ผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบ (แบบส่องกล้องแผลเดียว) // 1 ข้าง
รายละเอียด
HDcare สรุปให้
รักษาไส้เลื่อน ต้องผ่าตัดเท่านั้น!
- ผู้ชายอายุ 75 ปีขึ้นไป กว่า 50% มักเป็นไส้เลื่อนขาหนีบ
- ผู้ชายเป็นไส้เลื่อนขาหนีบได้มากกว่าผู้หญิง 7 เท่า
- ไส้เลื่อนหายเองไม่ได้ เพราะเกิดจากลำไส้เลื่อนเข้าออกผ่านรู้ที่ผนังหน้าท้องที่อ่อนแอ
- วิธีการรักษาต้องผ่าตัดเสริมความแข็งแรงผนังหน้าท้อง ถึงจะป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นไส้เลื่อนอีกครั้ง
- เช็กด่วน อาการแบบไหนคือไส้เลื่อน [ดูวิดีโอเลย]
ทำนัดปรึกษาทีมแพทย์ของ HDcare วันนี้
ไส้เลื่อน ถ้ายังดันกลับเข้าไปเองได้ ยังไม่อันตรายถึงกับต้องผ่าตัด แต่จะปวดและรำคาญ
- ถ้าดันกลับเข้าไปไม่ได้แล้ว ควรผ่าตัด เพราะจะปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ และอาจติดเชื้อจนไส้เน่า เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การผ่าตัดแบบส่องกล้องเป็นวิธีที่นิยมที่สุดตอนนี้
- แผลเล็กกว่า เจ็บน้อยกว่าผ่าตัดแบบเปิด
- ไม่ต้องผ่าตัดผ่านกล้ามเนื้อเข้าไป และใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
วิธีที่ราคาถูกที่สุดตอนนี้ คือการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิด
- ไม่ค่อยนิยมเพราะทำให้เกิดแผลใหญ่ที่ขาหนีบ
- ถ้าอักเสบรุนแรงจะต้องผ่าตัดแบบเปิดเท่านั้น
- ดูรายละเอียดการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิด [คลิกที่นี่]
วิธีที่แผลเล็กและเจ็บน้อยที่สุดตอนนี้
- ราคาสูงกว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้อง คือการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องแผลเดียว
- ดูรายละเอียดการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องแผลเดียว [คลิกที่นี่]
ไม่มั่นใจ ต้องผ่าตัดไส้เลื่อนแบบไหน ปรึกษาทีมแพทย์ HDcare ได้ฟรี!
รู้จักโรคนี้
ไส้เลื่อนขาหนีบ มีแบบไหนบ้าง?
ไส้เลื่อน (Hornia) คือภาวะที่อวัยวะภายในบางส่วนของร่างกายเคลื่อนออกจากช่องท้องผ่านทางรูกล้ามเนื้อที่มีความผิดปกติ อวัยวะที่พบว่าเกิดภาวะไส้เลื่อนบ่อยที่สุดคือ ลำไส้เล็ก
ประมาณ 75% ของโรคไส้เลื่อนทั้งหมดเกิดบริเวณขาหนีบ หรือที่เรียกว่า ไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal Hernia)
ไส้เลื่อนขาหนีบสามารถเกิดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ผู้ชายที่เป็นไส้เลื่อนขาหนีบ มักอยู่ในวัย 40 ปีขึ้นไป ส่วนในผู้หญิงมักเกิดในผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
ไส้เลื่อนขาหนีบแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
- ไส้เลื่อนที่เคลื่อนออกมาจากผนังหน้าท้องส่วนล่าง ทำให้มีลำไส้ยื่นออกมาบริเวณหัวหน่าว (Direct inguinal hernia)
- ไส้เลื่อนที่เคลื่อนออกมาตามรูเปิดบริเวณขาหนีบ (Indirect inguinal hernia) ไส้เลื่อนขาหนีบลักษณะนี้เป็นเฉพาะในผู้ชาย เมื่อเป็นแล้วตัวลำไส้เล็กรวมถึงแผ่นไขมันอาจเคลื่อนต่อไปถึงถุงอัณฑะได้
สาเหตุของไส้เลื่อนขาหนีบ
ในผู้ชาย ไส้เลื่อนขาหนีบมักเกิดจากภาวะผนังหน้าท้องอ่อนแอที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดความผิดปกติขึ้นที่รูหนึ่งในช่องท้อง
ระหว่างเป็นทารกชายในครรภ์ รูนี้จะทำหน้าที่เป็นทางออกของเลือดที่มาเลี้ยงลูกอัณฑะ ตามปกติรูดังกล่าวควรจะปิดไปเองตามธรรมชาติเมื่อโตขึ้น แต่เมื่อไม่ปิดก็กลายเป็นช่องทำให้ลำไส้เล็กและแผ่นไขมันเคลื่อนออกมาได้
บางกรณี ไส้เลื่อนขาหนีบอาจเป็นผลข้างเคียงจากโรค อาการ หรือพฤติกรรมบางอย่าง เช่น
- อาการไอเรื้อรัง
- โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- โรคถุงลมโป่งพอง
