อาการวูบ เกิดจากอะไร แบบไหนอันตราย

อาการวูบ เกิดจากอะไร แบบไหนอันตราย

อาการวูบ วิงเวียน หมดสติ เป็นอาการที่มีความสับสนทางการแพทย์และคำจำกัดความมาก หลายครั้งจะแยกอาการต่างๆ เหล่านี้ออกจากกันยาก เพราะอาการก้ำกึ่งหรือต่อเนื่องกันไป

หากเข้าใจรายละเอียดของแต่ละอาการที่แน่ชัด และสื่อสารได้แม่นยำ จะทำให้วินิจฉัยโรคได้ถูกต้องมากขึ้น

อาการวูบ คืออะไร?

อาการวูบ (Syncope) หมายถึง อาการหมดสติ หมดการรับรู้ไปชั่วขณะหนึ่ง เป็นชั่วขณะเวลาที่สั้นมาก หลักเวลาเป็นวินาทีและฟื้นกลับคืนมาได้เอง (ยกเว้นมีผลแทรกซ้อนตามมา)

ในช่วงวูบ ร่างกายจะสูญเสียประสาทรับสัมผัส ไม่สามารถจดจำเหตุการณ์ขณะที่วูบ แต่จะจำเหตุการณ์ก่อนและหลังวูบได้ มีอาการสูญเสียการควบคุมตัวเองรวมทั้งการทรงตัว หากยืนอยู่จะทรุดตัวล้มลง

อาการที่คนมักสับสนกับอาการวูบ

อาการที่หลายคนมักสับสนกับอาการวูบ หรือมักเกิดร่วมกับอาการวูบ ที่พบบ่อยๆ มีดังนี้

1. อาการวิงเวียน (Dizziness)

สิ่งที่บ่งชี้ว่าเป็นวิงเวียน ไม่ใช่อาการวูบ ที่สำคัญคือจะไม่มีอาการหมดสติ รู้สึกโคลงเคลง วูบวาบ

อาการจะคงที่นานกว่าวูบ อาจเป้นอาการนำของอาการวูบ หรืออาการนำของอาการอื่นๆ ได้อีกหลายอย่าง

เนื่องจากอาการวิงเวียนไม่เฉพาะเจาะจงกับโรคใด จึงต้องอาศัยดูอาการร่วมหรือการตรวจร่างกายมาแยกโรคออกจากกัน

2. อาการบ้านหมุน (Vertigo)

อาการบ้านหมุนจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับอาการวิงเวียน บางคนอาจสับสนกับอาการวูบ แต่บ้านหมุนจะมีอาการหมุน ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมหมุน หรือตัวหมุน หากอยู่นิ่งๆ หรือหลับตาอาการจะดีขึ้น (เพราะเมื่อลืมตา สิ่งของจะหมุน)

อาจมีอาการเดินเซ คลื่นไส้อาเจียน หรืออาการทางระบบประสาทร่วมด้วย

อาการบ้านหมุนเฉียบพลันที่ไม่ดีขึ้นเลยในคนที่มีโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นข้อควรระวังอันหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ที่ควรเข้ารับการรักษาโดยเร็ว

3. อาการเป็นลมหมดสติ (Loss of consciousness)

อาการหมดสติต่างจากอาการวูบ ตรงที่หมดสติจะเป็นเวลานานในหลักนาทีหรือนานกว่านั้น

หากเรียกไม่ตอบสนอง ถือเป็นข้อบ่งชี้ของการกู้ชีพ แต่หากเรียกฟื้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกด้วยตำพูด หรือการสัมผัสตัว จะต้องไปรับการสืบค้นหาสาเหตุและป้องกันการเกิดซ้ำเสมอ

เนื่องจากหลายสาเหตุนั้นรุนแรงถึงชีวิต แต่สามารถแก้ไขได้ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ้นหัวใจตีบ ลมชัก เลือดออกในสมอง หรือหลอดเลือดในสมองตีบเฉียบพลัน

สาเหตุของอาการวูบ

อาการวูบเป็นโรคที่เกิดในสมอง จากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ก่อนจะวูบในช่วงไม่กี่วินาที

เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่ต้องการเลือดมาเลี้ยงมาก และไวมากต่อการขาดกลูโคสและออกซิเจน การขาดเลือดมาเลี้ยงแม้ในเวลาเพียงสั้นๆ ก็ทำให้เกิดอาการได้

ในคนปกติที่ร่างกายแข็งแรงและการควบคุมของร่างกายเป็นปกติดีนั้น โอกาสวูบจะน้อย เพราะระบบไหลเวียนเลือดในสมองมีการควบคุมความดันอย่างดี เพื่อรับประกันว่าเลือดจะไปเลี้ยงสมองได้อย่างเพียงพอ

