ตรวจไทรอยด์มีกี่วิธี ตรวจเลือด อัลตราซาวด์ เจาะชิ้นเนื้อ

ตรวจไทรอยด์มีกี่วิธี? ตรวจเลือด อัลตราซาวด์ เจาะชิ้นเนื้อ

คุณกำลังเสี่ยงป่วยเป็นโรคไทรอยด์หรือเปล่า? คนในครอบครัวเคยป่วยเป็นไทรอยด์ หรือพบสัญญาณผิดปกติของร่างกาย เช็กเองแล้วยังไม่ชัวร์ อยากตรวจกับคุณหมอให้แน่ชัด แต่ไม่รู้จะเลือกตรวจวิธีไหนดี เรารวบรวมข้อมูลการตรวจไทรอยด์ทุกวิธี อธิบายขั้นตอนอย่างชัดเจน ให้คุณตัดสินใจได้ง่ายที่สุดเอาไว้แล้ว

สารบัญ

การตรวจไทรอยด์คืออะไร

การตรวจไทรอยด์ เป็นการตรวจดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยจะมีการตรวจหลายวิธี เช่น ตรวจเลือดดูระดับไทรอยด์ฮอร์โมนในร่ายกาย ตรวจแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ การตรวจอัลตราซาวด์ดูความผิดปกติของก้อนไทรอยด์ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับว่าระดับอาการของผู้ป่วยอยู่ในระดับใด ซึ่งการตรวจบางวิธีอาจจะต้องให้คุณหมอเฉพาะทางเป็นผู้พิจารณาสั่งตรวจ

อยากเช็กตัวเองในเบื้องต้น ว่าเสี่ยงเป็นโรคไทรอยด์ไหม คลิกอ่านเลย 2 วิธีง่ายๆ ตรวจไทรอยด์ด้วยตัวเอง ทำตามขั้นตอน 1 นาทีรู้ผล! คลิกอ่านต่อ

ใครควรตรวจไทรอยด์

โรคไทรอยด์เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มอาการ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะพบโรคไทรอยด์ และควรตรวจคัดกรองความเสี่ยงมีดังนี้

  • ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป
  • มีอาการกลืนน้ำลายและอาหารลำบาก
  • มีอาการหายใจเข้า-ออกได้ไม่เต็มปอด
  • เสียงแหบ เปล่งเสียงได้ไม่สุด
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น
  • เหงื่อออกง่าย และออกมากผิดปกติ
  • นอนไม่หลับ สมาธิสั้น เครียด
  • มีอาการท้องเสียบ่อย ขับถ่ายผิดปกติ
  • มีลำคอโตผิดปกติ หรือมีก้อนเนื้อที่ลำคอ
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ
  • เคยมีประวัติต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
  • เคยรักษาโรคไทรอยด์มาก่อน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1
  • ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก
  • คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคไทรอยด์

การตรวจไทรอยด์มีกี่วิธี?

การตรวจไทรอยด์มีทั้งหมด 5 วิธี ซึ่งแต่ละวิธีจะเหมาะกับอาการ และความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกัน มีตั้งแต่การตรวจคัดกรองเบื้องต้น ในผู้ที่มีความเสี่ยง หรือกังวลว่าจะป่วยเป็นโรคไทรอยด์ ไปจนถึงผู้ที่ตรวจพบโรคไทรอยด์แล้ว หรือพบก้อนเนื้อ และต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งต่อไป โดยแต่ละวิธีมีรายละเอียดดังนี้

วิธีที่ 1 การตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ และตรวจการทำงานของต่อมใต้สมอง

วิธีนี้เป็นการตรวจคัดกรองขั้นพื้นฐาน เพื่อวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด รวมทั้งตรวจวัดการทำงานของต่อมใต้สมองที่มีผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ 

การตรวจวิธีนี้เหมาะสำหรับคนทั่วไปที่ต้องการตรวจความเสี่ยงโรคไทรอยด์

การตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ไทรอยด์ (Thyroid Hormones) เป็นการตรวจปริมาณฮอร์โมน 2 ชนิด ได้แก่ ฮอร์โมนไตรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine: T3) ฮอร์โมนไทรอกซีน (Thyroxine: T4) ซึ่งทั้งมีหน้าที่แปลงสภาพสารอาหารให้กลายเป็นพลังงานแก่ร่างกาย

