ป่วยโควิดอาการแบบไหนต้องรักษาที่โรงพยาบาลสนาม - ฮอสพิเทล (Hospitel)?


ผู้ป่วยโควิด-โรงพยาบาลสนาม-ฮอสพิเทล

HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • โรงพยาบาลสนามและฮอลพิเทลเป็นโรงพยาบาลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยหนักอื่นๆ
  • ฮอสพิเทล (Hospitel) หรือหอผู้ป่วยโควิด-19 เฉพาะกิจ เกิดจากการผสมระหว่างคำ 2 คำ คือ Hospital (โรงพยาบาล) + Hotel (โรงแรม) หมายถึง สถานที่รองรับผู้ป่วยโควิดซึ่งไม่ได้มีอาการรุนแรง บางคนมีอาการเล็กน้อย เช่น เจ็บคอ
  • ผู้ป่วยโควิดที่สามารถเข้ารับการรักษาที่ฮอลพิเทลได้ นอกจากอาการไม่รุนแรงแล้วยังต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้ เช่น อายุไม่เกิน 50 ปี ไม่ใช่เด็ก อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ พิการ รวมทั้งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3-5 วัน และมีผลเอกซเรย์ปอดที่คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง
  • หลังผู้ป่วยได้รับการยืนยันผลตรวจโควิดเป็นบวก (Positive) แล้ว โรงพยาบาลที่ตรวจพบจะจัดหาเตียงตามความเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย หากไม่พร้อมก็จะประสานหาเตียงในโรงพยาบาลในเครือข่าย หรือโรงพยาบาลสนามต่อไป  มิใช่ผู้ป่วยที่เป็นคนเลือก
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจโควิด 19 หรือแอดไลน์ @hdmall.support

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ระลอกที่ 3 (เมษายน 2564) ซึ่งจำนวนผู้ป่วยโควิดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นๆ ภาครัฐจึงต้องเร่งจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทล (Hospitel) เพิ่มในบางพื้นที่ เพื่อให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด แก้ปัญหาการรอเตียงในโรงพยาบาลและลดความแออัดในโรงพยาบาล

ผู้ป่วยโควิดและคนทั่วไปอาจมีความสับสน ไม่เข้าใจว่า การรักษาในโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทลนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร มีมาตรฐานการรักษาเช่นเดียวกันหรือไม่ หรือมีข้อยกเว้นอย่างไร HDmall.co.th จะพาไปหาคำตอบ

โรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทลสำหรับผู้ป่วยโควิดคืออะไร?

โรงพยาบาลสนามและฮอลพิเทลเป็นโรงพยาบาลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยหนัก 

เนื่องจากราว 70%-80% ของผู้ป่วยโควิดจะไม่มีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง หากต้องเข้าไปพักรักษาตัวในโรงพยาบาลปกติก็อาจทำให้เกิดความแออัด เพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปยังผู้ป่วยอื่นๆ และบุคลากรในโรงพยาบาลได้ ที่สำคัญเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้นๆ ก็จะไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยที่เจ็บป่วยด้วยโรคและสาเหตุอื่นๆ ด้วย 

การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทลขึ้นตามพื้นที่ที่มีความจำเป็น จึงสามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลปกติให้สามารถให้บริการประชาชนต่อไปได้ตามปกติ ดังนั้นผู้ป่วยที่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทลคือ ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย

มาตรฐานของโรงพยาบาลสนามมีอะไรบ้าง?

กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามต้องมีหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งต้องมีความปลอดภัยทั้งต่อชุมชนและผู้ป่วยโควิด ดังนี้

  • สถานที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ต้องห่างไกลจากชุมชน เช่น พื้นที่โล่งว่างเปล่า พื้นที่โล่งในโรงพยาบาล อาคารหอผู้ป่วยที่เพิ่งสร้างเสร็จยังไม่ได้ใช้งาน หอประชุม โรงยิม สนามกีฬา
  • ภายในโรงพยาบาลสนาม มีการออกแบบพื้นที่แบ่งเป็นโซนสีเหลืองสำหรับผู้ป่วยแยกเป็นผู้ป่วยชายและหญิงอย่างชัดเจน โซนสีเขียวสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และโซนสีส้มสำหรับห้องน้ำและขยะติดเชื้อ มีการจัดการระบบการไหลเวียนอากาศภายในอาคาร

    สำหรับโซนสีส้มมีการออกแบบให้มีระบบท่อบำบัดแยกตัวจากท่อน้ำเสียของสถานที่นั้นๆ โดยจะมีการใส่คลอรีนและน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อบำบัด รวมทั้งมีการจัดการขยะติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งกล้อง CCTV ให้มีมุมมองครอบคลุมทุกเตียงผู้ป่วย เพื่อตรวจตราความปลอดภัยและพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที หากมีเหตุฉุกเฉิน

    ส่วนเครื่องมือพื้นฐานในโรงพยาบาลสนาม ประกอบด้วยเครื่องมือวัดไข้ข้างเตียง เพื่อให้ผู้ป่วยทุกเตียงสามารถวัดไข้ได้เอง หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็จะมีรถรับส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมได้อย่างรวดเร็ว

ฮอสพิเทลสำหรับผู้ป่วยโควิดคืออะไร?