เรียกระบบนี้ว่าออโตเรกูเลชัน (Autoregulation) ใช้การทำงานของระบบประสาทมาควบคุม

ดังนั้นนอกเหนือจากเหตุที่ทำให้เลือดมาเลี้ยงไม่พอ ยังจะมีสาเหตุที่เกิดจากการควบคุมด้วยระบบประสาทบกพร่องด้วย

อาการวูบได้ 3 สาเหตุใหญ่ๆ ดังนี้

1. อาการวูบจากระบบประสาทควบคุมหลอดเลือด

ดังที่กล่าวไปว่า สมองมีระบบการควบคุมแรงดันเลือดที่ดีมาก หากระบบนี้เสียไป อาจจะมีบางจังหวะเวลาที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ทำให้เกิดอาการวูบ

เหตุนี้อาจเป็นความผิดปกติที่ชัดเจน เช่น โรคลมชักบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติ โรคหลอดเลือดแดงที่คอโป่งพอง หรือเป็นเพียงแค่ความแปรปรวนของระบบควบคุมในบางจังหวะเวลา

ความแปรปรวนของระบบควบคุมมักเป็นสาเหตุหลักของอาการวูบทั้งหมด

อาการวูบจากระบบประสาทควบคุมหลอดเลือด แบ่งย่อยออกได้เป็น 2 สาเหตุ ได้แก่

  1. การรบกวนระบบประสาท (Vasovagal syncope) มาจากอารมณ์และความรู้สึกบางอย่างมีผลไปกระตุ้นหรือยับยั้งกระแสประสาทที่คอยควบคุมเลือดในสมอง เช่น อารมณ์โกรธจัดหรือเสียใจ สามารถเกิดวูบได้ หรืออาการปวดรุนแรง ก็สามารถทำให้วูบได้เช่นกัน
  2. การกระตุ้นระบบประสาทพาราซิมพาเธติก (Vagovagal or situational syncope) ระบบประสาทพาราซิมพาเธติกจะทำให้หัวใจเต้นช้าและแรงดันแรงบีบตัวของหัวใจและหลอดเลือดลดลง เป็นผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง (ทำงานตรงข้ามกับระบบประสาทซิมพาเธติก)หากมีกิจกรรมใดของร่างกายที่สามารถไปกระ ตุ้นระบบประสาทพาราซิมพาเธติก อาจจะทำให้มีอาการวูบได้ เช่น อาการเบ่ง เช่น ไอ จาม ยกน้ำหนัก กลั้นลมหายใจแล้วเบ่ง การถ่ายปัสสาวะ การกดนวดต่อมลูกหมาก การกลืน การขับถ่ายอุจจาระ

อาการวูบจากระบบประสาทนี้มีความรุนแรงไม่มาก มักจะหลีกเลี่ยงหรือปรับตัวได้ เช่น คนที่เคยมีอาการวูบมาแล้ว ให้นั่งลงเวลาไอ จาม หรือขับถ่ายปัสสาวะ

2. อาการวูบจากความดันโลหิตลดลงเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทาง (Postural hypotension)

คำจำกัดความคือ มีระดับความดันโลหิตตัวบน (Systolic) ลดลงตั้งแต่ 20 มิลลิเมตรปรอท หรือระดับความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic) ลดลงตั้งแต่ 10 มิลลิเมตรปรอท

โดยมักลดลงเมื่อมีการเปลี่ยนท่าจากนอนมาเป็นนั่งหรือยืน และหากเปลี่ยนท่าจากนั่งเป็นยืนหลังจากขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ โอกาสจะความดันลดลงจนเกิดอาการวูบก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

โดยธรรมชาติแล้ว เมื่อมีการลุกยืน ร่างกายจะใช้ระบบประสาทอัตโนมัติที่ชื่อระบบประสาทซิมพาเธติก ทำให้หัวใจบีบตัวแรงขึ้น อัตราการเต้นหัวใจเร็วขึ้น และหลอดเลือดบีบตัวแรงขึ้น เพื่อชดเชยเลือดที่ไหลกลับเข้าสู่หัวใจน้อยลงจากอิทธิพลของแรงดึงดูดโลก (ประมาณ 500-800 ซีซี)

หากระบบประสาทนี้ทำงานบกพร่องไป จะทำให้เกิดอาการวูบขึ้นได้ หรือมียาบางชนิดที่ไปต้านการปรับตัวของระบบประสาทนี้ ก็จะเกิดอาการวูบได้เช่นกัน

โรคตามธรรมชาติที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้มีน้อยมาก เช่น โรคระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ (Multisystem atrophy) โรคพาร์กินสัน

อาการที่เกิดส่วนมากจะเป็นผลจากอายุมากขึ้น ระบบประสาทเสื่อมถอยลง หรือผลจากโรคอื่นที่มาทำลายระบบประสาท เช่น เบาหวาน

