อาการไอ เป็นการตอบสนองของร่างกายเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ เช่น เชื้อโรค เสมหะ และฝุ่นควัน เมื่อสิ่งแปลกปลอมถูกกำจัดหมดไปอาการไอก็จะหายไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งส่วนมากจะใช้เวลาไม่เกิน 3-4 สัปดาห์ แต่หากใครที่ไอติดต่อกันเป็นเดือนๆ คงรู้สึกกังวลใจไม่น้อยเลยจริงไหม? เพราะนอกจากจะหวั่นวิตกว่า “นี่ฉันป่วยเป็นอะไร?” บางครั้งยังทำให้เรารำคาญใจ และอาจเป็นที่รังเกียจของคนรอบข้างอีกต่างหาก ... เรามาดูกันดีกว่าว่า ไอเรื้อรัง เกิดจากอะไรบ้าง และเราจะรักษาได้อย่างไร
ไอเรื้อรัง (Chronic cough) คืออาการไอที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันนานกว่า 8 สัปดาห์ ซึ่งอาจเป็นการไอแบบแห้งๆ ไอมีเสมหะ หรือการไอที่มาพร้อมกับอาการอื่นๆ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ เสียงแหบ มีไข้ หายใจติดขัด แสบร้อนหน้าอก และไอเป็นเลือด ซึ่งลักษณะการไอที่แตกต่างกันเหล่านี้ ก็เกิดจากสาเหตุที่ต่างกันไป
ไอเรื้อรัง อันตรายหรือไม่?
อาการไอเรื้อรังโดยที่เราไม่ทราบสาเหตุ นับเป็นความผิดปกติที่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อสืบหาต้นสายปลายเหตุ โดยเฉพาะเมื่อการไอเรื้อรังของเรามีอาการเหล่านี้พ่วงมาด้วย...
- ไอเป็นเลือดสดๆ หรือเสมหะมีเลือดปน
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- หอบเหนื่อยง่าย
- เกิดปอดอักเสบบ่อยครั้ง
สาเหตุของอาการไอเรื้อรัง
สาเหตุหรือความผิดปกติที่ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังนั้นมีอยู่มากมาย เช่น
- มีเสมหะไหลลงคือ หรือเสมหะอุดตันในทางเดินหายใจ
- โรคหอบหืด
- โรคหลอดลมอักเสบ
- โรคกรดไหลย้อน ซึ่งมักมีอาการแสบร้อนหน้าอกร่วมด้วย
- มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ เช่น ปอดบวม
- โรคภูมิแพ้ เช่น แพ้อากาศเย็น แพ้ละอองเกสร แพ้สารเคมี และได้รับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้
- การสูบบุหรี่
- โรคถุงลมโป่งพอง
- โรคมะเร็งปอด ซึ่งการไอมักมีเลือดปนมากับเสมหะ และมีน้ำหนักลดร่วมด้วย
- โรคไอกรน
- โรควัณโรค ซึ่งบางครั้งมีอาการไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด และมีไข้หนาวสั่น
- ผลจากการใช้ยาควบคุมความดันโลหิต
การรักษาอาการไอเรื้อรัง
การรักษาอาการไอเรื้อรัง จะต้องตรวจหาสาเหตุของอาการและรักษาความผิดปกตินั้น เช่น
- หากมีเสมหะไหลลงคอ หรือเสมหะปิดกั้นทางเดินหายใจ มักรักษาด้วยยาแก้แพ้ (Antihistamine) ยา Chlorpheniramine หรือยา Fluticasone รวมถึงอาจใช้ยาพ่น Ipratropium เพื่อทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้นด้วย
- หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียจนเกิดปอดบวมหรือหลอดลมอักเสบ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อที่เป็นต้นเหตุ
- หากคนไข้เป็นโรคหอบหืด จะต้องรักษาด้วยยาพ่นเพื่อขยายหลอดลม หรือใช้สเตียรอยด์เพื่อบรรเทาความอักเสบที่หลอดลม
- หากเป็นโรคกรดไหลย้อน คนไข้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการทานอาหาร เช่น ไม่นอนหลังทานอาหารอิ่ม และงดอาหารที่เป็นกรดสูง อย่างน้ำอัดลม แอลกอฮอล์ หรืออาหารรสจัด นอกจากนี้อาจรักษาด้วยยา เช่น ยา Omeprazole และ Ranitidine
- หากพบว่าป่วยเป็นวัณโรค แพทย์อาจรักษาด้วยยา Isoniazid ยา Rifampicin หรือยา Streptomycin เพื่อกำจัดเชื้อก่อโรค ร่วมกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
นอกจากนี้ หากอาการไอรุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวัน แพทย์อาจให้ยาระงับอาการไอ เช่น Codeine และบางครั้งเราอาจทานยาอมหรือยาน้ำแก้ไอ เพื่อช่วยให้รู้สึกชุ่มคอ และช่วยบรรเทาอาการไอได้ระยะหนึ่ง
การป้องกันอาการไอเรื้อรัง
- งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฝุ่นควัน มลพิษ
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ปอดบวม หลอดลมอักเสบ เพื่อป้องกันการติดโรค
- ในผู้ที่เป็นภูมิแพ้ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยการทานผักผลไม้ ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกายประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ
เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ
บทความแนะนำ
- พยาธิ: ประเภท สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
- 7 ประโยชน์ของนมถั่วเหลือง
- มันเทศ ลดน้ำหนักได้จริงไหม สารอาหาร ข้อควรระวัง
- ข้าวฟ่าง: สรรพคุณ ประโยชน์ วิธีใช้เพื่อสุขภาพ
- ขวดพลาสติกใช้แล้ว เสี่ยงอันตรายเมื่อใช้ซ้ำ
ที่มาของข้อมูล
ปิด
ปิด
- Chronic Cough: Causes, Treatment, and More. Healthline. (https://www.healthline.com/health/chronic-cough)
- Chronic Cough: Causes, symptoms, and treatment. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/321597)
- Chronic Cough: Treatment, Home Remedies, Symptoms, Causes & Prevention. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/chronic_cough/article.htm)