ฮอสพิเทล (Hospitel) หรือหอผู้ป่วยโควิด-19 เฉพาะกิจ เกิดจากการผสมระหว่างคำ 2 คำ คือ Hospital (โรงพยาบาล) + Hotel (โรงแรม) หมายถึง สถานที่รองรับผู้ป่วยโควิดซึ่งไม่ได้มีอาการรุนแรง หรือมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น เจ็บคอ ทั้งนี้โรงแรมที่จะปรับเป็นฮอลพิเทล (Hospitel) หรือหอผู้ป่วยโควิด-19 เฉพาะกิจ ต้องเป็นโรงแรมที่มีห้องพักมากกว่า 30 ห้องขึ้นไป

ส่วนในเรื่องมาตรฐาน ความปลอดภัยนั้น กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า การจัดตั้งฮอสพิเทลต้องมีมาตรฐานเดียวกับสถานพยาบาล ทั้งโครงสร้าง สิ่งแวดล้อม ขยะ น้ำเสีย ความเป็นมิตรกับชุมชน รวมทั้งมีการจัดบริการทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ 

ภายในฮอสพิเทลแต่ละแห่งจะมีแพทย์ประจำอย่างน้อย 1 คน มีพยาบาลประจำอย่างน้อย 1 คน ต่อ ผู้ป่วยจำนวน 20 เตียงต่อ 1 พยาบาล ตลอด 24 ชั่วโมง โดยแพทย์จะตรวจและบันทึกอาการผู้ป่วยทุกคน ทุกวันผ่านเทเลเมดิซีน หรือไลน์กลุ่ม พร้อมทั้งมีเครื่องมือพื้นฐานต่างๆ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดความดันโลหิต มีเครื่องวัดออกซิเจนในกระแสเลือด ซึ่งผู้ป่วยสามารถใช้งานเองได้ในทุกๆ วัน

ผู้ป่วยโควิดแบบไหนที่จะเข้ารับการรักษาที่ฮอสพิเทลได้?

  • เป็นผู้ป่วยโควิดที่ได้รับการตรวจคัดกรองยืนยันผลแล้ว เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3-5 วัน และมีผลเอกซเรย์ปอดที่คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง
  • ผู้ป่วยโควิดมีอายุไม่เกิน 50 ปี ไม่ใช่เด็ก ไม่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ และไม่ใช่ผู้พิการ
  • ผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีโรคประจำตัวอื่น และไม่มีความเสี่ยงทางจิตเวช
  • ผู้ป่วยโควิดไม่มีไข้ และไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ 
  • ผู้ป่วยโควิดยอมรับและเข้าใจกระบวนการรักษาที่ฮอสพิเทล สามารถสื่อสารได้ดี สามารถดูแลตนเองได้ เช่น มารับถาดอาหารเองได้
  • ผู้ป่วยมีความรับผิดชอบในการรับประทานยาด้วยตนเองจนครบตามแผนการรักษาของแพทย์

กรณีที่ผู้ป่วยโควิดมีอาการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนใดๆ ขึ้น ฮอลพิเทลจะสามารถย้ายผู้ป่วยไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลต้นทางที่ผู้ป่วยโควิดเคยเข้ารับการรักษาได้ทันที

ป่วยโควิดอาการแบบไหนต้องรักษาที่โรงพยาบาลสนาม - ฮอสพิเทล?

