ผ่าตัดเสริมเต้านม (แบบส่องกล้อง)
รายละเอียด
สัญญาณที่ต้องผ่าตัด
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเนื้องอกเต้านมแบบส่องกล้อง มีดังนี้
- ก้อนเนื้อที่เต้านมมีขนาดใหญ่โตขึ้นจากการถูกปัจจัยบางอย่างกระตุ้น เช่น การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร หรือการกินยาฮอร์โมนเสริม
- มีอาการเจ็บบริเวณก้อนเนื้อที่เต้านมจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- ก้อนเนื้อที่เต้านมมีขนาดใหญ่เกิน 2 เซนติเมตรขึ้นไปในคนที่อายุไม่เกิน 30 ปี หรือมีขนาดใหญ่เกิน 3 เซนติเมตรขึ้นไปในคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป
- ก้อนเนื้อที่เต้านมมีขนาดโตขึ้น หรือมีรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไปในระหว่างที่ติดตามอาการ
- ผลเจาะชิ้นเนื้อมีลักษณะเนื้องอกอื่นร่วมด้วย (Complex Fibroadenoma) เช่น Fibroadenoma ร่วมกับ Apocrine metaplasi หรือ Sclerosing adenosis ซึ่งจะหมายถึง เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงจากเซลล์ปกติเป็นเซลล์อื่นที่ไม่ใช้มะเร็ง
- มีความกังวลกับก้อนเนื้อที่เต้านม ต้องการจะผ่าตัดออก
- ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะ 0 ถึงระยะ 3 (บางราย)
รู้จักการผ่าตัดนี้
ผ่าตัดเนื้องอกเต้านมแบบส่องกล้องคืออะไร?
การผ่าตัดเนื้องอกเต้านมแบบส่องกล้อง (Endoscopic Breast Surgery) คือ การเปิดแผลขนาดเล็กบริเวณใต้รักแร้ หรือฐานหัวนม แล้วใช้อุปกรณ์ผ่าตัดที่มีกล้องเอนโดสโคปขนาดเล็กติดอยู่ที่ส่วนปลาย สอดเข้าไปผ่าตัดเอาเนื้องอกเต้านมออก
กล้องเอนโดสโคปจะส่งภาพมาที่จอมอนิเตอร์ ทำให้แพทย์สามารถเลาะเนื้อเต้านมและเก็บรายละเอียดได้อย่างแม่นยำ ช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัดลง อีกทั้งยังสามารถทำการเสริมสร้างเต้านมใหม่ให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดได้ทันที
ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมด้วยซิลิโคนคืออะไร?
การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมด้วยซิลิโคน เป็นหนึ่งในวิธีเสริมสร้างเต้านมใหม่ที่ทำได้ทันทีหลังผ่าตัดเนื้องอกเต้านม โดยจะใช้ถุงเต้านมเทียมที่ด้านในบรรจุซิลิโคนเหลว เข้าไปทดแทนเนื้อเยื่อที่สูญเสียไป นิยมอยู่ 2 รูปทรงหลักๆ ได้แก่ รูปทรงกลม และรูปทรงหยดน้ำ
ถุงเต้านมเทียมนั้น จัดเป็นวัสดุเกรดทางการแพทย์ที่มีความปลอดภัยสูง ไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยากับร่างกาย และไม่มีผลต่อการเกิดเป็นมะเร็งซ้ำ
การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้คืออะไร?
ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้มักจะเป็นบริเวณแรกที่มะเร็งเต้านมจะแพร่กระจายมา การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กับการผ่าตัดเต้านม เพื่อที่แพทย์จะได้ดูว่ามีมะเร็งเต้านมแพร่กระจายหรือไม่ และยังสามารถนำต่อมน้ำเหลืองที่มีการแพร่กระจายของโรคออกไปจากร่างกายด้วย
การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองจะแบ่งเป็น 2 วิธีหลักๆ ดังนี้
1. ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด (Axillary Lymph Node Dissection : ALND)
เป็นวิธีผ่าตัดมาตรฐาน โดยจะผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมดไปพร้อมๆ กับการผ่าตัดเต้านม ซึ่งโดยทั่วแล้วจะมีต่อมน้ำเหลืองที่รักแร่ประมาณ 10-50 ต่อม เหมาะกับคนที่มะเร็งเต้านมมีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตรขึ้นไป
2. ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (Sentinel Lymph Node Biopsy : SLNB)
เป็นวิธีผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองแบบใหม่ โดยจะผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองต่อมแรกที่รับน้ำเหลืองจากมะเร็งไป มีชื่อเรียกว่า “ต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล” แล้วนำไปส่งตรวจดูว่ามีการกระจายของโรคมะเร็งมาหรือไม่ ถ้าหากไม่มี ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเอาเต้าน้ำเหลืองออกทั้งหมด
การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลเหมาะกับคนที่มะเร็งเต้านมมีขนาดก้อนน้อยกว่า 2 เซนติเมตร มักจะมีโอกาสที่โรคมะเร็งจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองได้น้อย
การผ่าตัดเนื้องอกเต้านมแบบส่องกล้องใช้ระยะเวลาเท่าใด?
