืดมากกว่า จึงช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาถุงซิลิโคนเคลื่อนได้ดี และยังช่วยลดโอกาสเกิดพังผืดรอบถุงซิลิโคนได้ดีอีกด้วย แต่ก็มีจุดด้อยตรงที่มักมีขั้นตอนการผ่าตัดซับซ้อนกว่า และมีโอกาสแผลบวมง่าย
- ถุงซิลิโคนผิวนาโน (Nano Surface) เป็นถุงซิลิโคนกึ่งผสมระหว่างผิวเรียบกับผิวสาก มีเนื้อที่ละเอียดมากคล้ายกับผิวผ้ากำมะหยี่ จึงดึงจุดเด่นของทั้งถุงซิลิโคนผิวเรียบและผิวหยาบมารวมไว้ด้วยกัน นอกจากนี้อายุการใช้งานยังยืนนานกว่าอีกด้วย
ถุงซิลิโคนจำแนกตามรูปทรงของถุงซิลิโคน แบ่งออกได้ 3 ชนิด คือ
- ถุงซิลิโคนทรงกลม เป็นถุงซิลิโคนรูปทรงครึ่งวงกลม มีความโค้งและนูนอย่างเห็นได้ชัด สามารถช่วยเติมเต็มมิติส่วนเนินอกได้ชัดเจน เหมาะกับผู้ที่ต้องการเสริมขนาดและรูปทรงหน้าอกแบบที่เห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจน
- ถุงซิลิโคนทรงหยดน้ำ เป็นถุงซิลิโคนที่เนื้อจะหย่อนลงตามแรงโน้มถ่วง โครงสร้างด้านบนแบนเล็กน้อย แต่ด้านล่างจะป่องนูน เหมือนกับทรงหน้าอกธรรมชาติของผู้หญิง เหมาะกับผู้ที่อยากเสริมขนาดของหน้าอกให้ดูมีมิติขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
- ถุงซิลิโคนทรงกึ่งหยดน้ำ เป็นถุงซิลิโคนที่ดึงเอาความโค้งมนของถุงซิลิโคนทรงกลมกับส่วนที่แบนราบของถุงซิลิโคนทรงหยดน้ำมารวมไว้ด้วยกัน ทำให้รูปร่างถุงซิลิโคนหลังเสริมหน้าอกดูมีมิติเห็นได้ชัด แต่ก็มีลักษณะที่ดูเป็นธรรมชาติด้วย
การผ่าตัดเสริมหน้าอกแบบเปิด วางซิลิโคนตรงตำแหน่งไหน?
ถุงซิลิโคนที่แพทย์จะใส่เสริมหน้าอกสามารถวางได้ 3 ตำแหน่ง ได้แก่
- ตำแหน่งเหนือกล้ามเนื้อหน้าอก เป็นการวางถุงซิลิโคนไว้ระหว่างชั้นเนื้อนมกับชั้นกล้ามเนื้อหน้าอก เหมาะกับกลุ่มผู้หญิงที่มีกล้ามเนื้อหน้าอก และมีชั้นไขมันที่หน้าอกแข็งแรง รวมถึงผู้ที่มีเนื้อหน้าอกพอสมควรแล้ว
- ตำแหน่งใต้กล้ามเนื้อหน้าอก เป็นการวางถุงซิลิโคนไว้ด้านหลังชั้นเนื้อนมและชั้นกล้ามเนื้อหน้าอก เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้อหน้าอกน้อย หน้าอกหย่อนคล้อย และผู้ที่อยากให้หน้าอกดูมีขนาดอวบอิ่มอย่างเป็นธรรมชาติ
- ตำแหน่งกึ่งใต้กล้ามเนื้อ เป็นการวางถุงซิลิโคนเอาไว้กึ่งกลางระหว่างใต้กล้ามเนื้อกับในเนื้อเต้านม และยังอยู่ในตำแหน่งทั้งเหนือกล้ามเนื้อและอยู่ใต้กล้ามเนื้อ ทำให้เนื้อเต้านมดูมีรูปทรงเป็นธรรมชาติมากขึ้น
การผ่าตัดเสริมหน้าอกแบบเปิด ผ่าเปิดแผลตรงไหน
ตำแหน่งในการเปิดแผลเสริมหน้าอกแบบเปิดที่ได้รับความนิยมจะมีอยู่ 3 ตำแหน่ง ซึ่งแต่ละตำแหน่งก็จะมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ได้แก่
- บริเวณใต้ราวนม เป็นตำแหน่งที่ได้รับความนิยมในการผ่าตัดมากที่สุด เนื่องจากช่วยให้ใส่ถุงซิลิโคนและจัดทรงเต้านมได้ง่าย มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้ค่อนข้างน้อย และระยะเวลาฟื้นตัวเร็ว แต่มีโอกาสทำให้เกิดแผลเป็นอย่างเห็นได้ชัดกว่า
- บริเวณปานนม เป็นตำแหน่งที่ทำให้รู้สึกเจ็บแผลได้น้อย ผ่าตัดจัดตำแหน่งถุงซิลิโคนได้ง่าย และหากมีรอยแผลเป็นก็จะยากต่อการสังเกตเห็น แต่มีโอกาสเกิดพังผืดที่รอบถุงซิลิโคน กระทบต่อเส้นประสาท และติดเชื้อหลังผ่าตัดได้มากกว่า นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดต่อขนาดถุงซิลิโคนที่ใส่เสริมหน้าอกได้
