มันเทศ ลดน้ำหนักได้จริงไหม? สารอาหาร ข้อควรระวัง

“กินมันติดเหงือก กินเผือกติดฟัน” แต่ถ้ากิน “มันเทศ” อย่างถูกวิธี รับรองว่าคุณจะได้ทั้งความอร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายกลับไปด้วยแน่ๆ  เชื่อไหมว่า ถึงจะเป็นอาหารประเภทแป้ง มีคาร์โบเดรตสูงชนิดที่คนกลัวอ้วน งดแป้ง ต่างเบือนหน้าหนี แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเทศกลับช่วยลดน้ำหนักได้ดีรวมถึงช่วยต้านโรค ชะลอวัย และทำให้เซลล์ในร่างกายแข็งแรงได้  เรามาทำความรู้จักมันเทศอย่างละเอียดดีกว่า

ทำความรู้จักมันเทศ

มันเทศ (sweet potato) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ipomoea batatas (L.) Lam. มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเขตร้อนของทวีปอเมริกาก่อนจะแพร่ต่อไปยังทวีปอื่นๆ ทั่วโลกรวมทั้งภูมิภาคเอเชียและไทยเรา จัดเป็นพืชที่เป็นเถาเลื้อยราบไปบนพื้นดิน  มีระบบรากฝอย รากสะสมอาหารที่ขยายตัวเป็น “หัว” อาจเกิดจากข้อของลำต้นที่ใช้ปลูก หรือเกิดจากลำต้นที่ทอดยาวไปตามพื้นดิน  ส่วนหัวและส่วนท้ายมีความเรียว ตรงกลางจะมีลักษณะป่องออก

มันเทศอาจแบ่งได้ 3 สายพันธุ์ ตามอายุการเก็บเกี่ยว ได้แก่ พันธุ์เบา พันธุ์กลาง พันธ์ุหนัก  ซึ่งเก็บเกี่ยวได้เร็ว – ช้า ตามลำดับ  นอกจากนี้ยังมีสายพันธู์อื่นๆ ตามแต่ละประเทศอีก เช่น พันธ์ุไทจุง ประเทศไต้หวีน  พันธุ์ห้วยสีทน 1 ที่ได้จากการคัดเลือกพันธุ์จากไต้หวัน  สายพันธุ์ที่แตกต่างกันนี่เองที่ทำให้สีของเนื้อข้างในมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสีแดง เหลือง ม่วง  นวล หรือขาว

คุณค่าทางโภชนาการของมันเทศ

ในส่วนของหัวมันเทศ 100 กรัม แบบปรุงสุด ไม่ใส่เกลือ จะให้คุณค่าทางโภชนาการดังนี้

  • พลังงาน 90 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 20.7 กรัม
  • น้ำตาล 6.5 กรัม
  • ใยอาหาร 3.3 กรัม
  • ไขมัน 0.15 กรัม
  • โปรตีน 2.0 กรัม
  • วิตามินเอ 961 ไมโครกรัม (120% DV)
  • เบตา-แคโรทีน 11,509 ไมโครกรัม (107% DV)
  • ไทอามีน (บี1) 0.11 มิลลิกรัม (10% DV)
  • ไรโบเฟลวิน (บี2) 0.11 มิลลิกรัม (9% DV)
  • ไนอาซิน (บี3) 1.5 มิลลิกรัม (10% DV)
  • วิตามินบี6 0.29 มิลลิกรัม (22% DV)
  • โฟเลต (บี9) 6 ไมโครกรัม (2% DV)
  • วิตามินซี 19.6 มิลลิกรัม (24% DV)
  • วิตามินอี 0.71 มิลลิกรัม (5% DV)
  • แคลเซียม 38 มิลลิกรัม (4% DV)
  • เหล็ก 0.69 มิลลิกรัม (5% DV)
  • แมกนีเซียม 27 มิลลิกรัม (8% DV)
  • แมงกานีส 0.5 มิลลิกรัม (24% DV)
  • ฟอสฟอรัส 54 มิลลิกรัม (8% DV)
  • โพแทสเซียม 475 มิลลิกรัม (10% DV)
  • โซเดียม 36 มิลลิกรัม (2% DV)
  • สังกะสี 0.32 มิลลิกรัม  (3% DV)

หมายเหตุ: DV = เปอร์เซ็นต์สารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวัน

