gallstones surgeries treatment comparison

เปรียบเทียบวิธีการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี มีวิธีไหนบ้าง แตกต่างกันอย่างไร?

การรักษานิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีการผ่าตัดเป็นวิธีที่แพทย์แนะนำมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะสามารถรักษานิ่วในถุงน้ำดีให้หายได้จริง ซึ่งการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีมีด้วยกัน 3 วิธีหลักๆ ได้แก่ การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดส่องกล้อง และการผ่าตัดส่องกล้องแผลเดียว มาดูกันว่า แต่ละวิธีแตกต่างกันอย่างไร

เปรียบเทียบการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีวิธีต่างๆ

วิธีการรักษานิ่วในถุงน้ำดี มีด้วยกัน 3 วิธี มาดูกันว่า แต่ละวิธีมีความแตกต่างกันอย่างไร

1. การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้อง

การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Cholecystectomy) เป็นวิธีการผ่าตัดวิธีดั้งเดิม โดยแพทย์จะผ่าตัดเปิดบริเวณช่องท้องฝั่งชายโครงด้านขวา ขนาดแผลยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แล้วนำถุงน้ำดีพร้อมกับนิ่วออกมา

วิธีนี้ช่วยให้แพทย์มองเห็นภาพกว้างได้ จึงผ่าง่ายกว่าแบบส่องกล้อง และสามารถคลำตรวจอวัยวะโดยรอบได้ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 3-5 วัน และกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านประมาณ 1 เดือน นอกจากนี้ยังเจ็บแผลมากกว่าวิธีอื่นๆ และมีแผลเป็นที่ชายโครงขวาอย่างชัดเจน

แพทย์มักจะแนะนำวิธีนี้ให้กับผู้ป่วยที่มีอาการนิ่วในถุงน้ำดีอักเสบอย่างรุนแรง ถุงน้ำดีแตกทะลุ เริ่มมีอาการดีซ่าน รวมทั้งผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน จนเกิดพังผืดติดลำไส้และผนังหน้าท้องมาก ซึ่งไม่สามารถผ่าตัดแบบส่องกล้องได้

2. การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง

การผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) เป็นการผ่าตัดโดยเจาะบริเวณสะดือและชายโครงด้านขวาเป็นแผลเล็กๆ ขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร – 2 เซนติเมตร จำนวน 3-4 รู แล้วสอดท่อที่มีไฟฉายและกล้องขนาดเล็กเข้าไป จากนั้นแพทย์จะนำเครื่องมือเข้าไปตัดเลาะถุงน้ำดีออกจากตับ โดยแพทย์จะมองภาพที่แสดงผลอย่างละเอียดผ่านทางจอมอนิเตอร์

วิธีการรักษานิ่วในถุงน้ำดีวิธีนี้ให้ผลลัพธ์ที่ดี ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ใช้เวลาอยู่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน และพักฟื้นต่อที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังเจ็บแผลน้อยมาก เนื่องจากแผลมีขนาดเล็ก และมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยปล่อยอาการทิ้งไว้นานจนเกิดพังผืดหรือเกิดการอักเสบมาก อาจทำให้การผ่าตัดส่องกล้องไม่สำเร็จ แพทย์อาจต้องเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องแทน

3. การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้องแผลเดียว

การผ่าตัดส่องกล้องแผลเดียว (Single Incision Laparoscopic Cholecystectomy) เป็นการผ่าตัดที่พัฒนามาจากการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แตกต่างกันตรงที่เปิดแผลเพียงรูเดียวที่สะดือ ขนาดแผลประมาณ 5 มิลลิเมตร – 1 เซนติเมตร เพื่อใส่อุปกรณ์เข้าไปผ่าตัด ใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมง

การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีวิธีนี้ ถือเป็นเทคนิคที่ทำให้เกิดแผลขนาดเล็กและเสียเลือดน้อยที่สุดในปัจจุบัน ผู้ป่วยแทบไม่เหลือแผลเป็นให้เห็นหลังผ่าตัด

ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีต้องเตรียมตัวอย่างไร? หลังผ่าตัดต้องดูแลตัวเองมากน้อยแค่ไหน สารพัดคำถาม และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี เรารวบรวมให้คุณแล้ว คลิกอ่านต่อ

ผ่าตัดถุงน้ำดีออกแล้วจะใช้ชีวิตได้อย่างปกติหรือไม่ สามารถรับประทานอาหารที่มีไขมันได้ตามปกติหรือเปล่า?

หลายคนที่มีนิ่วในถุงน้ำดี อาจกังวลว่า เมื่อผ่าตัดนำถุงน้ำดีออกแล้วจะใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือไม่ ความจริงแล้วหากไม่มีถุงน้ำดี ตับก็ยังผลิตน้ำดีเพื่อใช้ย่อยไขมันได้เช่นเดิม เพียงแค่ไม่มีถุงน้ำดีไว้คอยกักเก็บน้ำดีเท่านั้น โดยน้ำดีจากตับจะลงไปที่กระเพาะหรือลำไส้โดยตรง 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่ผ่าตัดถุงน้ำดีออกไป ร่างกายอาจย่อยอาหารที่เป็นไขมันได้ไม่ดีเท่าเดิม แต่ร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัวให้เป็นปกติได้เอง

การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแต่ละวิธี มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ซึ่งการจะตัดสินใจเลือกวิธีไหนนั้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการโดยตรง เพื่อเลือกวิธีที่เหมาะกับอาการที่เป็นอยู่มากที่สุด

ยังลังเลใช่ไหม ไม่รู้ว่าควรเลือกวิธีผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบไหนดี? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจรักษานิ่วในถุงน้ำดี จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top