calcium scaled

Calcium (แคลเซียม)

แคลเซียม (Calcium) เป็นแร่ธาตุสำคัญอีกอย่างของร่างกาย โดยเฉพาะต่อระบบกระดูก และฟัน รวมไปถึงระบบหัวใจ ระบบประสาท คุณสามารถรับประทานแคลเซียมได้ผ่านการรับประทานอาหารประเภทนม ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนม เต้าหู้ ผลไม้รสเปรี้ยว เกลือแร่ ปลากระป๋องมีก้าง หรือน้ำแร่ อีกทั้งในปัจจุบันได้มีการรับประทานแคลเซียมในรูปแบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันมากขึ้นเพื่อรักษาแคลเซียมในร่างกายให้มีปริมาณเพียงพอ

แคลเซียมคือ อะไร ?

แร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบส่วนมากของร่างกายมากกว่าแร่ธาตุอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระดูกและฟัน โดยแคลเซียมจะจับตัวร่วมกับฟอสฟอรัสเรียกว่า “Calcium Phosphates” เพื่อช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง นอกจากนี้เรายังพบแคลเซียมจับตัวอยู่กับโปรตีนในเลือดและพบแคลเซียมอิสระอยู่ภายในร่างกายด้วย

แคลเซียมยังมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการทางชีวเคมีภายในเซลล์ต่างๆ ช่วยพัฒนาและสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและฟัน ควบคุมการทำงานของหลอดเลือด กล้ามเนื้อ ควบคุมการเต้นของหัวใจ การส่งความรู้สึกไปตามเส้นประสาท และเป็นตัวช่วยกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนบางชนิด เป็นต้น

โดยปกติร่างกายจะไม่สามารถสร้างแคลเซียมได้เองจำเป็นต้องได้รับผ่านการย่อยอาหารและการดูดซึมร่วมกับวิตามินดี (Vitamin D) ที่ลำไส้เล็ก ดังนั้นเราจึงต้องรับประทานแคลเซียมอย่างเพียงพอเพื่อทดแทนหรือเสริมสร้างการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

หน้าที่ของแคลเซียม

  1. ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูกและฟัน
  2. ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนและกระดูกเสื่อม
  3. เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในกระบวนการแข็งตัวของเลือด (Blood clotting)
  4. ควบคุมความเป็นกรดด่างภายในเลือด
  5. ช่วยในการทำงานของระบบประสาท
  6. ช่วยควบคุมการยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมถึงการควบคุมกล้ามเนื้อหัวใจด้วย
  7. ช่วยให้ระบบน้ำย่อยทำงานเป็นปกติ
  8. ป้องกันอาการผิดปกติในวัยใกล้หมดประจำเดือน

ประโยชน์ของแคลเซียมต่อโรค อาการต่างๆ

ช่วยป้องกันภาวะแคลเซียมต่ำซึ่งสามารถส่งผลต่อทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับกระดูกได้ เช่น

  • โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
  • ภาวะที่กระดูกอ่อนแอเนื่องจากความหนาแน่นต่ำ
  • โรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets)
  • โรคกระดูกน่วม (Osteomalacia)

นอกจากนี้ แคลเซียมยังช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome: PMS) ภาวะตะคริวขึ้นขาระหว่างตั้งครรภ์ (Leg cramps during pregnancy) ความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ (Pre-eclampsia) ด้วย

แคลเซียมยังสามารถลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก บรรเทาภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดบายพาสลำไส้ ความดันโลหิตสูง ภาวะคอเลสเตอรอลสูง โรคไลม์ (Lyme) ได้

การทำงานของแคลเซียม

กระดูก และฟันของร่างกายคนเรามีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบมากกว่า 99% อีกทั้งเราสามารถพบแคลเซียมในเลือด กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่างๆ ได้อีก

แคลเซียมในกระดูกเป็นแหล่งพลังงานสำรองที่ร่างกายสามารถดึงไปใช้ได้ และเมื่อคนเราแก่ตัวลง ความเข้มข้นของแคลเซียมก็มักจะลดลงตามอายุที่มากขึ้น เนื่องจากร่างกายขับออกมาในรูปของเหงื่อ เซลล์ผิวหนัง และของเสีย

