ตอบทุกคำถามพบบ่อยของ ริดสีดวง scaled

ตอบทุกคำถามพบบ่อยของ ริดสีดวง

ริดสีดวง เป็นโรคที่พบได้บ่อย เกี่ยวข้องกับภาวะท้องผูก ตั้งครรภ์ หรือมีน้ำหนักตัวมาก อาการสำคัญอย่างหนึ่งของริดสีดวงคือ มีเลือดออกเมื่อขับถ่าย แต่อาการดังกล่าวยังอาจบ่งชี้ถึงโรคอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ฝีคัณฑสูตร

บางคนอาจสงสัยว่าตัวเองเป็นริดสีดวง แต่ยังมีความกังวลจึงไม่กล้าไปหาหมอ เช่น ไม่แน่ใจว่าการรักษาริดสีดวงทำอย่างไร จำเป็นต้องผ่าตัดอย่างเดียวหรือไม่ การตรวจจะเจ็บหรือเปล่า หรือต้องการหาทางเลือกอื่นเพื่อรักษาริดสีดวงด้วยตัวเองไปก่อน

บทความนี้รวบรวม 8 ข้อสงสัยพบบ่อยเกี่ยวกับ ริดสีดวง 

1. ริดสีดวง กับ ฝีคัณฑสูตร ต่างกันอย่างไร?

ตอบ: ริดสีดวง กับ ฝีคัณฑสูตร เป็นคนละโรค แตกต่างกันทั้งสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

สาเหตุ 

ริดสีดวง เกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดเมื่อได้รับแรงดันภายในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย 

ฝีคัณฑสูตร เกิดจากการติดเชื้อที่ต่อมผลิตเมือกในทวารหนัก จนนานวันเข้าของเสียก็สะสมกลายเป็นฝี และร่างกายสร้างทางเชื่อมจากฝีออกมาสู่ผิวหนังภายนอก เพื่อระบายของเหลวอันได้แก่ เลือด น้ำเหลือง หนอง

อาการ 

ริดสีดวง ถ่ายเป็นเลือดหรือมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ

ฝีคัณฑสูตร ถ่ายเป็นเลือดเช่นกัน แต่มักมีมูกหรือหนองร่วมด้วย นอกจากนี้ฝีคัณฑสูตรยังทำให้มีรอยเปิดที่ทวารหนัก ซึ่งเชื่อมกับโพรงฝีด้านใน

ริดสีดวง ฝีคัณฑสูตร เหมือนหรือแตกต่างกันยังไง

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

วิธีรักษา

การรักษาหลักของริดสีดวงกับฝีคัณฑสูตร คือ การผ่าตัด แต่เทคนิคแตกต่างกัน 

ริดสีดวง การผ่าตัดเป็นไปเพื่อนำเอาก้อนริดสีดวงออก หรือตัดการไหลของเลือดที่จะมาเลี้ยงก้อนริดสีดวง

ฝีคัณฑสูตร ทำเพื่อหยุดการติดเชื้อและปิดโพรงฝีไม่ให้เหลือทางเชื่อมผิดปกติใดๆ อีก

2. อาการริดสีดวง เป็นอย่างไร?

ตอบ: อาการริดสีดวงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดริดสีดวงที่เป็น

ริดสีดวงภายใน มักสังเกตไม่พบด้วยตาเปล่า แต่อาจทำให้เกิดก้อนยื่นออกมาจากรูทวารหนักเวลาขับถ่าย หรือเป็นสาเหตุให้มีเลือดปนออกมากับอุจจาระ

ริดสีดวงภายนอก มักทำให้เกิดอาการคันหรือระคายเคืองรอบรูทวาร สังเกตเห็นอาการบวมรอบรูทวาร หรืออาจทำให้เกิดเลือดออกได้เช่นกัน

3. ริดสีดวงภายใน ริดสีดวงภายนอก ต่างกันอย่างไร?

ตอบ: ริดสีดวงภายใน คือ ริดสีดวงที่ก้อนริดสีดวงอยู่ภายในทวารหนัก หรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ก้อนริดสีดวงสามารถยื่นออกมาภายนอกได้ โดยเฉพาะเมื่อถูกครูดด้วยอุจจาระแข็งๆ เมื่อขับถ่าย ถ้าเป็นริดสีดวงภายในระยะรุนแรง ก้อนริดสีดวงอาจยื่นออกมาภายนอกโดยไม่หดกลับเข้าไปอีก หรือเมื่อปล่อยทิ้งไว้ ก้อนริดสีดวงอาจแตก ทำให้มีเลือดไหลออกจากทวารหนักได้

ส่วน ริดสีดวงภายนอก เป็นริดสีดวงที่ก้อนริดสีดวงอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณรอบๆ รูทวารหนัก ริดสีดวงชนิดนี้อาจไม่ทำให้เกิดเลือดออกเมื่อขับถ่าย แต่จะทำให้รู้สึกเจ็บๆ คันๆ บริเวณที่เป็น

4. เป็นริดสีดวง รักษาแบบไม่ผ่าตัดได้ไหม?