- ภาวะน้ำหนักตัวมาก
- พฤติกรรมเบ่งปัสสาวะและอุจจาระเป็นประจำ
- พฤติกรรมยกของหนัก
นอกจากนี้ไส้เลื่อนขาหนีบยังอาจเป็นผลมาจากการผ่าตัดที่ช่องท้อง ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อและพังผืดในช่องท้องเกิดความเปลี่ยนแปลงจนหย่อนยานกว่าปกติ ลำไส้จึงเคลื่อนออกจากตำแหน่งปกติออกมาได้ แต่กรณีนี้เกิดขึ้นได้แค่ 2-10% ของผู้ที่เคยรับการผ่าตัดภายในช่องท้องเท่านั้น
สัญญาณที่ต้องตรวจ
- แน่นท้องหรือปวดแสบปวดร้อนที่ช่องท้อง
- เจ็บหรือปวดที่ก้อน โดยเฉพาะเวลาไอ จาม ยกของหนัก หรือทำกิจกรรมที่เพิ่มแรงดันในช่องท้อง
- มีก้อนนูนแถวช่องท้อง อาจนิ่มหรือแข็งก็ได้ สามารถยุบได้เองเมื่อนอนราบ
- ถ้ามีก้อนนูนไม่ยุบ และปวดท้องมาก อาจมีภาวะลำไส้อุดตันภายในไส้เลื่อน (Incarcerated Hernia) และทำให้มีภาวะลำไส้ขาดเลือด (Strangulated Hernia) และต้องผ่าตัดฉุกเฉิน
ตรวจโรคนี้อย่างไรได้บ้าง
- ตรวจร่างกายทั้งในท่านอน ท่ายืน และให้ออกแรงเบ่ง
- อาจใช้การตรวจอัลตราซาวด์ตรวจวินิจฉัยสำหรับไส้เลื่อนช่องเชิงกราน ซึ่งมักคลำไม่เจอก้อน แต่จะมีอาการของลำไส้อุดตันเป็นๆ หายๆ
- อาจใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan หรือ MRI เพื่อตรวจยืนยันสำหรับไส้เลื่อนบางชนิด
รักษาโรคนี้ได้วิธีไหนบ้าง
การรักษาไส้เลื่อน ต้องอาศัยการผ่าตัด เพื่อนำลำไส้หรืออวัยวะอื่นให้กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิม และเย็บปิดรู หรือเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหรือพังผืดที่เป็นจุดอ่อนไม่ให้ไส้เลื่อนเคลื่อนที่ออกได้อีก
สัญญาณที่ต้องผ่าตัด
- คนที่ไส้เลื่อนที่ยังไม่เกิดภาวะไส้เลื่อนติดคา ควรรีบผ่าตัดให้เร็วที่สุด เพราะไส้เลื่อนมีโอกาสติดคาได้ทุกเมื่อ
- คนที่เกิดภาวะไส้เลื่อนติดคา แนะนำให้รีบผ่าตัด เพราะอาจเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดไปเลี้ยงและลำไส้เน่าตายได้ (ถ้าลำไส้ขาดเลือดไปเลี้ยง จะใช้เวลา 6 ชม. ก่อนที่ลำไส้จะเน่าและต้องตัดทิ้ง)
- ไส้เลื่อนช่องเชิงกรานหรือไส้เลื่อนกระบังลมชนิด Paraesophageal Hernia ปกติจะคลำก้อนไม่ได้ แต่ถ้าตรวจเจอก็แนะนำให้รีบผ่าตัด
- ไส้เลื่อนกระบังลม ชนิด Sliding Hiatal Hernia ถ้ามีอาการรุนแรงหรือเรื้อรังแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด
- เด็กที่เป็นไส้เลื่อนที่สะดือ หรือสะดือจุ่น สามารถรอดูอาการจนถึงอายุ 2 ขวบ แล้วค่อยผ่าตัดรักษา
รู้จักการผ่าตัดนี้
การรักษาไส้เลื่อนสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดเพื่อนำลำไส้กลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม พร้อมป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ ด้วยการวางตาข่ายสังเคราะห์เพื่อเสริมความแข็งแรงให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้น
เทคนิคซ่อนแผลเป็น ผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบผ่านกล้องแผลเดียว
ปัจจุบันมีเทคนิคผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบผ่านกล้องแผลเดียว (Single Incision Laparoscopic Totally Extraperitoneal Repair Inguinal Hernia) เป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้องโดยเปิดแผลประมาณ 2 ซม. ในรูสะดือ จากนั้นใส่อุปกรณ์หน้าตาคล้ายท่อ ประกอบด้วยช่องหลายขนาด เพื่อเป็นช่องทางใส่เครื่องมือผ่าตัดต่างๆ รวมถึงกล้องเข้าไป
อุปกรณ์ผ่าตัดมีความยืดหยุ่น สามารถงอและซอกซอนเข้าไปในช่องแคบๆ ภายในช่องท้องได้ ช่วยลดความบอบช้ำอวัยวะภายในของคนไข้ โดยกล้องที่ใส่เข้าไปจะฉายภาพออกมาที่จอขนาดใหญ่ในห้องผ่าตัด ช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ
ข้อดีของการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องแผลเดียว
- ลดการเสียเลือดระหว่างผ่าตัดได้ดี เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบปกติ
- ลดการบอบช้ำของอวัยวะและเนื้อเยื่อข้างเคียงในระหว่างการตัดให้น้อยที่สุด
- ขนาดแผลเล็ก ลดอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัด ใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อย
- ไส้เลื่อนขาหนีบ สามารถผ่าตัดพร้อมกัน 2 ข้างได้ในครั้งเดียว
ขั้นตอนการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องแผลเดียว
- วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ
- แพทย์เจาะรูขนาดเล็กที่สะดือ 1 รู ขนาดประมาณ 2 ซม. พร้อมใส่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป เพื่อให้เกิดช่องว่างในอุ้งเชิงกราน ช่วยให้มองเห็นอวัยวะได้ชัดเจนขึ้น
- ใช้อุปกรณ์ดึงลำไส้ให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง แล้ววางแผ่นตาข่ายสังเคราะห์ตรงที่ลำไส้เคยเคลื่อนตัวออก แล้วเย็บติดกับผนังช่องท้อง เพื่อปิดรู สร้างความแข็งแรง ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไส้เลื่อนซ้ำ
- แพทย์จะนําเครื่องมือออก พร้อมไล่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่องท้องออกจนหมด แล้วเย็บปิดแผล
ระยะเวลาในการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องแผลเดียว
ผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องแผลเดียว ใช้เวลาประมาณ 1 ชม.
เปรียบเทียบการผ่าตัดวิธีต่างๆ
ผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิด (Open Technique) [ดูรายละเอียดที่นี่]
- เปิดแผลเป็นแนวยาวประมาณ 6-8 ซม.
- หลังผ่าตัดอาจปวดแผลมาก ต้องพักฟื้นนาน กว่าจะกลับไปใช้ชีวิตปกติ
- นอน รพ. 3-5 วัน พักฟื้นต่อที่บ้าน 2-3 สัปดาห์
ผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Technique) [ดูรายละเอียดที่นี่]
- แผลมีขนาดเล็ก ประมาณ 0.5-1 ซม. ประมาณ 3-5 จุด
- รักษาไส้เลื่อนขาหนีบได้ทุกชนิดในการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว
- แผลมีขนาดเล็ก เจ็บปวดแผลน้อย โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย
- นอน รพ. แค่ 1-2 วัน กลับไปใช้ชีวิตตามปกติใน 1 สัปดาห์ เล่นกีฬาออกกำลังกายหนักใน 2-4 สัปดาห์
ผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องแผลเดียว (Single Incision Laproscopic Surgery)
- มีแผลเดียวที่สะดือ ประมาณ 2 ซม. แทบมองไม่เห็น
- รักษาไส้เลื่อนขาหนีบพร้อมกัน 2 ข้างได้ในครั้งเดียว
- แผลมีขนาดเล็ก เจ็บปวดแผลน้อย โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย
- นอน รพ. แค่ 1-2 วัน กลับไปใช้ชีวิตตามปกติใน 1 สัปดาห์ เล่นกีฬาออกกำลังกายหนักใน 2-4 สัปดาห์
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงภาวะสุขภาพทั้งหมด รวมถึงยาหรืออาหารเสริมที่กินเป็นประจําเพราะอาจมีผลต่อการผ่าตัด แพทย์อาจให้หยุดยาหรืออาหารเสริมบางอย่าง
- รักษาหรือควบคุมอาการจากโรคประจำตัวก่อนเข้าผ่าตัดไส้เลื่อน
- ระหว่างรอผ่าตัดไส้เลื่อน ควรระมัดระวังไม่ให้ไส้เลื่อนอยู่ในภาวะติดและดันกลับไม่ได้ (Incarcerated Hernia) เช่น ไม่ยกของหนัก ไม่เบ่งการขับถ่าย
- งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
- งดอาหารและดื่มน้ำก่อนผ่าตัด อย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักน้ำย่อย หรือเศษอาหารจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ปอดในระหว่างดมยาสลบ
การดูแลหลังผ่าตัด
หลังผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง ต้องพักฟื้นกี่วัน?