โดยเฉพาะในเพศหญิง การดูดซึมแคลเซียมของร่างกายจะค่อยๆ น้อยลงเนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen) น้อยลง แต่ทั้งนี้การดูดซึมแคลเซียมจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ เพศ และอายุของแต่ละบุคคล

ด้วยเหตุที่กระดูกมีการเสื่อมสลาย และสร้างใหม่ตลอดเวลา โดยใช้แคลเซียมเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการนี้ การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มเติมจึงเป็นตัวช่วยที่น่าพิจารณา

แคลเซียมกับการรักษาอาการต่างๆ

  • อาหารไม่ย่อย (Indigestion) การรับประทานแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) เป็นยาลดกรด สามารถช่วยรักษาภาวะอาหารไม่ย่อยได้
  • ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalemiaการฉีดแคลเซียมกลูโคเนต (Calcium gluconate) เข้าเส้นเลือด สามารถแก้ไขภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงได้
  • ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemiaการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้สามารถรักษาและป้องกันภาวะระดับแคลเซียมในเลือดต่ำได้
  • ไตล้มเหลว การรับประทานแคลเซียมคาร์บอเนตหรือแคลเซียมอะซิเทตช่วยควบคุมระดับฟอสเฟตในเลือดของผู้ป่วยโรคไตวายได้ดี แต่แคลเซียมซิเทรต (Calcium citrate) จะใช้รักษาไม่ได้
  • โรคกระดูกพรุนจากยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Glucocorticoid-induced osteoporosis) การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียมร่วมกับวิตามินดี (Vitamin D) อาจช่วยลดการสูญเสียแร่ธาตุในกระดูกของผู้ที่กำลังใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในระยะยาวได้
  • ความผิดปกติของต่อมพาราไทรอยด์ (Hyperparathyroidism) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียมสามารถช่วยจะลดระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid hormone) ของผู้ป่วยไตวายที่มีระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงเกินไปได้
  • กระดูกพรุน (Osteoporosis) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียมสามารถป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก และรักษาภาวะกระดูกพรุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการเจริญเติบโตของกระดูกส่วนมากจะเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น ซึ่งหลังจากนั้นความแข็งแรงของกระดูกผู้หญิงจะคงอยู่เช่นนั้นจนถึงอายุ 30-40 ปี หลังจากช่วงวัยนี้แล้ว กระดูกจะค่อยๆ สูญเสียมวลออกไปในอัตราเร็วที่ 0.5-1 % ต่อปี สำหรับผู้ชาย การสูญเสียมวลกระดูกนี้จะเกิดขึ้นหลังจากช่วงวัยดังกล่าวหลาย 10 ปี และการสูญเสียมวลกระดูกเช่นนี้จะมีมากในผู้ที่รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อย
  • อาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) พบว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้ทุกวันจะช่วยลดการเกิดอารมณ์แปรปรวน ท้องอืด อยากอาหาร และความเจ็บปวด อีกทั้งการเพิ่มปริมาณแคลเซียมในอาหารยังช่วยป้องกันการเกิดอาการก่อนมีประจำเดือนได้
  • การเพิ่มขึ้นของกระดูกตัวอ่อน สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารน้อยควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียมเพิ่มเติม เพื่อช่วยเพิ่มความหนาแน่นของแร่ธาตุของตัวอ่อนในครรภ์
  • ฟลูออร์ไรด์เป็นพิษ (Fluoride poisoningการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้ร่วมกับวิตามินดีกับวิตามินซี (Vitamin C) อาจช่วยลดระดับฟลูออไรด์ในเด็ก และลดอาการจากภาวะฟลูออไรด์เป็นพิษได้
  • ความดันโลหิตสูง การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียมอาจช่วยลดความดันโลหิตได้เล็กน้อย และแคลเซียมยังออกฤทธิ์ได้ดีในกลุ่มผู้ที่อ่อนไหวต่อเกลือ รวมถึงผู้ที่มักได้รับแคลเซียมน้อย อีกทั้งการรับประทานแคลเซียมยังเหมือนจะช่วยลดระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยโรคไตร้ายแรงได้อีกด้วย
  • ความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ (Pre-eclampsia) การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียม 1-2 กรัม/วัน อาจช่วยลดภาวะความดันโลหิตสูงที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ได้ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงของหญิงตั้งครรภ์ได้ 50%
  • การสูญเสียฟัน การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียม และวิตามินดีสามารถช่วยป้องกันการสูญเสียฟันของผู้สูงอายุได้

