3 วิธีเช็กสายตาด้วยตนเอง คัดกรองเองง่ายๆ ก่อนไปพบคุณหมอ scaled

3 วิธีเช็กสายตาด้วยตนเอง คัดกรองเองง่ายๆ ก่อนไปพบคุณหมอ

ภาวะผิดปกติทางสายตาไม่ว่าจะสายตาสั้น ยาว หรือเอียง ย่อมทำให้คุณภาพการมองเห็นลดลง เพื่อให้รู้ปัญหาเกี่ยวกับค่าสายตาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น และหาทางปรับการมองเห็นให้กลับมาคมชัด เรามาดูวิธีเช็กค่าสายตาด้วยตนเอง ที่ทำได้ง่ายๆ ซึ่งแบ่งได้ 3 วิธี ได้แก่

1. การตรวจค่าสายตา ด้วยการอ่านป้าย Snellen Chart

ป้าย Snellen chart คือ ป้ายตรวจความสามารถในการมองเห็น มีลักษณะเป็นแผ่นป้ายสีขาวที่มีตัวอักษรหรือตัวเลขขนาดใหญ่ไปเล็กเรียงกันเป็นบรรทัดจาก มีจำนวนบรรทัดประมาณ 9-11 บรรทัด เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สถานพยาบาลทุกแห่งใช้ในการตรวจคุณภาพสายตาของผู้เข้ารับบริการ

แผ่นทดสอบสายตา

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม เราสามารถซื้อแผ่น Snellen Chart มาตรวจเช็กค่าสายตาในเบื้องต้นก่อนได้ โดยมีขั้นตอนง่ายๆ ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1: แปะแผ่นป้ายกับผนังภายในห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอ ควรเปิดไฟเสริม และไม่ควรพึ่งเพียงแสงธรรมชาติในการอ่านแผ่นป้าย
นอกจากนี้ภายในห้องต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ที่บดบังการอ่านแผ่นป้าย รวมถึงไม่มีโปสเตอร์หรือรูปภาพอื่นๆ แปะอยู่บนผนังเดียวกัน เพราะอาจทำให้เกิดความสับสน

ขั้นตอนที่ 2: ผู้ตรวจตายืนห่างจากแผ่นป้ายเป็นระยะทาง 6 เมตร จากนั้นปิดตาทีละข้าง โดยใช้เป็นที่ปิดตาช่วย หรือใช้มือปิดก็ได้ แต่ต้องปิดให้สนิท

ขั้นตอนที่ 3: อ่านตัวอักษร หรือตัวเลขที่ปรากฎบนป้ายทีละบรรทัดให้ผู้จดบันทึกฟัง หลังจากนั้นปิดตาอีกข้างและทำแบบเดิม

หากผู้ตรวจตาสามารถอ่านตัวอักษรหรือตัวเลขได้ถึงบรรทัดที่มีการขีดเส้นใต้สีแดงเอาไว้ และมีตัวเลขกำกับว่า 20/20 ได้อย่างง่ายดาย ไม่รู้สึกว่าตัวเลขเบลอหรือเป็นภาพซ้อนกัน ก็มีโอกาสที่ค่าสายตาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างต่ำ

สำหรับที่มาของตัวเลข 20/20 นั้นมาจาก “เลขระยะทางที่ผู้ตรวจตาอ่านตัวอักษรได้ / เลขระยะทางที่ผู้ที่มีสายตาปกติอ่านตัวอักษรได้” ซึ่งเลข 20 เป็นเลขระยะทางในหน่วยฟุตซึ่งก็เท่ากับ 6 เมตร เป็นระยะทางที่ใช้เป็นมาตรฐานในการมองเห็นที่ดีที่สุดของบุคคลทั่วไป

สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียงมานาน อยากเปลี่ยนโลกใหม่ ให้สดใส ชัดเจน ทำเลสิก ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นตอ ทักหาทีม HDcare ช่วยคุณค้นหาดีลดี ราคาโดนใจ จากสถานพยาบาลใกล้คุณ คลิก!

อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่ไม่มีแผ่น Snellen chart และอยากตรวจด้วยวิธีนี้ ก็สามารถหาแผ่นป้ายหรือวัตถุที่มีตัวอักษรหรือตัวเลข และลองยืนกะระยะห่างออกมา 6 เมตร จากนั้นลองปิดตาข้างหนึ่ง และอ่านสิ่งที่เห็นตรงหน้าก็ได้ 

แต่วิธีนี้จะไม่แม่นยำเท่าการอ่าน Snellen chart ซึ่งเป็นแผ่นป้ายที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อตรวจค่าสายตาโดยเฉพาะ มีการวัดขนาดของตัวอักษร หรือตัวเลขที่อยู่บนแผ่นป้ายให้เหมาะต่อการอ่านเพื่อเช็กค่าสายตามาแล้ว

อยากทำเลสิก ต้องตรวจตายังไง? อ่านเลย! เช็กลิสต์รายการตรวจตาที่จำเป็นก่อนทำเลสิก

2. การตรวจค่าสายตา ด้วยการสังเกตพฤติกรรมการใช้สายตา

วิธีนี้จะเป็นการสังเกตกิจวัตรการใช้ดวงตาของตนเอง เป็นวิธีที่ง่ายเช่นกัน และไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยตรวจ เพียงแต่ผู้ตรวจตาจะต้องสังเกตการใช้สายตาของตัวเองมากขึ้นกว่าปกติ เช่น 

  • สังเกตความคมชัดของสิ่งที่มีระยะในการมองเห็นเท่าเดิมทุกวัน เช่น ข้อความบนจอคอมพิวเตอร์ หรือบนจอโทรทัศน์ในบ้าน หรือข้อความบนกระดานในห้องเรียน
    หากผู้ตรวจตารู้สึกว่า ความคมชัดในการมองจอภาพหรือวัตถุในระยะเท่าเดิม มีความเบลอหรือไม่มีจุดโฟกัสชัดเจนมากขึ้นกว่าเก่า หรือรู้สึกว่า ต้องขยับเข้าไปใกล้ๆ หรือต้องขยับห่างออกไป จึงจะเห็นได้ชัดมากขึ้น ก็มีโอกาสที่ค่าสายตาจะเปลี่ยนแปลงไป
  • พฤติกรรมการอ่านหนังสือหรืออ่านข้อความในโทรศัพท์มือถือ หากรู้สึกว่า ต้องยืดแขนออกไปไกลๆ จึงจะอ่านข้อความได้ชัดขึ้น หรือต้องยื่นหน้าเข้าไปเพ่งมองหนังสือหรือโทรศัพท์ในระยะใกล้มากๆ ก็เป็นสัญญาณของค่าสายตาที่ผิดปกติเช่นกัน
  • พฤติกรรมหยีตา หรี่ตา หรือเพ่งมอง และต้องค่อยๆ อ่านตัวอักษรหรือตัวเลขอย่างช้าๆ อาการเหล่านี้ก็ถือว่า เข้าข่ายสายตามีปัญหาเช่นกัน
  • มีอาการตาล้า ปวดกระบอกตา หรือปวดศีรษะง่ายขึ้น เนื่องจากอาการเหล่านี้เป็นอาการข้างเคียงที่พบได้ในผู้ที่มีค่าสายตาผิดปกติ 

3. การตรวจค่าสายตา ด้วยการสังเกตภาพที่มองเห็นตอนกลางคืน

ค่าสายตาที่ผิดปกติสามารถส่งผลทำให้การทำงานของดวงตาในเวลากลางคืนแย่ลงไปด้วย หากสังเกตเห็นอาการผิดปกติในช่วงกลางคืนดังต่อไปนี้ ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงค่าสายตาที่ไม่สมดุล 

  • มองเห็นแสงกระจาย หรือแสงฟุ้งๆ อยู่รอบวัตถุ
  • ไม่เห็นขอบของภาพหรือวัตถุอย่างชัดเจน หรือรู้สึกว่าหาจุดโฟกัสชัดๆ ของภาพหรือวัตถุไม่ได้ 
  • มีอาการไวต่อแสงไฟ ไม่สามารถสู้แสงจ้าๆ ได้

อย่างไรก็ตาม การตรวจเช็กค่าสายตาด้วยตนเองถือเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น และไม่สามารถใช้ตัดสินความผิดปกติทางสายตาได้

หลังจากที่ลองตรวจคัดกรองสายตาด้วยตนเองแล้ว ควรตรวจสายตากับแพทย์ที่สถานพยาบาลด้วย เพื่อให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ตรวจวินิจฉัย และให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ตรวจสายตาเองแล้วเจอสัญญาณผิดปกติ แต่ยังไม่แน่ใจ อยากตรวจกับคุณหมอเพื่อความชัวร์ ทักไลน์หา HDcare เลย เราพร้อมช่วยนัดหมายให้คุณปรึกษากับแพทย์เฉพาะทาง และให้คำแนะนำเกี่ยวกับแพ็กเกจตรวจตา หรือแพ็กเกจผ่าตัดทำเลสิกที่สถานพยาบาลชั้นนำและใกล้บ้านคุณ คลิกที่นี่เพื่อคุยกับเรา

Scroll to Top