MIS-C อาจเป็นหนึ่งในอาการแทรกซ้อนหลังติด COVID ที่อันตรายถึงชีวิต?


รู้จักกลุ่มอาการ MIS-C

ภาวะ MIS เป็นอีกหนึ่งภาวะที่ได้รับความสนใจจากหลายคนในขณะนี้ เนื่องจากพบความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 (COVID-19) และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ความจริงแล้ว MIS สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็ก (MIS-C) ที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี และผู้ใหญ่ (MIS-A) ที่อายุมากกว่า 21 ปี แต่มักพบในเด็กบ่อยกว่า ดังนั้นในบทความนี้จะพามารู้จักกับเภาวะ MIS-C ในเด็ก ทั้งข้อมูลทั่วไป อาการ และวิธีป้องกัน


เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจเกี่ยวกับ MIS-C ได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


MIS-C คืออะไร?

มิสซี่ (MIS-C) ย่อมาจาก Multisystem inflammatory syndrome in children คือกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบของอวัยวะภายในในเด็ก เช่น หัวใจ สมอง ปอด หลอดเลือด ผิว ตา ไต และระบบทางเดินอาหาร

กลุ่มอาการ MIS-C ถือเป็นภาวะที่ค่อนข้างรุนแรง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ผู้ที่เข้ารับการรักษาอาจต้องใช้เวลารักษาในโรงพยาบาลนานกว่า 1 สัปดาห์ หลายคนจึงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ MIS-C จะมีโอกาสเสียชีวิต แต่ก็ถือเป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก และเด็กที่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็มีโอกาสฟื้นตัวได้เช่นกัน

หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนใดที่กล่าวมา ก็ไม่ควรเพิกเฉยโดยคิดไปเองว่าไม่เป็นอะไร อาจลองหาแพ็กเกจตรวจสุขภาพดูเพื่อให้ทราบต้นเหตุของอาการที่แน่ชัด

MIS-C เกิดจากอะไร?

ปัจจุบันสาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการ MIS-C ยังไม่แน่ชัด แต่ในระยะหลังพบว่าอาจมีความสัมพันธ์กับเด็กที่เคยติดโควิด หรือใกล้ชิดกับผู้ติดโควิด จนพัฒนามาเป็น MIS-C ในที่สุด

ด้วย MIS-C ยังคงไม่ทราบข้อมูล สาเหตุ และปัจจัยในการเกิดที่แน่ชัด จึงยังไม่ถูกจัดให้เป็นโรคแต่เป็นเพียงกลุ่มอาการ (Syndrome) เท่านั้น

ปัจจัยที่มีการสันนิษฐานว่าอาจทำให้เกิด MIS-C เช่น โควิด-19 อาจไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ตอบสนองมากเกินไปจนเป็นเหตุให้เกิดการอักเสบของอวัยวะภายในหลายส่วน

นอกจากนี้ยังอาจมีปัจจัยด้านพันธุกรรมด้วย ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยยังไม่เป็นที่แน่ชัด และต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

MIS-C อาการเป็นอย่างไร?

กลุ่มอาการ MIS-C อาจมีอาการเหมือนอาการป่วยประเภทอื่น หลายคนจึงอาจไม่ทราบว่าเด็กที่มีอาการอาจกำลังเป็น MIS-C

โดยอาการของ MIS-C อาจมีมากกว่า 1 อย่าง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้

  • มีผื่นขึ้น
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • เจ็บคอ
  • ตาแดง
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดท้อง
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • มีไข้นานต่อเนื่องเกิน 24 ชั่วโมง
  • มือเท้าบวม
  • ต่อมน้ำเหลืองบวม
  • ริมฝีปาก หรือลิ้นบวม
  • เวียนหัว (สัญญาณของความดันโลหิตต่ำ)

หากสังเกตเห็นอาการด้านบนมากกว่า 1 ข้อ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย นอกจากนี้ MIS-C อาจมีอาการรุนแรงที่ถือเป็นภาวฉุกเฉิน และต้องนำส่งโรงพยาบาลทันทีด้วยเช่นกัน ดังนี้

  • ปวดท้องอย่างรุนแรง
  • หมดสติ
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจลำบาก
  • หน้าซีด ผิวกลายเป็นสีเทา หรือน้ำเงิน ขึ้นอยู่กับสีผิวดั้งเดิม

MIS-C ป้องกันอย่างไร?

แม้ปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของกลุ่มอาการ MIS-C แต่จากความสัมพันธ์ที่มีต่อโรคโควิด-19 ดังนั้นการป้องกันโรค COVID-19 จึงอาจเป็นแนวทางป้องกัน MIS-C ได้ด้วยเช่นกัน ดังนี้

  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำ และสบู่ อย่างน้อย 20 วินาที หรืืออาจใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล
  • เว้นระยะห่างทางสังคม โดยห่างจากผู้อื่นประมาณ 1-2 เมตรขณะอยู่นอกบ้าน
  • สวมหน้ากากอนามัย ควรสวมทั้งที่โล่ง และในที่ปิดที่เป็นที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ทั้งจมูก ตา ปาก โดยเฉพาะการสัมผัสใบหน้าของลูกน้อยที่อาจมีความเสี่ยงจะติด COVID-19
  • ปิดปากและจมูกเวลาไอจาม อาจใช้กระดาษทิชชู่ หรือข้อพับแขนในการปิด เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของละอองฝอยไปสู่ลูกน้อยของคุณ

นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนโควิดเองก็เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่มีส่วนป้องกันการติดโควิด ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะ MIS-C ได้เช่นกัน

โดยสรุปแล้ว MIS-C เป็นกลุ่มอาการที่พบได้น้อย และมักพบหลังจากผ่านการติดโควิดไปแล้ว แต่อาการอาจรุนแรงจนส่งผลต่อความเสียหายในร่างกาย หรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากสังเกตเห็นสัญญาณต่างๆ ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือหาแพ็กเกจตรวจสุขภาพเพื่อทำการตรวจหาสาเหตุทันที

ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Joni Sweet, What Parents Should Know About Rare Pediatric Syndrome Linked to COVID-19, (https://www.healthline.com/health-news/what-parents-should-know-about-rare-pediatric-syndrome-linked-to-covid-19), 8 March 2021.
  • Centers for Disease Control and Prevention, About MIS, (https://www.cdc.gov/mis/about.html), 25 June 2021.
  • Mayo Clinic, Multisystem inflammatory syndrome in children (MIS-C) and COVID-19, (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/mis-c-in-kids-covid-19/symptoms-causes/syc-20502550), 18 May 2021.

@‌hdcoth line chat