ข้อควรรู้ก่อนรับประทานแคลเซียม

แคลเซียมค่อนข้างปลอดภัยสำหรับผู้คนส่วนมากเมื่อต้องรับประทาน หรือให้ทางเส้นเลือดในปริมาณที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบ้างเล็กน้อย เช่น เรอ หรือเกิดแก๊สในร่างกาย

สำหรับคนทั่วไป การรับแคลเซียมในแต่ละวันมีปริมาณที่ต้องคำนึงตามเพศ และช่วงอายุ เนื่องจากร่างกายคนเรามีแคลเซียม 1-2 % ของน้ำหนักตัวอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรศึกษาก่อนบริโภคในแต่ละวัน (Recommended Dietary Allowances: RDA) ดังตารางต่อไปนี้

ตารางแสดงปริมาณความต้องการแคลเซียมที่ควรได้รับต่อวัน

อายุ ปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับต่อวันในเพศชาย (มิลลิกรัม) ปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับต่อวันในเพศหญิง (มิลลิกรัม)
1-3 ปี 700 700
4-8 ปี 1,000 1,000
9-13 ปี 1,300 1,300
14-18 ปี 1,300 1,300
19-50 ปี 1,000 1,000
51-70 ปี 1,000 1,200
71 ปีขึ้นไป 1,200 1,200

ตามคำแนะนำของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้แนะนำปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ คือ 800-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือตามความต้องการในแต่ละช่วงอายุ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยควรระวังปริมาณการใช้ เพราะปริมาณที่สูงเกินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้ โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้

คำเตือน และข้อควรระวังเป็นพิเศษในการใช้แคลเซียม

บุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือมีภาวะความผิดปกติ ซึ่งควรระมัดระวัง หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานแคลเซียม มีดังนี้

  • สตรีมีครรภ์ และแม่ที่ต้องให้นมบุตร แคลเซียมค่อนข้างปลอดภัยหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมทั้งในกลุ่มสตรีมีครรภ์ และแม่ให้นมบุตร แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเรื่องความปลอดภัยของการให้แคลเซียมทางเส้นเลือดของคนทั้ง 2 กลุ่มนี้
  • ผู้มีระดับกรดในกระเพาะต่ำ (Achlorhydria) ผู้ที่มีระดับน้ำย่อยต่ำจะดูดซึมแคลเซียมน้อยลงเมื่อมีแคลเซียมเข้าไปในกระเพาะที่กำลังว่างอยู่ อย่างไรก็ตาม ระดับกรดที่ต่ำในกระเพาะอาหารไม่ได้ลดการดูดซึมแคลเซียมที่มากับอาหารแต่อย่างใด
    คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำย่อย คือ การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียมร่วมกับอาหาร
  • ผู้มีระดับฟอสเฟตในเลือดสูง (Hyperphosphatemia) หรือระดับฟอสเฟตในเลือดต่ำ (Hypophosphatemia) แคลเซียมกับฟอสเฟตต้องคงอยู่ในร่างกายอย่างสมดุลกัน การรับประทานแคลเซียมมากเกินไปจะทำให้สมดุลนี้เสีย และสร้างอันตรายขึ้นมา
    ดังนั้นห้ามรับประทานแคลเซียมเพิ่มเติมจากที่ผู้ดูแลสุขภาพของคุณแนะนำ
  • ผู้มีต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกิน (Hypothyroidism) แคลเซียมจะรบกวนการรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนไทรอยด์ ดังนั้นควรแยกการใช้ยาแคลเซียมกับยาไทรอยด์ออกจากกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
  • ผู้มีความสามารถในการทำงานไตต่ำกว่าปกติ กลุ่มผู้ที่อยู่ในภาวะไตทำงานไม่สมบูรณที่ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียม จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีแคลเซียมในเลือดมากเกินไปได้
  • ผู้สูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่จะทำให้การดูดซึมแคลเซียมจากกระเพาะอาหารน้อยลง

