รู้จักโรคไฮโปไทรอยด์ หรือไทรอยด์อ้วน แบบเจาะลึก scaled

รู้จักโรคไฮโปไทรอยด์ หรือไทรอยด์อ้วน แบบเจาะลึก

‘กินเท่าเดิม แต่น้ำหนักเพิ่มผิดปกติ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขี้หนาว หัวใจเต้นช้า’ รู้ไหมว่าอาการเหล่านี้คือสัญญาณเสี่ยงของโรคไฮโปไทรอยด์ ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เรามาทำความรู้จัก โรคไฮโปไทรอยด์ ทุกแง่มุมได้ในบทความนี้

ต่อมไทรอยด์ คืออะไร?

ก่อนจะรู้จักกับ โรคไทรอยด์เป็นพิษ เรามาทำความรู้จักกับ ต่อมไทรอยด์กันก่อน 

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) คือต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่บริเวณกลางลำคอส่วนหน้า ใต้ลูกกระเดือก มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ มีความสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกายอย่างมาก 

ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญ ทำหน้าที่ช่วยควบคุมระบบการเผาผลาญหรือระบบเมตาบอลิซึมของร่างกาย ควบคุมอุณหภูมิ กระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย

เนื่องจากหน้าที่ของต่อมไทรอยด์ ส่งผลกระทบครอบคลุมทุกกระบวนการทำงานของร่างกาย ดังนั้นการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติไป จึงทำให้ร่างกายแปรปรวนทั้งระบบ

สาเหตุของความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เกิดจากอะไร?

สาเหตุที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เกิดได้จากหลายปัจจัย โดยปัจจัยหลักๆ มีดังนี้

  • พันธุกรรม คือคนในครอบครัวเคยมีประวัติป่วยด้วยอาการไทรอยด์ผิดปกติ 
  • ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ที่ส่งผลกระทบต่อต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติไป
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด ฯลฯ

โรคไฮโปไทรอยด์ หรือ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป คืออะไร?

โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroid) หรือที่รู้จักในชื่อ ไฮโปไทรอยด์ หรือบางคนอาจคุ้นเคยกับชื่อ ไทรอยด์อ้วน คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป จนทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดต่ำผิดปกติ ส่งผลให้อวัยวะภายในทั้งระบบให้ทำงานลดลง ระบบต่างๆ ทำงานผิดปกติไปจากเดิม

อาการของโรคไฮโปไทรอยด์ เป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคไฮโปไทรอยด์ หรือภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ โดยส่วนใหญ่จะมีอาการผิดปกติที่เด่นชัด ดังนี้

  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นผิดปกติ
  • อ่อนเพลีย ขี้หนาว ทำอะไรเชื่องช้า
  • ท้องผูก
  • เบื่ออาหาร 
  • ผิวแห้ง เป็นตะคริวบ่อย 
  • ความจำเสื่อม 
  • หัวใจเต้นช้า 
  • ประจำเดือนผิดปกติ

หากพบอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น อาจสันนิษฐานได้เบื้องต้นต่อมไทรอยด์มีการทำงานน้อยเกินไป ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาต้นเหตุของอาการเพิ่มเติม

7 สัญญาณเสี่ยง เช็กตัวเองง่ายๆ เรากำลังป่วยเป็น โรคไทรอยด์รึเปล่า คลิกอ่านต่อ

อาการที่เป็นอยู่ใช่โรคไทรอยด์ไหม? อยากตรวจไทรอยด์เพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาทีม HDcare หาแพ็กเกจราคาดี จาก รพ. ชั้นนำใกล้คุณได้ ที่นี่ 

การตรวจคัดกรองโรคไฮโปไทรอยด์ ทำอย่างไร?

เมื่อมีอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณเสี่ยงของโรคไฮโปไทรอยด์ โดยทั่วไปแพทย์มักจะทำ การตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ และตรวจการทำงานของต่อมใต้สมอง

วิธีนี้เป็นการตรวจคัดกรองขั้นพื้นฐาน เหมาะสำหรับคนทั่วไปที่ต้องการตรวจความเสี่ยงโรคไทรอยด์

  • การตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ไทรอยด์ (Thyroid Hormones) เป็นการตรวจปริมาณฮอร์โมน 2 ชนิด ได้แก่ ฮอร์โมนไตรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine: T3) ฮอร์โมนไทรอกซีน (Thyroxine: T4) ซึ่งทั้งมีหน้าที่แปลงสภาพสารอาหารให้กลายเป็นพลังงานแก่ร่างกาย
  • การตรวจวัดการทำงานของต่อมใต้สมอง (Thyroid-Stimulating Hormone: TSH) เป็นการวัดการทำงานของปริมาณฮอร์โมนที่ถูกผลิตออกมาจากต่อมใต้สมอง ที่มีหน้าที่ควบคุมการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์อีกทอดหนึ่ง

ทั้งนี้ค่าปกติของค่าทั้ง 3 ชนิดมีดังนี้

  1. TSH ค่าปกติอยู่ระหว่าง 0.5-5.0 mU/L
  2. T3    ค่าปกติอยู่ระหว่าง 80-200 ng/dL
  3. T4    ค่าปกติอยู่ระหว่าง 4.5-12.5 µg/dL

ตัวอย่างการอ่านค่าอย่าง เช่น

  • หากผลเลือด T3 หรือ T4 สูงกว่าปกติ แต่ TSH ต่ำกว่าปกติ แสดงว่าร่างกายมีไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป อาจสันนิษฐานได้ว่ามีความเสี่ยงเป็น โรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroid) 
  • หากผลเลือด T3 หรือ T4 ต่ำกว่าปกติ แต่ TSH สูงกว่าปกติ แสดงว่าร่างกายเกิดอาการขาดไทรอยด์ฮอร์โมน อาจสันนิษฐานได้ว่ามีความเสี่ยงเป็น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroid)

นอกจากการตรวจเลือดแล้ว บางครั้งแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์ การทำ MRI ฯลฯ ขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของแพทย์

วิธีรักษาโรคไฮโปไทรอยด์ มีวิธีไหนบ้าง?

วิธีการรักษาโรคไฮโปไทรอยด์นั้น ทำได้โดยการตรวจติดตามอาการ ควบคู่กับการรับประทานยาฮอร์โมนทดแทน ซึ่งผู้ป่วยโรคไฮโปไทรอยด์ มักต้องรับประทานยาฮอร์โมนไปตลอดชีวิต 

ทั้งนี้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนที่ใช้ในปัจจุบันคือ ฮอร์โมนเลโวไทรอกซิน (Levothyroxine) ยาชนิดนี้ถูกพัฒนาให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับฮอร์โมนที่ต่อมไทรอยด์สร้างตามธรรมชาติมากที่สุด ฉะนั้นจึงมีความปลอดภัยสูง สามารถรับประทานได้ไปตลอดชีวิต แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์

โรคไฮโปไทรอยด์ถ้าเป็นแล้วควรดูแลตัวเองยังไง?

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไฮโปไทรอยด์ ควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และรับประทานยาเป็นประจำอย่างเคร่งครัด ไม่ควรหยุดยาเองโดยเด็ดขาด ถึงแม้ว่าอาการต่างๆ จะกลับมาเป็นปกติแล้วก็ตาม 

การหยุดยาไทรอยด์ทุกชนิด ต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา ตรวจร่างกายและค่อยๆ ปรับลดยาลง เพราะการที่ผู้ป่วยมีอาการเป็นปกติ ไม่ได้หมายความว่าหายจากโรคไทรอยด์แล้ว แต่อาจเกิดจากฤทธิ์ของยา ที่เข้าไปช่วยคุมควบให้โรคสงบเท่านั้น ฉะนั้นหากผู้ป่วยหยุดยาเอง อาการก็อาจจะกลับมาใหม่ ซึ่งจะยิ่งทำให้ควบคุมโรคได้ยากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ควรระมัดระวังในการรับประทานยา หรืออาหารเสริมทุกชนิด หากจำเป็นต้องรับประทานยาอื่นๆ ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง ว่ากำลังรับประทานยาฮอร์โมนทดแทนอยู่ เพราะยาบางชนิดอาจไปทำปฏิกิริยากันภายในร่างกาย ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

โรคไฮโปไทรอยด์ เป็นอีกหนึ่งโรคที่หลายๆ คนกังวลใจ เพราะกลัวว่าจะต้องรักษาไปตลอดชีวิต ไม่มีวันหาย แต่จริงๆ แล้วหากเราปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ รับประทานยาฮอร์โมนอย่างสม่ำเสมอ จนควบคุมระดับฮอร์โมนได้ ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยแทบไม่ส่งผลกระทบใดๆ เลย

แต่ใครที่ยังไม่แน่ใจว่า ป่วยเป็นโรคไฮโปไทรอยด์รึเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top