ตรวจความผิดปกติรังไข่ ท่อนำไข่มีกี่วิธี อธิบายครบจบในที่เดียว scaled

ตรวจความผิดปกติรังไข่-ท่อนำไข่มีกี่วิธี? อธิบายครบจบในที่เดียว

โรคที่เกี่ยวกับรังไข่และท่อนำไข่ ส่งผลต่อสุขภาพคุณผู้หญิงในหลายๆ ด้าน ทั้งในแง่สุขภาพ สมดุลฮอร์โมน และความสามารถในการตั้งครรภ์ ดังนั้นหากพบสัญญาณเสี่ยง เช่น ปวดท้องน้อย ประจำเดือนมาผิดปกติ หรือคลำท้องแล้วพบก้อน ควรรีบตรวจให้แน่ชัด ซึ่งบทความนี้เราได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจความผิดปกติรังไข่และท่อนำไข่เอาไว้ให้คุณแล้ว

ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจโรคเกี่ยวกับรังไข่ – ท่อนำไข่?

โดยทั่วไปผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน ควรเข้ารับการตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ แต่ในผู้ที่มีอาการเหล่านี้ แนะนำให้ตรวจอย่างละเอียดเพิ่มเติม

  • ปวดท้องน้อย ซึ่งอาจสัมพันธ์กับประจำเดือนหรือไม่ก็ได้
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือ ไม่มาเลย
  • ปัสสะวะบ่อยกว่าปกติ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • คลำพบก้อนที่ท้องน้อย
  • สิวขึ้นเยอะ น้ำหนักเพิ่มขึ้น ผมร่วง
  • เจ็บในอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์ 

7 สัญญาณ บอกให้รู้ว่ารังไข่ ท่อนำไข่ผิดปกติ ต้องรีบตรวจ! คลิกอ่านต่อ 

การตรวจความผิดปกติของรังไข่

การตรวจหาความผิดปกติของรังไข่โดยทั่วไปมี 3 วิธีหลักๆ ได้แก่ 

1. การตรวจเลือด

การตรวจเลือดเป็นวิธีพื้นฐานที่ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของรังไข่ในเบื้องต้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจวัดระดับฮอร์โมน ซึ่งจะทำให้ทราบว่ารังไข่มีการผลิตฮอร์โมนที่สมดุลหรือไม่ มีความผิดปกติใดหรือเปล่า โดยฮอร์โมนกลุ่มหลักๆ ที่ตรวจโดยทั่วไป เช่น

  • Testosterone เป็นฮอร์โมนที่พบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง แต่หากเพศหญิงมีเทสโทสเตอโรนมากเกินไป ก็อาจมีปัญหาประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ ผิวมัน สิวขึ้น ขนดก หรืออาจมีถุงน้ำที่รังไข่
  • Estrogen ช่วยควบคุมระบบสืบพันธุ์ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น การผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง เป็นสัญญาณของการเข้าสู่วัยทอง
  • Progesterone คือฮอร์โมนเพศหญิงที่ช่วยควบคุมภาวะไข่ตก และการมีประจำเดือน
  • Estradiol Hormone (E2) มีความสำคัญด้านการเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย การตกไข่ ประจำเดือน 
  • Luteinizing Hormone (LH) ทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของรังไข่
  • Follicle Stimulating Hormone (FSH) ช่วยกระตุ้นการเจริญของไข่ เป็นฮอร์โมนที่มีผลโดยตรงต่อวงจรของประจำเดือน

นอกจากนี้การตรวจเลือดยังสามารถคัดกรองโรคมะเร็งรังไข่ในเบื้องต้นได้ด้วย โดยการตรวจวัดค่าสาร CA125 ซึ่งค่าปกติจะอยู่ที่ 0-35 ยูนิตต่อมิลลิลิตร หากสูงกว่านี้ก็สงสัยได้ว่าอาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ต้องตรวจเพิ่มเติม

2. การตรวจภายใน

เป็นการตรวจพื้นฐาน สามารถสังเกตความผิดปกติทั้งบริเวณปากมดลูก โพรงมดลูก ท่อนำไข่ รวมทั้งรังไข่ด้วย แต่ไม่สามารถระบุรายละเอียดความผิดปกติของก้อนหรือถุงน้ำได้ชัดเจนนัก โดยผู้หญิงอายุ 21-65 ปี ควรเข้ารับการตรวจภายในทุกปี เพื่อคัดกรองความเสี่ยง