การใช้แคลเซียมร่วมกับยาชนิดอื่น

ควรระมัดระวังในการใช้แคลเซียมร่วมกับยาเหล่านี้

1. ยาปฏิชีวนะควิโนโลน (Quinolone antibiotics)
แคลเซียมอาจลดการดูดซึมยาปฏิชีวนะของร่างกาย การรับประทานแคลเซียมร่วมกับยาปฏิชีวนะบางชนิดอาจลดประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะนั้น เพื่อเลี่ยงการตีกันของยาเช่นนี้ คุณควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียมหลังการรับประทานยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

2. ยาปฏิชีวนะเตตราไซคลิน (Tetracycline antibiotics)
แคลเซียมอาจเกาะติดกับยาปฏิชีวนะเตตราไซคลินในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะลดปริมาณการดูดซึมเตตระไซคลินของร่างกาย เพื่อเลี่ยงการตีกันเช่นนี้ ควรรับประทานแคลเซียม 2 ชั่วโมงก่อน หรือ 4 ชั่วโมงหลังใช้ยาเตตราไซคลิน

3. ยาแคลซิโปทรีน (Calcipotriene)
ยาแคลซิโปทรีน คือ ยาที่คล้ายกับวิตามินดี โดยวิตามินดีจะช่วยให้ร่างกายคุณดูดซับแคลเซียมดีขึ้น ซึ่งการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียมร่วมกับยาแคลซิโปทรีนอาจทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมมากเกินไป

4. ยาไดจอกซิน (Digoxin)
แคลเซียมสามารถส่งผลต่อการทำงานของหัวใจคุณได้ โดยยาไดจอกซินใช้เพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้แรงขึ้น

การกินแคลเซียมร่วมกับยาไดจอกซินอาจเพิ่มผลจากยา ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากคุณกำลังใช้ยาไดจอกซินอยู่ ควรแจ้งแพทย์ก่อนรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียมทุกครั้ง

5. ยาดิลไทอะเซม (Diltiazem)
แคลเซียมส่งผลต่อหัวใจของคุณ ยาดิลไทอะเซมก็ส่งผลต่อหัวใจเช่นกัน การกินแคลเซียมปริมาณมากร่วมกับยาดิลไทอะเซม อาจลดประสิทธิภาพของยาดิลไทอะเซมได้

6. ยาเลโวไทรอกซีน (Levothyroxine)
ยาเลโวไทรอกซีนใช้เพื่อลดการทำงานของไทรอยด์ แคลเซียมจะลดปริมาณยาเลโวไทรอกซีนที่ร่างกายควรจะดูดซึม ซึ่งการกินแคลเซียมร่วมกับยาเลโวไทรอกซีนจะทำให้ผลจากยาลดลง ดังนั้น คุณควรใช้ยาเลโวไทรอกซีนห่างจากแคลเซียมอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

7. ยาเวอราปามิล (Verapamil)
แคลเซียมส่งผลต่อหัวใจของคุณเช่นเดียวกับยาเวอราปามิล หากคุณกำลังใช้ยาเวอราปามิล ห้ามกินแคลเซียมในปริมาณมากเด็ดขาด

8. ยาขับปัสสาวะกลุ่มไธอะไซด์ไดยูเรติก (Thiazide diuretics)
ยาขับน้ำบางชนิดจะเพิ่มปริมาณแคลเซียมในร่างกายขึ้น การรับประทานแคลเซียมร่วมกับยาขับน้ำอาจทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้ เช่น ปัญหาที่ไต

9. เอสโทรเจน (Estrogens) 
เอสโทรเจนจะช่วยให้ร่างกายคุณดูดซับแคลเซียม ซึ่งการกินยาเอสโทรเจนพร้อมกับแคลเซียมปริมาณมากจะทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมมากจนเกินไป

10. ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง (Calcium channel blockers)
ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงบางตัวส่งผลต่อแคลเซียมในร่างกาย โดยยาเหล่านี้เรียกว่ายากลุ่มต้านแคลเซียม (Calcium channel blockers) ซึ่งอาจลดประสิทธิภาพของยาความดันโลหิตสูง

ยาที่ห้ามให้ร่วมกับแคลเซียมเด็ดขาด

ห้ามใช้แคลเซียมร่วมกับยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) การให้ยาเซฟไตรอะโซนกับแคลเซียมเข้าเส้นเลือดจะส่งผลร้ายแรงถึงชีวิต โดยมีผลต่อปอดและไต ไม่ควรให้แคลเซียมทางกระแสเลือดภายใน 48 ชั่วโมงของการให้ยาเซฟไตรอะโซน

