ผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ มีวิธีไหนบ้าง ผลข้างเคียง scaled

ผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ มีวิธีไหนบ้าง ผลข้างเคียง?

เมื่อมีภาวะถุงน้ำในรังไข่ หลายคนคงรู้สึกกังวลใจว่าต้องผ่าตัดไหม ผ่าตัดแล้วมีผลข้างเคียงอย่างไร จะเป็นวัยทองเลยหรือเปล่า และการผ่าตัดมีรูปแบบไหนบ้าง บทความนี้ได้รวบรวมทุกข้อมูลการผ่าตัดถุงน้ำรังไข่มาให้แล้ว

ภาวะถุงน้ำรังไข่ จำเป็นต้องผ่าตัดทุกกรณีไหม เมื่อไหร่ต้องผ่าตัด?

ภาวะถุงน้ำในรังไข่ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกกรณี โดยแพทย์จะประเมินก่อนว่าถุงน้ำที่พบนั้น เป็นถุงน้ำชนิดใด มีระดับความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน

หากเป็น ถุงน้ำที่เกิดขึ้นจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง (Functional Cyst) ที่เกิดจากการทำงานตามปกติของรังไข่ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เพราะถุงน้ำชนิดนี้จะยุบตัวและฝ่อไปเอง

แต่ในกรณีที่เป็นถุงน้ำชนิดอื่นๆ เช่น ถุงน้ำเดอร์มอยด์ ถุงน้ำที่เกิดจากการที่เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือที่รู้จักในชื่อ ช็อกโกแลตซีสต์ ถุงน้ำเหล่านี้จะไม่สามารถยุบตัว หรือไปได้เอง จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

ทั้งนี้หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดความเสี่ยงตามมา เช่น ถุงน้ำรั่ว แตก หรือบิดขั้ว ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยปวดท้องอย่างเฉียบพลัน และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ถุงน้ำในรังไข่ คืออะไร  สาเหตุ อาการ ความผิดปกติ วิธีรักษา ป้องกัน ครบ จบในที่เดียว อ่านเพิ่มเติม คลิก 

ผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ ตัดข้างเดียวได้ไหม หรือต้องตัดทั้งสองข้าง

ก่อนผ่าตัดรังไข่ แพทย์จะประเมินอาการว่า จะผ่าตัดเลาะเอาถุงน้ำออกอย่างเดียว หรือตัดรังไข่ออกทั้งหมด จะตัดออก 1 ข้าง หรือ 2 ข้าง หรือจะต้องตัดมดลูกออกด้วยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับอายุผู้ป่วย ชนิดและขนาดของซีสต์ ความต้องการที่จะมีบุตรอีกในอนาคต

การผ่าตัดรังไข่ออก จะส่งผลกระทบต่อร่างกายค่อนข้างมาก เพราะรังไข่ทำหน้าที่ผลิตเซลล์สืบพันธุ์ รวมทั้งผลิตฮอร์โมนที่สำคัญต่อร่างกาย โดยระดับความรุนแรงของผลกระทบจะขึ้นอยู่กับว่าตัดอวัยวะใดออกไปบ้าง ดังนี้

    • กรณีตัดรังไข่ออก 1 ข้าง แต่ไม่ได้ตัดมดลูกออก หากรังไข่ข้างที่เหลืออยู่ ยังทำงานได้ตามปกติ ร่างกายจะแทบไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงมีฮอร์โมนเพศ มีการตกไข่ ตั้งครรภ์ได้ และมีประจำเดือนตามปกติ
    • กรณีตัดรังไข่ออก 2 ข้าง แต่ไม่ได้ตัดมดลูกออก ร่างกายจะขาดทั้งเซลล์สืบพันธุ์และฮอร์โมนเพศหญิง แต่ยังมีมดลูกสำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต โดยจำเป็นต้องใช้เซลล์ไข่จากผู้อื่น หรือหากเคยฝากไข่ไว้ ก็สามารถใช้ไข่ของตัวเองได้ ร่างกายจะไม่มีประจำเดือน และเข้าสู่ภาวะวัยทองทันที ยกเว้นจะได้รับฮอร์โมนทดแทนจากแพทย์
    • กรณีตัดรังไข่ออก 2 ข้าง และตัดมดลูกออก ร่างกายจะขาดทั้งเซลล์สืบพันธุ์และฮอร์โมนเพศหญิง และไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ไม่มีประจำเดือน ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำการผ่าตัดนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีบุตรแล้ว และอยู่ในช่วงวัยสูงอายุ

ผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งรังไข่สูง และอยู่ในช่วงวัยทองแล้ว การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกทั้ง 2 ข้าง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งท่อนำไข่ได้

กรณีที่เป็นมะเร็งรังไข่ แม้จะเป็นเพียงข้างเดียว แพทย์อาจแนะนำให้ตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง หรืออาจให้ตัดมดลูกออกด้วย เพื่อลดความเสี่ยงที่เชื้อมะเร็งจะแพร่กระจาย

การผ่าตัดภาวะถุงน้ำรังไข่และท่อนำไข่มีวิธีไหนบ้าง?