การตรวจภายในนั้นไม่ยุ่งยากใช้เวลาประมาณ 10 นาที โดยแพทย์จะสอดคีมปากเป็ดเข้าไปในช่องคลอด และถ่างออกเล็กน้อย เพื่อให้มองเห็นอวัยวภายใน ทั้งปากมดลูกและโพรงมดลูกได้อย่างชัดเจน

จากนั้นจะสอดนิ้วมือ 2 นิ้ว เข้าไปในช่องคลอด คลำดูลักษณะภายใน พร้อมกับใช้มือคลำและกดเบาๆ บริเวณท้องน้อย เพื่อดูขนาด ลักษณะ และตำแหน่งของอวัยวะ รวมถึงตรวจหาอาการบวม หรือก้อนต่างๆ ด้วย

3. การตรวจอัลตราซาวด์ 

การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound)  คือการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ส่งไปยังอวัยวะภายใน และสะท้อนกลับมาทำให้เกิดภาพ ซึ่งสามารถตรวจดูความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ช่วยในการวินิจฉัยโรคต่างๆ ได้ 

ทั้งนี้การตรวจอัลตราซาวด์รังไข่ มี 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. การตรวจอัลตราซาวด์หน้าท้องส่วนล่าง วิธีนี้จะทำให้เห็นภาพทั้งภายในมดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ ว่ามีความผิดปกติใดๆ หรือไม่ เช่น ถุงน้ำ ซีสต์ เนื้องอกต่างๆ มักใช้ในการตรวจสุขภาพทั่วไป หรือในผู้ป่วยเด็กหรือยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์

ก่อนตรวจอัลตราซาวด์หน้าท้องส่วนล่าง ผู้รับบริการต้องดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 500 มิลลิลิตร และกลั้นปัสสาวะไว้ ซึ่งจะช่วยให้เห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจน 

จากนั้นเจ้าหน้าที่หรือแพทย์จะทาเจลเย็นๆ บริเวณหน้าท้องส่วนล่าง และใช้หัวตรวจอัลตราซาวด์ แนบกับหน้าท้องและเคลื่อนหัวตรวจไปเรื่อยๆ เพื่อค้นหาความผิดปกติ ซึ่งระหว่างตรวจจะรู้สึกเย็นๆ บริเวณที่หัวตรวจสัมผัสเท่านั้น

วิธีนี้จะทำให้เห็นภาพอวัยวะโดยภาพรวม แต่หากพบความผิดปกติ อาจจะต้องมีการตรวจเพิ่มเติม

  1. อัลตราซาวด์ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก เป็นวิธีที่สามารถทำให้เห็นภาพอวัยวะภายในได้ชัดเจนที่สุด ส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีที่แพทย์ต้องการผลตรวจที่ชัดเจน และแม่นยำยิ่งขึ้น เนื่องจากหัวตรวจสามารถเข้าไปใกล้บริเวณมดลูกและรังไข่ได้มากกว่าการตรวจผ่านทางหน้าท้อง

การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก แพทย์จะให้ผู้รับบริการนอนหงายบนเตียงขาหยั่ง จากนั้นจะสอดหัวตรวจเข้าไปทางช่องคลอด เพื่อถ่ายภาพอวัยวะภายใน ซึ่งหัวตรวจนี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก ประมาณนิ้วหัวแม่มือ คลุมด้วยถุงยางอนามัยและทาเจลหล่อลื่น 

ระหว่างตรวจจะไม่ได้รู้สึกเจ็บปวด บางรายอาจจะรู้สึกไม่สบายตัวเล็กน้อยขณะที่หัวตรวจอยู่ด้านใน

ในกรณีที่ผู้รับบริการยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจผ่านทางทวารหนักแทน ซึ่งจะมีขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน

ปวดท้องน้อย ประจำเดือนมาไม่ปกติ คลำพบก้อนที่ท้องน้อย สงสัยใช่ไหม? อาการที่เป็นอยู่ใช่โรคที่เกี่ยวกับรังไข่หรือเปล่า อยากตรวจให้แน่ใจ ปรึกษาทีม HDcare ช่วยค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

