ยารักษาริดสีดวง มีแบบไหนบ้าง scaled

ยารักษาริดสีดวง มีแบบไหนบ้าง

ริดสีดวงทวาร คือ ภาวะที่หลอดเลือดดำในทวารหนักปูดพองออกมา และบางครั้งผนังหลอดเลือดยังมีการปริแตก ทำให้เลือดไหลออกมาได้ ทำให้เกิดอาการมีเลือดไหลออกมาเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระ หรือหากกำลังท้องผูก เลือดก็จะออกมากขึ้นกว่าเดิม

หัวริดสีดวงโตมากขึ้นและติ่งเนื้อจะเริ่มโผล่ออกมาพ้นปากทวารหนัก เวลาเบ่งอุจจาระจะสามารถมองเห็นได้มากขึ้น และจะหดกลับได้เองหลังขับถ่ายเสร็จแล้ว

เมื่อถึงระยะท้ายๆ จะสามารถมองเห็นหัวริดสีดวงจากภายนอกได้อย่างชัดเจน รวมถึงมีอาการบวม อักเสบและมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง

ปัจจุบันการรักษาริดสีดวงมีหลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม เช่น แช่น้ำอุ่น ประคบเย็น การรับประทานอาหารและดื่มน้ำอย่างเหมาะสม

ด้านการรักษาด้วยยาก็มีตัวเลือกหลากหลายทั้งยาแบบรับประทานแผนปัจจุบัน กลุ่มยาสมุนไพร ยาทา ครีม และยาเหน็บ

ยารักษาริดสีดวงแบบรับประทาน

กลุ่มยารับประทาน (Oral Dosage Form) ได้แก่ ยาแผนปัจจุบันและกลุ่มยาสมุนไพร  มาเริ่มต้นด้วยยาแผนปัจจุบัน มีตัวอย่างยาดังนี้

ยาแผนปัจจุบัน

ไดออสมิน (Diosmin) และเฮสเพอริดิน (Hesperidin)

ส่วนประกอบ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ขนาด 500 มิลลิกรัม ได้แก่ ไดออสมิน (Diosmin) และเฮสเพอริดิน (Hesperidin)

กลไกการออกฤทธิ์ ยังไม่มีข้อมูลของกลไกการออกฤทธิ์ที่แน่ชัด แต่คาดว่า สารฟลาโวนอยด์ออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับการเพิ่มการหดตัวของหลอดเลือดดำ กระตุ้นการระบายน้ำเหลือง และปกป้องหลอดเลือดฝอย

ข้อบ่งใช้ รักษาอาการของโรคริดสีดวง

ขนาดการใช้ยา ยาในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน โดย

  • 4 วันแรกรับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
  • 3 วันถัดมารับประทานครั้งละ 2 เม็ดวันละ 2 ครั้ง
  • วันถัดไปรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้งจนกว่าอาการจะดีขึ้น

*ควรรับประทานยาพร้อม หรือหลังอาหาร

ข้อควรระวังในการใช้

  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีการแพ้สารในตำรับ
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร

เอสซิน (Aescin)

ส่วนประกอบ เอสซิน (Aescin) ขนาด 20 มิลลิกรัม (เอสซินเป็นสารกลุ่มซาโปนินที่สกัดจากต้น Horse Chestnut)

กลไกการออกฤทธิ์ เอสซินเกี่ยวข้องกับการยับยั้งการบวม ยับยั้งการอักเสบ และทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดดำ

ข้อบ่งใช้ รักษาอาการของโรคริดสีดวง

ขนาดการใช้ยา ยาในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ โดย

  • เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
  • วันถัดไปรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

*ควรรับประทานยาพร้อมหรือหลังอาหาร

ข้อควรระวังในการใช้

  • ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออก
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์

กลุ่มยาสมุนไพรสำหรับรักษาริดสีดวงทวาร

ยาสมุนไพรที่ใช้รักษาริดสีดวงทวารคือ เพชรสังฆาต ช่วยลดอาการปวดและการอักเสบของเส้นเลือด จึงช่วยรักษาอาการของโรคริดสีดวงทวารได้

วิธีใช้

  • รับประทานส่วนเถาสด แนะนำให้สอดใส่กล้วยสุกก่อนแล้วค่อยรับประทาน เนื่องจากเถาเพชรสังฆาตสดมีผลึกแคลเซียมออกซาเลท (calcium oxalate) อยู่มาก หากสัมผัสกับปากและลำคอโดยตรงสามารถเกิดการระคายเคืองได้
  • รูปแบบแคปซูล ในปัจจุบันมีการนำเถาตากแห้งมาบรรจุเป็นแคปซูลรวมกับสมุนไพรชนิดอื่นเพื่อเสริมฤทธิ์ในการรักษาโรคริดสีดวงทวาร ขนาดรับประทานจะแตกต่างกันไปตามปริมาณเพชรสังฆาตในแคปซูลแต่ละยี่ห้อ แนะนำให้ศึกษาขนาดรับประทานจากฉลากบนผลิตภัณฑ์

