trigger finger disease definition scaled

ใช้งานนิ้วหนักไป รู้หรือไม่ว่าเสี่ยงเป็นโรคนิ้วล็อค

จะงอนิ้ว หรือขยับนิ้วก็ติดขัดไปหมด หรือจะกำและแบมือ นิ้วกลับไม่ขยับอย่างที่ใจต้องการ อาการเหล่านี้คือสัญญาณของโรคนิ้วล็อค อีกปัญหาโรคเกี่ยวกับไขข้อที่มีสาเหตุหลักมาจากการใช้งานนิ้วมือมากเกินไป 

โรคนิ้วล็อคคืออะไร?

โรคนิ้วล็อค (Trigger Finger) คือ กลุ่มอาการที่คนไข้ไม่สามารถขยับใช้งานนิ้วมือได้อย่างคล่องตัว โดยมักมีอาการติดขัดที่ข้อนิ้วอย่างไม่ทราบสาเหตุ ทำให้งอและเหยียดนิ้วไม่ได้ตามปกติ สามารถเกิดได้เพียงนิ้วเดียวหรือหลายนิ้วได้เช่นกัน

สาเหตุของโรคนิ้วล็อค

โรคนิ้วล็อคเกิดจากปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วที่เกิดการอักเสบ จึงเกิดอาการบวมและหนาตัวขึ้นจนเส้นเอ็นที่อยู่ภายในไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้อย่างยืดหยุ่น จนเกิดเป็นอาการนิ้วล็อค ทำให้มีปัญหาข้อนิ้วติดขัดเมื่อคนไข้เหยียดหรืองอนิ้ว

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการอักเสบที่ปลอกหุ้มเส้นเอ็น มาการใช้งานนิ้วมืออย่างหนักและเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ซึ่งมักพบได้บ่อยในผู้ที่มีพฤติกรรมหรือการใช้ชีวิตดังต่อไปนี้

  • การใช้นิ้วกดพิมพ์คีย์บอร์ด แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่อง
  • การใช้นิ้วจับสิ่งของหรืออุปกรณ์ต่างๆ ซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง
  • การใช้นิ้วยกของหนักเป็นประจำ 
  • การทำกิจกรรมหรือทำงานที่ต้องเกร็งข้อนิ้ว การเหยียด หรืองอข้อนิ้วเป็นประจำ ซึ่งสามารถเกิดได้ในแทบทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศ แม่บ้าน คนสวน นักกีฬา นักดนตรี ช่างฝีมือ ช่างเย็บผ้า
  • โรคนิ้วล็อคพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในผู้หญิงวัย 40-50 ปีมักมีความเสี่ยงมากกว่า
  • โรคประจำตัวบางชนิดมีโอกาสเป็นโรคนิ้วล็อคมากกว่ากลุ่มคนทั่วไปถึง 4 เท่า เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์

อาการของโรคนิ้วล็อค

อาการที่เด่นชัดของโรคนิ้วล็อค ได้แก่ 

  • งอและเหยียดนิ้วได้ลำบาก มักจะรู้สึกติดขัดเหมือนนิ้วถูกล็อคไว้กับที่ 
  • เวลาแบนิ้วออก จะรู้สึกเหมือนมีแรงดีดดันข้อนิ้วจนสะบัดหลุดออกไป
  • มีอาการปวดเจ็บที่โคนนิ้วเป็นตำแหน่งหลัก ไม่ลุกลามไปยังตำแหน่งอื่นของฝ่ามือ 
  • หากกำมือหรือลองงอนิ้วเข้าออก เมื่อลองกดลงที่โคนนิ้ว จะรู้สึกเหมือนมีก้อนบางอย่างวิ่งผ่านข้อนิ้วเป็นลูกๆ
  • อาการของโรคมักหนักหน่วงขึ้นในช่วงเช้า และจะค่อยๆ บรรเทาลงเมื่อเริ่มขยับใช้งานนิ้วอีกครั้ง

โรคนิ้วล็อคยังสามารถแบ่งออกได้ทั้งหมด 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1: ปวดตึงที่ข้อนิ้ว เมื่องอนิ้วจะรู้สึกสะดุดในบางครั้ง และเริ่มมีอาการกดเจ็บที่โคนนิ้วทางด้านหน้า (ด้านฝ่ามือ) แต่ยังงอและเหยียดนิ้วได้ตามปกติ
  • ระยะที่ 2: ปวดตึงที่ข้อนิ้วรุนแรงขึ้น เมื่อขยับนิ้ว งอนิ้ว และเหยียดนิ้วจะเริ่มรู้สึกสะดุดบ่อยขึ้นจนเริ่มสังเกตตนเองได้
  • ระยะที่ 3: มีอาการนิ้วล็อคอย่างเห็นได้ชัด คนไข้ไม่สามารถกำและแบมือออกได้เองอีก ต้องใช้นิ้วช่วยง้างข้อนิ้วให้แบออกเท่านั้น
  • ระยะที่ 4: มีอาการนิ้วบวม กล้ามเนื้อนิ้วอักเสบ ไม่สามารถกำมือและเหยียดนิ้วตรงได้อีก ระหว่างพยายามเหยียดนิ้วให้ตรงก็จะมีอาการปวดที่รุนแรงมาก ในคนไข้บางรายอาจมีลักษณะนิ้วที่ผิดรูประหว่างพยายามงอนิ้วมือด้วย

