tonsil adenoid disease faq

เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์

ต่อมทอนซิล (Tonsil) และต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) คือต่อมน้ำเหลืองประเภทเดียวกัน ทำหน้าที่ดักจับเชื้อโรค และผลิตเซลล์สร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น 

ทั้งนี้มีหลากหลายข้อเข้าใจผิดที่เกี่ยวข้องกับต่อมทอนซิล และต่อมอะดีนอยด์ เช่น ถ้าเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ ต้องผ่าตัดรักษาเท่านั้น หรือ เมื่อโตขึ้นต่อมอะดีนอยด์จะยุบลงเอง ฉะนั้นถ้าเด็กมีอาการไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้ เป็นต้น เราได้รวบรวมข้อมูลเพื่อไขข้อข้องใจไว้ให้แล้ว เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับต่อมทอนซิล มีดังนี้

1. ถ้าป่วยเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ ห้ามกินน้ำเย็น หรือไอศกรีม

ตอบ: เมื่อป่วยเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบ อาการส่วนใหญ่ที่มักเป็น คืออาการเจ็บคอ โดยจะเจ็บมากบริเวณด้านข้างของช่องปากทั้งสองข้าง คอแดง ไอ มีเสมหะ หลายคนๆ จึงเชื่อว่าควรปฏิบัติเช่นเดียวกับเวลาที่ป่วยเป็นไข้หวัดทั่วไป คือ ไม่ควรดื่มน้ำเย็น หรือรับประทานไอศกรีม เพราะจะยิ่งทำให้ระคายคอ หรือมีอาการรุนแรงขึ้น

แต่จริงๆ แล้วหากแพทย์วินิจฉัยแน่ชัดว่าเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบ สามารถดื่มน้ำเย็น และรับประทานไอศกรีมได้เลย โดยไม่ต้องกังวล เพราะความเย็นจะช่วยบรรเทาอาการปวด ลดบวม และลดการอักเสบลงได้ด้วย

2. ต่อมทอนซิลอักเสบ ต้องรีบรักษา หรือผ่าตัดออกเท่านั้น

ตอบ: การรักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบ ขึ้นอยู่กับระดับอาการ และความถี่ของอาการป่วย โดยแบ่งคร่าวๆ ได้ดังนี้

  • ถ้ามีอาการไม่มาก เช่น เจ็บคอเพียงเล็กน้อย ไม่มีไข้ อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา เพียงแค่ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ก็สามารถหายได้ภายใน 2-3 วัน
  • ถ้ามีอาการมาก เช่น มีไข้สูง เจ็บคอมาก รับประทานอาหารได้น้อย อาจเป็นการอักเสบที่รุนแรง แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะร่วมกับยาอื่นๆ เพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นภายใน 3-7 วัน
  • ในกรณีที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้วไม่ได้ผล เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง คือ มีการอักเสบบ่อย 6 ครั้งต่อปี หรือ เกิน 3 ครั้ง ต่อ 2 ปี ต่อมทอนซิลโตเบียดกดทับทางเดินหายใจ เป็นฝีที่ต่อมทอนซิล แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิลออก

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง และปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษาก็โอกาสที่โรคจะลุกลามไปเป็นมะเร็งต่อมทอนซิลหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้เช่นกัน

ป่วยเป็นต่อมทอนซิลอักเสบบ่อยๆ ถึงเวลาต้องผ่าตัดต่อมทอนซิลหรือยัง? อยากปรึกษากับคุณหมอเฉพาะทาง ให้มั่นใจว่าจะไม่เจ็บตัวฟรี ทักหา HDcare ได้เลย พร้อมนัดคิวให้คุณปรึกษาคุณหมอทางไลน์ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

3. ต่อมทอนซิลอักเสบ สามารถซื้อยามากินเองได้

ตอบ: หากมีอาการต่อมทอนซิลอักเสบ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาปฏิชีวนะ เพราะว่าโรคต่อมทอนซิลอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และมีส่วนน้อยเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งยาปฏิชีวนะมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่ได้มีฤทธิ์ต้านเชื้อไว้รัส ลดการอักเสบ แก้ปวด ลดไข้ 

ฉะนั้นหากยังไม่ทราบว่าต่อมทอนซิลอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อชนิดใด แล้วรับประทานยาผิด นอกจากไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้เกิดภาวะเชื้อดื้อยาตามมาได้

ดังนั้นหากมีอาการต่อมทอนซิลอักเสบที่ค่อนข้างรุนแรง แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