- พักฟื้นที่ รพ. ประมาณ 1-2 วัน
- พักฟื้นที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์
- กลับไปเล่นกีฬาและออกกกำลังหนักได้ใน 2-4 สัปดาห์
หลังผ่าตัดไส้เลื่อน แนะนำให้ดูแลตัวเองดังนี้
- งดยกของหนัก
- งดการออกกำลังกายหนัก เช่น การกระโดด ยกน้ำหนัก หรือออกกำลังกล้ามเนื้อท้องในช่วง 2 เดือนแรก
- งดเบ่งถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ หรือไอจามรุนแรง
- ห้ามให้แผลผ่าตัดโดนน้ำจนกว่าแผลจะแห้ง
- ห้ามแกะ เกาบริเวณแผล เพื่อลดการติดเชื้อหรือเป็นหนอง
- ควรลดน้ำหนักในผู้ที่มีโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน การระวังไม่ให้มีน้ำหนักเกิน
- กินผัก ผลไม้ และดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อป้องกันท้องผูก
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
การผ่าตัดไส้เลื่อนอาจเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นได้ แต่มีโอกาสค่อนข้างน้อย ดังนี้
- อาการข้างเคียงจากยาชาหรือยาสลบ
- หลังการผ่าตัดประมาณ 1-2 วัน จะรู้สึกเจ็บและตึงบริเวณแผล สามารถกินยาแก้ปวดได้ตามคำแนะนำของแพทย์
- เส้นประสาทผิวหนังถูกทำลาย ผิวหนังไม่มีความรู้สึก หรือชาที่ผิวหนังบริเวณใกล้เคียงกับแผลผ่าตัด
- มีอาการปวดเรื้อรังบริเวณแผลผ่าตัด แต่พบได้น้อยมาก
- มีลิ่มเลือดที่แผลผ่าตัด หรือแผลติดเชื้อ
- การบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง
- หากพบว่าแผลมีความผิดปกติ เช่น มีหนอง หรือเลือดไหลออกมาจากแผล หรือมีอาการปวดรุนแรงขึ้น ควรรีบพบแพทย์
สาขาศัลยศาสตร์
นพ. ธนเดช วงศ์จารุกร (หมอเจมส์)
HDcare
ข้อมูลของแพทย์
- 2550 แพทย์ศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- 2557 วุฒิบัตรเฉพาะทาง สาขาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
- 2560 ศัลยศาสตร์ส่องกล้อง โรงพยาบาลตำรวจ
- 2561 Certificate of Training of Endoscopic and Laparoscopies Surgery, Fukuoka Red Cross Hospital (Japan)
ข้อมูลอื่นของแพทย์
- ศัลยแพทย์ประสบการณ์ผ่าตัดมากกว่า 10 ปี
- ศัลยแพทย์ชำนาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้องขั้นสูง (Advanced Laparoscopic Surgery) ผ่าตัดผ่านกล้องแผลเดียว (Single Incision Laparoscopic Surgery) ผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปาก (Transoral Endoscopic Thyroidectomy) ประสบการณ์ผ่าตัดมากกว่า 5 ปี
- ประสบการณ์ผ่าตัดถุงน้ำดีมากกว่า 600 เคส ผ่าตัดไส้เลื่อนมากกว่า 500 เคส