โดยทั่วไป การผ่าตัดเนื้องอกเต้านมแบบส่องกล้องจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ถ้ามีการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมร่วมด้วยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง
การผ่าตัดเนื้องอกเต้านมแบบส่องกล้องต้องพักฟื้นนานเท่าไหร่?
หลังจากผ่าตัดเนื้องอกเต้านมแบบส่องกล้อง แพทย์จะให้นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1-5 คืน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค และหลังจากนั้นจะให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน ซึ่งจะต้องดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และจะต้องมาตรวจติดตามอาการ และเข้ารับการรักษาอื่นๆ เช่น ฉายรังสี หรือทำเคมีบำบัด ตามที่แพทย์นัดหมาย
เปรียบเทียบการผ่าตัดวิธีต่างๆ
การผ่าตัดเนื้องอกเต้านมแบบส่องกล้องมีกี่วิธี?
การผ่าตัดเนื้องอกเต้านมแบบส่องกล้องจะทำควบคู่กันระหว่างผ่าตัดเต้านม ผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง และเสริมสร้างเต้านมใหม่ด้วยซิลิโคน โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าต้องรักษาด้วยวิธีใด ซึ่งจะแบ่งเป็น 5 วิธีหลักๆ ดังนี้
1. การผ่าตัดเนื้องอกเต้านมแบบส่องกล้อง
เป็นการผ่าตัดเนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดาเท่านั้น โดยแพทย์จะทำการเปิดแผลที่บริเวณใต้รักแร้ หรือฐานหัวนม แล้วใช้อุปกรณ์สำหรับผ่าตัดเนื้องอกเต้านมโดยเฉพาะ สอดเข้าไปทำการตัดเนื้องอกเต้านมและเลาะเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ ออกมา
2. การผ่าตัดเนื้องอกเต้านมออกเพียงบางส่วนแบบส่องกล้อง ร่วมกับผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลแบบเปิด
เป็นวิธีรักษามะเร็งเต้านม โดยแพทย์จะผ่าตัดเอาก้อนเนื้อและเนื้อเยื่อเต้านมบางส่วนที่อยู่บริเวณรอบๆ และที่อยู่ด้านบนของกล้ามเนื้อหน้าอกออกด้วยวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง หลังจากนั้นจะฉีดสารนำร่องเพื่อหาทางเดินของน้ำเหลืองว่ามะเร็งเคลื่อนที่ไปตามทางเดินน้ำเหลืองใดบ้าง แล้วทำการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลออกมาตรวจแบบเร่งด่วน
ผลตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลจะทราบผลภายใน 30-40 นาที และยังอยู่ในระหว่างการผ่าตัด ถ้าหากตรวจพบว่ามีการแพร่กระจายก็จะทำการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด แต่ถ้าไม่พบการแพร่กระจาย ก็จะทำการหยุดเลาะต่อมน้ำเหลืองออกทันที
3. การผ่าตัดเนื้องอกเต้านมออกเพียงบางส่วนแบบส่องกล้อง ร่วมกับผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมดแบบเปิด
เป็นการผ่าตัดเนื้องอกเต้านมออกเพียงบางส่วนแบบส่องกล้อง ร่วมกับผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะทำหลังจากตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลแล้วพบว่า มีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายมายังต่อมน้ำเหลืองแล้ว
4. การผ่าตัดเนื้องอกเต้านมออกทั้งเต้าแบบส่องกล้อง ร่วมกับเสริมสร้างเต้านมด้วยซิลิโคน และผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลแบบเปิด
เป็นการผ่าตัดเนื้องอกเต้านมออกทั้งเต้าแบบส่องกล้อง ทั้งก้อนเนื้อ และเนื้อเต้านม หลังจากนั้นจะเสริมสร้างเต้านมด้วยซิลิโคนต่อทันที และผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลแบบเปิด เพื่อตรวจดูว่ามีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือไม่
5. การผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้าแบบส่องกล้อง ร่วมกับเสริมสร้างเต้านมด้วยซิลิโคน และผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมดแบบเปิด
เป็นการผ่าตัดเนื้องอกเต้านมออกทั้งเต้าแบบส่องกล้อง ร่วมกับเสริมสร้างเต้ามนมด้วยซิลิโคนในคราวเดียว หลังจากนั้นจะทำการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมดแบบเปิด ซึ่งมักจะทำหลังจากตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลแล้วพบว่า มีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายมายังต่อมน้ำเหลืองแล้ว มีข้อดีตรงที่สามารถกำจัดการแพร่กระจายของมะเร็งได้ ทำให้ทราบระยะที่แท้จริงของโรค และควบคุมโรคได้ดี
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการทำหัตถการเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำหัตถการ ทำให้การทำหัตถการเป็นไปอย่างปลอดภัยมากขึ้น โดยแพทย์จะแนะนำให้เตรียมตัวดังนี้
