ผ่าตัดรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า
รายละเอียด
HDcare สรุปให้
โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า เป็นแล้วรบกวนใช้ชีวิตประจำวัน
- บางคนเป็นแล้วไม่กล้าล้างหน้าแปรงฟัน ไม่โกนหนวด หรือหลีกเลี่ยงการพูดคุย เพราะกลัวอาการกำเริบ จนใช้ชีวิตยาก
- โรคนี้เจอบ่อยในผู้หญิงอายุ 45-60
แนะนำตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อคัดกรองความเสี่ยงแต่เนิ่นๆ
ปรึกษาแพทย์ของ HDcare โดยไม่มีค่าใช้จ่ายวันนี้
ผ่าตัดกับ HDcare มีแพทย์เฉพาะทางและผู้ช่วยส่วนตัวดูแลอย่างใกล้ชิด
- อยู่ด้วยกันเหมือนญาติ คอยให้คำปรึกษาทุกขั้นตอน
- ถ้ายังไม่ตัดสินใจก็ไม่เป็นไร ปรึกษาฟรีทางออนไลน์ก่อนได้
ทำนัดปรึกษาทีมแพทย์ของ HDcare วันนี้
รู้จักโรคนี้
โรคปวดประสาทใบหน้า (Trigeminal Neuralgia) คือ ชื่อเรียกกลุ่มอาการผิดปกติบริเวณใบหน้าซึ่งเกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ห้าหรือ “เส้นประสาทไทรเจมินัล (Trigeminal Nerve)” ถูกกดทับหรือถูกเบียดจนทำงานผิดปกติ โดยส่วนมากมักมาจากหลอดเลือดสมองบริเวณใกล้เคียง จากก้อนเนื้องงอก หรือจากก้อนซีสต์ รวมถึงยังเกิดได้จากการบาดเจ็บของเส้นประสาทจากอุบัติเหตุ
อาการเด่นของโรคปวดประสาทใบหน้าจะเป็นอาการปวดที่ใบหน้าด้านใดด้านหนึ่ง บริเวณที่พบอาการปวดได้บ่อยจะอยู่ที่มุมปากและคาง
ลักษณะของอาการปวดจากโรคนี้จะคล้ายกับถูกเข็มแทงหรือโดนไฟช็อตกะทันหัน บางครั้งก็คล้ายกับปวดฟันหรือปวดเหงือก โดยอาการปวดจะเกิดขึ้นเป็นพักๆ ไม่ตลอดเวลา แต่จะพบซ้ำอยู่เรื่อยๆ ตลอดวัน ส่วนมากมักจะพบอาการในตอนเช้า
สัญญาณที่ต้องตรวจ
- มีอาการปวดที่ใบหน้าด้านใดด้านหนึ่ง ปวดแปล็บคล้ายไฟช็อตหรือถูกเข็มแทง อาจคล้ายปวดฟันหรือปวดเหงือก
- อาการปวดจะเกิดขึ้นฉับพลัน
- มีอาการปวดเป็นช่วงๆ ช่วงเวลาสั้นๆ เป็นซ้ำตลอดวัน
- มีอาการปวดมากเมื่อถูกกระตุ้นโดยการสัมผัส เช่น ลมพัด ล้างหน้า แปรงฟัน การกิน
ตรวจโรคนี้อย่างไรได้บ้าง
- ซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด
- ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI Scan)
รักษาโรคนี้ได้วิธีไหนบ้าง
การรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นกับระดับความรุนแรงของอาการ ดังนี้
- การรักษาด้วยยา
- การจี้หรือตัดเส้นประสาท
- ใช้เข็มจี้ที่ผิวหนังเพื่อทำลายเส้นใยประสาทคู่ที่ห้า
- ใช้บอลลูนฉีดสารน้ำเข้าไปลดอาการปวด
- ฉีดสารกลีเซอรอลเข้าที่ผิวหนังรอบๆ ปมเส้นประสาทคู่ที่ห้า จนชา
- ฉายรังสีแกมม่า
- การผ่าตัดแต่งหลอดเลือดที่กดทับหรือเบียดเส้นประสาทคู่ที่ห้า
สัญญาณที่ต้องผ่าตัด
แพทย์มักเลือกใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคปวดประสาทใบหน้าก็ต่อเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถรักษาอาการของโรคด้วยการใช้ยาหรือหัตถการอื่นๆ ได้ หรือเมื่อรักษาไปแล้วอาการกลับมาเป็นซ้ำอีก
