ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง กับ นพ. ณัฐพล อภิกิจเมธา ด้วยบริการจาก HDcare

สำรวจต้นตอ อาการ วิธีรักษา และคำถามที่พบบ่อยของโรคนิ่วในถุงน้ำดี ผ่าตัดมีกี่เทคนิค? ข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร? กินน้ำไม่กรองเป็นนิ่วในถุงน้ำดีจริงหรือไม่? คนอ้วนหรือคนผอมใครเสี่ยงกว่ากัน?

ตอบทุกคำถามที่ทุกคนสงสัยโดยหมอณัฐ นพ. ณัฐพล อภิกิจเมธา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดส่องกล้อง และเป็นอาจารย์แพทย์ด้านการผ่าตัดส่องกล้อง มีประสบการณ์ผ่าตัดส่องกล้องและส่องกล้องทางเดินอาหารมามากกว่า 2,500 เคส

อ่านประวัติหมอณัฐได้ที่นี่ [คุยกับ “หมอณัฐ” ศัลแพทย์ด้านการผ่าตัดส่องกล้อง และการส่องกล้องทางเดินอาหาร]

สารบัญ

ถุงน้ำดี คืออะไร?

ถุงน้ำดี (Gallbladder) คือ อวัยวะที่มีลักษณะเป็นถุงชิดกับตับ อยู่บริเวณใต้ชายโครงด้านขวา มีหน้าที่กักเก็บ “น้ำดี” ซึ่งเป็นของเหลวที่ผลิตจากตับ และทำหน้าที่ย่อยสารอาหารประเภทไขมันที่อยู่ในลำไส้ โดยเมื่อเรากินอาหารเข้าไป ฮอร์โมนในร่างกายจะไปกระตุ้นให้ถุงน้ำดีบีบตัวไล่น้ำดีออกมาย่อยไขมัน

โรคนิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากอะไร?

โรคนิ่วในถุงน้ำดี  (Gall Stone) เกิดจากการเสียสมดุลของส่วนผสมในน้ำดี จนเกิดเป็นตกตะกอนของคอเลสเตอรอลหรือสารที่อยู่ในน้ำดี และรวมตัวกลายเป็นก้อนเม็ดนิ่วสะสมอยู่ในถุงน้ำดี

ใครคือกลุ่มเสี่ยงเป็นนิ่วในถุงน้ำดี

  • ผู้หญิงมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้ชาย
  • ผู้มีภาวะอ้วนมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้ที่มีรูปร่างผอม
  • ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้ที่อายุน้อยๆ
  • ผู้ที่กินอาหารที่มีไขมันเยอะๆ อย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ที่ลดน้ำหนักและน้ำหนักลดลงเร็วๆ

อาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี

อาการบ่งชี้ที่พบได้บ่อยในคนไข้โรคนิ่วในถุงน้ำดี ได้แก่

  • ปวดหรือจุกแน่นใต้ชายโครงด้านขวา มักเป็นหลังกินอาหาร
  • จุกแน่นคล้ายกับอาหารไม่ย่อย 
  • รู้สึกแน่นๆ ตื้อๆ ที่ใต้ชายโครงขวา
  • ในบางรายอาจปวดชายโครงด้านขวาร้าวไปถึงสะบักด้านหลัง

สำหรับอาการจากโรคนิ่วในถุงน้ำดีที่อยู่ในระดับอันตราย และควรรีบมาพบแพทย์โดยทันที ได้แก่

  • ปวดใต้ชายโครงขวาอย่างรุนแรงและเป็นเวลาหลายชั่วโมง 
  • มีไข้ขึ้นสูง

หากพบ 2 อาการนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้ทำการผ่าตัดฉุกเฉินให้คนไข้

การตรวจวินิจฉัยโรคนิ่วในถุงน้ำดี

การตรวจวินิจฉัยโรคนิ่วในถุงน้ำดีที่ให้ผลตรวจชัดเจนและเป็นที่นิยมของแพทย์ คือ การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เนื่องจากช่วยให้แพทย์เห็นก้อนนิ่วในชัดเจน แต่ขณะเดียวกัน การตรวจ CT Scan และการตรวจ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ก็เป็นวิธีตรวจที่นิยมเช่นกัน รวมถึงนิยมใช้ตรวจก้อนนิ่วที่หลุดเข้าไปในท่อน้ำดีด้วย

การรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีมีกี่แบบ?

วิธีรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีที่เป็นมาตรฐานมีอยู่วิธีเดียว คือ การผ่าตัด ในคนไข้บางรายอาจใช้วิธีการส่องกล้องลำไส้แล้วดึงก้อนนิ่วออก แต่วิธีนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับเป็นวิธีรักษามาตรฐาน และไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในวงการแพทย์มากนัก

การผ่าตัดรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีมีกี่แบบ? มีข้อดีและข้อจำกัดอย่างไร?

การผ่าตัดรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีแบ่งออกได้ 2 วิธี ได้แก่ 

1. การผ่าตัดแบบเปิดแผล

เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบดั้งเดิม มีจุดเด่นด้านที่สามารถผ่าตัดถุงน้ำดีได้แทบทุกรูปแบบ ไม่ว่าก้อนนิ่วจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน หรือมีก้อนนิ่วหลุดเข้าไปในท่อน้ำดีก็ยังผ่าตัดได้ รวมถึงผ่าตัดได้ในทุกระดับการอักเสบของถุงน้ำดีด้วย

แต่การผ่าตัดแบบเปิดแผลก็มีข้อเสีย คือ ทำให้เกิดแผลขนาดใหญ่ โดยแผลอาจมีขนาดยาวถึง 10 เซนติเมตรที่ใต้ชายโครงขวา จึงทำให้คนไข้เจ็บแผลมากและใช้เวลาฟื้นตัวช้า นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าด้วย เช่น ปอดติดเชื้อ ปอดแฟบ ซึ่งสามารถเกิดจากคนไข้หายใจไม่เต็มที่ เนื่องจากยิ่งหายใจลึกก็จะยิ่งเจ็บแผลผ่าตัดมากขึ้น

2. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง

เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก มีข้อดีด้านการสร้างแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กมาก ทำให้เจ็บแผลน้อย และฟื้นตัวได้เร็ว 

แต่การผ่าตัดแบบส่องกล้องก็มีข้อจำกัดในผู้ที่มีอาการอักเสบอย่างรุนแรงที่ถุงน้ำดี จนทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ ถุงน้ำดีบวมหรือเกิดพังผืด หากใช้การผ่าตัดแบบส่องกล้องก็อาจทำให้แพทย์มองเห็นนิ่วในถุงน้ำดีได้ยากขึ้น ในกรณีก็อาจพิจารณาใช้การผ่าตัดแบบเปิดแทน

การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง เหมาะกับใคร?

การผ่าตัดแบบส่องกล้องเป็นการผ่าตัดมาตรฐานที่เหมาะกับคนไข้ทุกราย ยกเว้นในคนไข้ที่ถุงน้ำดีอักเสบมากจนทำให้แพทย์ส่องกล้องแยกถุงน้ำดี ก้อนนิ่ว และท่อน้ำดีได้ไม่ชัดเจน ในกรณีนี้แพทย์มักใช้การผ่าตัดแบบเปิดแทน

ขั้นตอนการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง

การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แต่หากถุงน้ำดีมีการอักเสบด้วย ก็อาจใช้นานขึ้น โดยมีขั้นตอนหลักๆ ดังต่อไปนี้

  • วิสัญญีแพทย์ดมยาสลบคนไข้ และจัดท่าคนไข้ในท่านอนหงาย
  • แพทย์กรีดเปิดแผลขนาด 1-1 เซนติเมตรครึ่งใกล้ๆ สะดือเพื่อสอดกล้องผ่าตัด
  • แพทย์กรีดเปิดแผลอีก 2 แผลในขนาดครึ่งเซนติเมตร เพื่อสอดอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไปตัดเลาะถุงน้ำดีออกจากร่างกายคนไข้
  • เย็บปิดแผล

การดูแลตนเองหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง

  • คนไข้จะนอนพักที่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 คืน และสามารถลุกเดินได้เลยหลังผ่าตัดเสร็จ
  • หากไม่มีสัญญาณอาการแทรกซ้อน แพทย์จะอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ
  • งดกินอาหารที่มีไขมันมากๆ หรือมีความมันมากประมาณ 2-3 เดือน เนื่องจากในช่วงแรกหลังผ่านำถุงน้ำดีออกไปแล้ว การหลั่งถุงน้ำดีจากตับอาจยังไม่สมดุล หากกินอาหารมันๆ ก็อาจทำให้ท้องอืดหรืออาหารไม่ย่อยได้