- แจ้งให้แพทย์ หรือพยาบาลทราบเกี่ยวกับภาวะสุขภาพต่างๆ รวมถึงอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาอย่างละเอียด
- ควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดีขึ้น
- งดการใช้ยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าอย่างน้อย 7 วันก่อนการผ่าตัด เพื่อลดการเสียเลือดระหว่างผ่าตัด เช่น ยาแอสไพริน ยาวาร์ฟาริน หรือยาในกลุ่มระงับอาการปวด
- งดการใช้ยาสมุนไพร อาหารเสริม หรือวิตามินบางประเภท ที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น น้ำมันปลา โอเมก้า 3 น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส หรือโคเอนไซม์คิวเทน เป็นต้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
- เตรียมเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นติดตัวไปด้วย เนื่องจากจะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1-5 คืน
การดูแลหลังผ่าตัด
หลังจากที่แพทย์อนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้แล้ว ผู้เข้ารับการรักษาจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูได้เร็วขึ้น และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย ดังนี้
- ระมัดระวังไม่ให้มีวัตถุ หรือเครื่องประดับมารัดแขนข้างที่ผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสความร้อนและแสงแดดจัด
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การออกแรงทำกิจกรรมซ้ำๆ และการสะพายของ หรือแบกของบนไหล่ในข้างที่ผ่าตัด
- ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือติดเชื้อบริเวณแขนและมือข้างที่ผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการวัดความดันโลหิต ฉีดยา เจาะเลือด หรือให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำในข้างที่ทำการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก
- ทำความสะอาดแผลผ่าตัดตามที่แพทย์แนะนำ และหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำจนกว่าแพทย์จะอนุญาต ถ้าหากมีอาการเจ็บปวด หรือบวมแดง จะต้องไปพบแพทย์ทันที
- สามารถนวดแขนตัวเองเพื่อลดอาการแขนบวมได้ โดยให้ยกแขนข้างที่ผ่าตัดขึ้น แล้วค่อยๆ นวดไล่จากปลายมือลงไปที่ต้นแขนอย่างเบามือ ประมาณ 20 ครั้งต่อรอบ 3-4 รอบต่อวัน ซึ่งจะต้องนวดตั้งแต่แขนเริ่มบวมในระยะแรกๆ อย่าปล่อยทิ้งไว้จนมีลักษณะแข็ง
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
การผ่าตัดเนื้องอกเต้านมแบบส่องกล้องอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงดังนี้
- ความเสี่ยงทั่วไปที่พบได้จากการทำหัตถการ เช่น การติดเชื้อ แพ้ยาชา อาการชา บวมช้ำ เลือดออก หรือเลือดคลั่ง
- เกิดการสะสมของน้ำเหลือง หรือเลือดบริเวณใต้ผิวหนัง
- แผลหายช้าจากการที่ขอบแผลมีเลือดมาหล่อเลี้ยงได้น้อย และทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสี
- หัวไหล่ติด ยกแขนได้ไม่สุด เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ชั่วคราว สามารถรักษาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด
- แผลไม่หายเป็นปกติ โดยจะทำให้เกิดแผลเป็น แดง และเจ็บ
- แขนบวมข้างที่ทำการผ่าตัด เป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก
- เซลล์มะเร็งกลับมาก่อตัวอีกครั้ง ถ้าหากตรวจพบ จะต้องรักษาด้วยการทำเคมีบำบัด ฉายแสงรังสี หรือทำการผ่าตัดเพิ่มเติม
- มีอาการปวดเรื้อรังบริเวณที่ผ่าตัด สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด
- มีความรู้สึกกังวลและซึมเศร้า จึงควรเข้ารับการปรึกษาทางจิตเวชทั้งก่อนและหลังผ่าตัด
สาขาศัลยศาสตร์
นพ. วรเทพ กิจทวี (หมอเชน)
HDcare
ข้อมูลของแพทย์
- 2548 แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- 2553 วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญ สาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป แพทยสภา
- 2556 ประกาศนียบัตร อนุสาขาศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
- Certificate of Visiting Fellowship in Minimal Invasive and Endoscopic Breast Surgery, Kameda Medical Center (Japan)
- Masterclass in Endoscopic and Robotic Breast Surgery (Taiwan)
ข้อมูลอื่นของแพทย์
- แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