การตรวจวัดการทำงานของต่อมใต้สมอง (Thyroid-Stimulating Hormone: TSH) เป็นการวัดการทำงานของปริมาณฮอร์โมนที่ถูกผลิตออกมาจากต่อมใต้สมอง ที่มีหน้าที่ควบคุมการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์อีกทอดหนึ่ง

อยากตรวจไทรอยด์ ราคาไม่แพง ทักหา HDcare ค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

ทั้งนี้ค่าปกติของค่าทั้ง 3 ชนิดมีดังนี้

  • TSH ค่าปกติอยู่ระหว่าง 0.5-5.0 mU/L
  • T3    ค่าปกติอยู่ระหว่าง 80-200 ng/dL
  • T4    ค่าปกติอยู่ระหว่าง 4.5-12.5 µg/dL

ตัวอย่างการอ่านค่าอย่าง เช่น

  • หากผลเลือด T3 หรือ T4 สูงกว่าปกติ แต่ TSH ต่ำกว่าปกติ แสดงว่าร่างกายมีไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป อาจสันนิษฐานได้ว่ามีความเสี่ยงเป็น โรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroid) 
  • หากผลเลือด T3 หรือ T4 ต่ำกว่าปกติ แต่ TSH สูงกว่าปกติ แสดงว่าร่างกายเกิดอาการขาดไทรอยด์ฮอร์โมน อาจสันนิษฐานได้ว่ามีความเสี่ยงเป็น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroid)

ทำความรู้จักโรคไทรอยด์ รวมทั้งวิธีรักษาโรคไทรอยด์แบบเจาะลึก คลิกอ่านต่อได้ที่นี่ ไทรอยด์ คืออะไร สาเหตุ อาการ วิธีรักษา ครบ จบในที่เดียว คลิกอ่านต่อ

การเตรียมตัวก่อนตรวจเลือดดูค่าการทำงานของต่อมไทรอยด์

  • ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนตรวจเลือด
  • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 1-2 วัน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว และกินยารักษาโรคอยู่ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
  • สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายและหลวม เพื่อความสะดวกในการเจาะเลือด 

ขั้นตอนการตรวจเลือดดูค่าการทำงานของต่อมไทรอยด์

  1. ผู้รับบริการนั่งบนเก้าอี้หรือนอนบนเตียง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะใช้สายรัดเหนือหลอดเลือดบริเวณที่จะเจาะเลือด สำหรับเด็กอาจเจาะบริเวณหลังมือ เพื่อทำให้เห็นเส้นเลือดได้ชัดเจน
  2. ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนัง
  3. ใช้เข็มเจาะและเก็บตัวอย่างเลือดตามปริมาณต้องการ
  4. นำเข็มออก ปลดสายรัด ปิดแผล

การตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไทรอยด์วิธีนี้ ถือเป็นวิธีพื้นฐานที่ใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากวิธีไม่ซับซ้อน และให้ผลค่อนข้างแม่นยำ สามารถนำผลไปใช้ตรวจเพิ่มเติม วินิจฉัยอาการ หรือวางแผนการรักษาเบื้องต้นได้ โดยการตรวจไทรอยด์วิธีนี้ พบได้ในแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์โดยทั่วไป

สงสัยใช่ไหม? อาการที่เป็นอยู่ใช่ไทรอยด์หรือเปล่า อยากตรวจให้แน่ใจ ปรึกษาทีม HDcare ช่วยค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

วิธีที่ 2 การตรวจวัดระดับปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Antibodies)

วิธีนี้เป็นการตรวจวัดปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ ซึ่งมีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย เพื่อต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม เช่น ไวรัสและแบคทีเรีย หากค่าแอนติบอดีผิดปกติ จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งจะทำให้ต่อมไทรอยด์อักเสบ

การตรวจวิธีนี้เหมาะสำหรับคนทั่วไป หรือผู้ที่พบความผิดปกติและต้องการตรวจความเสี่ยงโรคไทรอยด์เพิ่มเติม