ที่มา: USDA Database

ประโยชน์ของมันเทศ

  1. เป็นแหล่งรวมของคาร์โบไฮเดรตชั้นดีซึ่งเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานที่ไม่ก่อพิษต่อร่างกายเหมือนอาหารที่ถูกแปรรูปมาจากแป้งและน้ำตาล  จึงเหมาะในการนำมาบริโภคแทนข้าวได้
  2. ยอดอ่อนสามารถรับประทานเป็นผักโดยปรุงใส่ในแกงส้ม หรือลวกจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้เช่นกัน
  3. เนื้อสีเหลือง หรือสีส้ม มีสารเบต้าแคโรทีน เมื่อรับประทานเข้าไปจะย่อยสลายกลายเป็นวิตามินเอมีส่วนสำคัญช่วยบำรุงสายตา ช่วยการมองเห็นตอนกลางคืน และลดความเสื่อมของลูกตาได้
  4. เนื้อสีม่วง มีสารแอนโทไซยานินสูง จัดเป็นสารอาหารที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์
  5. มีวิตามินซีมากจึงมีส่วนช่วยในการชะลอวัย ช่วยบำรุงผิวพรรณให้มีสุขภาพดี และช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส
  6. มีไฟเบอร์ หรือเส้นใยอาหารมาก ดังนั้นเมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้รู้สึกอิ่มเร็วและอิ่มได้นาน จึงถือเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ต้องการควบคุมน้ำหนัก หรือผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก
  7. การศึกษาในหนูพบว่า มันเทศมีส่วนช่วยในการลดระดับไขมันในเลือดได้ แต่เรื่องนี้ยังคงต้องการการศึกษาเพิ่มเติม
  8. ด้านอุตสาหกรรมได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการทำแป้ง เส้นก๋วยเตี๋ยว  กาว ขนมขบเคี้ยว อาหารบรรจุกระป๋อง เหล้า  แอลกอฮอล์  กาว และส่วนผสมที่ใส่ในอาหารเด็ก เป็นต้น
  9. ตามข้อมูลของสมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทยมีการระบุไว้ว่า มันเทศมีส่วนช่วยในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย  ช่วยระบายท้อง ป้องกันอาการท้องผูก ลดระดับน้ำตาล ช่วยขับพิษ บำรุงผิว ช่วยในการชะลอวัย และช่วยรักษาโรคตาที่ทำให้มองไม่เห็นในที่มืด

ไอเดียการใช้มันเทศเพื่อสุขภาพ

ส่วนหัว ใบ เถา และยอดอ่อนของมันเทศยังมีประโยชน์ทั้งในแง่สุขภาพและมีสรรพคุณทางยา ดังนี้

  1. ใบ  นำมาใช้รักษาฝีได้ โดยนำใบมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็นฝี หรือจะตำผสมกับเกลือก็ได้เช่นกัน   ตามตำรับยาพื้นบ้านล้านนานั้นจะมีการใช้ยอดและใบมาตำพร้อมกับยอดและใบของผักโขมใบแดงเพื่อใช้พอกฝีให้ยุบตัวลง
  2. เถา  สามารถนำเอามาต้มกับน้ำ และนำมาดื่มเพื่อเป็นยาแก้ไขข้ออักเสบ
  3. หัวมันเทศ  ตามตำรับยาไทยได้มีการใช้หัวมาตำให้ละเอียดนำมาพอกรักษาบาดแผลไฟไหม้ อีกทั้งยังนำมาใช้ในการรักษาโรคเริมและงูสวัดได้

ไอเดียการกินมันเทศเพื่อสุขภาพ

1.ซุปมันเทศสีม่วง

เตรียมเนยสดชนิดเค็ม  น้ำมันมะกอก  หอมใหญ่สับละเอียด กระเทียมกลีบใหญ่สับละเอียด  เห็ดฟางหั่นเป็นแว่นบางๆ  มันเทศสีม่วงหั่นเต๋า วิปปิ้งครีม  เกลือ  พริกไทยป่น และขนมปัง  เมื่อเตรียมส่วนผสมครบแล้วให้เริ่มตั้งกระทะบนไฟอ่อน จากนั้นใส่น้ำมันมะกอกและเนยอย่างละครึ่ง  เมื่อเนยละลายให้ใส่หอมใหญ่และกระเทียมตามลงไป ผัดส่วนผสมให้สุกจนได้กลิ่นหอม  เติมเห็ดฟาง ผัดต่อไปจนสุกแล้วปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทย คนต่อไปอีกสักพักแล้วจึงตักใส่ถ้วย  จากนั้นต้มมันเทศกับน้ำซุปไก่ด้วยไฟกลางให้สุก แล้วจึงค่อยปิดไฟพักไว้ เมื่ออุ่นแล้วให้นำมาปั่นรวมกับเห็ดที่ผัดไว้ก่อนหน้านี้ให้ละเอียด ต่อด้วยการเทใส่หม้อแล้วตั้งไฟอ่อนๆ ใส่เนยที่เหลือแล้วคนให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทย เติมวิปปิ้งแล้วคนให้ทั่ว ปิดไฟ ตักใส่ถ้วย เสิร์ฟพร้อมขนมปัง