แต่ขณะเดียวผู้ที่ได้รับการพิจารณาให้ใช้วิธีรักษาเป็นการผ่าตัดก็จะต้องเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆ รุนแรงจนเข้ารับการผ่าตัดไม่ได้ มีสมรรถภาพร่างกายพร้อมต่อการผ่าตัดแบบวางยาสลบ และต้องไม่ใช่ผู้ป่วยที่มีอาการปวดใบหน้าจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เนื่องจากมักจะตอบสนองต่อการผ่าตัดได้ไม่ดีนัก
รู้จักการผ่าตัดนี้
การผ่าตัดรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal Neuralgia) คือ การผ่าตัดเพื่อแยกเส้นเลือดที่กดทับเส้นประสาทออก (Microvascular Decompression) ถือเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุของโรค และโอกาสหายขาดถึง 80-85%
ขั้นตอนผ่าตัดรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า
- วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ
- แพทย์ผ่าตัดเปิดแผลที่ท้ายทอย เพื่อแยกหลอดเลือดที่กดทับหรือเบียดเส้นประสาทคู่ที่ห้า ละใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ (Teflon Felt) เพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดขยับกลับมากดเบียดเส้นประสาทซ้ำอีก
- แพทย์ตรวจเช็กความเรียบร้อยในการผ่าตัด จากนั้นเย็บปิดแผล
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- แจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา แจ้งรายการยาประจำตัว วิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิดกับแพทย์ล่วงหน้า
- งดยาและวิตามินเสริมบางชนิดล่วงหน้าประมาณ 7 วันหรือตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาละลายลิ่มเลือด
- งดน้ำและงดอาหารล่วงหน้า 6-8 ชั่วโมง
- ตรวจสุขภาพตามรายการที่แพทย์แนะนำ เช่น ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจหู ตรวจการทำงานของหู ตรวจการทำงานของก้อนสมอง
- งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ล่วงหน้า 2-3 สัปดาห์ก่อนวันผ่าตัด
- งดใส่คอนแทคเลนส์ งดทาเล็บ งดใส่แว่นตา งดใส่ฟันปลอม และถอดอุปกรณ์ที่เจาะตามร่างกายก่อนเดินทางมาผ่าตัด เช่น จิวจมูกหรือสะดือ
- ถอดเครื่องประดับและของมีค่าเก็บไว้ที่บ้าน เพื่อป้องกันการสูญหาย
- ผู้เข้ารับบริการอาจต้องโกนผมหรือตัดผมบางส่วนออก ขึ้นอยู่กับคำแนะนำจากแพทย์
- อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด แพทย์อาจให้ผู้เข้ารับบริการอาบน้ำและสระผมด้วยสบู่กับแชมพูพิเศษสำหรับผู้ที่กำลังเข้ารับการผ่าตัดล่วงหน้า
- พาญาติมาด้วย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในระหว่างการพักฟื้นที่โรงพยาบาล
- ลางานล่วงหน้าตามคำแนะนำของแพทย์
การดูแลหลังผ่าตัด
- นอนหมอนสูงชั่วคราว และหมั่นประคบเย็น 15-20 นาทีทุกๆ 3-4 ชั่วโมง เพื่อลดอาการบวม
- ผู้เข้ารับบริการจะนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 2-5 วัน ขึ้นอยู่กับการประเมินจากแพทย์ หลังจากนั้นหากไม่มีสัญญาณอาการข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อน ก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้