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง

  • ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ทั่วไปหลังผ่าตัดทุกชนิด เช่น เสียเลือดมาก แผลติดเชื้อ แต่ส่วนมากพบได้น้อยในเทคนิคการผ่าตัดแบบส่องกล้อง
  • การบาดเจ็บของท่อน้ำดี แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อยเช่นกัน

ตอบคำถามสิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนิ่วในถุงน้ำดี

  1. เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี หากไม่รักษาอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จริงหรือไม่?
    ตอบ: จริง แต่มักพบในผู้ที่มีการอักเสบที่ถุงน้ำดีอย่างรุนแรง หรือติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย หากอาการรุนแรงในระดับนี้ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้
  1. ผ่านำถุงน้ำดีออกไปแล้ว มีผลเสียต่อร่างกายหรือไม่?
    ตอบ: การไม่มีถุงน้ำดีในร่างกายไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกาย หลังผ่าตัดนำออกไปแล้ว น้ำดีก็จะยังหลั่งออกมาจากตับตามปกติ และสามารถย่อยไขมันในลำไส้ได้ตามปกติเช่นกัน เพียงแต่ในช่วงแรกหลังผ่าตัด คนไข้อาจมีอาการอาหารย่อยช้าได้บ้างเท่านั้น
  1. โรคนิ่วในถุงน้ำดีเกี่ยวข้องพันธุกรรมมั้ย?
    ตอบ: มีโอกาสเกี่ยว แต่ไม่ได้มีนัยยะสำคัญที่ทำให้โรคนิ่วในถุงน้ำดีแตกต่างไปจากคนไข้คนอื่น
  1. ภาวะอ้วนทำให้คอเลสเตอรอลในน้ำดีเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่
    ตอบ: มีส่วนได้ และเป็นสาเหตุที่ทำให้คนอ้วนมีโอกาสเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนผอม
  1. กินยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดทแทน มีความเสี่ยงทำให้เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีจริงไหม?
    ตอบ: ไม่จริง
  1. โรคเบาหวานมีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดียังไง?
    ตอบ: โรคเบาหวานไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี แต่โรคเบาหวานเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อาการของคนไข้เมื่อร่างกายเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อรุนแรงกว่าคนไข้ทั่วไป ดังนั้นเมื่อคนไข้โรคเบาหวานเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีและมีการอักเสบด้วย อาการที่เกิดขึ้นจึงจะรุนแรงกว่าคนทั่วไปได้
  1. การลดน้ำหนักเร็วๆ มีผลต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีอย่างไร?
    ตอบ: มีความเชื่อกันว่า เมื่อร่างกายลดน้ำหนักลงได้เร็วๆ ซึ่งอาจเกิดจากการอดอาหารหรือกินอาหารน้อยลง พฤติกรรมเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้น้ำดีหลั่งน้อยลงได้ และไปตกค้างอยู่ในถุงน้ำดีจนตกตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่ว นอกจากนี้ยังมีอีกงานวิจัยที่ให้ข้อมูลว่า การลดน้ำหนักเร็วๆ สามารถทำให้ร่างกายเผาผลาญคอเลสเตอรอลมากขึ้น และทำให้สมดุลการหลั่งของคอเลสเตอรอลออกจากตับไม่เหมือนเดิม จึงตกตะกอนและกลายเป็นนิ่วนั่นเอง
  1. ดื่มน้ำไม่สะอาด ไม่ผ่านการกรอง เสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีจริงหรือไม่?
    ตอบ: ไม่จริง และไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด

ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้องกับ นพ. ณัฐพล ด้วยบริการจาก HDcare

ใครมีอาการจุกแน่นใต้ชายโครงขวา จุกแน่นที่ลิ้นปี่หลังกินอาหารบ่อยๆ นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคนิ่วในถุงน้ำดี อย่ารอช้าที่จะเดินทางไปตรวจกับแพทย์ 

หรือหากรู้สึกกังวล อยากปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ทีมงาน HDcare ยินดีเป็นผู้ช่วยนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีให้กับคุณโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

และหากได้รับการวินิจฉัยแล้วและต้องการผ่าตัด ทีมงาน HDcare พร้อมเป็นผู้ช่วยประสานงานด้านการผ่าตัดกับโรงพยาบาลให้กับคุณ และมีพยาบาลผู้ช่วยคอยอยู่เคียงข้างคุณในวันผ่าตัด ทั้งสะดวก รวดเร็ว มาโรงพยาบาลคนเดียวก็ผ่าตัดได้อย่างไร้กังวล

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top