การวัดระดับปริมาณแอนติบอดี สามารถวัดได้ 2 ชนิด ได้แก่ Anti-Thyroglobulin Antibody (Anti-Tg) และ/ หรือ Anti-Thyroid Peroxidase Antibody (Anti-TPO) 

ทั้งนี้ค่าปกติของค่าทั้ง 2 ชนิดมีดังนี้

  • Anti-Tg     น้อยกว่า 115  IU/ml
  • Anti-TPO  น้อยกว่า หรือเท่ากับ 34 IU/ml

หากผลเลือดพบว่า ค่า Anti-Tg และ/หรือ Anti-TPO สูงกว่าค่าปกติ หมายถึงแอนติบอดีมีการทำงานผิดปกติ อาจสันนิษฐานได้ว่ามีความเสี่ยงเป็น โรคฮาชิโมโต หรือ ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน

การเตรียมตัว และขั้นตอนการตรวจวัดระดับปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ เหมือนกับการตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ และตรวจการทำงานของต่อมใต้สมอง และเป็นวิธีที่ได้มาตรฐานสากล มีความแม่นยำสูงเช่นเดียวกัน 

การตรวจไทรอยด์วิธีนี้อาจพบได้ไม่บ่อยในแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์ทั่วไป เว้นแต่เป็นแพ็กเกจเฉพาะทาง หรือแพทย์พบความผิดปกติของร่างกายแล้วสั่งตรวจเพิ่มเติม

อยากตรวจคัดกรองความเสี่ยงไทรอยด์ ราคาดี ใกล้บ้าน ตรวจที่ไหนได้บ้าง? ทักหาทีม HDcare ช่วยเลือกแพ็กเกจที่เหมาะกับคุณที่สุด คลิกเลย

วิธีที่ 3 การตรวจต่อมไทรอยด์ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound Thyroid)

วิธีนี้จะเป็นการตรวจต่อมไทรอยด์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ใช้สำหรับผู้ที่ตรวจพบความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ เช่น ต่อมไทรอยด์โต คลำพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

การตรวจอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์ จะให้รายละเอียด ขนาดก้อน ลักษณะภาพของต่อมไทรอยด์ รวมทั้งรายละเอียดของอวัยวะข้างเคียงโดยรอบได้ค่อนข้างชัดเจน 

ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่า ก้อนที่พบบริเวณต่อมไทรอยด์เป็นความผิดปกติชนิดใด มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งหรือไม่ และยังสามารถตรวจดูต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ได้ด้วย

การเตรียมตัวก่อนตรวจอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์

  • ไม่ต้องงดอาหารและน้ำ
  • งดใช้เครื่องสำอางบริเวณที่จะต้องตรวจ เพราะอาจทำให้ผลตรวจผิดพลาดได้
  • ควรสวมเสื้อผ้าที่เป็นกระดุมหน้า และไม่สวมเสื้อผ้าที่มีโลหะนำไฟฟ้า
  • งดใส่เครื่องประดับทุกชนิด

ขั้นตอนการตรวจอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์

  1. ผู้รับบริการนอนหงายบนเตียง จากนั้นแพทย์จะใช้เจลทาผิวหนังบริเวณที่จะตรวจ
  2. แพทย์กดหัวเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ บริเวณที่ได้ทาเจลไว้ และเคลื่อนไปตามตำแหน่งที่ต้องการ ซึ่งจะรู้สึกเย็นๆ ไม่เจ็บ
  3. เมื่อตรวจเสร็จ แพทย์จะเช็ดเจลออกให้จนหมด และรอแพทย์อ่านผลต่อไป

การตรวจอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค ทำให้เห็นลักษณะของก้อนที่ผิดปกติได้โดยละเอียด

โดยส่วนใหญ่แล้ว หากพบว่าลักษณะของก้อน เป็นของแข็ง ขอบไม่เรียบ มีหินปูนในก้อน มีเส้นเลือดมาเลี้ยงบริเวณก้อนมาก แพทย์อาจสันนิษฐานได้ว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ 

หากพบลักษณะดังกล่าว แพทย์อาจจะเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติมในคราวเดียวกัน เพราะการอัลตราซาวด์ มีประโยชน์ในการช่วยหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการเจาะชิ้นเนื้อไทรอยด์อีกด้วย