ตอบ: ได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าใช้วิธีไหนจึงจะเหมาะกับความรุนแรงของริดสีดวง หรือขนาดก้อนริดสีดวงที่เป็น ถ้าเป็นระยะแรกๆ เพียงแค่ทายา ใช้ยาเหน็บ หรือแช่ทวารหนักในน้ำอุ่นวันละ 10-15 นาทีก็อาจช่วยให้อาการทุเลาลงแล้ว

นอกจากนี้ยังมีทางเลือกในการรักษาริดสีดวงแบบไม่ผ่าตัดที่ใช้ในสถานพยาบาล ได้แก่

การฉีดยารักษาริดสีดวง รักษาริดสีดวงแบบรัดยาง และรักษาด้วยคลื่นความถี่สูง ต่างมีหลักการรักษาเดียวกันคือ ทำให้เลือดไม่มาเลี้ยงก้อนริดสีดวง ก้อนริดสีดวงจะค่อยๆ ฝ่อจนหลุดออกในที่สุด

อย่างไรก็ตาม วิธีเหล่านี้จะใช้ได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับขนาดและความรุนแรงของริดสีดวงที่ผู้ป่วยเป็น จำเป็นต้องให้แพทย์ตรวจประเมินก่อนทำ

5. รักษาริดสีดวงด้วยตนเองได้ไหม ทำอย่างไร?

ตอบ: ได้ ถ้าเป็นริดสีดวงระยะแรก เจ็บปวดไม่มาก มีอาการบวมเพียงเล็กน้อย โดยวิธีที่ทำได้เองที่บ้านมีดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อให้อุจจาระมีลักษณะอ่อนนุ่มและกระตุ้นการขับถ่าย ส่งผลให้ไม่ต้องออกแรงเบ่งเยอะ
  • ใช้ยารักษาริดสีดวงซึ่งหาได้ตามร้านขายยา อาจอยู่ในรูปแบบยาทาหรือยาเหน็บ
  • แช่ก้นในน้ำอุ่นประมาณ 10-15 นาที วันละ 2-3 ครั้ง โดยใช้น้ำธรรมดา
  • รับประทานยาแก้ปวดถ้ารู้สึกเจ็บปวดหรือไม่สบายตัว

การดูแลตัวเองที่บ้านด้วยวิธีเหล่านี้ควรช่วยให้อาการริดสีดวงให้ทุเลาลงภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าทำแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือเจ็บปวดกว่าเดิม ควรปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะถ้าพบเลือดออกควรพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

6. ขับถ่ายแล้วมีเลือดปน เป็นอะไรได้อีกนอกจากริดสีดวง?

ตอบ: อาการถ่ายอุจจาระแล้วมีเลือดปน ถ่ายเป็นเลือด หรือเมื่อใช้ทิชชู่ทำความสะอาดหลังขับถ่ายแล้วพบเลือดซึมติดออกมาด้วย เป็นสัญญาณบอกความผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้ส่วนปลายและทวารหนัก

อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่เพียงริดสีดวงเท่านั้น ยังอาจบ่งชี้ถึงโรคอื่นด้วย เช่น

  • ฝีคัณฑสูตร
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • มะเร็งทวารหนัก

แต่อย่าเพิ่งตกใจ ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางเพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด ถ้าเป็นริดสีดวงหรือเป็นฝีคัณฑสูตร สามารถผ่าตัดรักษาได้ ไม่ใช่อันตรายร้ายแรง หรือถึงเป็นมะเร็ง หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกๆ ก็มีโอกาสหายมากกว่าตรวจพบในระยะที่โรคลุกลามแล้ว

ขับถ่ายแล้วมีเลือดปน เป็นโรคอะไรได้บ้าง อันตรายแค่ไหน คลิกอ่านต่อ

7. ตรวจริดสีดวง ทำอย่างไร เจ็บไหม?

ตอบ: การตรวจริดสีดวงโดยแพทย์ มักเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจดูบริเวณภายนอกทวารหนัก แล้วตรวจคลำ (แพทย์จะสอดนิ้วเข้าไปทางรูทวารหนักของผู้รับการตรวจ)

อาจมีการใช้อุปกรณ์อื่นร่วมด้วย เช่น กล้องส่องตรวจทวารหนัก (Anoscope) คีมถ่างก้น (Protoscope) ท่อยาวที่โค้งงอได้สำหรับตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Sigmoidoscope)

การตรวจริดสีดวงอาจฟังดูน่ากลัว แต่โดยทั่วไปแล้วไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด

8. ถ้าหมอบอกว่าเป็นริดสีดวง รักษาไปแล้ว แต่ยังเจ็บบริเวณทวารหนักไม่หาย ควรทำยังไงดี?

ตอบ: ถ้าได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นริดสีดวงแล้ว รักษาแล้ว แต่ยังรู้สึกไม่สบายบริเวณทวารหนัก หรือยังรู้สึกเจ็บปวดบริเวณดังกล่าวอยู่ ควรกลับไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอีกครั้ง เพราะเป็นไปได้ว่าอาจเกิดริดสีดวงขึ้นอีก หรือการรักษาที่ทำไปเกิดปัญหาขึ้น

อีกทางเลือกคือเปลี่ยนแพทย์หรือสถานพยาบาลเพื่อรับฟังความเห็นที่สอง ซึ่งหากคุณต้องการฟังความเห็นที่สองจากแพทย์เฉพาะทาง ติดต่อทีม HDcare ได้เลย

ริดสีดวงไม่ใช่โรคร้ายแรงอันตราย ดังนั้นถ้าสงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ ระยะแรกอาจลองปรับพฤติกรรมเพื่อให้อาการริดสีดวงดีขึ้น แต่ถ้าอาการต่างๆ ยังไม่หายไป หรือกลับแย่ลง ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ เพื่อจะได้หาต้นเหตุของอาการผิดปกติที่แท้จริง และรับการรักษาอย่างถูกต้อง

Scroll to Top