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรง ต่อเนื่อง ล่าสุด (19 เมษายน 2564) กระทรวงสาธารณสุข จึงประกาศเกณฑ์การบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด โดยแบ่งตามอาการ 

หลังผู้ป่วยได้รับการยืนยันผลตรวจโควิดเป็นบวก (Positive) แล้ว จะแบ่งระดับอาการผู้ป่วยออกเป็นสีเขียว เหลือง และแดง ตามความรุนแรงของอาการ

  • กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ผู้ป่วยอาการเล็กน้อย เช่น ไอ น้ำมูกไหล ตาแดง มีผื่นขึ้น ไม่มีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจส่วนล่าง และไม่มีโรคร่วม จะส่งไปรักษายังโรงพยาบาลสนาม หรือฮอสพิเทล 
  • กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่เหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีความเสี่ยง เช่น อายุมากกว่า 60 ปีหรือมีโรคร่วมที่สำคัญ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะอ้วน จะส่งไปรักษายังโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
  • กลุ่มผู้ป่วยสีแดง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก เอ็กซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม ความอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า 96% หรือลดลงของออกซิเจนมากกว่า 3% หลังออกแรง ของค่าที่วัดได้ในครั้งแรกที่ออกแรง จะส่งไปรักษายังโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ถือเป็นกรณีฉุกเฉิน 

หากโรงพยาบาลหลักที่ผู้ป่วยเข้ารับการตรวขยังไม่พร้อมรับผู้ป่วยโควิด ก็จะรับหน้าที่ประสานหาเตียงในโรงพยาบาลในเครือข่าย หรือโรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่ต่อไป เพื่อรับผู้ป่วยเข้าสู่ระบบได้เร็วที่สุด มิใช่ผู้ป่วยที่เป็นคนเลือกสถานที่สำหรับรักษาอย่างที่หลายคนอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน 

ยิ่งโรงพยาบาลหลักสามารถจัดการได้เร็วเท่าไหร่จะยิ่งช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้มากเท่านั้น และเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาในโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม หรือฮอสพิเทล จนอาการดีขึ้นตามลำดับ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ผู้ป่วยเปลี่ยนสถานที่เข้ารับการรักษาเป็นกรณีๆ ไป ตามความเหมาะสม 

ป่วยโควิดทำอย่างไร หากยังไม่มีเตียงรักษา?

ปัญหาที่พบมากในปัจจุบันคือ การไปตรวจหาเชื้อตามคลินิก หรือแล็บเอกชนที่ยังไม่ได้จับคู่กับโรงพยาบาลหลัก ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งยังไม่สามารถเข้ารับการรักษาตามระบบได้ ผู้ป่วยโควิดจึงยังคงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นตามปกติ ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับผู้ป่วยที่ยังรอคอยเตียงอยู่ที่บ้าน สามารถโทรศัพท์ไปยังศูนย์เอราวัณ กทม. 1669, 1668 สายด่วนกรมการแพทย์ (เฉพาะกิจ) 08.00 - 22.00 น. หรือ 1330 สายด่วน สปสช.ตลอด 24 ชั่วโมง (ข้อมูล ณ 19 เมษายน 2564) แนะนำว่า ควรโทรติดต่อเพียงแค่ช่องทางเดียว เพื่อป้องกันการแจ้งข้อมูลซ้ำซ้อนซึ่งอาจทำให้การประสานล่าช้าลงไปอีก 

อีกทางเลือกที่น่าสนใจ คือ เข้าไปที่แอพพลิเคชั่นไลน์ “สบายดีบอต” (@sabaideebot) เพื่อลงทะเบียนหาเตียงสำหรับผู้ป่วยในกรุงเทพและปริมณฑล ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

  • เพิ่ม@sabaideebotเพื่อนในไลน์
  • ลงทะเบียนที่เมนูลงทะเบียนหาเตียง COVID-19
  • กรอกข้อมูลส่วนตัว แนบภาพผล RT-PCT ซึ่งผลเป็นบวก
  • หลังกรอกข้อมูลแล้วเสร็จ ส่งเรียบร้อย จะได้รหัสลงทะเบียนพร้อมคำแนะนำ
  • เมื่อได้รับการจัดสรรเตียงแล้ว ระบบจะส่งข้อความแจ้ง จากนั้นกดรับทราบการนัดหมายและแจ้งที่อยู่ปัจจุบัน

หากอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาด หรือมีกำหนดการต้องเดินทาง สามารถ เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจตรวจโควิด 19 ด้วยเทคนิคที่ต้องการได้ที่นี่เลย หรือที่ไลน์ @hdmall.support โดยมีจิ๊บใจดี เสียงใสคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง! แอดเลยไม่ต้องรอ

ที่มาของข้อมูล

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, นิยามผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient Under Investigation: PUI)(https://ddc.moph.go.th/viralpn... เมษายน 2564.

ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินโควิด-19, แนวทางการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม กรณีการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (http://www.hsscovid.com/files/...), 19 เมษายน 2564.

Hfocus team, ความสำคัญของโรงพยาบาลสนาม (https://www.hfocus.org/content/2021/01/20871), 19 เมษายน 2564.

@‌hdcoth line chat