Default fallback image

รู้จัก “หมอไต๊” สูตินรีแพทย์ เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์เชิงกรานสตรี การศัลยกรรมซ่อมเสริม และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

ส่องชีวิตสูตินรีแพทย์ กับหมอไต๊ ผศ.พญ. พัทยา เฮงรัศมี สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม รวมถึงเป็นแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare 

หมอไต๊นะคะ หมอเป็นสูตินรีแพทย์ และตอนนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม และเป็นหมอผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชด้วยค่ะ

จุดเริ่มต้นของการเป็นคุณหมอสูติ-นรีเวช

จุดเริ่มต้นมาจากที่หมอไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลต่างจังหวัด 3 ปีค่ะ ซึ่งในตอนนั้นหมอก็ได้มองเห็นปัญหาด้านสูตินรีเวช ซึ่งเป็นการรักษาที่แพทย์จะต้องดีลกับทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ตัวคนไข้เอง รวมถึงญาติพี่น้องของคนไข้ และเด็กที่คลอดออกมา เป็นการรักษาที่ต้องมีการตัดสินใจฉุกเฉินบ่อยครั้งด้วย 

แต่ขณะเดียวกันสูตินรีเวชก็เป็นสาขาที่ค่อนข้างขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในตอนนั้น หมอเลยสนใจมาเรียนต่อด้านนี้ค่ะ

เห็นว่าพอเริ่มเรียนเป็นหมอสูตินรีเวช ก็มีจุดเปลี่ยนด้วย

ใช่ค่ะ พอหมอเรียนเฉพาะทางไปได้สักพัก ก็เริ่มรู้ตัวว่าเราชอบอะไรเป็นพิเศษ เลยเริ่มเปลี่ยนใจไปจากการเรียนทางสูติรีเวช 

เพราะจากที่เรียนไปได้สักพัก หมอเริ่มรู้สึกว่า ประเด็นการฟ้องร้องแพทย์ ณ ปัจจุบันมีค่อนข้างเยอะ คือแพทย์ก็ดูแลคนไข้เต็มที่นั่นแหละค่ะ แต่บางครั้งคนไข้หรือญาติคนไข้อาจจะไม่ยอมรับผลการรักษาที่ออกมาไม่ดี เช่น เด็กมีปัญหา มีความผิดปกติ การคลอดบุตรเกิดปัญหา หรือตอนที่ตั้งครรภ์ โรคประจำตัวของมารดาก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งบางทีเขาก็ไม่ได้รับและไม่พร้อมเข้าใจในจุดนี้ ณ ปัจจุบันก็เลยทำให้มีการฟ้องร้องแพทย์เกิดขึ้นค่อนข้างเยอะ

หมอก็เลยอยากเปลี่ยนแนว ไม่อยากทำงานด้านนี้แล้ว เพราะเราต้องดีลกับทั้งคนไข้เอง ญาติพี่น้องของเขา รวมถึงหมอเด็กด้วย ต้องไปรบกวนเขาค่อนข้างเยอะทีเดียว หมอเลยเปลี่ยนมาดูแลโรคทางนรีเวชเฉพาะทางอย่างเดียว

ส่วนสาเหตุที่หมอมีความเชี่ยวชาญ 2 ด้าน ทั้งการผ่าตัดผ่านกล้องและเวชศาสตร์เชิงกรานสตรี นั่นก็เพราะหมอมองว่าทั้ง 2 อย่างนี้เป็นสิ่งท่ีทำให้คุณภาพชีวิตของคนไข้ดีขึ้น 

อย่างการผ่าตัดผ่านกล้องก็จะทำให้แผลเล็ก เจ็บน้อย คนไข้ฟื้นตัวเร็ว กลับไปทำภารกิจทำงานได้เร็ว รวมถึงในแง่เศรษฐกิจภาพรวมและคุณภาพชีวิตของคนไข้ก็ดีขึ้นด้วย นอกจากนี้การผ่าตัดผ่านกล้องยังทำให้หมอเห็นพยาธิสภาพของคนไข้ได้ละเอียด เหมือนเราสามารถทำงานเก็บกวาดบ้านได้สะอาดหมดจด เป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นค่ะ

ส่วนด้านเวชศาสตร์เชิงกรานสตรี ณ ปัจจุบัน สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงวัยมากขึ้น การที่เรามาดูแลศาสตร์ตรงนี้ เราจะสามารถดูแลคนไข้ได้ตั้งแต่อายุยังน้อยๆ เลย คือตั้งแต่วัยรุ่น วัยเจริญพันธุ์ และพอเขาเข้าสู่วัยทองซึ่งก็มักจะมีปัญหาด้านเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีค่อนข้างมาก เราก็สามารถดูแลเขาอย่างต่อเนื่องได้ ทำให้คุณภาพชีวิตคนไข้ดีตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยทองเลยค่ะ

โรคที่พบบ่อยทางด้านสูติ-นรีเวชมีอะไรบ้าง?

