รักษาอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจตอนนอน ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ RF
รายละเอียด
HDcare สรุปให้
นอนกรนอันตราย หยุดหายใจขนาดหลับ อาจถึงตายได้!
- นอนกรน เกิดจากการอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้นอนหลับไม่สนิท และมีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ ตื่นเช้ามาก็ไม่สดชื่น นอนไม่เต็มอิ่ม ง่วงตอนกลางวัน กระทบต่อการทำงานที่ต้องใช้สมาธิมากๆ เสี่ยงอุบัติเหตุถึงชีวิต!
- นอนกรนมากกว่า 3 คืนต่อสัปดาห์ และมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์
จะรู้ได้ยังไงว่าตัวเองนอนกรน?
- ให้คนที่บ้านหรือคู่นอนช่วยสังเกต
- ใช้เครื่องบันทึกเสียงตอนนอน
- ตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)
ให้แอดมินแนะนำโปรตรวจการนอนหลับให้คุณวันนี้
การผ่าตัดเป็นการรักษาการนอนกรนที่ต้นเหตุ แต่ทำได้หลายแบบ เช่น
- จี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency: RF)
- ร้อยไหมแก้กรน (Barbed Suspension Palatoplasty) [คลิก]
- ผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นช่องจมูก (Septoplasty)
- ผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน (Uvulopalatopharyngoplasty)
- ผ่าตัดต่อมทอนซิล (Tonsillectomy) [คลิก]
- ผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกร (Maxillary Advancement Surgery)
ทำนัดปรึกษาทีมแพทย์ของ HDcare วันนี้
ร้อยไหมแก้กรน กับใช้คลื่นวิทยุแก้กรน ต่างกันยังไง?
- การร้อยไหม จะใช้ไหมดึงรั้งผิวลิ้นไก่ เพดานอ่อน และคอหอยส่วนที่หย่อนให้กระชับเพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น
- การใช้คลื่นวิทยุ ใช้อุปกรณ์ปล่อยพลังงานทำให้เนื้อเยื่อขยายพื้นที่ ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น
- ทั้งสองวิธีใช้เวลาทำประมาณ 20-30 นาที แผลเล็กอยู่ในช่องปาก ไม่มีแผลภายนอกที่สังเกตเห็นได้
รู้จักโรคนี้
อาการนอนกรนเกิดจากอะไร?
อาการนอนกรน (Snoring) คือ อาการเสียงดังในระหว่างที่เราหายใจขณะนอนหลับ เกิดจากความตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ไปขัดขวางเส้นทางเข้าออกของลมหายใจ และเกิดเป็นเสียงที่ดังขึ้นจากการที่เนื้อเยื่อด้านหลังหลอดลมส่วนบน ลิ้นไก่ และเพดานอ่อนสั่นสะเทือน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการนอนกรนมีหลายสาเหตุ โดยสามารถเกิดได้จากทั้งโรคประจำตัวหรือพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ไม่เหมาะสม เช่น
- โรคภูมิแพ้
- โรคอ้วน
- อายุที่มากขึ้น
- ภาวะต่อมทอนซิลโตจนไปขวางทางเดินหายใจ
- การใช้ยานอนหลับหรือยาคลายเครียด
- การดื่มสุราอย่างต่อเนื่อง
- การสูบบุหรี่เป็นประจำ
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับคืออะไร?
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการหยุดหายใจขึ้นมาระหว่างที่นอนหลับ มักเกิดจากการปิดกั้นของทางเดินหายใจจนทำให้ไม่มีอากาศผ่านเข้าออกในร่างกายอย่างเพียงพอ ทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำลง ความดันโลหิตสูงขึ้น ระบบประสาททำงานหนักขึ้นเพื่อลดโอกาสที่ร่างกายจะหยุดกระบวนการหายใจขณะนอนหลับ
- ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับมักมีอาการนอนกรนเสียงดัง หลับไม่สนิทหรือมักตื่นขึ้นมากลางดึก และตื่นตอนเช้าจะรู้สึกไม่สดชื่น มักปวดศีรษะในตอนเช้าร่วมด้วย และยังส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนเพลียในช่วงกลางวัน เนื่องจากร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ในช่วงกลางคืน
- ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นภาวะที่มักเกิดจากโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ภาวะอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้ โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ และยังพบได้บ่อยในกลุ่มผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้ยานอนหลับเป็นประจำ
สัญญาณที่ต้องตรวจ
- ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น อ่อนเพลีย รู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม หรือปวดศีรษะ
- ง่วงนอนหรือเผลอหลับระหว่างวัน
- หายใจติดขัดหรือหายใจไม่สะดวกตอนนอน อาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำลายระหว่างนอนหลับ
- สะดุ้งตื่นกลางดึกหรือหายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจนตื่นกลางดึก
- ความดันโลหิตสูงหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดโดยหาสาเหตุไม่ได้
- สมรรถภาพทางเพศลดลง
ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้
ให้แอดมินแนะนำโปรตรวจการนอนหลับให้คุณวันนี้
ตรวจโรคนี้อย่างไรได้บ้าง
- แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายดังนี้
- ตรวจลักษณะทั่วไปที่อาจทำให้นอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ เช่น คอสั้น น้ำหนักตัวมาก มีความผิดปกติในลักษณะโครงสร้างของใบหน้า
- ตรวจหู คอ จมูกอย่างละเอียด ได้แก่ การตรวจโพรงจมูก การตรวจหลังโพรงจมูก ช่องปาก คอหอย เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ทอนซิล โคนลิ้น และกล่องเสียง
- ตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ รวมถึงความรุนแรงและคุณภาพของการนอน
รักษาโรคนี้ได้วิธีไหนบ้าง
วิธีรักษาอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับแบ่งออกได้หลายวิธี โดยการเลือกวิธีรักษาจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและลักษณะอาการที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งวิธีที่นิยมในปัจจุบันจะแบ่งได้ 2 แบบ คือ
1. รักษาโดยไม่ผ่าตัด เช่น กินยา ออกกำลังกาย ปรับท่านอน ใส่เครื่องช่วยหายใจ ใส่ฟันยาง
2. รักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งแบ่งได้หลายวิธี
สัญญาณที่ต้องผ่าตัด
เมื่อไหร่ต้องใช้คลื่นความถี่วิทยุ แก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ?
การใช้คลื่นความถี่วิทยุเป็นอีกวิธีรักษาแบบผ่าตัด โดยเป็นการผ่าตัดเล็กเพื่อลดขนาดเนื้อเยื่อที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ
นิยมใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ลองรักษาด้วยวิธีไม่ต้องผ่าตัดแต่อาการยังไม่ดีขึ้น หรือในผู้ที่ไม่สะดวกใส่อุปกรณ์เสริม เช่น ฟันยางหรือเครื่องช่วยหายใจ
นอกจากนี้แพทย์อาจใช้การจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ เป็นการผ่าตัดร่วมในกรณีที่ผู้ป่วยตัดสินใจรักษาด้วยวิธีผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และผนังคอด้วย
รู้จักการผ่าตัดนี้
คลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency: RF) มีประโยชน์ในการสร้างพลังงานความร้อนจนทำให้เนื้อเยื่อส่วนที่ทำให้เกิดปัญหานอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับหดตัวเข้าหากัน ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น การสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อระหว่างนอนหลับลดน้อยลง
การแก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับด้วยคลื่นความถี่วิทยุเห็นผลหลังรับบริการประมาณ 2-3 ครั้ง
- ทำได้เดือนละ 1 ครั้ง พอผ่านไป 4-6 เดือน เนื้อเยื่อตรงโคนลิ้นหรือเพดานอ่อนจะค่อยๆ ขยายพื้นที่ทำให้ลมหายใจเข้าออกได้สะดวกขึ้น
ข้อดีของการใช้คลื่นความถี่วิทยุ แก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- เป็นการผ่าตัดเล็ก ไม่ต้องดมยาสลบ
- แผลมีขนาดเล็ก และสังเกตเห็นได้ยาก
- ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล
- ใช้เวลาทำหัตถการไม่นาน ประมาณ 30 นาที
- กลับมาทำซ้ำได้อีก หากกลับมามีอาการอีกครั้งหลังรักษาไปแล้ว
ขั้นตอนการใช้คลื่นความถี่วิทยุ แก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- แพทย์ฉีดสเปรย์ยาชา ร่วมใช้ยาชาแบบทาบริเวณผิวโคนลิ้นหรือเพดานอ่อน และอาจฉีดยาชาตามด้วยอีกครั้ง
- แพทย์ใช้อุปกรณ์คล้ายกับเข็มขนาดเล็กและมีความยาวโค้งคล้ายกับตะขอสอดเข้าไปยังตำแหน่งผิวโคนลิ้นหรือเพดานอ่อน แล้วใช้เข็มสอดเข้าไปด้านในเนื้อเยื่อ แล้วปล่อยคลื่นความถี่วิทยุ
- เนื้อเยื่อทางเดินหายใจที่ทำให้เกิดปัญหาจะค่อยๆ หดตัวจนทำให้หายใจได้ง่ายขึ้น