- บริเวณใต้รักแร้ เป็นตำแหน่งที่ช่วยซ่อนรอยแผลเป็นได้ดี แต่มีข้อเสียคือมีความซับซ้อนในการผ่าตัดมากกว่า มีโอกาสเจ็บแผลหลังผ่าตัดได้มากกว่า และใช้เวลาฟื้นตัวหลังผ่าตัดค่อนข้างนาน ทำให้เป็นตำแหน่งที่แพทย์ไม่ค่อยนิยมผ่าตัดแบบเปิดกันมากนัก
ขั้นตอนการผ่าตัดเสริมหน้าอกแบบเปิด
ระยะเวลาผ่าตัดเสริมหน้าอกแบบเปิดจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยมีขั้นตอนหลักๆ ดังต่อไปนี้
- แพทย์วาดตำแหน่งที่จะผ่าตัดเปิดแผลที่หน้าอก
- วิสัญญีแพทย์วางยาสลบผู้เข้ารับบริการ
- แพทย์กรีดเปิดแผลยังตำแหน่งที่วางแผนการผ่าตัดไว้
- แพทย์เลาะเนื้อเต้านมและกล้ามเนื้อหน้าอกให้เกิดเป็นพื้นที่สำหรับใส่ถุงซิลิโคน แล้ววางถุงซิลิโคนลงไปในตำแหน่งที่เหมาะสม
- แพทย์เย็บปิดแผล โดยหลังจากปิดแผลแล้ว จะมีการเชื่อมท่อระบายใต้แผลไว้ชั่วคราว เพื่อไว้ระบายของเหลวหรือเลือดไม่ให้สะสมอยู่ใต้แผล
การผ่าตัดเสริมหน้าอกแบบเปิด พักฟื้นนานแค่ไหน?
หลังผ่าตัดเสริมหน้าอกแบบเปิด ผู้เข้ารับบริการจะนอนพักฟื้นต่อที่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 คืน หลังจากนั้นสามารถเริ่มกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ แต่ยังต้องระมัดระวังไม่ให้แผลเกิดความกระทบกระเทือนอย่างเคร่งครัดต่อไปอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ เช่น งดออกกำลังกายหนักๆ งดยกของหนัก
ช่วงเวลาที่ผู้เข้ารับบริการจะสามารถกลับไปทำทุกกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติทุกประการ คือประมาณ 2-3 เดือนหลังผ่าตัดเสริมหน้าอกแบบเปิด
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปัญหาทรวดทรงหรือขนาดหน้าอกที่ต้องการแก้ไขเสียก่อน เพื่อให้แพทย์คัดเลือกชนิดของถุงซิลิโคนและวางแผนการผ่าตัดได้อย่างเหมาะสม
- แจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว ยาประจำตัว วิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิดล่วงหน้ากับแพทย์เสียก่อน
- ตรวจร่างกายและตรวจสุขภาพตามรายการที่แพทย์แนะนำเสียก่อน เช่น ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเอกซเรย์ปอด ในผู้ที่มีโรคประจำตัว แพทย์อาจให้ตรวจสุขภาพรายการอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เพื่อให้แน่ใจถึงความพร้อมของสุขภาพก่อนเริ่มการผ่าตัด
- งดยาและวิตามินเสริมตามรายการที่แพทย์สั่ง เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด
- งดอาหารและงดน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
- งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์
- งดทาเล็บ และให้ถอดเครื่องประดับ ฟันปลอมเก็บไว้ที่บ้านก่อน เพื่อป้องกันการสูญหายที่สถานพยาบาล
- อาบน้ำสระผม ชำระร่างกายให้สะอาดก่อนเดินทางมาผ่าตัด
- ใส่เสื้อผ้าที่ถอดเปลี่ยนได้ง่าย และสวมใส่สบาย ไม่รัดหน้าอก
- นัดหมายวันผ่าตัดอย่าให้ตรงกับช่วงที่มีประจำเดือน เพื่อลดโอกาสเสียเลือดมากขึ้น
- พาญาติมาด้วยในวันผ่าตัดเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในระหว่างที่พักฟื้น เนื่องจากหลังฟื้นจากยาสลบ ผู้เข้ารับบริการอาจยังมึนเบลอไม่ได้สติเต็มที่ หรือมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาสลบ
- ลางานล่วงหน้าเพื่อเผื่อเวลาพักฟื้นร่างกายประมาณ 1 สัปดาห์
การดูแลหลังผ่าตัด
- 2-3 วันแรกหลังผ่าตัด ให้หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวร่างกายมากๆ พยายามนั่งหรือนอนอยู่กับที่เพื่อไม่ให้แผลกระทบกระเทือน และพักผ่อนให้มากๆ
- นอนหมอนสูงและหมั่นนอนหงายประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อลดอาการบวม และไม่ให้ซิลิโคนเคลื่อน
- กินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายให้อย่างเคร่งครัด
- ใส่ชุดชั้นในแบบประคองหน้าอกประมาณ 2 เดือน หลังจากนั้นแพทย์จะแนะนำให้ใส่ชุดชั้นในแบบไม่มีโครงหรือสปอร์ตบราต่อไปอีกประมาณ 2 เดือน แล้วจึงค่อยเปลี่ยนมาใส่ชุดชั้นในแบบมีโครงได้
- อาศัยอยู่ในที่ที่อากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนจัด เพื่อไม่ให้แผลอับชื้น
- งดออกกำลังกาย งดยกของหนัก งดขับรถ งดทำกิจกรรมที่ทำให้แผลกดทับ 4 สัปดาห์
- งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังผ่าตัด
- งดกินอาหารหมักดอง อาหารทะเล อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ ประมาณ 2 สัปดาห์
- งดมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้ถุงซิลิโคนเคลื่อนตัว
- หลักเลี่ยงอย่าให้แผลโดนน้ำจนกว่าจะกลับมาตรวจแผลกับแพทย์ โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด
- งดการนวดคลึงเต้านมด้วยตนเอง แต่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ควรตรวจแมมโมแกรมทุกปี เพื่อตรวจเช็กสภาพของถุงซิลิโคนเสริมหน้าอก
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- อาการปวดแผล แต่ส่วนมากจะเป็นอยู่เพียงชั่วคราวและกินยาบรรเทาอาการได้
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาสลบ เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน
- เกิดแผลเป็นในตำแหน่งที่แพทย์กรีดเปิดแผล
- ภาวะนมแข็ง ซึ่งเกิดจากมีเนื้อเยื่อพังผืดไปรัดถุงซิลิโคน
- ภาวะแผลอักเสบ
- ถุงซิลิโคนฉีกขาดหรือแตก ทำให้ต้องผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนถุงซิลิโคนในภายหลัง
- หากสังเกตว่าแผลมีเลือดหรือน้ำเหลืองคั่งในแผล หรือเห็นของเหลวคล้ายน้ำหนองไหลออกมาจากแผล มีไข้สูง หายใจไม่สะดวก แผลบวมแดงซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ให้รีบติดต่อแพทย์โดยทันที
สาขาศัลยศาสตร์
นพ. วรเทพ กิจทวี (หมอเชน)
HDcare
ข้อมูลของแพทย์
- 2548 แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- 2553 วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญ สาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป แพทยสภา
- 2556 ประกาศนียบัตร อนุสาขาศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
- Certificate of Visiting Fellowship in Minimal Invasive and Endoscopic Breast Surgery, Kameda Medical Center (Japan)
- Masterclass in Endoscopic and Robotic Breast Surgery (Taiwan)
ข้อมูลอื่นของแพทย์
- แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