ผ่าชิ้นเนื้อท่อสะดือ (แบบส่องกล้อง)
ตัดสะดือที่ไม่หลุดเองตอนเด็กเพื่อป้องกันความผิดปกติ
ป้องกันมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะปัสสาวะได้
ผ่าตัดส่องกล้อง แผลเล็ก ฟื้นตัวไว
รายละเอียด
HDcare สรุปให้
5-10% ของคนทั่วโลกสายสะดือจะไม่ฝ่อแห้งและหลุดไปเอง อาจเกิดความผิดปกติร้ายแรงขั้นเป็นมะเร็ง
- ถ้าไม่ผ่าตัดอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ติดเชื้อ สารคัดหลั่งรั่วไหล สะดือแฉะเรื้อรัง หรือร้ายแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งที่เกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะได้
ไม่แน่ใจว่าที่เป็นอยู่ต้องผ่าตัดไหม
ทำนัดปรึกษาทีมแพทย์ของ HDcare วันนี้
ผ่าตัดสะดือได้สองแบบ
- ผ่าตัดแบบเปิด แผลกว้าง พักฟื้นนาน และมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้
- ผ่าตัดแบบส่องกล้อง แพทย์เห็นความผิดปกติได้ชัดเจน แผลเล็ก หลังทำเจ็บแผลน้อย และพักฟื้นไม่นานเท่าแบบเปิด
ผ่าตัดแบบไหน ก็มีผู้ช่วยส่วนตัวดูแลทุกขั้นตอน
รีบปรึกษาแพทย์ของ HDcare โดยไม่มีค่าใช้จ่ายวันนี้
รู้จักโรคนี้
หลังจากที่คุณแม่คลอดลูก สายสะดือที่เชื่อมต่อระหว่างตัวทารกกับรกของแม่จะถูกตัดออก สายสะดือที่เหลืออยู่ที่ตัวทารกจะค่อยๆ ฝ่อแห้งและหลุดออกไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ และขนาดสะดือก็จะหดสั้นและเล็กลงตามการเติบโต
แต่ประมาณ 5-10% จากคนทั่วโลกที่สายสะดือจะไม่ฝ่อแห้งไปหลังคลอด ขนาดสะดือไม่หดเล็กลงแม้ร่างกายจะโตเป็นผู้ใหญ่ ทำให้เกิดความผิดปกติร้ายแรงขั้นเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะปัสสาวะ เพราะเป็นอวัยวะที่อยู่ใกล้กับสะดือและเคยเชื่อมต่อกับสะดือตอนที่ยังอยู่ในครรภ์
สาเหตุที่สายสะดือไม่ฝ่อแห้งและไม่หดเล็กลงอาจเกิดจากความผิดปกติด้านพันธุกรรม เนื้อเยื่อเจริญเติบโตผิดปกติ หรือเงื่อนไขสุขภาพบางอย่างที่ส่งผลต่อการฝ่อตัวและหดตัวของสะดือ
สัญญาณที่ต้องตรวจ
ภาวะสะดือไม่หด มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ยาก สามารถตรวจความผิดปกติได้กับแพทย์เมื่อมีอาการดังนี้
- ปวดท้องรอบๆ สะดือ หรือไม่สบายตัวโดยเฉพาะบริเวณสะดือ
- มีรอยแดงรอบสะดือ ซึ่งเป็นสัญญาณของอาการอักเสบหรือติดเชื้อที่สะดือ
- ภาวะสะดือแฉะ ซึ่งจะพบของเหลวหรือสารน้ำหลั่งออกมาจากสะดือ โดยอาจเป็นหนองหรือของเหลวมีกลิ่น ถือเป็นสัญญาณของอาการติดเชื้อ และอาจบอกถึงความผิดปกติอื่นๆ ข้างในสะดือด้วย
- ตรวจสุขภาพทั่วไปและแพทย์ตรวจพบความผิดปกติบริเวณสะดือ โดยอาจพบในขั้นตอนการตรวจอัลตราซาวด์ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุและวิธีรักษาที่เหมาะสม
ตรวจโรคนี้อย่างไรได้บ้าง
- ตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการตรวจเพื่อดูภาพภายในและโดยรอบของสะดือ มักเป็นการตรวจแรกเพื่อคัดกรองความผิดปกติของสะดือ
- ตรวจ CT Scan มักเป็นรายการตรวจถัดมา หากแพทย์พบความผิดปกติจากการตรวจอัลตราซาวด์ โดยการตรวจ CT Scan จะช่วยแสดงภาพภายในสะดือได้คมชัดและละเอียดกว่าภาพจากอัลตราซาวด์ ทำให้ตรวจหาความผิดปกติได้แม่นยำยิ่งขึ้น
รักษาโรคนี้ได้วิธีไหนบ้าง
ภาวะสะดือไม่หดใช้การผ่าตัดเป็นวิธีรักษาหลัก โดยเฉพาะในภาวะสะดือไม่หดเริ่มทำให้เกิดอาการข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ติดเชื้อ สารคัดหลั่งรั่วไหล สะดือแฉะเรื้อรัง แพทย์จำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดเพื่อกำจัดชิ้นเนื้อสะดือส่วนที่ทำให้เกิดความผิดปกติออก
สัญญาณที่ต้องผ่าตัด
หากตรวจพบภาวะสะดือไม่หดร่วมกับภาวะสะดือแฉะ หรือตรวจพบอาการข้างเคียงอื่นๆ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งโดยทั่วไปในผู้ที่มีภาวะสะดือไม่หด แพทย์มักจะแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อป้องกันโอกาสเกิดความผิดปกติที่รุนแรงขึ้นได้ในอนาคต
รู้จักการผ่าตัดนี้
การผ่าตัดเลาะสะดือ (Laparoscopic Excision of Urachus) คือ การผ่าตัดชิ้นเนื้อบริเวณสะดือที่ไม่หดตัวเล็กลงตามการเติบโตของร่างกายและทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ออกจากสะดือ มีขั้นตอนการผ่าตัดหลักๆ ดังนี้
- วิสัญญีแพทย์ให้ยาสลบผู้เข้ารับบริการ
- แพทย์เปิดแผลและสอดกล้องผ่าตัดผ่านผิวหนังเข้าไปด้านในแผล เพื่อให้เห็นภาพภายในสะดือทั้งหมดและฉายขึ้นจอภาพภายในห้องผ่าตัด