กรณีที่แพทย์ประเมินแล้วว่า ลักษณะของถุงน้ำรังไข่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่นๆ หรือเป็นถุงน้ำชนิดที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยวิธีผ่าตัด การผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่มีอยู่ 2 วิธีหลักๆ คือ

  1. การผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่แบบเปิดหน้าท้อง หรือการผ่าตัดแบบดั้งเดิม เป็นการผ่าตัดเปิดแผลบริเวณหน้าท้อง อาจเป็นแนวตั้งหรือแนวนอนก็ได้ ความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว ขึ้นอยู่กับชนิดของถุงน้ำ ขนาดของมดลูก และความชำนาญของแพทย์ที่ทำการผ่าตัด 

การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ เป็นการผ่าตัดพื้นฐาน ที่สามารถรักษาความผิดปกติได้ทุกกรณี แต่เนื่องจากเป็นการผ่าตัดแบบเปิด ผู้ป่วยจึงจะมีแผลเป็นบริเวณหน้าท้อง รวมทั้งใช้ระยะเวลาพักฟื้นนานกว่า โดยจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ​ 3 วัน และพักฟื้นต่อที่บ้านประมาณ 1-2 สัปดาห์

  1. การผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่โดยการส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดโดยใช้การส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง โดยจะกรีดเปิดแผลใต้สะดือ ขนาดเพียง 0.5-1 เซนติเมตร ประมาณ 2-3 จุด เพื่อสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องท้อง และทำการผ่าตัดผ่านกล้อง

วิธีนี้ได้รับความนิยมมากกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง เนื่องจากแผลจะมีขนาดเล็กเจ็บน้อยกว่า และฟื้นตัวได้ไวกว่า ส่วนใหญ่จะพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1-3 วัน และพักฟื้นต่อที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดพังผืดในช่องท้อง และภาวะแทรกซ้อนด้วย

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัดรังไข่

การผ่าตัดไม่ว่าจะเป็นวิธีการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และวิธีการส่องกล้อง ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัดได้ เช่น

  • ความเสี่ยงทั่วไปที่พบได้จากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ แพ้ยาชา แพ้ยาสลบ อาการชา บวมช้ำ เลือดออก หรือเลือดคลั่ง
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาระงับความรู้สึก เช่น อาการคันตามตัว คันตามใบหน้า คลื่นไส้อาเจียน หรือท้องอืด โดยอาการจะเป็นมากในวันแรก หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นจนกลับเป็นปกติ
  • หากมีอาการแผลอักเสบ บวมแดง ไข้สูง มีเลือดออกจำนวนมาก หรือหนองออกจากช่องคลอด ให้รีบมาพบแพทย์ทันทีโดย
  • กรณีที่ผู้ป่วยอายุน้อยและมีความจำเป็นต้องผ่าตัดนำรังไข่ทั้งสองข้างออก ผู้ป่วยจะเข้าสู่ภาวะวัยทองทันที ทำให้ไม่มีประจำเดือน และอาจเกิดผลข้างเคียงจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง เช่น ร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน ผิวแห้ง ช่องคลอดแห้ง หรือมีภาวะกระดูกบางก่อนวัย โดยส่วนใหญ่จะต้องรับประทานฮอร์โมนตลอดชีวิต

ภาวะถุงน้ำรังไข่ เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคนและทุกช่วงวัย หากพบสัญญาณเสี่ยง เช่น ปวดท้องน้อย คลำพบก้อนที่หน้าท้อง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด หากพบความผิดปกติเร็ว จะได้รักษาได้ทัน และหากจำเป็นต้องผ่าตัด ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางอย่างละเอียด เพื่อเลือกวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

อยากหยุดอาการป่วยด้วยโรคถุงน้ำรังไข่ให้หายขาด ต้องการคำปรึกษา จากคุณหมอเฉพาะทาง ประสบการณ์สูง ในราคาที่ถูกกว่า ทักหาทีม HDcare เราพร้อมช่วยคุณทำนัดปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง รวดเร็ว ทันใจ ไม่ต้องรอคิวนาน คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top