นั่งพิมพ์งานทั้งวัน ต้องกดมือถือทุกชั่วโมง นิ้วเริ่มติดขัด งอหรือเหยียดยากขึ้น อยากปรึกษาคุณหมอให้มั่นใจ ทักหาทีมงาน HDcare เพื่อนัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทางได้ที่นี่

วิธีรักษาโรค

แนวทางรักษาโรคนิ้วล็อคจะเป็นไปตามระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น โดยสามารถแบ่งได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

1. การรักษาด้วยตนเอง 

จัดเป็นแนวทางการรักษาแบบเริ่มต้นในผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีอาการนิ้วล็อค หรือเพิ่งได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคนิ้วล็อคในระดับที่ไม่รุนแรง จึงยังไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวิธีรักษากับแพทย์ก็ได้ เช่น 

  • การหมั่นพักการใช้งานนิ้วอยู่เรื่อยๆ หรือในคนไข้บางรายอาจต้องงดการทำกิจกรรมที่ใช้นิ้วหนักๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น งดยกของหนัก งดออกกำลังกาย งดเล่นกีฬาหรือทำงานในลักษณะที่ต้องงอและเหยียดนิ้วเป็นประจำ 
  • การประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมแดงและอาการอักเสบ
  • การแช่น้ำอุ่นหรือประคบอุ่นเมื่อมีอาการนิ้วล็อค

2. การรักษากับแพทย์

หากรักษาโรคนิ้วล็อคด้วยตนเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงขึ้นกว่าเดิม คนไข้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนวิธีรักษาที่เหมาะสมและเห็นผลได้เร็วขึ้น เช่น

  • การใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว เพื่อให้เส้นเอ็นกล้ามเนื้อนิ้วได้พักการใช้งาน รวมถึงเพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้เกร็งนิ้วโดยไม่รู้ตัว และเพื่อคงลักษณะนิ้วให้ตรง ไม่งอหรือเหยียดเกินไป 
  • การใช้ยา ส่วนมากมักเริ่มต้นด้วยการจ่ายยาแก้อักเสบแบบยากินก่อน แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะปรับเป็นวิธีฉีดยาสเตียรอยด์ หรือการฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ที่นิ้วเพื่อลดการอักเสบ ทำให้คนไข้ขยับนิ้วได้ง่ายขึ้นชั่วคราว
  • การทำกายภาพบำบัด เพื่อเสริมความยืดหยุ่นให้เส้นเอ็น โดยจะเป็นการรักษาร่วมกับแพทย์และนักกายภาพบำบัด
  • การผ่าตัด เพื่อผ่าเปิดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่บวมให้ขยายตัวออก ทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวได้อย่างยืดหยุ่นและไม่ติดขัดอีก แบ่งเทคนิคการผ่าตัดออกได้ 2 วิธี ได้แก่
    • เทคนิคการผ่าตัดแบบเปิด (Open Trigger Finger Release Surgery) เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยแพทย์จะผ่าเปิดแผลขนาด 3-7 มิลลิเมตรที่นิ้วเพื่อตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นส่วนที่บวมออก
    • เทคนิคการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด (Percutaneous Trigger Finger Knife) เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ โดยแพทย์จะใช้มีดผ่าตัดที่มีลักษณะคล้ายเข็มขนาด 2 มิลลิเมตร เจาะผ่านผิวหน้าเพื่อเข้าไปตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่บวมโดยไม่ต้องผ่าเปิดแผล

การป้องกันโรคนิ้วล็อค

โรคนิ้วล็อคสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดโรคนี้ เช่น

  • หมั่นพักการใช้งานนิ้วระหว่างวัน 
  • หมั่นทำกายบริหารนิ้วเป็นครั้งคราว 
  • งดใช้นิ้วยกของหนักหรือรับน้ำหนักมากๆ เป็นประจำ
  • งดการหัก ดัด หรือเหยียดนิ้วจนสุด เนื่องจากเป็นการเพิ่มโอกาสการอักเสบของเส้นเอ็น
  • งดทำกิจกรรมที่ทำให้นิ้วต้องเผชิญแรงสั่นสะเทือนที่หนักหน่วง รวมถึงกิจกรรมที่ต้องใช้นิ้วกำสิ่งของหรืออุปกรณ์แน่นๆ เป็นเวลานาน
  • หากต้องใช้นิ้วจับอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มีเนื้อแข็งเกินไป เช่น ไม้กอล์ฟ อุปกรณ์การช่างที่ทำจากเหล็ก ควรใส่ถุงมือหรือใส่ด้ามจับที่มีนิ้วเนื้อนุ่มก่อน หากไม่มีให้ใช้ผ้าขนหนูหนาๆ หุ้มก่อน

โรคนิ้วล็อคที่ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น การหยิบจับสิ่งของ การขับรถ การพิมพ์งานกับคอมพิวเตอร์ การเล่นกีฬา

หากพบอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณของโรคนิ้วล็อค ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งมีโอกาสหายขาดสูง

ยังไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นโรคนิ้วล็อครึเปล่า  ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top