ปริมาณแคลเซียมที่ควรใช้

แคลเซียมคาร์โบเนตและแคลเซียมซิเทรตเป็นรูปแบบของแคลเซียมที่นิยมใช้กันมากที่สุด ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียมมักจะแบ่งปริมาณยาออกเป็น 2 ครั้งต่อวัน เพื่อเพิ่มกระบวนการดูดซึม

วิธีที่ดีที่สุดในการรับประทานแคลเซียม คือ การรับประทานแคลเซียมร่วมกับอาหารในปริมาณที่ 500 มิลลิกรัม หรือน้อยกว่านั้น และยังมีกรณีของผู้มีภาวะทางร่างกายอื่นๆ ที่ควรระมัดระวังในการบริโภคดังนี้

  • เพื่อป้องกันระดับแคลเซียมต่ำ ใช้แคลเซียม 1 กรัมทุกวัน
  • เพื่อลดฟอสเฟตของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง (Chronic renal failure) แคลเซียมอะซิเทต โดสแรกคือ 1.334 กรัม (แคลเซียม 338 มิลลิกรัม) ในแต่ละมื้อ จากนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 2-2.67 กรัม (แคลเซียม 500-680 มิลลิกรัม) ในแต่ละมื้อตามความจำเป็น
  • เพื่อป้องกันกระดูกอ่อนแอ (กระดูกพรุน) ใช้แคลเซียม 1-1.6 กรัมทุกวัน ทั้งจากอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
  • สำหรับสตรีมีครรภ์ที่มีการบริโภคแคลเซียมต่ำ ปริมาณที่มีเพื่อการสร้างความหนาแน่นของมวลกระดูกของตัวอ่อนมีระยะตั้งแต่ 300-1,300 มิลลิกรัม/วัน เริ่มจากที่อายุครรภ์ 20-22 สัปดาห์
  • สำหรับอาการก่อนประจำเดือน (PMS) แคลเซียมคาร์โบเนต 1-1.2 กรัม ต่อวัน
  • เพื่อป้องกันการสูญเสียกระดูกในกลุ่มผู้ที่กำลังใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ แบ่งปริมาณยาของแคลเซียมต่อวันเป็น 1 กรัม
  • สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง แคลเซียมต่อวัน 1-1.5 กรัม
  • เพื่อป้องกันความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ ใช้แคลเซียมทุกวัน เป็นแคลเซียมคาร์โบเนต 1-2 กรัม
  • เพื่อป้องกันกันมะเร็งลำไส้และทวารหนักกับเนื้องอกซ้ำซากที่ลำไส้และทวารหนัก (adenomas) แคลเซียม 1,200-1,600 มิลลิกรัม/วัน
  • เพื่อป้องกันภาวะฟลูออไรด์เป็นพิษในเด็ก แคลเซียม 125 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน ร่วมกับกรดแอสคอบิค (Ascorbic acid) และวิตามินดี

การรับประทานแคลเซียมมีข้อควรระวังในการรับประทานหลายอย่าง โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย หญิงตั้งครรภ์ หรือในนมบุตร ทางที่ดี หากคุณต้องการรับแคลเซียมในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ให้คุณปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณการรับประทานที่เหมาะสมเสียก่อน

จะเกิดอะไรขึ้น หากร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ?

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นภาวะที่ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง เนื่องจากการสร้างกระดูกน้อยกว่าการทำลายกระดูก ผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปจะเริ่มมีการสูญเสียมวลกระดูกมากขึ้นและอัตราการสูญเสียจะเพิ่มขึ้นทุกปี กล่าวคือ กระดูกถูกสร้างขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และเติบโตเพิ่มขนาดในช่วงเด็กเหมือนอวัยวะอื่นๆ จนเจริญเติบโตเป็นวัยรุ่น กระดูกก็ยังเจริญเติบโตต่อไปได้อีก แม้ขนาดจะไม่เปลี่ยนแปลงแต่ความหนาแน่นของกระดูก (Bone density) จะเพิ่มขึ้นจนถึงอายุประมาณ 25–30 ปี ถือเป็นช่วงอายุที่กระดูกมีมวลสูงสุด (Peak bone mass) หลังจากนั้นมวลกระดูกจะมีค่าคงที่ไปจนอายุประมาณ 40 ปี หลังจากนั้นมวลกระดูกจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้นในอัตราประมาณ 0.3–0.5% ต่อปี