- งดออกกำลังกายหนักๆ งดยกของหนัก รวมถึงงดทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก งดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์
- งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะยาวหรืออย่างถาวร เพื่อป้องกันโอกาสกลับมาเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดซ้ำ
- งดขับรถและงดเดินทางไกลจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- งดสระผมจนกว่าแพทย์จะอนุญาต แต่โดยทั่วไปหลังผ่าตัด 1 วัน แพทย์มักอนุญาตให้เริ่มสระผมด้วยแชมพูสูตรอ่อนโยนได้ แต่ห้ามถูหนังศีรษะแรงๆ และยังต้องเว้นบริเวณแผลผ่าตัดให้ยังแห้ง อย่าให้แผลเปียกชื้นจนกว่าแพทย์จะอนุญาตให้แผลโดนน้ำได้
- งดทำสีผม งดการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผมหรือตกแต่งทรงผมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสเปรย์ น้ำมัน เจล หรือโฟม อย่างน้อย 6 สัปดาห์ หรือจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- กินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายให้อย่างเคร่งครัด
- กินอาหารที่มีประโยชน์ และดื่มน้ำให้เพียงพออยู่เสมอ
- ผู้เข้ารับบริการอาจได้ยินเสียงแปลกๆ อยู่ข้างในศีรษะ อาการนี้เป็นอาการที่พบได้ปกติหลังผ่าตัด อย่าเพิ่งตกใจ แต่หากรู้สึกกังวล สามารถเดินทางไปปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมได้
- หมั่นเดินและหมั่นเคลื่อนไหวร่างกายประมาณ 5-10 นาทีในทุกๆ 3-4 ชั่วโมง
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- อาจพบอาการผิวบวมที่ใบหน้าและผิวบริเวณรอบๆ หูในช่วงแรกหลังผ่าตัด แต่เมื่อผ่านไปไม่กี่สัปดาห์อาการก็จะดีขึ้น
- อาจพบอาการปวดศีรษะเบาๆ ได้ จัดเป็นอาการข้างเคียงที่ไม่เป็นอันตรายและสามารถกินยาแก้ปวดบรรเทาอาการได้ แต่หากปวดอย่างรุนแรง กินยาแล้วไม่ดีขึ้น ให้รีบกลับมาพบแพทย์
- อาการข้างเคียงที่เป็นอันตรายและควรรีบเดินทางกลับไปพบแพทย์โดยทันที ได้แก่ มีไข้สูง แผลบวมแดง มีของเหลวหรือเลือดไหลออกจากแผล อาการง่วงซึม การมองเห็นพร่าเบลอ มีอาการสับสนหรือพูดจาไม่รู้เรื่อง คลื่นไส้อาเจียน น่องขาบวม
- อาการสมรรถภาพการได้ยินลดลง อาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง แต่มีโอกาสเกิดได้น้อยมาก
ศัลยแพทย์ระบบประสาทและสมอง
นพ. จักรี ธัญยนพพร (หมอเบนซ์)
HDcare
ข้อมูลของแพทย์
-2547 แพทยศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (เกียรตินิยมอันดับ 2)
-2549 ประกาศนียบัตร วิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก สาขาศัลยศาสตร์
-2553 สาขาประสาทศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
-2557 สาขารังสีร่วมรักษาระบบประสาท คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อมูลอื่นของแพทย์
- ศัลยแพทย์ระบบประสาทผ่าตัดมากกว่า 10 ปี
- ศัลยแพทย์หลอดเลือดสมอง ตัดต่อหลอดเลือดสมอง
- รังสีร่วมรักษาระบบประสาท สำหรับผู้ป่วย stroke หลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน หลอดเลือดสมองโป่งพอง หลอดเลือดสมองเชื่อมต่อผิดปกติ