ยารักษาริดสีดวงทวารแบบเหน็บ

ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) และ ซินโคเคน ไฮโดรคลอไรด์ (Cinchocaine HCl)

ส่วนประกอบ ยาในรูปแบบยาเหน็บทวาร 1 กรัม ประกอบด้วย ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) 5 มิลลิกรัม และซินโคเคน ไฮโดรคลอไรด์ (Cinchocaine HCl) 5 มิลลิกรัม

กลไกการออกฤทธิ์ Hydrocortisone ในตำรับเป็นสารกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบ อาการปวด บวม ของริดสีดวงทวาร Cinchocaine HCl ในตำรับออกฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ ลดอาการเจ็บและปวดบริเวณริดสีดวงทวาร

ข้อบ่งใช้ ใช้เหน็บเพื่อรักษาริดสีดวงทวาร ทั้งริดสีดวงทวารภายในและริดสีดวงทวารภายนอก

ขนาดการใช้ยา

  • ยาในรูปแบบยาเหน็บ เหน็บครั้งละ 1 แท่ง วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น และหลังขับถ่าย
  • ไม่ควรใช้ยานานเกินกว่า 7 วัน หากยาไม่สามารถรักษาอาการให้ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์

ข้อควรระวังในการใช้

  • ควรระวังการใช้ยาในทารก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
  • ตัวยาจัดอยู่ในกลุ่ม Pregnancy category C ควรระมัดระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร

ฟลูโอคอร์โทโลน ไพวาเลท (Fluocortolone pivalate) และลิโดเคน ไฮโดรคลอไรด์ (Lidocaine HCl)

ส่วนประกอบ ยาในรูปแบบยาเหน็บทวาร 1 แท่ง ประกอบด้วย ฟลูโอคอร์โทโลน ไพวาเลท (Fluocortolone pivalate) 1 มิลลิกรัม และลิโดเคน ไฮโดรคลอไรด์ (Lidocaine HCl) 40 มิลลิกรัม

กลไกการออกฤทธิ์ Fluocortolone pivalate ในตำรับเป็นสารกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบ อาการปวด และบวม ของริดสีดวงทวาร ส่วน Lidocaine HCl ในตำรับออกฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ ลดอาการเจ็บ และปวดบริเวณริดสีดวงทวาร

ข้อบ่งใช้ ใช้เหน็บเพื่อรักษาริดสีดวงทวาร ทั้งริดสีดวงทวารภายในและริดสีดวงทวารภายนอก

ขนาดการใช้ยา

  • ยาในรูปแบบยาเหน็บ เหน็บครั้งละ 1 แท่ง วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น และหลังขับถ่าย
  • ไม่ควรใช้ยานานเกินกว่า 7 วัน เนื่องจากฤทธิ์ของสเตียรอยด์จะทำให้ผนังของทวารหนักบางขึ้น หากยาไม่สามารถรักษาอาการให้ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์

ข้อควรระวังในการใช้

  • ควรระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
  • ตัวยาจัดอยู่ในกลุ่ม Pregnancy category C ควรระมัดระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร

ยารักษาริดสีดวงทวารแบบทา 

ข้อบ่งใช้ ใช้ทาเพื่อรักษาริดสีดวงทวาร, มีหลายยี่ห้อ หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

ขนาดการใช้ยา

  • ยาในรูปแบบยาครีมและยาขี้ผึ้ง ทาวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น และหลังขับถ่าย
  • ไม่ควรใช้ยานานเกินกว่า 7 วัน เนื่องจากฤทธิ์ของสเตียรอยด์จะทำให้ผนังของทวารหนักบางขึ้น หากยาไม่สามารถรักษาอาการให้ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์
  • เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกในการใช้ยาเหน็บ

* หมายเหตุ ข้อมูลส่วนอื่นของยาครีมและยาขี้ผึ้งเหมือนกันกับยาเหน็บทวาร

  • ยาในรูปแบบยาครีมและยาขี้ผึ้ง ทาวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น และหลังขับถ่าย
  • ไม่ควรใช้ยานานเกินกว่า 7 วัน หากยาไม่สามารถรักษาอาการให้ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์
  • เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกในการใช้ยาเหน็บ

แม้จะมียารักษาริดสีดวงทวารทั้งแบบใช้ภายนอกและภายใน แต่หากไม่แน่ใจควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา หรือหากไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องจะดีที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพื่อความปลอดภัย และผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีวิธีการรักษาริดสีดวงทวารแบบใหม่ๆ หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค สภาพร่างกายผู้ป่วย ดุลยพินิจของแพทย์ และงบประมาณในการรักษา ซึ่งอาจได้ผลดีและเร็วกว่าการรับประทานยา


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top