ต่อมไทรอยด์โต คลำพบก้อน ไม่แน่ใจใช่ไหมว่าเป็นไทรอยด์หรือเปล่า? อยากตรวจให้แน่ใจ ทักหาทีม HDcare ช่วยค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

วิธีที่ 4 การตรวจไทรอยด์ด้วยการใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ (Fine Needle Aspirate: FNA)

วิธีนี้คือการใช้เข็มที่มีระบบพิเศษในการตัดชิ้นเนื้อขนาดเล็กกว่า 2 มิลลิเมตรออกมา โดยส่วนใหญ่จะใช้ร่วมกับเครื่องอัลตราซาวด์ เพื่อระบุตำแหน่งการตัดชิ้นเนื้อให้แม่นยำ เพื่อนำส่งตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ต่อไป

เทคนิคนี้เป็นวิธีการสำคัญที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ เพื่อประเมินชนิดของก้อนว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ โดยเทคนิคนี้มีความแม่นยำสูงถึง 95% แพทย์จะใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยที่คลำพบก้อนบริเวณต่อมไทรอยด์ รวมทั้งผู้ที่ตรวจอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์แล้วพบว่า ก้อนมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็ง

การเตรียมตัวก่อนตรวจไทรอยด์ด้วยการใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ

  • งดอาหารและน้ำ อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนตรวจ
  • งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1-2 วัน
  • งดยาบางชนิดที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) วาร์ฟาริน (Warfarin) อย่างน้อย 7 วัน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือรับประทานยาใดๆ อยู่ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือมีประวัติเลือดออกผิดปกติ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
  • งดใช้เครื่องสำอางบริเวณที่จะต้องตรวจ เพราะอาจทำให้ติดเชื้อหรือผลตรวจผิดพลาดได้
  • งดใส่เครื่องประดับทุกชนิดในวันตรวจ
  • ควรสวมเสื้อผ้าที่เป็นกระดุมหน้า และไม่สวมเสื้อผ้าที่มีโลหะนำไฟฟ้า
  • ต้องพาญาติหรือผู้ติดตามมาด้วย เพื่อช่วยดูแลและพากลับบ้าน

ขั้นตอนการตรวจไทรอยด์ด้วยการใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ

  1. ผู้ป่วยเตรียมตัวในห้องทำหัตถการ
  2. แพทย์จะทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบนผิวหนัง และฉีดยาชาเฉพาะที่
  3. แพทย์จะสอดเข็มผ่านผิวหนัง ไปยังก้อนเนื้อที่ต้องการเก็บตัวอย่าง โดยจะมองเห็นเข็มที่สอดเข้าไปได้อย่างชัดเจน ผ่านจอภาพ ซึ่งมาจากเครื่องอัลตราซาวด์ เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการ แพทย์จะตัดชิ้นออกมา
  4. ขณะที่เจาะชิ้นเนื้อ ห้ามพูดหรือกลืนน้ำลาย เพราะทำให้ตำแหน่งก้อนที่ต่อมไทรอยด์เคลื่อนที่ อาจทำให้ผลผิดพลาด
  5. ปิดแผลบริเวณที่ใช้เข็มเจาะ และส่งชิ้นเนื้อไปตรวจยังห้องปฏิบัติการต่อไป

การดูแลตัวเองหลังตรวจไทรอยด์ด้วยการใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ

  • หลังทำเสร็จ ผู้ป่วยอาจต้องนอนทับรอยแผลเป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันเลือดออก จากนั้นก็สามารถกลับบ้าน และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
  • เปลี่ยนผ้าพันแผล โดยปิดพลาสเตอร์ขนาดเล็กไว้อีก 1-2 วัน โดยไม่ต้องทำความสะอาดแผล
  • หากมีอาการปวดให้รับประทานยาแก้ปวด
  • หากแผลมีลักษณะอักเสบหรือบวมผิดปกติให้ไปพบแพทย์ทันที

ถ้าคุณกังวลหรือมีคำถามเกี่ยวกับไทรอยด์ ปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางไทรอยด์กับ HDcare ได้ทางไลน์วันนี้ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) คลิกเลย!