จริงๆ มีหมดเลย คือโรคทางนรีเวชจะเป็นโรคเกี่ยวกับอวัยวะที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ ช่องคลอด มีตั้งแต่โรคธรรมดาไปจนถึงเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง 

ซึ่งส่วนตัวหมอไม่ใช่แพทย์ทางมะเร็งวิทยานรีเวชนะคะ หมอจะดูเฉพาะโรคที่ไม่ใช่โรคมะเร็ง เช่น เนื้องอกในมดลูก เนื้องอกในรังไข่ ถุงน้ำในรังไข่ ภาวะมดลูกหย่อน ภาวะช่องคลอดหย่อน หมอดูแลในส่วนนี้ได้โดยใช้การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องหรือผ่านกล้องก็ได้ หรือจะเป็นการผ่าตัดผ่านทางช่องคลอดก็ได้เช่นกันค่ะ

ยกตัวอย่างปัญหาที่คนมาหาหมอบ่อยๆ สัก 3 ตัวอย่าง

โรคทางนรีเวชที่พบได้บ่อย หมอขอแบ่งตามช่วงวัยหรือ Generation แล้วกัน เพราะโรคพวกนี้ก็จะเปลี่ยนไปตามช่วงวัยค่ะ 

สำหรับคนไข้ที่เพิ่งเป็นวัยรุ่นหรือวัยเจริญพันธุ์ เราจะเจอพวกถุงน้ำรังไข่ ภาวะไข่ไม่ตก ประจำเดือนมาไม่ค่อยปกติ ซึ่งหลายอย่างสามารถรักษาได้ด้วยยา ยกเว้นแต่ถ้าเป็นถุงน้ำหรือมีเนื้องอกก็อาจจะต้องใช้วิธีผ่าตัดแทน

สำหรับคนไข้ที่อยู่ในวัยกลางคนหรืออายุประมาณ 30 ขึ้นไป ที่พบได้บ่อยเลย คือ คนไทยยุคนี้แต่งงานช้า ก็จะมีปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือที่เรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ คนไข้ครึ่งหนึ่งที่หมอต้องผ่าตัดให้คือมีปัญหานี้

ส่วนคนไข้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ก็จะมีปัญหา เช่น อวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อน ปัสสาวะเล็ด ซึ่งก็สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา การผ่าตัดทางช่องคลอด หรือการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อช่วยยกกระชับผิวได้

ส่วนผลลัพธ์ในการรักษาก็ขึ้นอยู่กับตัวโรค ถ้าเป็นเนื้องอกธรรมดา โรคถุงน้ำในรังไข่ ก็รักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งถ้าผ่าด้วยเทคนิคส่องกล้อง ก็จะทำให้คนไข้ฟื้นตัวเร็ว มีแผลเล็ก เจ็บน้อย ส่วนมากอยู่โรงพยาบาล 2 วันเท่านั้นและไม่ค่อยมีปัญหาแผลติดเชื้อ 

นอกจากนี้โดยส่วนมากการผ่าตัดก็จะทำได้ค่อนข้างเรียบร้อยดี แต่ก็ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ผ่าตัดด้วยว่า มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดส่องกล้องระดับไหน

ซึ่งถ้าคนไข้เป็นถุงน้ำธรรมดาก็ไม่ต้องอาศัยความชำนาญมาก แต่ถ้าคนไข้เป็นช็อกโกแลตซีสต์ ก็ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความชำนาญมากขึ้นในการผ่าตัด เพราะบางครั้งตัวโรคจะค่อนข้างรุนแรง อาจต้องใช้การตัดเลาะที่ค่อนข้างซับซ้อนขึ้น 

ดังนั้นหมอจึงแนะนำว่า หากเป็นไปได้ คนไข้ก็ควรศึกษาก่อนด้วยว่า คุณหมอท่านนี้มีความเชี่ยวชาญในการรักษาด้านใดบ้าง เราจะได้รักษากับแพทย์ที่ตรงกับโรคของเรา