- แพทย์ตัดแต่งเนื้อสะดือไปจนถึงหลังคาของกระเพาะปัสสาวะซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ในคนไข้บางรายอาจตัดกระเพาะปัสสาวะบางส่วนออกหากเนื้อเยื่อที่ผิดปกติกระจายลุกลาม
- แพทย์ตรวจสอบว่าไม่มีการรั่วไหลของเลือด และตรวจความเรียบร้อยของแผล จากนั้นเย็บผิดแผลให้เรียบร้อย คนไข้บางรายอาจต้องใส่สายสวนปัสสาวะไว้ประมาณ 5 วันหลังผ่าตัด
เปรียบเทียบการผ่าตัดวิธีต่างๆ
การผ่าตัดเลาะสะดือแบ่งออกได้ 2 เทคนิค ได้แก่
- การผ่าตัดแบบเปิด (Open Surgery) เป็นเทคนิคการผ่าตัดที่แพทย์จะเปิดแผลใหญ่บนผิวหนัง ทำให้แผลมีขนาดแผลหลังผ่าตัดที่ใหญ่กว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ใช้เวลาพักฟื้นนาน และมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นบริเวณที่ผ่าเปิดแผลได้
- การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) เป็นเทคนิคการผ่าตัดที่แพทย์จะเปิดแผลขนาดเล็ก และสอดกล้องผ่าตัดเข้าไปด้านในแผลเพื่อให้เห็นภาพความผิดปกติของอวัยวะชัดขึ้น จากนั้นแพทย์จะใช้เครื่องมือผ่าตัดพิเศษเพื่อดำเนินการตัดแต่งเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ โดยมีจอมอนิเตอร์ที่แสดงภาพจากกล้องผ่าตัดช่วยอำนวยความสะดวกให้ผ่าตัดอย่างแม่นยำขึ้น มีจุดเด่น คือ ทำให้มีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก ทำให้เจ็บแผลน้อย และใช้เวลาพักฟื้นสั้นกว่า
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- แจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา ประวัติการผ่าตัดในอดีต รายการยาประจำตัว วิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิดกับแพทย์ล่วงหน้า
- งดยาและวิตามินเสริมบางชนิดล่วงหน้าประมาณ 7 วันหรือตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาละลายลิ่มเลือด
- งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- งดใส่คอนแทคเลนส์ งดทาเล็บ งดใส่แว่นตา ถอดใส่ฟันปลอม รวมถึงเครื่องประดับทุกชนิดออกจากร่างกาย
- ตรวจสุขภาพตามรายการที่แพทย์สั่งเสียก่อน เช่น ตรวจเลือด ตรวจอัลตราซาวด์ ตรวจเอกซเรย์ร่างกาย เพื่อให้แน่ใจถึงความพร้อมในการผ่าตัด
- งดน้ำและงดอาหารล่วงหน้าเป็นเวลา 6-12 ชั่วโมง
- พาญาติมาด้วยในวันผ่าตัด เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในระหว่างพักฟื้นที่โรงพยาบาล
- ลางานล่วงหน้าประมาณ 2-3 วัน หรือตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ เนื่องจากแพทย์อาจให้ผู้เข้ารับบริการแต่ละท่านนอนพักฟื้นต่อที่โรงพยาบาลไม่เท่ากัน แต่โดยทั่วไปผู้เข้ารับบริการจะสามารถกลับไปทำงานได้ภายใน 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด
การดูแลหลังผ่าตัด
- พักผ่อนให้มากๆ งดยกของหนัก งดออกกำลังกายหนักๆ หรือการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากประมาณ 2-4 สัปดาห์ หรือจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- หมั่นเดินเบาๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด
- ในช่วงแรกๆ ให้กินอาหารที่ย่อยง่าย และกินอาหารที่มีประโยชน์อยู่เสมอ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อให้แผลฟื้นตัวเร็วขึ้น
- หมั่นเปลี่ยนผ้าปิดแผล ดูแลแผลให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ อย่าให้แผลเปียกชื้นจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- กินยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้ครบอย่างเคร่งครัด
- เดินทางกลับมาตรวจแผลกับแพทย์ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด และในผู้เข้ารับบริการบางท่านอาจได้รับคำแนะนำให้กลับมาตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของสะดืออยู่เรื่อยๆ ในระยะยาวด้วย
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- คนไข้อาจปัสสาวะเป็นเลือดในช่วง 5-7 วันแรกหลังผ่าตัด ซึ่งเป็นผลมาจากความระคายเคืองของแผล แต่หลังจากนั้นสีของปัสสาวะจะค่อยๆ กลับไปเป็นปกติอีกครั้ง
- สำหรับผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย และควรรีบกลับมาพบแพทย์ทันทีหลังพบอาการ ได้แก่ อาการท้องอืด ปวดท้อง ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่แผลหรือเกิดปัญหาในทางเดินอาหาร และอาการปัสสาวะไม่ออก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณความผิดปกติที่ทางเดินปัสสาวะ