วิธีที่ 5 การตรวจไทรอยด์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

วิธีนี้เป็นการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยการใช้ ‘สารเภสัชรังสีไอโอดีน’ ร่วมกับการใช้เครื่องสแกน (Thyroid Scan) เพื่อตรวจสอบต่อมไทรอยด์ว่า มีการอักเสบหรือไม่ มีการผลิตหรือหลั่งฮอร์โมนมากขึ้นหรือไม่ หรือก้อนที่ต่อมไทรอยด์ว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งหรือไม่

หลักการทำงานของสารเภสัชรังสีไอโอดีน คือ เมื่อสารนี้เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะไปจับกับต่อมไทรอยด์ จากนั้นแพทย์จะใช้เครื่องสแกนรังสี ตรวจหารังสีที่ถูกเปล่งออกมาจากต่อมไทรอยด์ แล้วแสดงภาพต่อมไทรอยด์ รวมทั้งแสดงการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้ด้วย

สารเภสัชรังสีไอโอดีนนี้ มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เหมาะสำหรับผู้ที่ตรวจพบว่าการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ หรือคลำพบก้อน โดยแพทย์จะนำผลตรวจมาวินิจฉัยแยกโรคต่อไป

การเตรียมตัวก่อนตรวจไทรอยด์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

  • งดอาหารทะเล อาหารที่มีไอโอดีนผสมอยู่ และวิตามินมีสารไอโอดีนเป็นส่วนประกอบประมาณ 2-4 สัปดาห์ ก่อนตรวจ
  • งดอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ก่อนตรวจ
  • งดยารักษาโรคไทรอยด์และไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว รับประทานยารักษาโรคอยู่ หรือมีประวัติเลือดออกผิดปกติ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
  • งดใช้เครื่องสำอางบริเวณที่จะต้องตรวจ เพราะอาจทำให้ติดเชื้อหรือผลตรวจผิดพลาดได้
  • งดใส่เครื่องประดับทุกชนิดในวันตรวจ
  • ควรสวมเสื้อผ้าที่เป็นกระดุมหน้า และไม่สวมเสื้อผ้าที่มีโลหะนำไฟฟ้า

ข้อห้ามในการตรวจไทรอยด์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างช่วงให้นมบุตร 
  • ผู้ที่เคยฉีดสารเภสัชรังสีไอโอดีนภายใน 6 สัปดาห์ ก่อนตรวจ

ขั้นตอนการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

  1. ผู้ป่วยนอนบนเตียง เจ้าหน้าที่จะช่วยจัดท่าให้นอนหงายและเงยหน้า ยืดคอ ศีรษะกดต่ำลง เพื่อเปิดบริเวณลำคอให้กว้าง
  2. เจ้าหน้าที่จะติดอุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 3 จุด ที่บริเวณหน้าอก
  3. เจ้าหน้าที่จะทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบนผิวหนังรอบคอ จากนั้นจะฉีดสารเภสัชรังสีไอโอดีนเข้าหลอดเลือดดำ ระหว่างฉีดจะต้องนอนนิ่ง ไม่พูด และไม่กลืนน้ำลาย แล้วรอประมาณ 20-30 นาที
  4. รังสีแพทย์จะตรวจหาตำแหน่งของก้อนด้วยเครื่องสแกน (Thyroid Scan) พร้อมดูตำแหน่งของเส้นเลือดรอบๆ ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ถ่ายภาพต่อมไทรอยด์และก้อนที่ต่อมไทรอยด์ที่มีความผิดปกติ เพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัยโรคต่อไป

หลังตรวจ มักไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้าน และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เพียงแต่ดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อช่วยขับสารรังสีออกจากร่างกายเท่านั้น

เปรียบเทียบ 5 วิธีตรวจไทรอยด์

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

โรคไทรอยด์เป็นโรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม หากคุณมีความเสี่ยง หรือพบสัญญาณผิดปกติ ความรีบมาพบแพทย์หรือตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์ เพื่อให้ทราบผลได้อย่างแน่ชัด 

แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าควรตรวจคัดกรองวิธีไหนดี ไม่รู้จะปรึกษาใคร ทักหาทีม HDcare เราพร้อมช่วยคุณทำนัดปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง รวดเร็ว ทันใจ หรือช่วยค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top