ผ่าตัดรักษาโรคทางสูติ-นรีเวชในอดีตเป็นแบบไหน

โรคทางสูติ-นรีเวชหรือแม้แต่โรคอื่นๆ ในอดีต แพทย์จะใช้การผ่าตัดทางหน้าท้อง ซึ่งเป็นการผ่าเปิดแผลที่มีขนาดใหญ่ เพราะในตอนนั้นเรายังไม่มีวิทยาการผ่าตัดเหมือนในสมัยนี้ 

แต่ ณ ปัจจุบัน เทรนด์การผ่าตัดจะเป็นแบบ Minimally Invasive Surgery ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่แผลเล็ก เจ็บน้อย ให้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีขึ้นมาเรื่อยๆ โดยใช้เทคนิคการส่องกล้องซึ่งก็สามารถทำได้หลายแบบอีก มีทั้งการเจาะรูหลายๆ รู การเจาะรูเดียว หรือแม้แต่การผ่าตัดผ่านกล้องทางช่องคลอดก็ทำได้ ซึ่งทำให้คนไข้ไม่มีแผลทางหน้าท้องด้วยค่ะ

ส่วนความเสี่ยงในการผ่าตัด ในทุกการผ่าตัดมีความเสี่ยงทั้งหมดอยู่แล้ว หมอขอใช้คำว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ซึ่งหมายถึง เราต้องประเมินคนไข้ก่อนว่า พยาธิสภาพคนไข้แบบนี้ผ่าตัดแบบไหนเหมาะที่สุด อันนี้คือรู้เขา 

ทีนี้ต่อมาก็รู้เรา หมอก็จะมาดูว่า เราเชี่ยวชาญการผ่าตัดแบบนี้ได้ไหม เช่น คนไข้เป็นโรคมะเร็ง ไม่เหมาะต่อการผ่าตัดแบบส่องกล้อง หมอก็ต้องแนะนำคนไข้ให้ผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องแทน หรือส่งตัวให้ไปรักษากับแพทย์เฉพาะทางค่ะ

หรืออย่างคนไข้ที่ช็อกโกแลตซีสต์ ถ้าผ่าตัดเปิดทางหน้าท้องก็จะเสี่ยงทำให้เกิดพังผืดที่ช่องท้องได้มากกว่า ซึ่งก็สามารถส่งผลต่อการมีบุตรในอนาคตของคนไข้ได้ หมอก็จะแนะนำให้ผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งหมอก็ต้องประเมินตัวเองด้วยว่า เราสามารถผ่าตัดให้เขาได้เต็มที่มากน้อยแค่ไหน 

หรือโรคบางโรค เช่น ภาวะมดลูกหย่อน ถ้าผ่าตัดทางช่องคลอด คนไข้ก็จะได้ไม่มีแผลทางหน้าท้อง ฟื้นตัวเร็ว ไม่เจ็บแผล กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ดีและเร็วขึ้น

เล่าประสบการณ์ผ่าตัดที่ยากและประทับใจ

จริงๆ มีหลายเคสเลยค่ะ โดยเคสที่หมอประทับใจมากที่สุด แต่อาจจะไม่ใช้การผ่าตัดที่ยากมาก คือ คนไข้ที่มาปรึกษาเรื่องช็อกโกแลตซีสต์ หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งคนไข้ยังไม่เคยมีลูก และอยากมีลูกด้วย แต่เขามีอาการของโรคที่ค่อนข้างรุนแรง และมีอาการปวดท้องมาก

ก่อนหน้านี้คนไข้ได้ไปปรึกษาแพทย์มาหลายที่ และได้รับคำแนะนำให้ตัดมดลูกออก หลังจากนั้นคนไข้เลยมาคุยกับหมอว่า หมอพอจะผ่าตัดโดยเก็บมดลูกไว้ให้เขาได้ไหม โดยเอาแค่พยาธิสภาพที่เป็นพังผืดออกก็พอ 

หลังจากนั้นหมอก็ประเมินคนไข้ก่อนว่า มดลูกของคนไข้เป็นยังไง พยาธิสภาพอยู่ตรงตำแหน่งไหน ซึ่งหมอก็สามารถเข้าไปจัดการช็อกโกแลตซีสต์ออกได้จนหมดเกลี้ยงค่ะ ยกเว้นแต่ที่ตัวมดลูก เพราะเราต้องเก็บมดลูกไว้ให้คนไข้ แล้วหมอก็ส่งคนไข้ไปปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะมีบุตรยากต่อ 

