การย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก คืออะไร รอบสด รอบแช่แข็ง ต่างกันอย่างไร scaled

การย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก คืออะไร รอบสด รอบแช่แข็ง ต่างกันอย่างไร?

หนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญของการทำเด็กหลอดแก้ว ทั้งวิธี IVF และ ICSI นั่นก็คือ การย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก หลายคนเป็นกังวลกับขั้นตอนนี้ เพราะยังไม่รู้ว่า มีขั้นตอนอย่างไร และมีคำถามว่า การย้ายตัวอ่อนรอบสดและรอบแช่แข็งต่างกันอย่างไร รวมทั้งไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรหลังจากย้ายตัวอ่อนแล้ว บทความนี้จึงรวบรวมทุกเรื่องเกี่ยวกับการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกมาฝาก

การย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก คืออะไร?

การย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูก (Embryo Transfer) คือการย้ายตัวอ่อนภายหลังปฏิสนธินอกร่างกาย กลับเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ โดยหลังจากย้ายตัวอ่อนไปแล้วประมาณ 10 วัน แพทย์จะนัดผู้รับบริการกลับมาตรวจวัดระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ หรือฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) เพื่อยืนยันผลการตั้งครรภ์อีกครั้ง

ในระหว่างขั้นตอนย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก แพทย์จะทำอย่างเบามือ ทำให้มีโอกาสเจ็บน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ในบางรายอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น หน่วงหน้าท้อง หน้ามืด เวียนศีรษะ อ่อนเพลียได้

การย้ายตัวอ่อนรอบสด กับรอบแช่แข็ง ต่างกันอย่างไร?

การย้ายตัวอ่อนมีด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่

  1. การย้ายตัวอ่อนรอบสด (Fresh ET) เป็นการใส่ตัวอ่อนสดเข้าไปในโพรงมดลูก ในช่วง 3-7 วัน หลังจากเก็บไข่ เหมาะกับผู้หญิงที่มีจำนวนฟองไข่ไม่มาก ระดับฮอร์โมนไม่สูงมากนัก ลักษณะเยื่อบุโพรงมดลูกเหมาะสม และไม่ต้องการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน

การย้ายตัวอ่อนประเภทนี้มีข้อดีคือ เป็นกระบวนการที่เป็นธรรมชาติมากกว่า และที่สำคัญคือ ประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน รวมทั้งไม่มีค่าใช้จ่ายในการแช่แข็ง

  1. การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง (Frozen-thawed ET) เป็นการละลายตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งเอาไว้จากการทำเด็กหลอดแก้ว แล้วจึงค่อยใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก 

การย้ายตัวอ่อนประเภทนี้เหมาะกับผู้หญิงที่ได้ตัวอ่อนในจำนวนที่เกินกว่าจะใส่ในโพรงมดลูกได้ และต้องการแช่แข็งเก็บไว้ก่อน รวมทั้งผู้ที่ต้องการเวลาในการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกที่ยืดหยุ่นและไม่เร่งรัดจนเกินไป รวมทั้งผู้ที่ต้องการตรวจโครโมโซมก่อนการย้ายตัวอ่อน

การย้ายตัวอ่อนประเภทนี้มีข้อดีคือ สามารถทำได้แม้จะเก็บไข่และปฏิสนธิมานานหลายปีแล้วก็ตาม นอกจากนี้ในปัจจุบันพบว่า อัตราการตั้งครรภ์จากการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็งมีมากกว่ารอบสด

คู่ของเรา ย้ายตัวอ่อนรอบไหนดี รอบสด หรือรอบแช่แข็ง อยากขอความเห็น จากคุณหมอเฉพาะทาง เพื่อเลือกวิธีที่เหมาะกับเรามากที่สุด ติดต่อทีม HDcare ช่วยทำนัดเข้าปรึกษาคุณหมอ ดูแลกันตั้งแต่ต้นจบ ทำให้การรักษาภาวะมีบุตรยากไม่ยุ่งยากและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด คลิกเลย

ขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก

การย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีเท่านั้น โดยไม่จําเป็นต้องใช้ยาสลบ มีขั้นตอนทั้งหมด ดังนี้

  1. ดื่มน้ำและกลั้นปัสสาวะประมาณ 1 ชั่วโมงล่วงหน้า ก่อนถึงเวลาย้ายตัวอ่อน เพื่อให้เครื่องอัลตราซาวด์ถ่ายภาพด้านในมดลูกได้ชัดเจนที่สุด
  2. แพทย์จะตรวจอัลตราซาวนด์บริเวณหน้าท้อง เพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการฝังตัวอ่อน
  3. ผู้เข้ารับบริการขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่ง
  4. แพทย์จะสอดสายเล็กๆ (Catheter) เข้าไปทางปากมดลูก ลึกไปถึงโพรงมดลูก ในระหว่างนี้ก็จะอัลตราซาวด์ดูตำแหน่งในการวางตัวอ่อนไปด้วย
  5. แพทย์ฉีดตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูกผ่านทางสายที่สอดเข้าไป
  6. หลังจากใส่ตัวอ่อนแล้ว ผู้เข้ารับบริการนอนพักต่อประมาณ 30-60 นาที 
  7. แพทย์จะสั่งจ่ายยาช่วยพยุงการตั้งครรภ์ก่อนกลับบ้าน และนัดเจาะเลือดตรวจการตั้งครรภ์ในวันที่ 10 หลังการย้ายตัวอ่อน

ผลข้างเคียงจากการย้ายตัวอ่อน

การย้ายตัวอ่อนมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้รับบริการ ดังนี้

  1. มีของเหลวหรือเลือดไหลออกมาเล็กน้อย จากการทำความสะอาดปากมดลูกก่อนย้ายตัวอ่อน
  2. รู้สึกเจ็บหรือปวดเต้านม เนื่องจากจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูง
  3. รู้สึกปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น แขน ขา หลัง
  4. มีอาการท้องอืดเล็กน้อย หรือท้องผูก
  5. รู้สึกปวดเกร็งท้องน้อย
  6. รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน

ข้อปฏิบัติตัวหลังย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก

หลังจากย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกแล้ว ผู้รับบริการควรดูแลตัวเอง ดังนี้

  1. ใช้ยาและปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  2. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การเดินหรือยืนต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ การขึ้น-ลงบันไดบ่อยๆ การเกร็งหน้าท้อง รวมทั้งการออกกำลังกายอย่างหักโหม อย่างไรก็ตาม ควรเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเหมาะสม ไม่นอนมากจนเกินไป
  3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีเส้นใย หลีกเลี่ยงของหมักดอง อาหารดิบ พยายามไม่เครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  4. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่วันที่ใส่ตัวอ่อน จนกระทั่งถึงวันนัดตรวจเลือดฮอร์โมนตั้งครรภ์ HCG
  5. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทุกชนิด เช่น ยาทาเล็บ ยาย้อมผม น้ำหอม รวมไปถึงน้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างห้องน้ำ สเปรย์ดับกลิ่น สเปรย์ฉีดมด
  6. หากมีอาการเจ็บป่วยหรือพบความผิดปกติ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที และหลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง

เชื่อว่าบทความนี้น่าจะตอบทุกเรื่องที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก และช่วยให้สบายใจได้ว่า การย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกไม่ได้น่ากลัวและน่าเป็นกังวลอย่างที่หลายคนคิด

ยังลังเลใช่ไหม ไม่รู้ว่าควรเลือกวิธีไหนดี? วิธีไหนเพิ่มโอกาสท้องได้ดีที่สุด? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองภาวะมีบุตรยาก จาก ร.พ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top