วิธีการตรวจความผิดปกติของท่อนำไข่

การตรวจความผิดปกติเกี่ยวกับท่อนำไข่นั้น ใช้วิธีการตรวจที่คล้ายคลึงกับการตรวจรังไข่ เช่น การตรวจภายใน การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นต้น

ส่วนใหญ่หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องน้อย ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยมากแพทย์จะตรวจทั้งมดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ไปพร้อมกันเพื่อดูความผิดปกติโดยภาพรวม

แต่การตรวจท่อนำไข่จะมีอีกหนึ่งวิธีที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ การฉีดสีตรวจท่อนำไข่ (Hysterosalpingography: HSG) เพื่อตรวจประเมินลักษณะและความผิดปกติของโพรงมดลูก ภาวะท่อนำไข่ตีบตัน และความผิดปกติอื่นๆ ของท่อนำไข่

การตรวจพิเศษทางรังสีของท่อนำไข่และโพรงมดลูก Hysterosalpingography (HSG)
 

การฉีดสีตรวจท่อนำไข่ (HSG) คือการฉีดสารประกอบไอโอดีนเข้าทางปากมดลูก เข้าสู่โพรงมดลูก และท่อนำไข่ทั้งสองข้าง จากนั้นจะถ่ายภาพเอกซเรย์ เพื่อดูการไหลของสี ทำให้เห็นลักษณะมดลูก และท่อรังไข่ได้อย่างชัดเจน ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น มีภาวะท่อนำไข่ตีบตัน เป็นต้น

การฉีดสีตรวจท่อนำไข่ ในผู้ที่ไม่มีความผิดปกติใดๆ จะไม่รู้สึกเจ็บ แต่ขณะที่แพทย์ฉีดสีอาจมีอาการปวดหน่วงๆ จากแรงดันภายในมดลูกได้ แต่หากมีภาวะท่อนำไข่ตีบตัน อาจจะรู้สึกปวดท้องได้ แต่ไม่นานก็จะหายไปเอง

โดยทั่วไปวิธีนี้ใช้สำหรับตรวจภาวะมีบุตรยาก ทำให้ทราบว่าต้นเหตุคืออะไร ซึ่งจะช่วยให้วางแผนรักษาได้อย่างตรงจุดที่สุด

การตรวจพิเศษทางรังสีของท่อนำไข่และโพรงมดลูกอันตรายไหม?

หลายคนอาจกังวลว่าการตรวจพิเศษทางรังสี มีการฉีดสารเคมีเข้าในร่างกาย และกลัวจะเป็นอันตรายในอนาคต แต่จริงๆ แล้ว วิธีนี้เป็นการตรวจที่มีอันตรายน้อยและมักไม่ค่อยเกิดผลข้างเคียงใดๆ

เนื่องจากปริมาณรังสีที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ และไม่พบปริมาณรังสีตกค้างในร่างกายหลังรับการตรวจด้วย

นอกจากนี้ในผู้ที่มีปัญหาท่อนำไข่ตีบแคบ ยังมีโอกาสทำให้ท่อนำไข่เปิดออก ซึ่งมีผลให้ผู้รับการตรวจอาจสามารถตั้งครรภ์ได้ในภายหลังด้วย

ลังเลที่จะตรวจความผิดปกติของท่อนำไข่อยู่ใช่ไหม? อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม เช็คให้ชัวร์ก่อนพบแพทย์ ปรึกษาทีม HDcare ช่วยค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

การตรวจความผิดปกติของรังไข่-ท่อนำไข่นั้นมีหลากหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็จะมีขั้นตอน และวัตถุประสงค์การตรวจที่แตกต่างกันออกไป จึงไม่จำเป็นต้องใช้ทุกวิธี ขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรงของโรค ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและสั่งตรวจต่อไป

แต่ถ้าคุณมีความกังวลใจ เริ่มพบสัญญาณผิดปกติ อย่ากตรวจคัดกรองเบื้องต้น แต่ไม่รู้ว่าควรตรวจคัดกรองวิธีไหนดี ทักหาทีม HDcare เราพร้อมช่วยคุณทำนัดปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง รวดเร็ว ทันใจ หรือช่วยค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top