ซึ่งในตอนนี้คนไข้เขาก็มีลูก 1 คนแล้วค่ะ และก็ยังเก็บตัวอ่อนฝากไว้อยู่ด้วย เห็นแพลนว่าจะมีลูกอีกสักคนในเร็วๆ นี้ เราก็จะเห็นได้ว่า การผ่าตัดส่องกล้อง ถ้าเราทำงานอย่างละเอียดและมีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัด เราก็สามารถเอาพยาธิสภาพออกได้ โดยไม่กระทบต่อความสามารถในการมีบุตรของคนไข้ด้วย

เทคนิคการทำงานของหมอไต๊ 

เทคนิคการทำงานของหมอก็ทั่วๆ ไปค่ะ คิดว่าหมอทุกคนก็คงทำแบบเดียวกัน 

อย่างแรก หมอต้องรู้ก่อนว่า คนไข้ได้รับการวินิจฉัยเป็นอะไร แล้วก็ประเมินการผ่าตัดที่เหมาะกับคนไข้ และในวันที่คนไข้มานอนโรงพยาบาล หมอก็ต้องไปคุยกับคนไข้ก่อนด้วยว่า เราจะมาผ่าตัดอะไรกัน แผลจะเป็นยังไง มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมากน้อยแค่ไหน หลังผ่าตัดการพักฟื้นจะเป็นอย่างไร เราต้องทำความเข้าใจกับคนไข้ก่อน

จากนั้นเมื่อคนไข้เข้าห้องผ่าตัดไปแล้ว หลายครั้งถ้าเป็นโรงพยาบาลที่หมอไม่คุ้นเคย หรือถ้าหมอไม่คุ้นกับทีมงานในห้องผ่าตัด หมอจะเข้าไปดูการจัดท่าคนไข้ด้วยเสมอ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาในระหว่างผ่าตัด และดูว่า มีปัญหากดทับส่วนไหนกับร่างกายคนไข้ไหม การจัดท่าคนไข้ถูกต้องหรือไม่

เพราะเมื่อคนไข้ดมยาสลบหรือบล็อคหลังไปแล้ว เขาก็จะไม่มีความรู้สึกในส่วนที่ระงับความรู้สึกไปแล้วอีก ดังนั้นคนไข้เขาได้วางชีวิตของเขาไว้ในมือเราแล้ว เราต้องดูแลเขาเป็นอย่างดีตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ใช่เดินเข้าไปแล้วผ่าตัดอย่างเดียว 

นอกจากนี้เพราะการผ่าตัดบางอย่าง ถ้าเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างยาก คนไข้จะต้องนอนอยู่ในท่านั้นอาจจะ 3-5 ชั่วโมงเลย หรือบางราย 6 ชั่วโมงก็มี คนเป็นหมอผ่าตัดจะต้องรับผิดชอบทุกอย่างของทั้งห้องผ่าตัดนั้น 

และในระหว่างที่ผ่าตัด ไม่ใช่หมอผ่าไปเรื่อยๆ อย่างเดียว แต่คนที่เป็นผู้ช่วยของหมอ หมอก็ต้องดูด้วยว่า เขาช่วยหมอได้ดีหรือไม่ เขาก่อปัญหาให้เรารึเปล่า หมอยังต้องรับผิดชอบผู้ช่วยผ่าตัดทั้งหมดด้วค่ะย คอยดูว่า ตอนนี้เขาช่วยเราได้ไม่ดีนะ งานเราจะยากขึ้น เราควรทำยังไงให้เขาช่วยเราผ่าตัดได้ดีขึ้น งานผ่าตัดจะได้ราบรื่น สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

และหลังผ่าตัด หมอก็ต้องคอยแนะนำคนไข้ว่า ต้องปฏิบัติตัวยังไงถึงจะฟื้นตัวได้เร็ว คอยสังเกตอาการของตนเองว่า เป็นยังไง จะได้รู้ว่า อาการนี้ปกตินะ เขาจะดีขึ้นเรื่อยๆ นะ แต่ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ การผ่าตัดอาจมีปัญหาหรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น คนไข้จะได้รู้ว่า กลับบ้านไปจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หรือต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่องหรือไม่