4. ถ้าผ่าตัดต่อมทอนซิลออก จะยิ่งป่วยง่าย

ตอบ: เนื่องจากต่อมทอนซิลจะมีหน้าที่ในการดักจับและกำจัดเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูกและช่องปาก ทำให้หลายๆ คนที่มีอาการต่อมทอนซิลอักเสบบ่อยๆ ไม่กล้าผ่าตัดต่อมทอนซิล เพราะกังวลว่าจะยิ่งทำให้ป่วยบ่อยขึ้น เพราะขาดต่อมที่ทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรค

แต่จริงๆ แล้ว การผ่าตัดไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง เพราะร่างกายยังมีต่อมน้ำเหลืองอื่นๆ ในช่องคอที่กำจัดเชื้อโรคได้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ต่อมทอนซิลอักเสบบ่อยๆ จากต่อมที่เคยทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรค จะกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียแทน และอาจลุกลามเป็นมะเร็งต่อมทอนซิล หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้

เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับต่อมอะดีนอยด์

tonsil adenoid disease faq 01 scaled

1. ลูกนอนกรน เพราะเล่นซน เหนื่อยมาก หรือน้ำหนักเกิน คัดจมูกบ่อย น้ำมูกไหลประจำ เดี๋ยวโตขึ้นร่างกายมีภูมิคุ้มกันก็จะหายเอง

ตอบ: ไม่จริงเสมอไป เพราะหนึ่งในอาการหลักของโรคต่อมอะดีนอยด์โตคือ อาการนอนกรน ร่วมกับคัดจมูก น้ำมูกไหล และอาจเจ็บคอ คอโตร่วมด้วย

หากผู้ปกครองสังเกตอาการผิดปกตินี้ ควรรีบพามาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุ เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมที่สุด

2. เด็กมีอาการต่อมอะดีนอยด์โต ไม่อันตราย เดี๋ยวโตขึ้นก็หายเอง

ตอบ: ไม่เสมอไป ตามปกติต่อมอะดีนอยด์ จะมีความสำคัญในเด็กอายุ 1-10 ปี เพราะจะช่วยป้องกันการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ แต่เมื่อเด็กโตขึ้น ต่อมอะดีนอยด์จะมีขนาดเล็กลง และลดบทบาทหน้าที่ลงเรื่อยๆ จนไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรค

แต่ไม่ได้หมายความว่า อาการต่อมอะดีนอยด์โต หรืออักเสบของเด็ก จะไม่เป็นอันตราย และสามารถหายได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น

เพราะหากต่อมอะดีนอยด์โตจนอุดกั้นทางเดินหายใจ แล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา จะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอขณะนอนหลับ และส่งผลกระทบที่ร้ายแรงตามมา เช่น

  • มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
  • พัฒนาการของเด็กช้าลง
  • ผลการเรียนแย่ลง
  • มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้น
  • อาจสูญเสียการได้ยินชั่วคราว จากภาวะหูน้ำหนวก เนื่องจากต่อมอะดีนอยด์อยู่บริเวณหลังเยื่อบุโพรงจมูก  ซึ่งเป็นจุดที่มีรูเปิดของหูชั้นกลาง ซึ่งต่อมอะดีนอยด์อาจมีโอกาสโตจนไปปิดกั้นรูเปิดดังกล่าว ทำให้น้ำที่อยู่ในหูชั้นกลางระบายออกไม่ได้ และขังจนกลายเป็นหูน้ำหนวกในที่สุด

3. ต่อมอะดีนอยด์อักเสบ หรือโต เป็นได้เฉพาะเด็กเท่านั้น

ตอบ: ไม่จริง แม้ต่อมอะดีนอยด์จะลดบทบาทหน้าที่ลงเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ก็ยังเกิดความผิดปกติได้ เช่น เกิดการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย หรือเป็นผลข้างเคียงจากโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น ภูมิแพ้ หรือกรดไหลย้อน ที่ทำให้ต่อมอะดีนอยด์อักเสบ หรือโตได้

4. ถ้าผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ออก จะทำให้ยิ่งติดเชื้อง่ายขึ้น

ตอบ: ไม่จริง ข้อนี้คล้ายคลึงกับการผ่าตัดต่อมทอนซิล คือเมื่อผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ออกแล้ว จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการป้องกันเชื้อโรค หรือการกำจัดเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากร่างกายของเรายังคงมีต่อมน้ำเหลืองอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำงานทดแทนต่อมอะดีนอยด์ได้

แต่ไม่ได้หมายความว่าต่อมอะดีนอยด์ไม่สำคัญ หรือสามารถผ่าตัดออกได้ทันที เมื่อเกิดความผิดปกติ แต่จำเป็นต้องมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนในการผ่าตัด เช่น กรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาแล้วไม่ได้ผล มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือกรณีเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หรือโรคโพรงไซนัสอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

ยังมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ต่อมอะดีนอยด์หรือเปล่า? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top