2.มันเทศสีม่วงอบเนย

เตรียมมันเทศสีม่วง มันฝรั่ง ล้างให้สะอาด นำมาต้มนานประมาณ 20 นาที แล้วพักทิ้งไว้ให้ผิวแห้ง เมื่อแห้งแล้วให้ห่อมันเทศและมันฝรั่งด้วยกระดาษฟอยล์ อบสักประมาณ 15-20 นาที จึงนำมาผ่าให้เป็นรูปกากบาท เปิดออกแล้วใส่เนยสดลงไปตรงกลาง เนยจะค่อยๆ ละลาย

3.ขนมแกงบวดมันเทศ

เตรียมมันเทศ  กะทิสด  น้ำตาลปี๊บ  น้ำตาลทรายแดง และเกลือ เมื่อเตรียมส่วนผสมครบแล้ว  ปลอกเปลือกและหั่นให้เป็นชิ้นพอดีคำ จากนั้นเอาไปแช่น้ำไว้ ต่อด้วยนำหม้อตั้งเตา ใส่กะทิสดลงไป รอให้กะทิเริ่มร้อน  จากนั้นค่อยเติมมันเทศที่หั่นลงไป ปรุงรสด้วยน้ำตาลและเกลือ เมื่อปรุงรสได้ตามใจชอบแล้วให้ปิดฝาหม้อ ต้มต่อไปอีกสักประมาณ 10 นาทีให้สุกได้ที่ เบาไฟลงแล้วราดด้วยกะทิสดอีกครั้ง พร้อมตักเสิร์ฟ

ข้อควรระวังการบริโภคมันเทศ

มันเทศเป็นพืชที่มีสารออกซาเลต (Oxalate) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการดูดซึมของแคลเซียมและแร่ธาตุสำคัญหลายชนิดในกระแสเลือด  สารชนิดนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดนิ่วในไตได้ อีกทั้งประกาศว่าด้วยเรื่องสารพิษตกค้างในอาหารของกระทรวงสาธารณสุขไทย พบว่า มันเทศคือ หนึ่งในอาหารที่มีสารพิษบางชนิดตกค้างอยู่ด้วย  จึงควรเพิ่มความระมัดระวัง และทำตามคำแนะนำในการบริโภคดังนี้

  1. ควรเลือกมันเทศที่หัวแน่น สีเข้ม ผิวเรียบ และไม่มีรอยเหี่ยวช้ำ มีรู หรือมีรากงอกออกมา
  2. การล้างมันเทศควรเพิ่มการใส่ใจในเรื่องความสะอาด เพราะเป็นหนึ่งในการกำจัดสารพิษตกค้างก่อนที่จะนำไปปรุงอาหาร
  3. ไม่ควรปอกเปลือกมันเทศในขณะที่ต้องการทำให้สุก เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการทำให้สารอาหารที่อยู่ใกล้กับเปลือกต้องเสียหายไปด้วย
  4. ไม่ควรนำมันเทศชนิดที่ต่างกันมาประกอบอาหารด้วยกัน เพราะแต่ละชนิดจะสุกด้วยความร้อนและเวลาที่ต่างกันออกไป
  5. การเก็บรักษามันเทศดิบ ไม่ควรล้างก่อนเก็บเพราะจะทำให้เน่าเสียได้ แต่ควรเก็บไว้ในที่ที่มีความเย็นประมาณ 15 องศาเซลเซียส จะช่วยให้มีความสดใหม่อยู่เสมอ
  6. ไม่ควรรับประทานยอดอ่อนดิบๆ มากๆ เพราะอาจเกิดการสะสมพิษของไซยาไนด์ได้  ดังนั้นหากจะรับประทานยอดอ่อนจึงควรกินยอดอ่อนมันเทศแบบสุกจะปลอดภัยกว่า

จะเห็นได้ว่า การบริโภคมันเทศคือ การเพิ่มสารอาหารที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย ช่วยให้ร่างกายมีพลังงานอย่างเพียงพอ ที่สำคัญคนที่อยู่ในช่วงลดน้ำหนักสามารถรับประทานเพื่อให้พลังงานแทนข้าวได้ด้วย  นอกจากนี้ยังสามารถนำมันเทศมาประกอบเป็นอาหารได้อีกหลากหลายเมนู เพียงแต่ต้องะระมัดระวังการบริโภคด้วยเพราะหากละเลยอาจทำให้ร่างกายได้รับสารพิษตกค้างได้นั่นเอง


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

Scroll to Top