บรรยากาศในห้องผ่าตัด กดดันมั้ย

ก็ไม่ได้เครียดขนาดนั้นนะคะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเคสนั้นๆ ว่า มีความยากง่ายในการผ่าตัดแค่ไหน หมอผ่าตัดทุกคนชอบฟังเพลงค่ะ แต่ถามว่า ได้ยินเพลงมั้ย ถ้าช่วงนั้นไม่เครียด ผ่าตัดไปได้เรื่อยๆ ก็ได้ยินอยู่ เจ้าหน้าที่ก็ไม่กดดันมาก 

แต่ถ้าเมื่อไรมีเคสยาก เราก็จะเริ่มเครียดขึ้นมาหน่อย ต้องเตรียมทีมให้พร้อม และเมื่อเรามีจุดโฟกัสจุดใดจุดหนึ่ง บางทีเราก็แทบจะไม่ได้ยินเสียงเพลงที่เปิดค่ะ คือไม่ได้เครียดจนเกินไป แต่เราแค่มีสมาธิกับการทำงานเท่านั้นเอง

HDcare ในมุมมองของคุณหมอเป็นอย่างไร?

หมอได้ยินบริการ HDcare ครั้งแรกในงานประชุมวิชาการค่ะ ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ก็เข้ามาคุยให้ฟังว่า คอนเซปส์ของ HDcare คืออะไร ซึ่งหมอก็สนใจ 

ส่วนเหตุผลที่หมอเข้าร่วมกับบริการนี้ ก็เพราะ HDcare มีการให้คำปรึกษากับคนไข้ก่อน เหมือนเราดูก่อนว่า คนไข้มีปัญหาอะไร และแมทช์ปัญหาของคนไข้ว่า ควรรับการปรึกษาต่อหรือคุยกับแพทย์เฉพาะทางด้านไหนดี และมีการเตรียมตัวคนไข้ล่วงหน้า ได้คุยกับคนไข้ก่อนที่จะมารับการรักษา 

รวมถึงก่อนที่จะผ่าตัด HDcare ก็จะมีการติดต่อประสานงานกับแพทย์ก่อน ซึ่งคนไข้ก็จะได้มีแพทย์ที่เชี่ยวชาญจริงๆ เป็นผู้ทำการรักษา ไม่ต้องไปตามหาเอาเองบนโลกออนไลน์ หรือเดินดุ่มๆ มาที่แผนก OPD โดยที่ไม่รู้ว่า ควรเจอหมอคนไหน

การมี HDcare เข้ามา เป็นเหมือนคนไข้ได้มีที่ปรึกษาส่วนตัวในระดับหนึ่ง ทำให้คนไข้พอมีไอเดียว่า อาการแบบนี้ เขาน่าจะเป็นโรคอะไร ควรคุยกับคุณหมอคนไหน แล้วทีมงานก็จะไปติดต่อคุณหมอที่เกี่ยวข้องมาแนะนำให้คนไข้ มีนัดคุยว่า ควรต้องผ่าตัดหรือไม่

ส่วนในแง่ของราคา หมอคิดว่า มีความสมเหตุผลสมผล ค่าใช้จ่ายไม่ได้สูงเกินไปและดีต่อตัวคนไข้ค่ะ

และอีกข้อดีของ HDcare คือ ก่อนที่คนไข้จะได้เจอแพทย์ คนไข้ก็จะได้รับคำแนะนำจากทีมงานไปบ้างแล้วส่วนหนึ่ง และยังสามารถปรึกษาทางออนไลน์กับแพทย์ได้ก่อนที่มาตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งโรคบางโรค แค่คุยทางออนไลน์หมอก็พอวินิจฉัยได้แล้ว คนไข้ไม่จำเป็นต้องมาตรวจที่โรงพยาบาลก็ได้ และเราสามารถให้คำแนะนำในการรักษาได้เลย 

แม้แต่ยาบางชนิด เราให้คนไข้ไปหาซื้อเองก็ได้ ซึ่งในแง่นี้ก็เป็นประโยชน์ต่อตัวคนไข้ ทำให้เขาไม่ต้องเสียเวลามาเจอแพทย์ที่โรงพยาบาลก็ได้

จากคอนเซปต์เหล่านี้ หมอเลยตัดสินใจเข้าร่วมบริการของ HDcare หลายหัตถารเลยค่ะ ทั้งการผ่าตัดทางหน้าท้อง การผ่าตัดทางช่องคลอด การผ่าตัดส่องกล้องซึ่งก็มีทั้งส่องกล้องทางหน้าท้องและทางโพรงมดลูก เป็นหัตถการที่ค่อนข้างหลากหลายค่ะ

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top