levocetirizine

Levocetirizine (เลโวเซทิริซีน)

ยาสามัญเลโวเซทิริซีน ไดไฮโดรคลอไรด์ (Levocetirizine Dihydrochloride) จัดเป็นยากลุ่มยาต้านอาการแพ้รุ่นที่ 3 ที่มีโครงสร้างในกลุ่มไพเพอเรซีน (Piperazine)

จัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย ตามการจำแนกโดยคณะกรรมการอาหารและยา มีจำหน่ายเฉพาะร้านยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งควบคุมการขายยา ต้องมีการจัดทำบัญชียาอันตราย และสำหรับบุคคลทั่วไปเภสัชกรสามารถจำหน่ายยาและให้คำแนะนำในการใช้ยาได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพฯ

กลไกการออกฤทธิ์ของยา คือ Levocetirizine เป็นโครงสร้างไอโซเมอร์ออกฤทธิ์ของ Cetirizine ยาเข้าจับกับตัวรับฮิสตามีน ชนิด H1 แบบแข่งขันกับสารฮิสตามีนซึ่งเป็นสารก่อการแพ้ บริเวณเซลล์ออกฤทธิ์ที่กระเพาะอาหาร หลอดเลือด และระบบทางเดินหายใจ สามารถจับกับตัวรับได้แน่นหนามากกว่า Cetirizine ประมาณ 2 เท่า

ยา Levocetirizine มีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลางอยู่บ้าง เช่น อาการง่วงซึม แต่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับ Cetirizine และยาแก้แพ้ในรุ่นที่ 1

ข้อบ่งใช้ของ Levocetirizine

โรคที่เป็นข้อบ่งใช้ของยานี้ ได้แก่

  • ผื่นลมพิษในผู้ใหญ่ และในเด็กอายุมากกว่า 6 ปี
  • โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

ขนาดและวิธีการใช้ Levocetirizine

ในรูปแบบยาเดี่ยว มีขนาดและวิธีการใช้ตามข้อบ่งใช้ สำหรับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และผื่นลมพิษในรูปแบบยารับประทาน มีดังนี้

  • ผู้ใหญ่และเด็กโตอายุ 10-19 ปี ขนาดการใช้ยาคือ ขนาด 5 มิลลิกรัม (1 เม็ด) ต่อวัน วันละครั้ง
  • เด็กอายุ 6-12 ปี ขนาดการใช้ยาคือ ขนาด 5 มิลลิกรัม (1 เม็ด) ต่อวัน วันละครั้ง
  • ผู้สูงอายุที่มีการทำงานของไตปกติ หรือไตบกพร่องเล็กน้อย ขนาดการใช้ยาคือ 5 มิลลิกรัม (1 เม็ด) ต่อวัน วันละครั้ง ผู้สูงอายุที่มีการทำงานของไตบกพร่องระดับปานกลางขึ้นไป ให้ปรับลดขนาดยาตามค่าการทำงานของไต เนื่องจากยาจะถูกขับออกทางไต จึงอาจเกิดผลกระทบได้
  • เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ สำหรับอาการผื่นลมพิษ ขนาดการใช้ยาเดียวกันกับข้อบ่งใช้สำหรับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

ข้อควรระวังและผลข้างเคียงของการใช้ Levocetirizine

ข้อควรระวัง

  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่แพ้ Levocetirizine Dihydrochloride หรือยาอื่นในกลุ่มโครงสร้าง Piperazine เช่น Cetirizine, Cinnarizine, Hydroxyzine
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยไตบกพร่องระดับรุนแรง ที่มีค่าการกำจัดครีอะทีนิน (CrCl) น้อยกว่า 10 มิลลิลิตรต่อนาที
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มีการดูดซึมของแลคโตสผิดปกติ เนื่องจากตัวยาไม่สำคัญมีส่วนประกอบของแลคโตส
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไตบกพร่อง
  • ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยสูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยลมชัก หรือมีความเสี่ยงในการเกิดอาการชัก
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี

ผลข้างเคียง

  • ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการปากแห้ง ปวดศีรษะ เหนื่อย ง่วงซึม
  • ผลข้างเคียงที่พบได้น้อย ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดท้อง
  • ผลข้างเคียงอื่นๆที่อาจพบ ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว มึนงง วูบ อาการสั่น ส่งผลต่อพฤติกรรม ก้าวร้าว ซึมเศร้า เห็นภาพหลอน ฝันร้าย มีความคิดฆ่าตัวตาย รบกวนการรับรส รบกวนการทรงตัว  รบกวนการมองเห็น ผื่นคัน ผื่นลมพิษ หายใจสั้น น้ำหนักตัวเพิ่ม ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ  ปัสสาวะขัด ปัสสาวะไม่สุด บวมน้ำ ตับอักเสบ การทำงานของตับผิดปกติ อาเจียน เพิ่มความอยากอาหาร คลื่นไส้ ถ่ายท้อง เกิดผื่นเมื่อหยุดใช้ยา

ข้อควรทราบอื่นๆ

  • ยาชนิดสำหรับใช้ทางจมูก ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม category B ตามดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy Safety Index) ยาค่อนข้างมีควรปลอดภัยกับทารกในครรภ์
  • ยาอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม ลดความสามารถในการตัดสินใจ การคิด และการเคลื่อนไหว ดังนั้นเมื่อใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ ทำงานกับเครื่องจักร หรือกิจกรรมอื่นที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดอันตราย
  • ยาสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ กรณีเกิดผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหารแนะนำให้รับประทานพร้อมหรือหลังอาหาร
  • ยานี้ขับออกทางไตเป็นหลัก จึงอาจมีความจำเป็นในการปรับลดขนาดยาในผู้ป่วยบางรายที่ไตบกพร่อง ดังนี้
    • ค่าการกำจัดครีอะทินิน (CrCl) และขนาดความถี่ในการใช้ยา
      ค่าการกำจัดครีอะทินินมากกว่าหรือเท่ากับ 80 วันละ 1 เม็ด
      ค่าการกำจัดครีอะทินิน50-79 ให้กินยาวันละ 1 เม็ด
      ค่าการกำจัดครีอะทินิน30-49 ให้กินยา 1 เม็ด ทุก 2 วัน
      ค่าการกำจัดครีอะทินินน้อยกว่า 30 ให้กินยา 1 เม็ด ทุก 3 วัน
      ค่าการกำจัดครีอะทินินน้อยกว่า 10 ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้
  • ไม่ควรรับประทานยานี้ร่วมกับแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะเสริมฤทธิ์การกดประสาท ทำให้อาการง่วงซึมรุนแรงมากยิ่งขึ้น
  • ยานี้แนะนำให้เก็บรักษาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส เก็บให้พ้นจากแสง

เขียนโดย ทีมเภสัชกร HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top