- แผลที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเป็นรูขนาดเล็กๆ และไม่จำเป็นต้องเย็บแผล
เปรียบเทียบการผ่าตัดวิธีต่างๆ
ใช้คลื่นความถี่วิทยุ จี้บริเวณเพดานอ่อน
- ใช้อุปกรณ์สอดไปในเนื้อเยื่อตรงเพดานอ่อนแล้วปล่อยคลื่นวิทยุ
- เนื้อเยื่อตรงเพดานอ่อนจะค่อยๆ หดตัว ขยายช่องทางเดินหายใจให้หายใจสะดวกขึ้น
- แผลเล็กอยู่ในช่องปาก มองไม่เห็น
ใช้คลื่นความถี่วิทยุ จี้โคนลิ้น
- ใช้อุปกรณ์สอดไปในเนื้อเยื่อตรงโคนลิ้นแล้วปล่อยคลื่นวิทยุ
- เนื้อเยื่อตรงโคนลิ้นจะค่อยๆ หดตัว ขยายช่องทางเดินหายใจให้หายใจสะดวกขึ้น
- แผลเล็กอยู่ในช่องปาก มองไม่เห็น
- เหมาะกับคนที่อาการไม่รุนแรง
ร้อยไหมแก้กรน
- ใช้ไหมดึงลิ้นไก่ เพดานอ่อน และคอหอยส่วนที่หย่อนให้กระชับ เพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น
- แผลเล็กอยู่ในช่องปาก มองไม่เห็น
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงภาวะสุขภาพทั้งหมด รวมถึงยาหรืออาหารเสริมที่กินเป็นประจําเพราะอาจมีผลต่อการผ่าตัด แพทย์อาจให้หยุดยาหรืออาหารเสริมบางอย่าง
- งดอาหารและดื่มน้ำก่อนผ่าตัด อย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักน้ำย่อย หรือเศษอาหารจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ปอดในระหว่างดมยาสลบ
- งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หากวางแผนผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และผนังคอจะต้องนอน รพ. ก่อนวันผ่าตัดประมาณ 1-2 วัน
- ตรวจสุขภาพตามรายการที่แพทย์แนะนำก่อน เช่น ตรวจเลือด ตรวคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ปอด
- แพทย์อาจแนะนำให้ผู้เข้ารับบริการตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อนำผลตรวจการนอนหลับมาพิจารณาแนวทางการรักษาเพิ่มเติม
- หากในวันใกล้รับบริการมีอาการป่วยหรือติดเชื้อในทางเดินหายใจ ให้เลื่อนวันรับบริการและรักษาอาการให้หายดีก่อน
การดูแลหลังผ่าตัด
- หลังการรักษาด้วยคลื่นวิทยุ ไม่จำเป็นต้องพักฟื้นที่ รพ.
- หลังการรักษา 1 สัปดาห์ งดขับเสมหะแรงๆ บ้วนปากแรงๆ และงดแปรงฟันเข้าไปลึกจนโดนแผล
- หลังการรักษา 1 สัปดาห์ งดใช้น้ำยาบ้วนปาก เนื่องจากอาจมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่ทำให้แผลระคายเคืองและหายช้าได้
- ควรกินอาหารอ่อนและมีเนื้อเหลว ไม่แข็งและไม่มีรสเผ็ดหรือรสจัด เช่น ข้าวต้ม ซุป โจ๊ก สามารถกินอาหารที่เย็นได้ เช่น เยลลี่ ไอศกรีม
- 1-2 สัปดาห์แรกอาจเจ็บแผลข้างในคอ ให้กินยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบที่แพทย์สั่งร่วมกับประคบเย็นลดอาการปวดเจ็บแผล
- หลังจากแผลหายดี พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสกลับมานอนกรนและหยุดหายใจซ้ำอีก
- ถ้ากินยานอนหลับเป็นประจำ ควรกินให้น้อยลงหรือเลิกกิน เพราะยานอนหลับเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้นอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับ
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
โดยทั่วไปผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังการจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุมักพบได้น้อยและระดับอาการไม่รุนแรง โดยส่วนมากมักมีอาการอยู่ไม่กี่วันหลังผ่าตัดแล้วอาการก็จะค่อยๆ หายไปเอง โดยกรณีที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่
- เลือดไหลออกจากแผล
- แผลติดเชื้อ
- ภาวะลิ้นชา
- กลืนอาหารหรือกลืนน้ำลายลำบาก
- อาการเสียงเปลี่ยน แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อย
สาขาโสต ศอ นาสิกวิทยา
พญ. เพชรรัตน์ แสงทอง (หมอเชอร์รี่)
HDcare
ข้อมูลของแพทย์
- แพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (เกียรตินิยมอันดับ 1)
- สาขาโสต ศอ นาสิกวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อนุสาขาเวชศาสตร์การนอนหลับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อมูลอื่นของแพทย์
- แพทย์เฉพาะทางสาขา โสต ศอ นาสิกวิทยา และ เวชศาสตร์การนอนหลับ
- โสต ศอ นาสิกแพทย์ประสบการณ์ผ่าตัดแก้ไขทางเดินหายใจส่วนต้น มากกว่า 5 ปี