ยาที่ทำให้เกิดอาการความดันลดต่ำลงจนมีอาการวูบ ที่พบบ่อยๆ คือ ยาแก้แพ้ ยาแก้อาการวิงเวียน ยาลดความดัน ยาขับปัสสาวะ ยาขยายคอคอดกระเพาะปัสสาวะที่ใช้ในการรักษาต่อมลูกหมากโต

การรักษาอาการวูบจากความดันโลหิตลดลงนี้ทำได้โดยลุกยืนให้ช้าลง มีเวลาปรับตัวเวลาลุกยืน ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงตัว หลีกเลี่ยงยาที่ทำให้เกิดความดันโลหิตลดลงขณะลุกนั่ง

สำหรับการใช้ยาเพื่อแก้ไขอาการวูบจากสาเหตุนี้ยังมีการศึกษาน้อย และไม่ได้เป็นการรักษามาตรฐานสำหรับทุกคน

3. อาการวูบจากโรคหัวใจและหลอดเลือด

สิ่งที่ทำให้มีอาการวูบอีกอย่างคือ ต้นกำเนิดแรงดันที่ส่งเลือดไปสมองคือหัวใจมีการบีบตัวส่งเลือดที่ผิดปกติไป ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ

สาเหตุจากหัวใจที่พบบ่อย ได้แก่ อัตราการเต้นของหัวใจผิดจังหวะในช่วงสั้นๆ แต่รุนแรงจนการบีบตัวลดลง จากลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic) ตีบแคบรุนแรง หรือกล้ามเนื้อหัวใจพิการจนแรงบีบลดลง

สาเหตุจากโรคหัวใจนี้มักจะเกิดร่วมกับสาเหตุอื่นๆ ข้างต้นได้บ่อย ส่งผลให้เกิดอาการวูบได้

สำหรับสาเหตุอันเกิดจากโรคหัวใจที่ทำให้เกิดอาการวูบ มักจะมีประวัติอาการและตรวจพบได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจร่างกาย การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือการตรวจพิเศษอื่นๆ ทางระบบหัวใจ

เป็นสาเหตุที่จะต้องแยกออกเป็นอันดับแรกในผู้ที่มีอาการวูบ เพราะอันตรายถึงชีวิต แต่สามารถป้องกันการเกิดซ้ำได้ดี

วิธีปฐมพยาบาลผู้มีอาการวูบ

สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้น หลักสำคัญคือเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและการบาดเจ็บที่เกิดจากการวูบ เนื่องจากอาการวูบนั้นเป็นเองหายเองในช่วงเวลาสั้นๆ ส่วนมากไม่มีคนเห็นเหตุการณ์ หรือไม่เกิดผลแทรกซ้อนใด

คำแนะนำมีดังนี้

  • พิจารณาเรื่องความปลอดภัย หากพบผู้มีอาการวูบอยู่ในพื้นที่อันตราย เช่น ท้องถนน สระน้ำ ให้พาผู้ป่วยออกมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
  • ให้ผู้ที่มีอาการวูบหยุดทำงานอันตราย เช่น ขึ้นที่สูง ขับรถ ทำงานกับเครื่องจักร
  • ปฐมพยาบาลบาดแผลอันเนื่องจากการบาดเจ็บขณะวูบ หากผู้มีอาการวูบบาดเจ็บจากศีรษะกระแทก ของมีคมบาด กระดูกหักข้อเคลื่อน ควรทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามอาการ
  • ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหรือนั่งอย่างปลอดภัย
  • สังเกต คอยระวังอาการชักเกร็งหรือหมดสติหยุดหายใจ หากเรียกไม่ฟื้นควรทำการกู้ชีพ

เมื่อมีอาการวูบ ควรเข้ารับการตรวจรักษาสาเหตุทุกครั้ง

หลายครั้งอาการวูบอาจสับสนกับกลุ่มอาการอื่นที่จำเป็นต้องแยกโรคออกจากกัน ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ควรไปร่วมให้ประวัติกับผู้ป่วยเสมอ

เพราะตอนที่วูบนั้น ผู้ป่วยจะจำเหตุการณ์ไม่ได้ ไม่รู้ลักษณะทางกายหรือพฤติกรรมของตนในขณะวูบ ทำให้การวินิจฉัยยากและไม่ครบถ้วนสมบูรณ์


เขียนบทความโดย นพ. ชาคริต หริมพานิช


ที่มาของข้อมูล

  • Dysautonomis in Current Medical Diagnosis and Treatment 59th edition
  • Syncope in Churchill’s pocketbook Differential Diagnosis 3rd edition
  • Ray Freemon, Syncope in Harrison’s Principle of Internal Medicine 19th edition
Scroll to Top