ในผู้หญิงมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงหมดประจำเดือน ทั้งนี้เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงคือ เอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งสังเคราะห์ที่รังไข่ เป็นฮอร์โมนที่มีผลดีต่อกระดูก เมื่อรังไข่หยุดทำงานก็จะหยุดผลิตเอสโตรเจนจึงมีผลให้สูญเสียเนื้อกระดูกเช่นกัน

ส่วนผู้ชายซึ่งมีฮอร์โมนเพศชายคือ เทสโทสเตอโรน (Testosterone) จนเข้าสู่วัยสูงอายุ มวลกระดูกจึงลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อมวลกระดูกลดลงส่งผลให้กระดูกเปราะบางและมีโอกาสหักหรือยุบตัวได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ เป็นต้น

ปริมาณแคลเซียมในอาหาร

content 108 6526208331199915399

หลักในการรับประทาน

แหล่งที่พบแคลเซียมมากได้แก่ มากในผักใบเขียว คะน้า บลอคโคลี่ งา ข้าวโอ๊ต ถั่วขาว ถั่วแระ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ปลาตัวเล็กที่กินได้ทั้งกระดูก กะปิ กุ้งแห้ง นม  และผลิตภัณฑ์จากนมทุกชนิด ชีส เป็นต้น โดยแนะนำให้รับประทานครั้งละน้อยๆ (ไม่เกิน 550 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร หรือแบ่งเป็นมื้อเล็กหลายๆ มื้อจะทำให้ร่างกายดูดซึมได้ดีกว่าการรับประทานครั้งละมากๆ

กรณีที่รับประทานอาหารไม่หลากหลายอาจทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ควรรับประทานในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้รับคำแนะนำ หรืออยู่ในความดูแลจากแพทย์เท่านั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบเม็ดมีขนาด 250-500 มิลลิกรัม ตัวอย่างได้แก่ แคลเซียมซิเทรต แคลเซียมไฮโดรเจนฟอสเฟต เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดควรรับประทานหลังอาหาร หรือพร้อมอาหารและช่วงก่อนนอนซึ่งจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมไปใช้ได้มากที่สุดนั่นเอง

เรายังควรได้รับ “วิตามินดี” ที่เพียงพอเพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้เล็ก เราสามารถรับวิตามินดีได้จากการรับแสงแดดอ่อนๆ ในตอนเช้า หรือตอนเย็นอย่างน้อยวันละ 15-20 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง หรือรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น ตับ ไข่แดง น้ำมันตับปลา เนื้อปลาที่มีไขมันดีสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทู ปลาทูน่า หรือเห็ดบางชนิด เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดหอมสด ทั้งนี้ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วยเพื่อเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงและมีสุขภาพที่ดี

นอกจากจะรู้วิธีเสริมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายแล้วยังควรรู้จักหลีกเลี่ยงอาหารที่ขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียมในร่างกาย ได้แก่ อาหารที่มีไขมัน อาหารที่มีกรดออกซาลิกมากๆ เช่น ผักโขม ผักบีต รวมทั้งอาหารที่มีกรดไฟติกมากๆ เช่น ถั่วต่างๆ งา อีกทั้งควรป้องกันการสูญเสียแคลเซียมออกจากร่างกายด้วย ได้แก่ ไม่ควรดื่มน้ำอัดลมในปริมาณมากๆ เป็นเวลาติดต่อกันนานๆ เพราะส่งผลให้มวลกระดูกลดน้อยลงและหากดำเนินต่อไปก็อาจเกิดภาวะกระดูกพรุนได้ในที่สุด


เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจกระดูก


ที่มาของข้อมูล

  • อ.พญ. จันทนรัศม์ จันทนยิ่งยง, 4 วิธี ช่วยให้กระดูกแข็งแรง (https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/721_1.pdf)
  • คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล, Water and Electrolytes balance
  • พิชญ์ภิญญาณ์ แก้วปานันท์, แคลเซียม..สาระน่ารู้
Scroll to Top